วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 17, 2564

"ประเพณีรับน้องใหม่’ วาทะเด็ดของ อ.ศิลป์ “นี่นาย...เราเรียนศิลปะนะ ทำไมนายถึงไปให้เขาฝึกทหาร ซ้ายหัน ขวาหัน คนนะนายไม่ใช่ควาย”


Siripoj Laomanacharoen
Yesterday at 9:28 AM ·

“นี่นาย...เราเรียนศิลปะนะ ทำไมนายถึงไปให้เขาฝึกทหาร ซ้ายหัน ขวาหัน คนนะนายไม่ใช่ควาย”
ประโยคข้างต้นเปล่งออกมาจากทั้งปาก และใจ ของนายคอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) ชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี หรือที่รู้จักกันในชื่อไทยว่า ศิลป์ พีระศรี
อ.ศิลป์ นอกจากจะถูกนับว่าบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยแล้ว ในฐานะของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านก็ยังถูกนับถือในฐานะของ บิดาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งนั้น โดยเฉพาะในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งก็คือคณะเดียวกันกับที่กำลังมีปัญหาเรื่องกิจกรรมรับน้องนั่นแหละครับ
คนที่จำคำพูดประโยคข้างต้น แล้วก็เอามาจด แถมยังเขียนออกมาและตีพิมพ์เผยแพร่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็น อ.ถวัลย์ ดัชนี อีกหนึ่งปูชนียบุคคลในแวดวงศิลปะของไทยผู้ล่วงลับ (ส่วนถ้าใครอยากอ่านว่า อ.ถวัลย์ พูดถึง อ.ศิลป์ เอาไว้อย่างไรบ้าง? ก็ลองไปพลิกอ่านดูได้ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘อ.ศิลป์ กับลูกศิษย์’ ตีพิมพ์โดยสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี กันเองนะ)
แน่นอนว่า ประโยคข้างต้นของ อ.ศิลป์ นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีใครจับเอานักศึกษาศิลปะที่ไหนไปฝึกทหารกันจริงๆ แต่หมายถึงกิจกรรมในอะไรที่มักจะเรียกกันอย่างซอฟท์ๆ ว่า ‘ประเพณีรับน้องใหม่’ ของคณะจิตรกรรมฯ ในอดีตนั่นแหละ (ส่วนจะเป็นอดีตในปี พ.ศ. ไหน? อ.ถวัลย์ ท่านไม่ได้บอกเอาไว้)
และก็ไม่ได้มีแค่ อ.ถวัลย์ ที่เล่าถึง อ.ศิลป์ ในทำนองอย่างนี้คนเดียวเท่านั้น ศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ (ซึ่งก็เก่ายิ่งกว่า อ.ถวัลย์ เสียอีก และก็แน่นอนว่าล่วงลับไปแล้วอีกราย) ที่ผันตัวเองไปเป็นนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ อย่าง คุณอุดร ฐาปโนสถ ก็ได้เล่าเอาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า
“ในส่วนตัวของผมนั้น ผมมีบาปที่ได้ทำไว้กับท่านมาก ทั้งในการหลบเลี่ยงการเรียนและในการละมือจากงานศิลปะโดยสิ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รุนแรงที่สุด ตอนนั้นผมเป็นประธานนักศึกษาอยู่ ซึ่งมีนักศึกษารุ่นคุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (เจ้าของนามปากกา สุวรรณี สุคนธา- ผู้เขียน) คุณชลูด นิ่มเสมอ ฯลฯ เข้ามากันแล้ว ด้วยความคึกคะนองของเด็กหนุ่มอายุ 19 ผมได้บังอาจฉีกคำสั่งของท่านอาจารย์ (หมายถึง อ.ศิลป์- ผู้เขียน) ด้วยเรื่องระเบียบที่ท่านห้ามใช้นักศึกษารุ่นน้อง แต่ด้วยความบ้าซีเนียริตี้ในสมัยนั้น ทำให้ผมบังอาจถึงกับฉีกคำสั่งของท่าน”
แปลง่ายๆ ว่า คุณอุดร ได้ทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับรุ่นน้อง ซึ่งก็หมายรวมอยู่ใน ‘กิจกรรมรับน้องใหม่’ ที่ อ.ศิลป์ ออกระเบียบห้ามเอาไว้นั่นเอง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องเล่าของคุณอุดร เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ อ.ถวัลย์ ได้เล่าเอาไว้ และเราจะยิ่งเห็นทัศนคติของ อ.ศิลป์ เกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้อง ดังจะเห็นได้ว่า คุณอุดรเล่าว่า ‘เป็นบาปที่รุนแรงที่สุด’ เท่าที่ท่านได้เคยกระทำต่อ อ.ศิลป์ ซึ่่งก็ย่อมหมายความด้วยว่า การรับน้องนั้นย่อมเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ชวนให้ อ.ศิลป์ รู้สึกแฮปปี้เอาเสียเลย
