WorkpointTODAY
Yesterday at 9:00 AM ·
เปิดผลวิจัยในอังกฤษและฝรั่งเศส พบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ (Pfizer) และแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ลดลง โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่แทบจะไม่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้เลย หากได้รับการฉีดแค่เข็มเดียว
วันที่ 17 มิ.ย. 2564 เว็บไซต์ Al Jazeera รวบรวมผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งพบว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้ประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับไวรัสดั้งเดิม หรือไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น โดยอ้างถึงผลการวิจัยของ 2 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศส
สำหรับงานวิจัยของฝรั่งเศส ดำเนินการโดยสถาบันปาสเตอร์ (The Pasteur Institute) พบว่าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ 1 เข็ม จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 32% ซึ่งน้อยกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่วัคซีนไฟเซอร์สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 79% ตั้งแต่เข็มแรก
ทีมวิจัยฝรั่งเศสยังพบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพน้อยมากหรืออาจไม่มีประสิทธิภาพเลย ต่อการต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา
ข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนเข็มแรกของทีมวิจัยฝรั่งเศส สอดคล้องกับสถิติจากการใช้จริงซึ่งรวบรวมโดยรัฐบาลอังกฤษที่ชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ 33% ซึ่งน้อยกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่วัคซีนเข็มแรกมีประสิทธิภาพต้านเชื้อได้ราว 50%
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า หากได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว แม้จะมีประสิทธิภาพต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาได้น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก
หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษชี้ว่า หากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ถึง 88% ด้อยกว่าประสิทธิภาพต้านเชื้อสายพันธุ์อัลฟาซึ่งอยู่ที่ 93% เพียงเล็กน้อย
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หากได้รับครบ 2 เข็ม จะมีประสิทธิภาพต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ 60% น้อยกว่าประสิทธิภาพต้านเชื้ออัลฟาที่อยู่ที่ 66% เช่นกัน
สำหรับการป้องกันอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล จากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยข้อมูลจากการใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่าง 14,000 คนพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ช่วยป้องกันการเข้าโรงพยาบาลได้ถึง 96% ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ป้องกันได้ 92% ซึ่งถือว่ามีผลต้านเชื้อใกล้เคียงกับสายพันธุ์อื่น
ผลการวิจัยเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า ควรเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนครบ 2 เข็ม เพื่อประสิทธิภาพต้านไวรัสที่ดีกว่า โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาลดระยะเวลาทิ้งช่วงฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 ลงจากเดิม 12 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์แทน
เช่นเดียวกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปรับระยะการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดอร์นา โดยลดลงจากเดิมที่ต้องทิ้งช่วง 5 สัปดาห์ เหลือ 3 สัปดาห์
ที่มา https://www.aljazeera.com/.../how-covid-vaccines-work...
https://www.pasteur.fr/.../covid-19-analysis-sensitivity...
https://www.facebook.com/workpointTODAY/photos/a.153956988306921/1626859701016635/