วันเสาร์, มิถุนายน 12, 2564

กระแสต่อต้านสัญลักษณ์ที่เชิดชูประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม กำลังมาแรงในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหราชอาณาจักร ถึงกับมีมีมติให้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของควีนเอลิซาเบธที่สอง ซึ่งแขวนอยู่บนผนังในห้องสโมสรนักศึกษาลง



นักศึกษาจากวิทยาลัยมอดลิน (Magdalen College) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร มีมติให้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ซึ่งแขวนอยู่บนผนังในห้องสโมสรนักศึกษาลง เนื่องจากเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคอาณานิคม

ด้านคณาจารย์ของอ็อกซ์ฟอร์ดอีก 150 คน ยังได้แสดงการประท้วงต่อวิทยาลัยออเรียล (Oriel College) กรณีที่ปฏิเสธคำขอให้รื้อรูปปั้นของเซซิล โรดส์ นักการเมืองยุคศตวรรษที่ 19 ผู้สนับสนุนแนวคิดเชิดชูคนผิวขาวและการล่าอาณานิคม โดยจะงดสอนในชั้นเรียนของวิทยาลัยดังกล่าวและไม่เข้าร่วมการบรรยายทุกรายการ

สาเหตุการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของควีนนั้น คณะกรรมการสโมสรนักศึกษาของวิทยาลัยมอดลิน (MCR) ได้ชี้แจงไว้ในบันทึกการประชุมว่า มตินี้เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้ห้องสโมสรนักศึกษามีบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาต่างชาติ

"เราได้ตระหนักว่าภาพของพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้น สำหรับนักศึกษาบางคนแล้ว ถือเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้"

คณะกรรมการของสโมสรนักศึกษายังระบุว่า มติดังกล่าวไม่ได้เป็นการล้มล้างเพิกถอนพระมหากษัตริย์ "เราไม่มีความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ นี่เป็นแค่การตัดสินใจเรื่องพื้นที่ใช้สอยร่วมกันของนักศึกษา"

ดินาห์ โรส เนติบัณฑิตผู้ดำรงตำแหน่งประธานวิทยาลัยมอดลิน ได้แสดงความเห็นสนับสนุนมติของสโมสรนักศึกษา โดยชี้ว่าพวกเขามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ทางการเมือง แม้จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรุ่นเก่าขึ้นมาบ้างก็ตาม โดยในขณะนี้มีผู้ส่งข้อความหยาบคายและข่มขู่แสดงความไม่พอใจมาที่วิทยาลัยจำนวนมาก

ประธานวิทยาลัยมอดลินยังกล่าวย้ำว่า การปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของควีนนั้น เป็นมติร่วมของนักศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่มติทางการของวิทยาลัยแต่อย่างใด และจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปลดลงจากผนังไปเก็บรักษาไว้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม เกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสหราชอาณาจักร ออกมาตำหนิว่าการกระทำของนักศึกษาอ็อกซ์ฟอร์ดนั้นไร้สาระน่าขัน เพราะควีนคือองค์ประมุขของรัฐและทรงเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ดีเลิศของประเทศ รวมทั้งได้ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน เพื่อส่งเสริมคุณค่าอย่างการเปิดกว้าง ขันติธรรม และการเคารพซึ่งกันและกัน

ส่วนกรณีคณาจารย์ 150 คนของอ็อกซ์ฟอร์ด แถลงว่าจะประท้วงงดสอนในระดับปริญญาตรีและไม่เข้าร่วมบรรยายที่วิทยาลัยออเรียลนั้น สาเหตุมาจากคำชี้แจงของทางวิทยาลัย ซึ่งบอกว่าจะไม่รื้อถอนรูปปั้นของเซซิล โรดส์ นักการเมืองผู้เชิดชูแนวคิดเหยียดผิวและสนับสนุนการล่าอาณานิคม เพียงเพราะเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องวางแผนบูรณะตัวอาคารอย่างยุ่งยากซับซ้อน


เซซิล โรดส์

เมื่อปีที่แล้วคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นคำร้อง เพื่อขอให้รื้อถอนรูปปั้นของโรดส์ ศิษย์เก่าและผู้มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่เหนือประตูทางเข้าด้านหนึ่งของวิทยาลัยออเรียล เนื่องจากโรดส์นั้นเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองในศตวรรษที่ 19 ผู้เผยแพร่แนวคิดว่าชนชาติอังกฤษนั้นอยู่เหนือเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นผู้บุกเบิกปูทางไปสู่การกีดกันแบ่งแยกสีผิวอย่างเป็นระบบหรือ Apartheid ในแอฟริกาใต้

แถลงการณ์ของคณาจารย์ผู้ประท้วงระบุว่า "การที่เราต้องเผชิญกับความดื้อรั้นและความยึดมั่นถือมั่นของวิทยาลัย ซึ่งมีต่อรูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์เชิดชูการล่าอาณานิคม รวมทั้งความมั่งคั่งที่อาณานิคมผลิตให้กับสถาบันการศึกษา ทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว"

"เราเสียใจที่ต้องทำเช่นนี้ แต่การประท้วงคว่ำบาตรจะดำเนินต่อไป จนกว่าวิทยาลัยออเรียลจะให้คำมั่นที่เชื่อถือได้ต่อสาธารณชนว่า จะดำเนินการรื้อถอนรูปปั้นนั้น"

อย่างไรก็ตาม มิเชล โดเนลัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ดูแลงานด้านสถาบันอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรมองว่า การประท้วงงดสอนอาจสร้างความเสียหายต่อบรรดานักศึกษาที่ได้จ่ายค่าเล่าเรียนมาแล้ว

"เราเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ แต่มหาวิทยาลัยมีภาระหน้าที่ในการให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่โรคระบาดเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาอยู่แล้ว"

โฆษกของทำเนียบนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งแถลงว่า "เราคาดหวังให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจดำเนินการอย่างเหมาะสม ซึ่งหมายรวมถึงการจ่ายเงินชดเชย หากมีนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการประท้วงงดสอน"