บางท่านอาจจะนึกเถียงผมอยู่ในใจว่า คุณอุดรใช้คำว่า ‘ใช้น้อง’ ไม่ใช่ ‘รับน้อง’ เสียหน่อย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว มันก็อันเดียวกันนั่นแหละครับ เพราะกิจกรรมรับน้อง หรืออะไรที่ในประเทศไทยพัฒนาขึ้นมาจนเป็นระบบที่เรียกรวมๆ กันว่า ‘โซตัส’ (SOTUS) เนี่ย มันมีที่มาจากการเอารุ่นน้องมารับใช้รุ่นพี่นี่แหละ
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดตั้ง ‘โรงเรียนหลวง’ ขึ้นภายใต้การดูแลของกรมมหาดเล็ก ได้นำเอาระบบที่มีชื่อเรียกแปลเป็นไทยยากๆ ว่า ‘ดรุณาณัติ’ (Fagging System) จากโรงเรียนกินนอน (ก็โรงเรียนประจำนั่นแหละ) ในประเทศอังกฤษ เข้ามาใช้
และก็เป็นเจ้าระบบ ‘ดรุณาณัติ’ ที่ว่านี้เอง ที่จะมีการนำเอานักเรียนชั้นปีสูงๆ (ซึ่งมักจะแปลกันว่า มีอาวุโสกว่าชั้นปีต่ำๆ แน่นอนว่า อาวุโสในที่นี่มีความหมายผิวเผินแค่ การอยู่มาก่อน เท่านั้น) ที่มีผลการเรียนดี และความประพฤติดี มาเป็นผู้ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียน ในภาษาอังกฤษเขาเรียกคนพวกนี้ว่า ‘แฟค-มาสเตอร์’ (Fag-master) หรือที่คุ้นกันมากในชื่อ ‘พรีเฟค’ (Prefect) ตามอย่างนวนิยายเรื่องดังอย่าง แฮร์รี่ พ็อตเตอร์
พวกพรีเฟค จะเป็นนักเรียนระหว่างชั้นปีที่ 5-7 (แล้วแต่ด้วยว่าโรงเรียนนั้นจะมีกี่ชั้นปี) ที่ถูกแต่งตั้งโดยบรรดาคุณครูหรือผู้มีอำนาจในโรงเรียน เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับอำนาจเหล่านั้น (ซึ่งบางครั้งมันก็เกินเลยไปจนกระทั่งให้รุ่นน้อง มาเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับคนรับใช้ส่วนตัวของรุ่นพี่นู่นเลย)
โปรดสังเกตด้วยว่า พรีเฟค เหล่านี้ถูก ‘แต่งตั้ง’ โดยอำนาจของโรงเรียนนะครับ ไม่ใช่ ‘เลือกตั้ง’ โดยคนหมู่มากของโรงเรียน และโปรดฟังอีกครั้งหนึ่งว่า ระบบการแต่งตั้งพรีเฟคที่ว่านี่ ผมหมายถึงธรรมเนียมเฉพาะที่อังกฤษและเครือจักรภพ ที่โรงเรียนมหาดเล็กของสยามเรา ไปรับเอารูปแบบของเขามาเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงระบบการแต่งตั้ง ‘หัวหน้านักเรียน’ (head girl/head boy) ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่หลายแห่งก็มีระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้ง
อันที่จริงแล้ว การที่โรงเรียนกินนอนของฝรั่งพวกนี้ใช้คำว่า ‘พรีเฟค’ ก็น่าสนใจมากเลยแหละ เพราะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของพวกโรมันมาก่อน แน่นอนว่าบรรดาพรีเฟคแห่งโรมเหล่านี้ ก็ถูกแต่งตั้งด้วยอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นการที่พรีเฟคในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษจะมีที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้งก็ไม่เห็นจะแปลก
ตำแหน่ง ‘พรีเฟค’ ของพวกอังกฤษ (ที่ชอบอ้างตนเป็นผู้ดี) จึงดูจะเข้ากันกับเจตนารมณ์ของ ‘โรงเรียนหลวง’ ในสยามได้อย่างดี เพราะโรงเรียนพวกนี้สังกัดอยู่ภายใต้กรมมหาดเล็ก ทำให้ส่วนหนึ่งของโรงเรียนหลวงในยุคนั้นบางแห่ง มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะฝึกสอนผู้เป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็ก
และขึ้นชื่อว่า ‘มหาดเล็ก’ ซึ่งก็คือ ‘ข้าราชการ’ ในราชสำนัก ที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน หรือรับใช้ประจำตัวเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น ก็รับประกันซ่อมฟรีได้เลยว่า เข้ากันเป็นอย่างยิ่งกับระบบ ‘อาวุโส’ และระบบการ ‘แต่งตั้ง’ มากกว่าระบบการ ‘เลือกตั้ง’
จุดสูงสุดของโรงเรียนหลวงเหล่านี้คือการปรากฏตัวขึ้นของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถึงแม้จะสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว แต่ก็ถือกันว่ามีรากเหง้ามาจาก ‘โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นพระบรมมหาราชวังมาก่อน ตั้งแต่ พ.ศ.​ 2442
