วันศุกร์, มิถุนายน 18, 2564

ล่มสลาย-ล้มละลาย! มิคสัญญีไทยในปีที่ 8 จากเสือ… สู่เป็ดง่อย! ที่ไปไหนไม่รอด! - สุรชาติ บำรุงสุข



ล่มสลาย-ล้มละลาย! มิคสัญญีไทยในปีที่ 8/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

17 มิถุนายน พ.ศ.2564
มติชนสุดสัปดาห์

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

ล่มสลาย-ล้มละลาย!
มิคสัญญีไทยในปีที่ 8


“การปกครองด้วยการใช้กำลังแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องมีอำนาจที่ชอบธรรมด้วย”
Samuel Finer (1962)


ไม่น่าเชื่อเลยว่าการเมืองไทยภายใต้การควบคุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว

แม้รัฐบาลจะไม่มีความสำเร็จอะไรเป็นที่ประจักษ์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่การยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557…

วันนี้เขากำลัง “วัดรอยเท้า” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการเป็นนายทหารที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานในการเมืองไทยร่วมสมัย

การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จึงไม่ใช่ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” อย่างที่ผู้นำทหารชอบออกมาโฆษณาชวนเชื่อ

หากเป็นการอาศัยกลไกของระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้สามารถดำรงระบอบทหารในรูปแบบใหม่ไว้ได้

หรืออาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยในมุมมองทางรัฐศาสตร์ได้ว่า การเมืองไทยเป็น “การเมืองสีเทา”

คือเป็นการเมืองที่หยุดอยู่ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย และให้กำเนิด “ระบอบพันทาง” (หรือ “ระบอบไฮบริด”) ในการเมืองไทยปัจจุบัน

ระบอบเผด็จการครึ่งใบ!

การอยู่ใน “พื้นที่สีเทา” ของเมืองไทย เป็นการหยุดที่ค่อนอยู่มาทางฝั่งที่เป็นเผด็จการ มากกว่าจะค่อนไปในฝั่งที่เป็นประชาธิปไตย

ฉะนั้น ถ้าเราเรียกการเมืองในยุครัฐบาลเลือกตั้งของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยภาพพจน์ว่าเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แล้ว เราคงต้องเรียกการเมืองในยุครัฐบาลเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “เผด็จการครึ่งใบ”

เพราะการคงอำนาจของรัฐบาลทหารในยุคหลังการเลือกตั้งนั้นมีอยู่อย่างเข้มข้น

จนอาจสรุปได้ว่าการเลือกตั้ง 2562 คือเครื่องมือในการดำรงอำนาจของรัฐบาลทหารภายใต้กติกาของระบอบรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้นเอง

การสร้างระบอบ “เผด็จการครึ่งใบ” ของผู้นำทหารเช่นนี้ เป็นความสำเร็จในการออกแบบกติกาและกลไกทางการเมืองที่เอื้อให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “มรดกบาป” ของรัฐบาลทหารจวบจนปัจจุบัน

1) ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่เป็นรัฐธรรมนูญ : ระบอบทหารของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะผู้ยึดอำนาจ ออกแบบให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกของการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ที่จะทำให้พรรคฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองในการเลือกตั้งได้เลย โดยเฉพาะการออกแบบให้วุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูอย่างแน่นหนาสำหรับฝ่ายค้านที่จะเป็นรัฐบาล

2) ออกแบบยุทธศาสตร์ แต่ต้องไม่เป็นยุทธศาสตร์ : รัฐบาลทหารพยายามเอาแนวคิดทางทหารในการกำหนดยุทธศาสตร์มาใช้เพื่อเป็นการกำกับทิศทางของประเทศในอนาคต แต่ด้วยความต้องการใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการควบคุมประเทศในทางการเมือง ยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยจึงเป็นเพียงกลไกในการควบคุมทางการเมือง และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้

3) สร้างองค์กรอิสระ แต่ต้องไม่อิสระ : ความได้เปรียบทางการเมืองประการสำคัญอีกส่วนมาจากการเลือกบุคคลในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อันส่งผลให้ข้อร้องเรียนทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ กลายเป็นเพียง “กระสุนด้าน” เพราะผลคำตัดสินในแทบทุกเรื่อง รัฐบาลจะเป็นผู้ชนะเสมอ จนกล่าวกันในวงพนันว่า ไม่มีนักพนันคนไหนกล้ารับท้าพนันเพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และพวกไม่เคยแพ้ด้วยคำตัดสินขององค์กรอิสระในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

