วันศุกร์, เมษายน 23, 2564
คำถามที่ดี... ตกลงตอนนี้กลุ่ม OctDem จุดยืนคืออะไร เป้าหมายคืออะไร ผมควรคาดหวังกับกลุ่มนี้ได้แค่ไหน
Nithinand Yorsaengrat
12h ·
ทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง และพลากร จิรโสภณ ในฐานะตัวแทน OctDem ตอบชัดเจนในคลับเฮาส์ซึ่งดำเนินรายการโดยคนหนุ่มสาวจากกลุ่มพลังคลับ เมื่อคืนวันพุธที่ 21 เมษายน 2564 (และดิฉันขออนุญาตเพิ่มเติมบางส่วนในฐานะคนร่วมกลุ่ม OctDem) ว่า กลุ่ม OctDem คือคนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกือบ 50 ปีแล้ว
.
เวลานั้นคนในกลุ่ม เป็นนักศึกษาหนุ่มสาวที่เห็นต่างและคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ จึงถูกยุยงใส่ร้ายเพื่อให้เกิดการทำร้ายและถูกฆ่าตายหลายกรณี รวมถึงผ่านการถูกปราบปรามด้วยอาวุธสงครามบนถนนราชดำเนิน ถูกล้อมฆ่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนต้องติดคุกถูกดำเนินคดีและขึ้นศาลทหารโดยไม่มีทนายความอยู่ระยะหนึ่ง และหลายคนเข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
.
มิตรสหายที่ยังคงพบปะสนทนากันกลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันเป็นกลุ่ม OctDem เพราะเห็นว่า สถานการณ์ของสังคมไทยในระยะหลัง มีการปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
.
เมื่อโยงเข้ากับประสบการณ์เดิม เราเห็นว่า การยุยงให้ผู้คนฆ่ากัน หรือจับแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมไปกักขังโดยยังไม่มีการตัดสินคดีแต่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ไม่ช่วยแก้ปัญหาความเห็นต่างของคนในสังคม แต่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง
.
ไม่ว่าจะตั้งข้อหาร้ายแรงเพียงใด ต้องไม่มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
.
รัฐที่เข่นฆ่าทำลายล้างประชาชนเห็นต่างด้วยความอยุติธรรม ในที่สุดก็ต้องจบลงด้วยการเจรจากับประชาชนเห็นต่าง ก่อนความหายนะจะเกิดขึ้นกับสังคมจนหมดทางเยียวยา
.
รัฐไทยสมัย “เดือนตุลาคม” เคยตั้งข้อหานักศึกษาประชาชนคิดต่างว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่มีการดำเนินคดีความต่อไป คดีคอมมิวนิสต์ร้ายแรงกว่าคดี 112 เพราะคดีคอมมิวนิสต์คือการล้มล้างทั้ง 3 สถาบัน ซึ่งในที่สุดก็มีการยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์
.
ถ้าสถานการณ์ยังคงเพิ่มความรุนแรงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะไม่เกิดประโยชน์ต่อใครเลย
.
คนในกลุ่ม OctDem รวมตัวกันหลวมๆเฉพาะกิจเพราะมีความคิดใกล้เคียงกัน เพราะต้องการให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่เป็นสากล เพราะมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ และ เพราะมีความกังวลอย่างมากต่อปฏิบัติการอดข้าวประท้วงกระบวนการยุติธรรมไทยของเพนกวิ้นและรุ้ง
.
จึงต้องการเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมไทยให้ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ “รับคำสั่งจากนาย” หรือ “ทำตามใจนาย”
.
เรียกร้องเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นต้องสูญเสียดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
.
เหตุที่กลุ่ม OctDem ไม่พูดเรื่องใหญ่ ๆ เชิงหลักการในนามกลุ่ม หรือไม่อ้างเป็นตัวแทน “คนเดือนตุลา” ทั้งรุ่น ไม่ใช่เพราะ “กลัว”
.
แต่เพราะคนรุ่นนั้นที่เคยร่วมกันต่อสู้อำนาจรัฐเผด็จการ มีจำนวนมหาศาล
.
เราไม่อาจรู้ได้ว่าแต่ละคนในรุ่นนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ มีความเชื่อทางการเมืองอย่างไรในปัจจุบัน นอกจากบางคนที่คุ้นเคยและยังพบปะสนทนากัน
.
เราไม่ใช่คนประเภทผูกขาดความเป็นคนเดือนตุลาซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกขาด นอกจากนั้น คำว่า "คนเดือนตุลา" ในด้านหนึ่ง ยังเป็นเพียงคำคุณศัพท์ขยายลักษณะนาม ที่บอกว่าเราเคยเป็นคนหนุ่มสาวผู้ร่วมต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการในห้วงเวลาที่เรียกกันว่า "เดือนตุลา"
.
กลุ่ม OctDem ไม่อาจ “พูดแทน” คนรุ่นเดือนตุลาทั้งรุ่น และไม่บังอาจยกตัวเป็นตัวแทนคนทั้งรุ่น
.
ไม่อาจแม้กระทั่งอ้างว่าเป็นตัวแทนความคิดหรือพูดในนามสมาชิกทั้งหมดของกลุ่ม OctDem ปัจจุบันซึ่งรวบรวมได้ประมาณ 100 คน
.
เพราะสมาชิกกลุ่มทั้งหมด ไม่เคยประชุมทำข้อตกลงใด ๆ ร่วมกันในยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
.
วัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่ม OctDem ตั้งแต่แรก คือรวมตัวกันหลวม ๆ เพื่อส่งเสียงอีกเสียงของกลุ่มคนที่เคยถูกกระทำอย่างอยุติธรรมจากภาครัฐ ให้เกิดความตระหนักว่า สังคมที่ปราศจากความยุติธรรมเป็นสังคมที่ปราศจากอนาคตสำหรับทุกคน
.
OctDem ซึ่งสมาชิกแต่ละคนมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มนำการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง
.
ในนามส่วนตัว สมาชิกกลุ่มหลายคนสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 เข้าร่วมการชุมนุมของคนรุ่นใหม่เป็นประจำ และเต็มใจทำหน้าที่ “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมเท่าเทียม