แน่นอนนะครับว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สืบทอดเอาเจตนารมณ์แบบพรีเฟค ที่เข้ากันดีกับระบบอาวุโสแบบไทยๆ เข้าไปด้วย แถมยังได้พัฒนาไปเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบบ ‘SOTUS’ กันที่นี่นั่นเอง
หลักฐานสำคัญอยู่ในเพลงที่ชื่อว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ อดีตประธานศาลฎีกา (ล่วงลับ) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายแก่นิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ ซึ่งในเนื้อเพลงดังกล่าวได้พูดถึงคำว่า ‘สามัคคี’ ‘อาวุโส’ ‘น้ำใจ’ ‘ระเบียบ’ และ ‘ประเพณี’ ที่ก็คือความหมายของตัวอักษรย่อที่มารวมกันเป็นคำว่า ‘SOTUS’ เอาไว้ด้วย
ดังนั้นถึงแม้ว่าระบบโซตัส จะเป็นของที่พี่ไทยลอกแบบมาจากระบบดรุณาณัติ ของพวกอังกฤษ แต่ก็พัฒนาขึ้นมาจะเป็นระบบ มีพิธีกรรมเป็นการเฉพาะในประเทศไทยนี่แหละ การ ‘ใช้น้อง’ ที่คุณอุดมว่าเอาไว้ ก็จึงไม่ใช่อะไรที่เหินห่างไปจากกิจกรรมการรับน้องใหม่เลย ซึ่งก็เห็นได้ชัดๆ จากการที่คุณอุดร อ้างถึง อ.สุวรรณี กับ อ.ชลูด (เสียชีวิตแล้วทั้งคู่) ว่าได้เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ แล้ว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในต่างประเทศจะไม่เคยมีกิจกรรมการรับน้อง ในทำนองเดียวกับเราเลยนะครับ มีนั้นมีแน่ มีหลักฐานอยู่พอสมควรด้วย แต่ปัจจุบันเขาก็ได้ ลด-ละ-เลิก จนสูญหายกันไปเกือบจะหมดแล้ว เนื่องด้วยเห็นว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก
ในสายตาของ อ.ศิลป์ ก็คงจะเห็นว่า ไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน (ไม่เช่นนั้นท่านจะออกระเบียบห้ามเอาไว้ทำไม?) ด้วยคงจะเห็นว่า เป็นการปฏิบัติกับสิ่งที่ไม่ใช่ ‘คน’ อย่างที่ท่านเปรียบเทียบว่าเป็น ‘ควาย’ ตามอย่างที่ อ.ถวัลย์ ได้เล่าเอาไว้
มีผู้รู้หลายท่านได้อธิบายเอาไว้ในทำนองที่ว่า กิจกรรมรับน้องใหม่ เป็นกิจกรรมที่ห้ามไม่ให้คิด ไม่ให้สงสัย และไม่ให้วิจารณ์ เพื่อตอบสนองในลำดับช่วงชั้นของสังคมไทย ผมสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) ว่า อ.ศิลป์ ก็คงคิดเห็นในทำนองเดียวกันนี้ เพราะในหนังสือ อ.ศิลป์ กับลูกศิษย์เล่มเดิม ก็มีข้อความที่ ประติมากรรุ่นใหญ่ ที่ก็สำเร็จการศึกษามาจากคณะจิตรกรรมฯ เช่นกัน อย่าง คุณสุกิจ ลายเดช ได้อ้างถึงคำ อ.ศิลป์ เอาไว้ว่า
“คริติก (critic) สำคัญนะนาย นายจะอิมพรู้ฟ (improve) ถ้าจิตใจนายสูง... ฉันไม่รู้จักเข้าใจคนไทยทำไมกลัวการคริติก”
บางที อ.ศิลป์ ก็อาจจะเห็นว่า กิจกรรมการรับน้องไม่สนับสนุนให้คริติก หรือที่แปลเป็นไทยว่า วิจารณ์ เหมือนกับใครต่อใครหลายคนในสมัยนี้ และก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่ คณะวิชาที่นับถือ ‘อ.ศิลป์’ จนแทบจะเปรียบได้กับเป็น ‘นักบุญ’ ของพวกเขานี่แหละครับ ที่ยังจัดกิจกรรมที่ อ.ศิลป์ ไม่ได้เห็นดีด้วยเอาเสียอยู่ ทั้งๆ ที่เอะอะๆ ก็อ้าง อ.ศิลป์ ให้ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ
และบางทีอีกเหมือนกัน ก็คงต้องยืมคำของ อ.ศิลป์มาใช้
“นาย... นายไม่ได้อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร?”
(ที่จริงนี่เป็นข้อเขียนที่ผมเขียนให้ Voice ตั้งแต่เมื่อปี 2017 โน่น เห็นช่วงนี้ที่คณะจิตรกรรมฯ เค้ามีดราม่าเรื่องนี้กันอีกแล้วก็เลยเอามาให้อ่านกันใหม่อีกรอบ และใครจะรัก อ.ศิลป์ เพราะอะไรไม่รู้ แต่ผมรัก อ.ศิลป์ เพราะ อ. ศิลป์ เคารพในสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาทุกคน
Credit ภาพ: Workpoint News

https://www.facebook.com/siripoj.laomanacharoen/posts/4714696765213089