4) ใช้ทหาร แต่ต้องไม่เป็นทหารอาชีพ : ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์อิงอยู่กับอำนาจทางการเมืองของกองทัพอย่างแนบแน่น และหลังรัฐประหาร 2557 เห็นได้ชัดถึงบทบาทการแทรกแซงของทหารในการเมืองไทยอยู่ในระดับสูง

จนเกิดข้อเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย ให้เกิดการ “ปฏิรูปกองทัพ” เพราะต้องการเห็นกองทัพไทยเป็น “ทหารอาชีพ” ไม่ใช่เป็น “ทหารการเมือง” ที่มีบทบาทในการเป็นฐานอำนาจของผู้นำทหารในเวทีการเมือง ซึ่งรวมถึงการใช้ตำรวจในทางการเมืองด้วย

มรดกการเมือง 4 ประการหลักเช่นนี้ เป็นเครื่องมือที่สร้าง “ความได้เปรียบทางการเมือง” ให้แก่กลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์และพวกอย่างมาก แม้เขาจะสามารถพาตัวเองเป็นนายกฯ จนล่วงเข้าปีที่ 8 แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาในแต่ละปี พิสูจน์ให้เห็นถึง “ทุกขลาภอันแสนสาหัส” แม้จะอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานกว่าที่คิด แต่เป็นการมีอำนาจที่อยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองอย่างหนัก

นอกจากนี้ รัฐบาลชุดยังสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศ และอาจพาประเทศไปสู่ “การล้มละลาย” ได้ไม่ยากนักในปีที่ 8 โดยเฉพาะการล้มละลายทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายกู้เงินจำนวนมหาศาลในแต่ละครั้ง

อีกทั้งชีวิตของคนในสังคมประสบความยากลำบากมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จนอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “มิคสัญญีไทย” ที่อาจกลายเป็น “ความรุนแรง” ได้

มหาวิกฤต!

การกล่าวถึงแนวโน้มเช่นนี้ เกิดจากทิศทางที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “คลื่นวิกฤต” ขนาดใหญ่ที่มีความแรงหลายลูกพร้อมกัน จนอาจต้องกล่าวว่า ผลจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกแรกในต้นปี 2563 และตามมาด้วยระลอกสองและสามในต้นปี 2564 นั้น ทำให้ประเทศตกอยู่ใน “มหาวิกฤต” จนสังคมเริ่มไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ…

ยิ่งนานวัน ยิ่งเห็น “วิกฤตศรัทธา” ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ตัว พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกันยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเห็นถึง “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาลชุดนี้ในการแก้วิกฤต และกำลังกลายเป็น “วิกฤตความเชื่อมั่น” ที่สังคมเริ่มเรียกร้องหาผู้นำคนใหม่ที่มีความสามารถมากกว่า

อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่ท้าทายของ พล.อ.ประยุทธ์ในปีที่ 8 ได้แก่

1) วิกฤตการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเกิดจากการปฏิเสธการรับความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากองค์การอนามัยโลก การละเลยในการตระเตรียมวัคซีนสำหรับการระบาดในอนาคต การไม่เปิดช่องทางให้เกิดวัคซีนทางเลือก แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า การสื่อสารของรัฐบาลในเรื่องวัคซีนที่ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน และการไม่มีท่าทีตอบรับต่อข้อเสนอของภาคเอกชนเท่าที่ควร

2) วิกฤตการบริหารจัดการเศรษฐกิจ วันนี้เศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคกำลังตกอยู่ในมหาวิกฤต แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้อย่างไร จนทำให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะการกู้เงินเป็นจำนวนมหาศาล

3) วิกฤตความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีปัญหาใหญ่ในสองเรื่องหลักคือ ปัญหาคนจนและปัญหาคนตกงาน ที่อาจเกิดการ “ล่มสลาย” ของชีวิตทางสังคมได้ แต่การแก้ปัญหากลับมุ่งไปใช้นโยบายประชานิยม มากกว่าจะเน้นในการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” เพื่อแก้ปัญหาแบบรอบด้านในระยะยาว

4) วิกฤตความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในสังคมไทย ที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกันคนจนปรากฏชัด จนประเทศไทยติดอันดับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการระบาดของโควิดในปี 2563 ต่อเนื่องเข้าปี 2564 ยิ่งทำให้ช่องว่างนี้ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนคนจนและคนตกงานที่ซ้ำเติมให้ช่องว่างถูกถ่างออก ประเด็นนี้เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลในปี 2564

