iLaw
11h ·
7 มิถุนายน 2564 เวลา 15.55 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ "ไม่ให้เปิดเผย" บันทึกการประชุมลับของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 4 ครั้ง ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ไม่ให้เปิดเผย) 173 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นว่าให้เปิดเผย) 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
.
คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์ฯ) เป็นคณะกรรมธิการของวุฒิสภา ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวนทั้งสิ้น 32 คน โดยมีสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธาน
.
อย่างไรก็ดี ชื่อของ "คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์" ไม่ได้ปรากฏขึ้นในยุคของวุฒิสภา "ชุดพิเศษ 250 คน" เป็นครั้งแรก แต่เคยปรากฏมาแล้วในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
.
โดยกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดสนช. ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวน 31 คน โดยมีพลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ และมีกรรมาธิการ "หน้าซ้ำ" ที่เคยเป็นกมธ. พิทักษ์ฯ ในชุดสนช. และได้เป็นในชุดวุฒิสภาอีก 4 คนด้วยกัน ได้แก่
.
1) พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม เป็นรองประธานกมธ.พิทักษ์ ชุดสนช. และต่อมาก็ได้เป็นที่ปรึกษากมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภา
2) ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภา
3) กิตติ วะสีนนท์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภาด้วยเช่นกัน
4) ธีรยุทธ์ ตั้งบุญเกษม เป็นผู้ช่วยเลขานุการในกมธ.พิทักษ์ฯ ทั้งชุดสนช.และวุฒิสภา
.
นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ในชุดสนช. ที่ไม่ได้มาเป็นกมธ.พิทักษ์ฯ ในชุดวุฒิสภาอีกมีคนเดียว แต่ก็ยังคงได้ดำรงตำแหน่งเป็นส.ว. และมีบทบาทด้านอื่นในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งการยกประเด็นห้าม #แก้รัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 และอีก 38 มาตรา และหนุนพ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ คือ สมชาย แสวงการ
.
อย่างไรก็ดี มติของวุฒิสภาไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ. พิทักษ์ฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่มติครั้งแรก ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 17 วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติ ไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ.พิทักษ์ฯ ด้วยคะแนนเสียง 183 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่มีผู้เห็นด้วย
.
ทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับกมธ. พิทักษ์ฯ และความ "เล่นใหญ่" ของวุฒิสภา ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
https://www.ilaw.or.th/node/5863
.....
7 ปี แห่งความถดถอย : “สภาแต่งตั้ง” เล่นใหญ่เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และขยายพระราชอำนาจ
เมื่อ 22 พ.ค. 2564 โดย iLaw
ปี 2563 เป็นปีประวัติศาสตร์ที่เกิดปรากฏการณ์ การอภิปรายถึงข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในทางสาธารณะ พร้อมการชุมนุมหลายต่อหลายครั้งของประชาชนที่ต้องการ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”
การปรากฏตัวขึ้นของข้อเรียกร้องที่มุ่งไปในทางจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย อาจเป็นปฏิกริยาที่ตามมาหลังจาก “สภาแต่งตั้ง” ของคณะรัฐประหารใช้อำนาจไม่เพียงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ แต่ยังและแสดงออกถึงความ “แตะต้องไม่ได้” และครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผ่านกฎหมายออกมาอย่างเป็นเอกฉันท์ไปในแนวทางที่มีแต่การเพิ่มพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากยิ่งขึ้น
4 เรื่องหลักที่ สนช. รื้อระบบกฎหมาย ขยายพระราชอำนาจ
๐ แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ตามที่ “ข้อสังเกตพระราชทาน”
ภายหลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สองเดือนหลังจากนั้น 22 กรกฎาคม 2557 ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และให้มี กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้ คสช. เสนอผู้เป็นกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ห้าคน (มาตรา 32)
4 พฤษจิกายน 2557 มีการตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ. รวมทั้งคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งปัจจุบันเป็นส.ว. ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นส.ส. พรรคพลังประชารัฐ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาฉบับหนึ่งเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ไปเมื่อ 6 กันยายน 2558
