วันศุกร์, มิถุนายน 04, 2564

"ลองคิดดูว่า ... หากลดจำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ลดจำนวนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น สวัสดิการ วัคซีน อาหาร หากลดความโอ่อ่า อลังการ ฟู่ฟ่า ของพระราชพิธี ของขบวนเสด็จ ของพระราชพาหนะ ของพระราชวัง แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบขนส่งมวลชน ที่ได้มาตรฐาน ประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ขนาดไหน?"



Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
3h ·

[ว่าด้วยการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์]
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระที่ 1 เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ โดยชี้ให้เห็นว่าในปีงบประมาณ 2565 นี้ งบประมาณสถาบันกษัตริย์มียอดรวมอย่างน้อย 33,712,727,200 ล้านบาท
ยอดจำนวนนี้มาจากไหน?
เบญจาและทีมงานของพรรคก้าวไกล ได้ใช้วิริยะอุตสาหะตามแกะรอยงบประมาณสถาบันกษัตริย์ โดยนำเอกสารงบประมาณทั้งหมดหลายพันหลายหมื่นหน้ามาไล่เรียงหาว่างบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ถูกตั้งไว้กับส่วนราชการใดบ้าง จำแนกออกเป็นแผนงานหมวดหมู่ได้อย่างไร
ยอดรวมอย่างน้อย 33,712,727,200 (อ่านว่า สามหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสิบสองล้านเจ็ดแสนสองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยบาท) แบ่งเป็น
• งบประมาณที่ตั้งให้กับส่วนราชการในพระองค์โดยตรง - 8,761,390,800 บาท (อ่านว่า แปดพันเจ็ดร้อยหกสิบเอ็ดล้านสามแสนเก้าหมื่นแปดร้อยบาท)
• งบประมาณโครงการหลวง/โครงการในพระราชดำริ ที่ตั้งไว้กับกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น - 15,203,213,600 บาท (อ่านว่า หนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อยสามล้านสองแสนหนึ่งหมื่นสามพันหกร้อยบาท)
• งบประมาณถวายความปลอดภัย ที่ตั้งไว้กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เช่น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เช่น รถเทสล่า) – 6,938,427,100 ล้านบาท (อ่านว่า หกพันเก้าร้อยสามสิบแปดล้านสี่แสนสองหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยบาท)
• งบประมาณโครงการพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ที่ตั้งไว้กับทุกเหล่าทัพ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร กรมการศาสนา – 629,930,900 ล้านบาท (อ่านว่า หกร้อยยี่สิบเก้าล้านเก้าแสนสามหมื่นเก้าร้อยบาท)
• งบประมาณโครงการอื่นๆ เช่น งบพระราชทานเพลิงศพ งบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ งบดูแลช้างต้น เป็นต้น ซึ่งตั้งไว้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม - 2,179,764,800 บาท (อ่านว่า สองพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านเจ็ดแสนหกหมื่นสี่พันแปดร้อยบาท)
ประชาชนคนไทยสนใจการอภิปรายของเบญจา แสงจันทร์ และข้อมูลที่ทีมงานพรรคก้าวไกลค้นคว้าอย่างมาก สังเกดตได้จาก ยอดคนดู ยอดกดไลค์ ยอดกดแชร์ สังคมออนไลน์นำข้อมูลเหล่านี้ไปถกเถียง วิจารณ์ ทำเป็นอินโฟกราฟิค กราฟเปรียบเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นๆ
ประชาชนคนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า ในห้วงยามของวิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ ในห้วงยามของวิกฤตโควิด-19 ที่คนไทยต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ต้องปิดกิจการ กว่าจะเอาตัวรอดให้พ้นไปแต่ละวันก็ยากเย็นแสนเข็ญ แต่ทำไมงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทยจึงมากมายขนาดนี้?
ช่วงมหาทุพภิกขภัย มหันตภัยโรคระบาดเช่นนี้ ทำไมรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ให้แก่สถาบันกษัตริย์มากถึงเพียงนี้? ทำไมรัฐบาลไม่แบ่งมาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้การศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการ คุณภาพชีวิตของประชาชน?
งบประมาณสถาบันกษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 อย่างน้อยเท่าที่ปรากฏให้เราเห็นในเอกสาร มีมากกว่า 33,712 ล้านบาท คิดถัวเฉลี่ยกับจำนวนประชากรไทย 66,187,727 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) เท่ากับประชากรไทยรับภาระคนละ 509 บาท 36 สตางค์
เอาล่ะ ต่อให้เอางบโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ งบเทิดทูน งบปกป้อง ที่ฝากไว้กับส่วนราชการอื่นออกไป เอาเฉพาะงบประมาณที่ให้ตรงไปที่ส่วนราชการในพระองค์แต่เพียงอย่างเดียว ก็ยังสูงถึง 8,761 ล้านบาท คิดถัวเฉลี่ยจำนวนประชากรไทย เท่ากับรับภาระคนละ 132 บาท 37 สตางค์
ในขณะที่งบประมาณที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ในหลากหลายประเทศในยุโรปที่ร่ำรวยกว่าเรา ผ่านรูปแบบเงินรายปี (Civil List) หรือเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทย (ไม่ว่าจะตัว 33,712 ล้านบาท หรือ 8,761 ล้านบาท) พบว่ามีจำนวนน้อยกว่าประเทศไทยมาก ดังนี้
• สหราชอาณาจักร – 84.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,214 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.27 ยูโร หรือประมาณ 48.26 บาท (ปี 2017 2018)
• เบลเยียม – 11.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 448 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.04 ยูโร หรือประมาณ 39.52 บาท (ปี 2017)
• เดนมาร์ก – 11 ล้านยูโร หรือประมาณ 418 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.92 ยูโร หรือประมาณ 72.96 บาท (ปี 2018)
• เนเธอร์แลนด์ – 40.1 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,523 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 2.14 ยูโร หรือประมาณ 81.32 บาท (ปี 2015)
• นอร์เวย์ – 28.7 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,090 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 5.46 ยูโร หรือประมาณ 207.48 บาท (ปี 2017)
• สเปน – 7.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 296 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 0.17 ยูโร หรือประมาณ 6.46 บาท (ปี 2018)
• สวีเดน – 12.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 471 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.27 ยูโร หรือประมาณ 48.26 บาท (ปี 2015)
(ข้อมูลจาก "Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, pp.181-189.)
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีคนยากจนอีกมาก มีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยกว่าประเทศเหล่านี้ แต่กลับจัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์มากกว่าหลายเท่า จนอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทย นอกจากเป็นประเทศที่มีกษัตริย์รวยที่สุดในโลกในลำดับต้นๆแล้ว (ตามการสำรวจของนิตยสาร Forbes) ยังเป็นประเทศที่จัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์มากติดลำดับต้นของโลกอีกด้วย
.
What is to be done?
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อให้ดำรงอยู่อย่างสถาพรภายใต้ความท้าทายใหม่แห่งยุคสมัย สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
หนึ่ง ยกเลิกโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ งบ “เทิดทูน” และการ “ฝาก” งบที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ไว้กับกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy เรียกร้องว่า เพื่อมิให้กษัตริย์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใด เพื่อให้กษัตริย์รักษาสถานะความเป็นกลางและเป็นที่เคารพในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินนโยบายใด แต่ให้คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน
จริงอยู่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญตามสูตรของ Walter Bagehot ยืนยันว่ากษัตริย์สามารถให้คำแนะนำ ตักเตือนแก่รัฐมนตรีได้ จึงอาจมีกรณีที่กษัตริย์ทรงมีพระราชดำริให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการต่างๆได้ แต่รัฐมนตรีก็เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเองว่าจะดำเนินตามแนวพระราชดำริหรือไม่ เพราะตนเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องเก็บพระราชดำริไว้เป็นความลับ กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่กษัตริย์มีพระราชดำริแนะนำรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการ จึงไม่ได้หมายความว่าต้องมีโครงการตามพระราชดำริเสมอไป
การยอมให้มีโครงการตามพระราชดำริไป “ฝาก” ไว้กับกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อาจนำมาซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน ตกลงแล้ว ผู้บริหารประเทศ คือใครกันแน่? หากประชาชนไม่นิยมโครงการเหล่านี้ หรือโครงการเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ?
ในกรณีประเทศไทยนั้น มีงบประมาณจำนวนมากสำหรับโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง โครงการพิทักษ์หรือเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ โครงการถวายความปลอดภัย หรือหรือโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ไปตั้งอยู่ที่กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เราจำเป็นต้องยกเลิกโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง ปล่อยให้ภารกิจเหล่านี้เป็นการดำเนินการตามทางปกติของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รัฐมนตรีและข้าราชการคิดริเริ่มขึ้นมาเอง เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้กับประชาชน เพราะ พวกเขาเหล่านี้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หากโครงการดี ประชาชนก็ชื่นชม หากโครงการไม่ดี ประชาชนก็ก่นด่า หากโครงการประสบความสำเร็จ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ หากโครงการล้มเหลว ไม่คุ้มค่า หรือมีทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ
ในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์และงบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย ที่ตั้งไว้กับส่วนราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ก็ให้ยกเลิกไป และบูรณาการรวมศูนย์ไว้ที่ “เงินรายปี” หรือ Civil List ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้สถาบันกษัตริย์เป็นรายปี
.