5) วิกฤตหนี้ ซึ่งเกิดจากการกู้เงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาล โดยมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ถูกใช้เป็นข้ออ้างอย่างดี ประกอบกับการไร้ขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ทำให้การกู้เงินเป็นทางเลือกหลักของรัฐบาล และล่าสุดคือ การออกพระราชกฤษฎีกาเงินกู้ 7 แสนล้าน (หลังจากการออกกฤษฎีกาไปแล้ว 1 ล้านล้านบาทในปี 2563) วิกฤตหนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในอนาคต

6) วิกฤตคนรุ่นใหม่ ที่สะท้อนผ่านความเห็นต่างทางการเมือง ความต้องการอยาก “ย้ายประเทศ” และภาวะตกงานของคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนของการประท้วงใหญ่ในยุคหลังโควิด อีกทั้งคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลชุดนี้จะเป็นผู้สร้างอนาคตให้กับพวกเขา และการขยายการจับกุมคนรุ่นใหม่ที่เห็นต่าง จะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น และมีผลต่อความเชื่อมั่นในสถาบันตุลาการไทยอย่างมาก จนเกิด “วิกฤตยุติธรรมไทย” ที่ทับซ้อนอยู่กับปัญหาวิกฤตอื่นๆ ด้วย

7) วิกฤตการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เสียงต่อรัฐบาลที่ดังมากขึ้น แม้รัฐบาลจะมั่นใจว่าความได้เปรียบทางการเมืองที่มีอยู่ในกลไกที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้นนั้น จะไม่มีใครเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นปัญหาอย่างมากในปีที่ 8 และสถานะความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจะเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในปี 2564

8) วิกฤตศรัทธา ที่พุ่งเป้าโดยตรงไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ (และผู้นำทหารอย่าง พล.อ.ประวิตร) เพราะสังคมเริ่มไม่มั่นใจว่า ผู้นำทหารจะมีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศได้จริง ทั้งยังเห็นถึงความพยายามที่จะรวมอำนาจทุกอย่างกลับไปไว้ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จนรัฐบาลปัจจุบันแทบจะถอยกลับไปเป็นรัฐบาลทหารรวมศูนย์ในแบบเดิม แต่อำนาจที่มากขึ้นก็ไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของรัฐบาล

9) วิกฤตทหาร เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง เพราะรัฐบาลทหารแต่เดิมต้องอาศัยกองทัพเป็นฐานอำนาจ และเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง ก็ยังต้องอาศัยฐานอำนาจสนับสนุนจากทหาร ขณะเดียวกันก็เป็น “โอกาสทอง” ของกองทัพในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ แม้สังคมจะเรียกร้องให้มีการปรับลดงบฯ ทหาร และลดบทบาททางการเมืองของทหารเพียงใดก็ตาม แต่กองทัพยังจัดซื้ออาวุธต่อไป ส่งผลให้เสียงต่อต้านทหารดังมากขึ้น และ 2564 จะเป็นปีของวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันทหาร

10) วิกฤตเมียนมา ที่เกิดจากการต่อต้านรัฐประหารในวงกว้าง และอาจทำให้รัฐบาลทหารสิ้นสุดลงได้ ซึ่งหากรัฐบาลทหารเมียนมาล้มลง ย่อมจะมีผลกระทบกับการต่อต้านรัฐบาลไทย ดังที่เป็นข้อสังเกตทางทฤษฎีว่า การล้มลงของรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมอีกประเทศถูกล้มตามไป

จากเสือ… สู่เป็ดง่อย!

ปีที่ 8 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ใช่ “เส้นทางบนกลีบกุหลาบ” อย่างแน่นอน

หากเป็น “ปีมหาวิกฤต” ที่ท้าทายอย่างมาก

แม้จะมีการเปรียบว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลัง “เทียบชั้น” พล.อ.เปรมที่อยู่ในอำนาจนานถึง 8 ปี 5 เดือน (2523-2531) พร้อมกับคำขวัญที่จะพาประเทศไปสู่ความ “โชติช่วงชัชวาล” และไทยจะหนึ่งใน “เสือตัวใหม่” ของเอเชีย

อีกเพียง 5 เดือนนับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายทหารที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานในการเมืองไทยร่วมสมัย และหากอยู่เกินกว่า 5 เดือนแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่นานกว่า พล.อ.เปรม ซึ่งต้องถือเป็นหนึ่งใน “เรื่องเหลือเชื่อ” จนอาจต้องลงบันทึกถึงความประหลาดนี้ในรายการ “Believe It or Not” ของริปลีย์ เพราะรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพกลับอยู่ได้อย่างยาวนานไม่น่าเชื่อ

ถ้าตอนนั้นเราฝันจะเป็นเสือตัวใหม่ แต่ความจริงวันนี้ไทยเป็นเพียง “เป็ดง่อย” ที่ไปไหนไม่รอด!