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) หรือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้นเองครั้งแรก นอกจากแก้ไขบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ยังแก้ไขเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของรัฐมนตรี จากเดิมที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ “ต่อพระมหากษัตริย์” ก็แก้ไขเป็น “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้” (มาตรา 19 วรรคสอง)
5 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นชุดที่สอง โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ ในระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมานั้น 22 มีนาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้นเป็นครั้งที่สอง กำหนดเรื่องกระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และยังกำหนดใหม่ว่า ภายหลังจากการทำประชามติแล้วผลคะแนนเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป” ซึ่งเป็นการให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจยับยั้ง (Veto) ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการ “ประชามติ” จากประชาชนในประเทศแล้วก็ได้ เป็นการขยายพรมแดนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้นกว่าการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายในกรณีปกติ
29 มีนาคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต่อมา 7 สิงหาคม 2559 จัดทำประชามติ หลังจากประชามติแล้ว ข่าวสดรายงานว่า 8 พฤศจิกายน 2559 นายกฯ ได้ลงนามเพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ ไทยรัฐรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 องคมนตรีได้มาพบ เนื่องจากทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้ทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่า มีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางฝ่ายองคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว และมีพระราชกระแสลงมาว่ามีสามถึงสี่รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน เราก็รับสนองพระบรมราชโองการ
ต่อมา 15 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่า เมื่อนายกฯ นําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ให้นายกฯ ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง แล้วให้นายกฯ นําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมา
นอกจากประเด็นนี้แล้ว ยังให้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในมาตรา 2 วรรคสาม เพราะเดิมไม่ได้เขียนไว้ และต้องตีความว่า เมื่อไม่มีการบัญญัติไว้เฉพาะ จึงต้องใช้ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหากย้อนดูตามประเพณีและตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก่อนหน้า ก็จะกำหนดว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่อาจบริหารราชภาระหรือไม่อยู่ในราชอาณาจักร ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เพิ่มขึ้นมา กำหนดว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้” ซึ่งกำหนดแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
18 มกราคม 2560 สยามรัฐรายงานว่า นายกฯ ได้แต่งตั้ง “กรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน”จากนั้น 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงมีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 6 เมษายน 2560 ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติหลายประการ เช่น เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้
ตลอดช่วงเวลาที่เป็น “สภาวะยกเว้น” ภายใต้การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นได้ว่า มีการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้สามารถยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญได้ และถึงแม้จะมีความพยายามในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และใช้กลไก “ประชามติ” ถามเสียงประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” แต่ก็ยังมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเห็นชอบแล้ว
๐ แก้กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ภายใต้สถานการณ์ช่วง “สภาวะยกเว้น” มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อีกสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561
ในพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และฉบับอื่นๆ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดนิยามแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ออกจากกัน โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์
ทั้งนี้ ไม่มีข้อมูลว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้หน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. เมื่อใด จากการสืบค้นในฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของ สนช. ทั้งในหน้าระบบประมวลผลข้อมูลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และในหน้าเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ต่างก็ไม่พบข้อมูลว่า กฎหมายนี้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเมื่อใด และมีหลักการของกฎหมายที่พูดคุยกันใน สนช. ว่าอย่างไรบ้าง