สอง ลดจำนวนหน่วยงาน บุคลากร และงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์
ในช่วงระบอบประยุทธ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีการตราพระราชบัญญัติที่เพิ่มพระราชอำนาจให้แก่กษัตริย์โดยตรงอย่างมีนัยสำคัญในหลายกรณี จนอาจกล่าวได้ว่า เกินขอบเขตของหลักการในระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy ไป กรณีหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงส่วนราชการในพระองค์ มีการโอนกำลังพลจากหลายหน่วยงานเข้าไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ และขึ้นตรงต่อกษัตริย์
เมื่อส่วนราชการในพระองค์ขยายใหญ่โตขึ้นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องของบประมาณแผ่นดินมากขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องลดขนาดส่วนราชการในพระองค์ให้เหลือแต่กิจการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐและกิจการที่เกี่ยวกับวงงานของกษัตริย์โดยแท้
.
สาม ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดเงินรายปี หรือ Civil List ให้แก่สถาบันกษัตริย์
ในประเทศที่ปกครองในระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy งบประมาณที่ให้แก่สถาบันกษัตริย์ปรากฏในรูปของ “เงินรายปี” หรือ Civil List โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจอนุมัติให้ความเห็นชอบและกำหนดว่า ในแต่ละปี สถาบันกษัตริย์จะได้งบประมาณไปใช้จ่ายในจำนวนเท่าไร โดยงบประมาณเหล่านี้ให้ใช้กับรายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การรักษาความปลอดภัย การเลี้ยงต้อนรับ บุคลากรของราชการส่วนพระองค์
กรณีของสหราชอาณาจักรนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เดิม สหราชอาณาจักรก็ใช้ระบบเงินรายปีที่สภาอนุมัติให้สถาบันกษัตริย์ หรือ Civil List ดังเช่นประเทศอื่นๆ แต่ในปี 2011 มีการตราพระราชบัญญัติเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant Act 2011) ยกเลิกระบบ Civil List และสร้างระบบเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant) ขึ้นแทน โดยงบประมาณส่วนนี้มาจากร้อยละ 15 ของกำไรจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ (Crown Estate) ในปีงบประมาณสองปีก่อนหน้า ต่อมา ในปี 2017 และ 2018 มีการเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 25 ของกำไรจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ โดยจำนวนร้อยละ 10 ที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะเก็บเข้าเป็นกองทุนในการซ่อมบำรุงรักษาพระราชวังบัคกิงแฮมตลอด 10 ปีข้างหน้า
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ นับได้ว่าช่วยหลีกหนีให้งบประมาณกษัตริย์ไม่ต้องถูกอภิปรายในสภา กษัตริย์ไม่ตกเป็นประเด็นแห่งการอภิปรายจนสร้างข้อถกเถียงในสังคมใหญ่โต ไม่ต้องกังวลว่าสภาจะอนุมัติเงินรายปีให้น้อยจนไม่พอต่อความต้องการของสถาบันกษัตริย์ พร้อมกันนั้นยังอ้างได้อีกว่า ไม่ได้เบียดบังงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน แต่ตัดส่วนมาจากกำไรจากการทำธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลให้งบประมาณสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2017 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 84.6 ล้านยูโร มากที่สุดในยุโรป จนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
สำหรับประเทศไทยนั้น ควรบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจอนุมัติและกำหนดเงินรายปีให้กับสถาบันกษัตริย์ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้สมกับพระราชสถานะของกษัตริย์ตามสมควร พร้อมทั้งวางขอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เงินเดือนสำหรับข้าราชการในพระองค์ การบำรุงรักษาพระราชวัง การรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายต่างๆของส่วนราชการในพระองค์ และให้ใช้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ ได้แก่ กษัตริย์ พระราชินี บุตร ธิดา หลานสายตรง พี่ น้อง พ่อ และแม่
.
