วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2564
อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี โพสต์ ข้อบกพร่องที่ทำให้รัฐบาลล้มเหลว ในการสื่อสารในภาวะวิกฤติโควิด
Siripan Nogsuan Sawasdee
6h ·
การสื่อสารในภาวะวิกฤติ ควรต้องมีองค์ประกอบ 4 ข้อนี้ เป็นอย่างน้อย
1. รวดเร็ว แต่ต้องแม่นยำ (SENSE OF URGENCY)
2. เห็นอกเห็นใจ (SHOW EMPHATHY)
3. โปร่งใส (TRANSPARENCY)
4. สร้างความเชื่อมั่น (MAKE IT CREDIBLE)
แต่ประสบการณ์ที่คนไทยพบเจอมาตั้งแต่เดือนเมษา เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 คือสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ขอยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้
1. Sense of urgency มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนตื่นตัว ไม่ใช่แตกตื่น แต่ประกาศสำคัญต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐ มักเกิดขึ้นกะทันหัน ไม่ให้เวลาประชาชนเตรียมตัว เช่น เลื่อนฉีดวัคซีน เปิด/ปิด สวนและสถานที่สาธารณะ หรืออนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาให้บริการได้ ความล่าช้า โลเล ในการสื่อสาร ทำให้ประชาชนเลิ่กลั่ก และหลายครั้งกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นในยามที่เงินทุกบาทมีค่ายิ่ง
ที่ควรต้องบอกตรง ๆ มานานแล้วคือ รัฐบาลมีวัคซีนในมือเท่าไหร่ และจัดสรรให้หน่วยงานไหน อย่างไร การจัดหาวัคซีนล่าช้านั้น รัฐบาลปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ประชาชนยอมรับได้เพราะภาวะขาดแคลนวัคซีนเกิดทั่วโลก (อาจยกเว้นอเมริกา และจีน)
และที่ควรต้องเร่งบอกให้ทั่วถึงในขณะนี้คือ คนที่ได้รับวัคซีนแม้ 2 เข็มแล้วยังคงต้องสวมหน้ากาก รักษาระยะห่างเช่นเดิม เพราะวัคซีนที่ไทยจัดหาช่วยเพียงลดความรุนแรงของโรค กันตาย ไม่กันติด ไม่กันการแพร่เชื้อ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีด SN 2 เข็มแล้วยังพบการติดเชื้อเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดี
2. การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ ควรเริ่มจากการเปิดใจรับฟังเสียงตำหนิ ท้วงติง แต่ที่เห็นมาตลอดคือการสร้างวาทกรรมกลบเกลื่อน เมื่อยังไม่ได้วัคซีน ก็บอกว่า “ได้วัคซีนช้าไม่มีผลกับไทย เพราะมีหน้ากากอนามัย ไม่ต้องฉีดให้เจ็บตัว” ตอนหน้ากากอนามัยขาดแคลน ก็เกิดวลี “หน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หมายถึงวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้” และล่าสุด “แผนวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส เป็นศักยภาพฉีด ไม่ใช่ตัวเลขส่งมอบจากบริษัท”
การสื่อสารด้วยความเห็นใจ มีรากฐานมาจากความตระหนักรู้ในความยากลำบากของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่เราไม่เคยเห็นรัฐปรับตัว โดยเฉพาะอะไร ๆ ก็ต้องผ่าน application ต้องให้ลงทะเบียนยื้อแย่งแข่งกัน ลงเสร็จต้องลุ้นต่อว่าจะได้หรือไม่ จะถูกเทไหม ประหนึ่งว่าชีวิตคนไทยทุกวันนี้ยังอนาถไม่พอ นอกจากผู้สูงวันจำนวนมากจะไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ดังที่เห็นแจ้งชัดในปรากฏการณ์เราชนะแล้ว จำนวนมากยังลงทะเบียนผ่าน app ไม่เป็น ส่งผลลูกโซ่ให้เป็นภาระของลูกหลาน ลองนึกดูว่าผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย จะต้องดิ้นรนอย่างไร
3. ว่าด้วยความโปร่งใส รัฐบาลไม่เคยอธิบายฐานคิดหรือเหตุผลในการจัดสรรวัคซีน ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมบุรีรัมย์ถึงได้มากกว่าชลบุรี ทำไมคนหนุ่มสาว กทม. ถึงได้ฉีด AZ ทำไมคนสูงวัยต่างจังหวัดถึงได้ SN ทำไมสัญญาไม่ผูกมัดให้สยามไบโอไซเอนซ์จัดส่งวัคซีนตามกำหนด ทำไมเรื่องอื้อฉาวหน้ากากอนามัยที่อภิปรายในสภากระทั่งมีการฟ้องร้องระหว่างกรมการค้าภายในกับคนของกรมศุลกากร ว่ามีคนของพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องจึงเงียบหายไป application ต่าง ๆ ของรัฐที่ทำขึ้นมาใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด หน่วยงานใดรับผิดชอบ
4.การสื่อสารที่ทำลายความเชื่อมั่นขั้นสุด คือ ขาดการประสานบูรณาการระหว่างหน่วยงาน สื่อสารเหมือนลืมอ่านไลน์กลุ่ม แย่งซีน โทษกันเอง เกี่ยงความรับผิดชอบ ตอบโต้ผ่านเพจ ผ่านอินโฟกราฟฟิก
แทนที่จะยืดอก ขอโทษประชาชนในฐานะผู้นำประเทศ หรือ รมต.ผู้รับผิดชอบ หลายครั้งกลับโยนภาระให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล
ตอนเขียนอยู่นี้ ดูหนังเรื่อง Pinocchio ไปด้วย Pinocchio จมูกยาวเพราะโกหก แต่หุ่นไม้ผู้จิตใจดีกลับตัวได้เมื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
สังคมไทยจะมีโอกาสได้รัฐบาลที่ยอมรับความบกพร่องและปรับปรุงตัวไหม หรือจะได้รัฐบาลจมูกยาวไม่มีที่สิ้นสุด
ภาพประกอบจาก เพจคาราโอเกะชั้นใต้ดิน และภาพยนตร์ Pinoochio 2020
https://www.facebook.com/siripan.nogsuansawasdee/posts/6055002961184306