และหลังจากที่ สนช. ประกาศใช้พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในปี 2560 กฎหมายนี้ก็ใช้ได้อยู่เพียงปีเศษ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ถูกบรรจุระเบียบวาระการประชุมที่ 71/2561 ซึ่งไม่ได้แนบเอกสารที่เกี่ยวกับไว้ในเว็บไซต์ สนช. และ วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมลับสนช. ก็เห็นชอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง มีผลทำให้พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ถูกยกเลิกไป และใช้ฉบับใหม่ของปี 2561
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดนิยาม “ทรัพย์สินในพระองค์” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวด้วย ส่วน “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินในพระองค์ และ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย
๐ แก้กฎหมายคณะสงฆ์ พระมหากษัตริย์แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ผ่านการแก้ไขสี่ครั้ง โดยสองครั้งล่าสุด คือ การแก้ไขในขณะที่ สนช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการพิจารณาทั้งสองครั้งก็เป็นไปอย่างรวดเร็วใช้เวลาในการพิจารณาเห็นชอบภายในไม่กี่ชั่วโมง ในด้านเนื้อหาสาระการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งมีสาระสำคัญคือการเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้บริหารคณะสงฆ์
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เดิมกำหนดบทบาทของพระมหากษัตริย์ไว้เพียงแต่เป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชจะมีตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นผู้บัญชาคณะสงฆ์ และสามารถตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อให้ปกครองคณะสงฆ์ได้ มหาเถรสมาคมสามารถตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบหรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้
ต่อมามีการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์เป็นครั้งแรก โดยการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ยังคงกำหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่มีการขยายความเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกฯ เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับคณะสงฆ์ออกไปอีกสองกรณี
หนึ่ง กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่งหรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นใดตามพระราชอัธยาศัยก็ได้
สอง พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งตั้งพระสงฆ์ระดับพระสังฆราช แต่รวมถึงพระสงฆ์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้คณะสงฆ์ด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งที่สอง ทำโดยการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2547 โดยเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สาม เกิดขึ้นในยุคของ คสช. โดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ริเริ่มเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 สมาชิก สนช. จำนวน 81 คน นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เสนอแก้ไขประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทในการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในยุคคสช.ได้ที่นี่)
การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ เกิดขึ้นในยุคของคสช. อีกเช่นกัน โดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ริเริ่มเมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม สิ่งสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ คือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ โดยปรากฎอยู่ในมาตรา 5 ตรี ที่ระบุว่า “... พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม” ซึ่งตามกฎหมายเดิมกรรมการมหาเถรสมาคมมีที่มาจากสองส่วน คือ มาจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” ทุกรูป และมาจากการพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” จำนวน 12 รูป โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้ง
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมใหม่ ซึ่งปรากฎในมาตรา 12 ระบุว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”
การแก้ไของค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องเลือกจากพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เท่านั้น
ภายหลังจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว 14 ตุลาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเนื้อความคือพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป โดยอาศัยอำนาจจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยพระภิกษุซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ล้วนสังกัดวัดที่อยู่ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