สี่ กำหนดให้มีระบบตรวจสอบงบประมาณสถาบันกษัตริย์ทำนองเดียวกันกับงบประมาณของส่วนราชการอื่น
ด้วยสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ทั้งตามกฎหมายและตามวัฒนธรรมประเพณีที่มากล้น ย่อมส่งผลให้งบประมาณสถาบันกษัตริย์มีสถานะพิเศษตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จาก ตลอดหลายทศวรรษ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีกรรมาธิการ อภิปราย ตั้งคำถาม เสนอตัดลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์เลย การชี้แจงของข้าราชการของส่วนราชการในพระองค์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการต่างๆ แทบไม่ปรากฏ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการผ่านไปรวดเร็ว ราวกับว่าสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของปวงชนชาวไทย เป็นเพียง “ตรายาง” ให้กับงบประมาณสถาบันกษัตริย์เท่านั้น จนกระทั่งปีที่แล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้อภิปรายถึงความเหมาะสมของงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และเสนอตัดลด และในปีนี้ เบญจา แสงจันทร์ ได้อภิปรายถึงการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์กว่า 33,712 ล้านบาท
มิพักต้องกล่าวถึง ระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณเหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร สำนักงบประมาณ หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แทบไม่ปรากฏให้เห็น
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกหน่วยรับงบประมาณ ทุกโครงการ งบประมาณแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ ต้องถูกตรวจสอบได้เสมอกัน ขึ้นชื่อว่าเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้จ่าย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ งบประมาณสถาบันกษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจหลีกหนีการตรวจสอบได้
เพื่อสร้างหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ป้องกันมิให้ใครแอบอ้างหรือโหนสถาบันกษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังตนเอง เพื่อมิให้ประชาชนหรือสังคมตั้งคำถาม สงสัย กับการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ หรือที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จนกระทบกระเทือนต่อสถานะและเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้วยการเปิดโอกาสให้มีระบบตรวจสอบครบวงจร ตั้งแต่ งบประมาณสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดต้องอยู่ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติ คณะกรรมาธิการประจำสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณสถาบันกษัตริย์ สำนักราชเลขาธิการต้องจัดทำรายงานการใช้งบประมาณเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามมาตรฐานได้
...
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการปกครองตามระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy หลักการประชาธิปไตย และหลักการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์ในนานาอารยะประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม
หากยืนยันว่า เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไม่ถูกวิจารณ์จากสาธารณชนมาก ต้องการให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะความเป็นกลางทางการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติได้ ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจในแดนสาธารณะ ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์มีส่วนราชการของตนเองที่สั่งการได้เองเบ็ดเสร็จ หรือสามารถครอบงำสั่งการผ่านส่วนราชการอื่นได้
เมื่อไรก็ตามที่เราเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทใช้อำนาจสาธารณะ มีบทบาทบริหารราชการแผ่นดินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มีบทบาทในการประกอบธุรกิจและการลงทุน ก็หนีไม่พ้นที่สถาบันกษัตริย์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือตรวจสอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเปิดโอกาสให้มีพวก “โหน” พวก “แอบอ้าง” สถาบันกษัตริย์เพื่อปิดปากไม่ให้มีการตรวจสอบโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
ความจงรักภักดี การพิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจวัดกันที่จำนวนงบประมาณ จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ จำนวนพระบรมฉายาลักษณ์ รถ หรือเครื่องบิน
จำนวนที่มากมายไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่ารัฐสภาและรัฐบาลจงรักภักดีหรือไม่ เช่นเดียวกัน จำนวนที่มากมายก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประชาชนรักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์มากขึ้นหรือน้อยลง ตรงกันข้าม ความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้แก่สถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเขาเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติอย่างแท้จริง ยามทุกข์ ร่วมทุกข์ ยามสุข ร่วมสุข
เมื่อประชาชนทุกคนต้องรัดเข็มขัด สถาบันกษัตริย์ก็ต้องรัดเข็มขัดด้วย
เมื่อประชาชนทุกคนยากลำบาก สถาบันกษัตริย์ก็ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนด้วย
ลองคิดดูว่า ...
หากลดจำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ลดจำนวนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น สวัสดิการ วัคซีน อาหาร
หากลดความโอ่อ่า อลังการ ฟู่ฟ่า ของพระราชพิธี ของขบวนเสด็จ ของพระราชพาหนะ ของพระราชวัง แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบขนส่งมวลชน ที่ได้มาตรฐาน
ประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ขนาดไหน?
นี่ต่างหาก คือ การรักษาสถาบันกษัตริย์
นี่ต่างหาก คือ การแสดงออกซึ่งความรักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์
ถ้าต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่เคียงคู่กับประชาธิปไตย
ถ้าต้องการให้ประชาชนยึดมั่นและศรัทธาว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงจำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยแห่งความท้าทายเช่นนี้
ถ้าต้องการให้ประชาชนเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาในยามวิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ
ต้องปฏิรูปการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ ลดงบ ประหยัด ตัดสิ่งฟุ่มเฟือย โปร่งใส ตรวจสอบได้
มีแต่หนทางนี้เท่านั้น
#งบประมานปี65 #งบสถาบันกษัตริย์ #งบสถาบัน #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
...
ทุกอย่างชัดเจน .. แต่ แต่เขาจะยอมหรือ
มิตรท่านหนึ่ง
...