๐ ผ่านกฎหมายใหม่ ส่วนราชการในพระองค์ เป็นหน่วยพิเศษ ไม่ใช่ส่วนราชการแต่รับเงินงบประมาณ
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ กำหนดในมาตรา 15 วรรคสอง ให้การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการกำหนดพระราชอำนาจที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 (อ่านเปรียบเทียบบทบัญญัติหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ได้ที่นี่) ต่อมา 1 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 กำหนดเรื่อง “ส่วนราชการในพระองค์” ว่าไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือส่วนราชการตามนิยามในกฎหมายอื่นๆ แต่ยังคงได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐ จากการรายงานของประชาไท ระบุว่า ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สนช.ได้พิจารณาแบบลับ ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ต่อมา 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 โดยสรุปมีอยู่สองประการ
ประการแรก ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน ของหลายหน่วยงาน ที่เดิมเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง หรือหน่วยงานปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สังกัดอยู่ในส่วนราชการอื่น กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์
ประการที่สอง เมื่อพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมายต่างๆ อีกหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับการโอนกิจการของหน่วยงานต่างๆ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์
การที่พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด ทำให้ “ส่วนราชการในพระองค์” เป็นองค์กรที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยนายกฯ ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร หากพิจารณาย้อนกลับไปในอดีต ตามพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม พ.ศ. 2584 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2506 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ล้วนกำหนดให้สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกฯ นอกจากนี้แล้ว การที่กำหนดไม่ให้ส่วนราชการในพระองค์เป็น “หน่วยงานของรัฐ” ทั้งๆ ที่ยังรับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินอยู่ ทำให้ส่วนราชการในพระองค์เปรียบเสมือนองค์กรในอีกระบบหนึ่ง ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกลไกปกติ เช่น กลไกทางปกครองผ่านศาลปกครอง กลไกการตรวจเงินผ่านสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
วุฒิสภาตั้ง กมธ. พิทักษ์สถาบันฯ แต่ไม่ชัดว่าประชุมอะไร
เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 สนช. ก็ปิดตัวลงไป แต่ไม่นานนักก็มีสภาแต่งตั้งชุดใหม่มาแทน เรียกว่า “วุฒิสภา” ซึ่งไม่ได้มีอำนาจเต็มในการออกกฎหมายเช่นเดียวกับ สนช. อีกแล้ว แต่ต้องทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี วุฒิสภาชุดพิเศษของ คสช. ก็ทำงานตามความมุ่งหมายเดิมในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์ฯ) ขึ้นมาทำงาน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562
ในเอกสารข่าว ของกมธ. ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตั้งกมธ.พิทักษ์ฯ เป็น “ฉันทามติ” ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สำนึกในความสำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นตามข้อเสนอหรือญัตติของส.ว.รายใด โดยมีเป้าประสงค์ คือ สืบสานรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและดำรงอยู่กับชาติไทยตลอดไป
กมธ. ดังกล่าว เมื่อแต่งตั้งครั้งแรกมีทั้งสิ้น 30 คน แต่จากข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของกมธ. ปรากฏรายชื่อทั้งหมด 32 คน โดยมีสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ก่อนหน้านี้ ในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ของสนช. ด้วยเช่นกัน โดยกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดก่อน ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวน 31 คน โดยมีพลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีกรรมาธิการ 4 คนที่อยู่ในชุดของ สนช.และยังอยู่ในชุดของวุฒิสภาต่อด้วย ได้แก่
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม เป็นรองประธานกมธ.พิทักษ์ ชุดสนช. และต่อมาก็ได้เป็นที่ปรึกษากมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภา
ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภา
กิตติ วะสีนนท์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ วุฒิสภาด้วยเช่นกัน
ธีรยุทธ์ ตั้งบุญเกษม เป็นผู้ช่วยเลขานุการในกมธ.พิทักษ์ฯ ทั้งชุดสนช.และวุฒิสภา
นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในกมธ.พิทักษ์ฯ ในชุดสนช. ที่ไม่ได้มาเป็นกมธ.พิทักษ์ฯ ในชุดวุฒิสภาอีกมีคนเดียว แต่ก็ยังคงได้ดำรงตำแหน่งเป็นส.ว. และมีบทบาทด้านอื่นในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ สมชาย แสวงการ
สำหรับเรื่องอำนาจหน้าที่ของกมธ.พิทักษ์ฯ เอกสารบันทึกข้อความการตั้งกมธ.พิทักษ์ฯ ชุดวุฒิสภา ไม่ได้ระบุข้อมูลไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่หน้าเว็บไซต์ของกมธ. เมนู “อำนาจหน้าที่” ก็ไม่ได้ระบุข้อความใดๆ ไว้ เป็นหน้าเว็บเพจที่ว่างเปล่า
ด้านผลงาน นับถึงเดือนพฤษภาคม 2564 กมธ.พิทักษ์ฯ ประชุม ไปแล้วอย่างน้อย 33 ครั้ง แบ่งเป็น การประชุมในปี 2562 เจ็ดครั้ง ปี 2563 20 ครั้ง โดยครั้งที่ 20 ไม่มีข้อมูลระเบียบวาระการประชุมและหนังสือนัดประชุมบนหน้าเว็บไซต์ ส่วนในปี 2564 ประชุมไปแล้วหกครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือ 2 เมษายน 2564
บนหน้าเว็บไซต์ของกมธ.พิทักษ์ฯ ไม่ได้แสดงรายงานการประชุม และจากระเบียบวาระการประชุมก็ไม่มีรายละเอียดที่ทำให้เข้าใจถึงเนื้อหาการประชุมแต่ละครั้งได้ ทั้งนี้ เมื่อไปย้อนดูการประชุมวุฒิสภา พบว่า ในการประชุมครั้งที่ 17 วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติ ไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ.พิทักษ์ฯ ด้วยคะแนนเสียง 183 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่มีผู้เห็นด้วย
ทัวร์ดูงานต่างจังหวัด เสนองานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
นอกจากผลงานด้านการประชุมแล้ว ในหน้าเว็บไซต์ส่วนของข่าวสารวุฒิสภา ปรากฏข่าวว่า กมธ.พิทักษ์ฯ เคยไปศึกษาดูงานหกครั้ง
ครั้งแรก 13 พฤศจิกายน 2562 ศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ และหอสมุดสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ครั้งที่สอง 20 ธันวาคม 2562 ศึกษาดูงานที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อรับทราบข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อต้านข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ครั้งที่สาม 17 กันยายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ และสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ครั้งที่สี่ 8 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการหลวงด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ครั้งที่ห้า 9 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเตรียมความพร้อมและลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำสื่อวีดิทัศน์สถานที่สำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งใช้ประกอบในการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน นักเรียนและนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป
ครั้งที่หก 27 พฤศจิกายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลประวัติความเป็นมา ประกอบด้วย 1) พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม (สวนสุขภาพลัดโพธิ์) 2) พระสมุทรเจดีย์ 3) ป้อมพระจุลจอมเกล้า และ 4) ชุมชนบ้านสาขลา
นอกจากการประชุมและการศึกษาดูงาน กมธ.พิทักษ์ฯ ก็เคยปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ด้วย ได้แก่
๐ รับหนังสือแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน จาก ผศ.ดร. เชรษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เมื่อ 1 ธันวาคม 2563
สำหรับแถลงการณ์ของ ทปสท. มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ขอให้ดำรงจุดยืนของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์คู่กับสังคมไทย เนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างสูงยิ่งร่วมกับกลุ่มประชาชนทุกหมู่เหล่าในการสร้างชาติมาด้วยกัน และไม่สนับสนุนการรัฐประหารในการแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง
๐ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ Seed Project เรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” เมื่อ 29 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กมธ.พิทักษ์ฯ และมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม เพื่อสร้างแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เข้ามานำเสนอความคิดและวิธีการในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองผ่านการหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่น
และเมื่อมีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 สิงหาคม 2564 กมธ.พิทักษ์ฯ ก็ออกมาแถลงข่าวในวันถัดไปทันที โดยมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ คือ กมธ. ได้ติดตามการใช้สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และมีความเป็นห่วงที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กระทบต่อ “ความรู้สึก” ของคนไทยหลายสิบล้านคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเคารพยิ่ง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติในการใช้สิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยคำนึงถึงความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ
ตั้งอนุฯ ศึกษาแนวทางสื่อสารเชิงรุกพัฒนาความเชื่อ
กมธ.พิทักษ์ฯ ยังมีคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญในสังกัดสองชุด คือ
1) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางด้านการสื่อสารในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (อนุกมธ.แนวทางสื่อสารฯ)
2) คณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (อนุกมธ.ดำเนินมาตรการฯ)
อนุกมธ.แนวทางสื่อสารฯ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางสื่อสารเชิงรุกเพื่อพัฒนาความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม สำหรับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันฯ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยและเพื่อความมั่นคงของประเทศ ดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสถาบันฯ ประกอบไปด้วยอนุกรรมาธิการ 12 คน เคยประชุมไปแล้วทั้งหมด 23 ครั้ง ในปี 2563 20 ครั้ง และปี 2564 ประชุมไปแล้วสามครั้ง
ด้านอนุกมธ.ดำเนินมาตรการฯ ในเว็บไซต์ ของอนุกมธ.ดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดเรื่องอำนาจของอนุกมธ.ชุดดังกล่าวเอาไว้ โดยอนุกมธ.ชุดนี้มีอนุกรรมาธิการทั้งหมด 12 คน เคยประชุมไปแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง แบ่งเป็น ปี 2563 เก้าครั้ง และปี 2564 เจ็ดครั้ง
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์หรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
อนุมัติพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ย้ำการถวายอารักขาเป็นความมั่นคงของประเทศ
พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 กันยายน 2562 โดยใช้อำนาจออกกฎหมาย “ทางลัด” เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หลังจากประกาศใช้ไปแล้วจึงต้องนำมาให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติตามหลัง
เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาอนุมัติพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ไปเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 วุฒิสภาจึงมีนัดประชุมในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติพ.ร.ก.ดังกล่าวหรือไม่ มีส.ว.หลายคน ได้อภิปราย ดังนี้
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จำเป็นมากๆ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่าทรงเป็นประมุขหมายถึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการออกพ.ร.ก.เพื่อถวายความอารักขาถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะพระองค์เป็นประมุขสูงสุด เมื่อดูทั้งสองมาตราประกอบกันแล้ว จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอารักขาประมุขของประเทศ
เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติ ดังนั้น การตราพ.ร.ก.เพื่อถวายความอารักขา เมื่อเป็นความมั่นคงของชาติ และเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงเป็นฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่รักษาความปลอดภัยของประเทศ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่พิจารณากฎหมายงบประมาณ จึงมีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ตนในฐานะวุฒิสภาจึงเห็นชอบกับพ.ร.ก. ดังกล่าว พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนและควรจะพิจารณาอนุมัติ จึงขอให้ส.ว.ทุกท่านพิจารณาอนุมัติพ.ร.ก. ดังกล่าว
สมชาย แสวงการ ส.ว. ผู้เคยเป็นสนช. และเคยเป็นกมธ.พิทักษ์ฯ ในชุดของสนช. อภิปรายว่า ขอใช้เวทีนี้ (ที่ประชุมวุฒิสภา) เพื่ออธิบายไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะมีข้อมูลที่บิดเบือนจากการอภิปรายในชั้นสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่านายกฯ ไม่สมควรตราเป็นพ.ร.ก. ทำไมไม่ทำเป็นพ.ร.บ. เรื่องนี้เป็นความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ถ้าทำเป็นพ.ร.บ.ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรสามวาระ กรณีที่จะผ่านสามวาระรวดเลยนั้น หลังจากผ่านวาระหนึ่งแล้ว ก็ต้องใช้กรรมาธิการเต็มสภา ส.ส.ที่โหวตสวน (ไม่อนุมัติ) พ.ร.ก. ฉบับนี้ อาจจะแปรญัตติแล้วเกิดผลกระทบต่อร่างพ.ร.บ. ตัดออกบางกรม (ที่จะโอนย้ายอัตรากำลังพลไปยังส่วนราชการในพระองค์) รัฐสภาก็ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งการทำเป็นพ.ร.บ. หลังผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องผ่านวุฒิสภาอีก ซึ่งต้องใช้เวลา คนไทย “ทั้งประเทศ” เข้าใจและเห็นด้วยเรื่องการถวายอารักขาความปลอดภัยเพราะเรื่องนี้อยู่ในสังคมไทยมาตั้งนาน ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์
สมชาย อภิปรายโดยอ้างถึงบทสัมภาษณ์ของเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (ปิยบุตร แสงกนกกุล) ว่า การประกาศจุดยืนเรื่องนี้เป็นจุดยืนของพรรค สิ่งที่ทำนั้น “ไม่งดงาม” สร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนคนไทยที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่าไปอ้างเลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะนายกฯ อยากได้มาตรา 44 ตนว่า “ตะแบง” สภามีหน้าที่ “อนุมัติ” ถ้าไม่สบายใจจะไม่มาลงมติก็ได้ ทำไมพรรคฝ่ายค้านพรรคอื่นถึงลงมติได้ ทำไมพรรคอนาคตใหม่ต้องสร้างความแปลกประหลาด ถ้ารัฐสภาสร้างความไม่มั่นคง ประเทศจะไปสู่การแตกแยกอีก
อนุศักดิ์ คงมาลัย อภิปรายว่า การโอนอัตรากำลังพลฯ และงบประมาณบางส่วน ของหน่วยงานในกองทัพไปยังหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนราชการในส่วนราชการในพระองค์ มีหน้าที่ถวายอารักขาพระบรมวงศานุวงศ์ จะเป็นส่วนช่วยให้การบริหารจัดการของหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ดียิ่งขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ เป็นสถาบันหลักแห่งความมั่นคงของชาติ ดำรงอยู่ภายใต้ความศรัทธายึดถือของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ฝังลึกมายาวนานตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองการปกครองปี 2475 ก็ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการดำรงรักษาสถานะเหล่านี้ไว้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะดึงความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวน
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช อภิปรายว่า เมื่อ 15 ตุลาคม 2562 ประธานวุฒิสภาได้นำเรื่องพ.ร.ก. ฉบับนี้ เข้าที่ประชุมวิปส.ว. ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากผู้แทนจากกระทรวงกลาโหมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างครบถ้วน เข้าใจในทุกๆ ประเด็น ประกอบกับคำชี้แจงเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐและคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ และเหตุผลที่ส.ว. อีกสี่คนได้อภิปราย จึงเหตุว่าควรสนับสนุนพ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและความมั่นคงปลอดภัยของสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติอนุมัติพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 223 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ขวางแก้รัฐธรรมนูญ ห้ามสสร. แตะ “หมวด 1 หมวด 2” และอีก 38 มาตราที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์
ความพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เดินไปได้ไม่ไกลนัก ร่างที่สามารถผ่าน ส.ว. เข้าสู่วาระที่สองได้ มีอยู่สองฉบับ คือ ร่างที่เสนอโดยส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และร่างที่เสนอโดยส.ส. พรรคฝ่ายค้านนั้น ล้วนมีข้อเสนอคล้ายกัน คือ แก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สำคัญคือ ร่างทั้งสองฉบับต่างก็กำหนด “ห้าม” สสร. มิให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกำหนด “ล็อค” เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้เสียด้วยซ้ำ
ในการพิจารณา ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระที่สอง การพิจารณารายมาตรา เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ธีรัจชัย พันธุมาศ, รังสิมันต์ โรม และจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการล็อคห้ามสสร. แก้หมวด 1 หมวด 2 ในมาตรา 256/13 วรรคห้า และเสนอว่า ควรให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีความชอบธรรมมากกว่ารัฐสภาในปัจจุบัน สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่มีกรอบ แต่ส.ว. หลายคนก็ผนึกกำลังกันสกัดกั้นไม่ให้ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญโดยแตะต้องหมวด 1 หมวด 2 เด็ดขาด และยังมีบางคนเสนอเพิ่มอีกว่า ต้องห้ามมิให้ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แก้อีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ด้วย
พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร อภิปรายว่า พระมหากษัตริย์ไทยก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับประเทศไทย แต่พระมหากษัตริย์ไทยเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตั้งแต่องค์แรกของประเทศไทย โดยยกตัวอย่างกรณีของพ่อขุนรามคำแหง ที่บันทึกไว้ในหลักศิลาจารึกไว้ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว … ใครจะใครค้าช้าง ค้า ใครจะใคร่ค้าม้า ค้า ฯลฯ และเสริมว่า ข้อดีของของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเยอะ ไม่ว่าการกำหนดเรื่องงบประมาณ เรื่องของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
พลเอก ดนัย มีชูเวท อภิปรายพร้อมสไลด์ประกอบ สนับสนุนว่านอกจากการตั้งข้อห้ามเรื่องหมวด 1 หมวด 2 แล้ว ขอให้เพิ่มว่า บทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จะห้ามสสร. แก้ไข โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ในหมวด 1 ว่า “มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” “มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น จึงเกิดความเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสามสถาบันหลักนั้น และมีอีกถึง 38 มาตรา ในเจ็ดหมวด กับหนึ่งมาตรา ในบทเฉพาะกาล ที่ยึดโยงและก็เป็นการปฏิบัติตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย เช่น “มาตรา 121 ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัยๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้” อันนี้เป็นพระราชอำนาจและเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้แจงว่า การที่จะปกป้องสถาบัน ก็เป็นหน้าที่สำคัญที่วุฒิสภาต้องทำหน้าที่ตรงนี้อย่างชัดเจน เข้มแข็ง และสามารถปกป้องสถาบันได้อย่างแท้จริง ในส่วนของการพิจารณาเราไม่ได้นึกไปเอง หรือตัดสินใจด้วยความไม่มีเหตุมีผล แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน การที่จะร่างรัฐธรรมนูญดีๆ สักฉบับ ต้องมีหลักการเรื่องการปกป้องสถาบันฯ อย่างที่หลายฝ่ายได้พยายามพูดถึงกัน สถานการณ์บ้านเมืองมีความเห็นที่แตกต่าง ดังนั้น จากการตัดสินใจที่จะปกป้องสถาบันฯ ของวุฒิสภา เราจึงต้องยึดหลักสำคัญ และสอดคล้องกับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่การแก้หมวด 1 หมวด 2 จะกระทำไม่ได้ ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญในช่วงสถานการณ์นี้ “เราไม่ไว้ใจ” จะให้อำนาจสสร. ไปเขียนได้ทุกเรื่อง
ส่วนคำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายว่า นอกจากหมวด 1 หมวด 2 ควรจะห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา เข้าใจว่าเกี่ยวกับพระราชอำนาจปกติไม่ได้แก้ไขอยู่แล้ว แต่นี่คือ “สถานการณ์ไม่ปกติ” ถ้าจะเติมขึ้นอีกนิด จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไข 256/13 ด้วยคะแนนเสียง 544 เสียง ไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไข (ให้คงไว้ตามร่างเดิม) 1 เสียง และงดออกเสียง 53 เสียง แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่แก้ไขถ้อยคำในวรรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการล็อคห้ามสสร. แก้รัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 349 เสียง และมีผู้ที่เห็นด้วยกับผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติ 200 เสียงเท่านั้น งดออกเสียง 58 เสียง ผู้ที่สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติจึงแพ้โหวต ไม่นำไปสู่การโหวตเพื่อแก้ไขในเรื่องการล็อคห้ามสสร. แก้ไขหมวด 1 หมวด 2
เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" เป็นในโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของวุฒิสภา โดยจะมีการจัดบรรยายภายใต้โครงการนี้ในอยู่เป็นระยะ ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีหัวข้อการบรรยาย คือ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย” ผู้รับผิดชอบเป็นวิทยากรในการบรรยายหัวข้อดังกล่าว ภายใต้โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รองประธานกมธ.พิทักษ์ฯ รับผิดชอบเป็นวิทยากรบรรยายทุกครั้ง โดยโครงการนี้ได้ดำเนินไปแล้วในปี 2563 แปดครั้ง และในปี 2564 หนึ่งครั้ง รวมเป็นเก้าครั้ง ดังนี้
ครั้งที่หนึ่ง17 มกราคม 2563 ณ ห้องเวียงแก้ว 1 โรงแรมลำปางเวียงทอง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ครั้งที่สอง 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องวิวแม่น้ำโขง โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
ครั้งที่สาม 31 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่สี่ 13 สิงหาคม 2563 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมริเวอร์ตัน อัมพวา อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
ครั้งที่ห้า 27 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมสิงขร 2 โรงแรมประจวบแกรนด์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้งที่หก 10 กันยายน 2563 ณ ห้องมูนไลท์ ชั้น 1 โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ครั้งที่เจ็ด 17 กันยายน 2563 ณ ห้องสุรนารี บี ชั้น 1 โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช จังหวัดนครราชสีมา
ครั้งที่แปด 22 ธันวาคม 2563 ณ ห้องภาณุรังษี ซี โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" ให้แก่คณะอาจารย์และนักเรียน ในการประกวดสุนทรพจน์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
ครั้งที่เก้า 26 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากการบรรยายหัวข้อนี้แล้ว หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รองประธานกมธ.พิทักษ์ฯ ก็เคยบรรยายพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ
2 มีนาคม 2563 บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในการพัฒนาประเทศ ข้าราชการเดินตามรอยพระยุคลบาท” ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา ณ โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ไปบรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ณ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ 904
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
7 ปี แห่งความถดถอย : ประยุทธ์ปัดตกร่างกฎหมายถ่วงความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตประชาชน
7 ปี แห่งความถดถอย : วุฒิสภาของ คสช. ผ่านกฎหมายได้ 11 ฉบับ ปั๊มตรายางให้ พ.ร.ก. 6 ฉบับ
หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) ตามรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ
เปิดงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีย้อนหลัง (บางส่วน)