วันจันทร์, เมษายน 12, 2564

มิติใหม่แห่งการทวงหนี้รัฐ… เมื่อ BTS อัดคลิป Youtube ทวงหนี้ออกอากาศผ่านผู้โดยสาร



เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
April 9 at 10:01 AM ·

มิติใหม่แห่งการทวงหนี้… เมื่อ BTS อัดคลิปส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสาร ประเด็นหนี้แสนล้านที่ยังไม่ได้เงิน… เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
1. เรื่องมีอยู่ว่า... เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา (9 เม.ย 2564) BTS ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกผ่านการ “อัดคลิปวิดีโอ” ลง channel YouTube ของ BTS เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องหนี้ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเอายังไงต่อ…
.
2. หนี้ที่ว่านี้ มีมูลค่ากว่า #แสนล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหลายส่วน หลายโครงการ ซึ่งก็ได้มีการเสนอต่อรัฐไปว่า… ถ้าไม่จ่ายหนี้ก้อนหนี้ทั้งหมด ก็ให้เปลี่ยนมูลค่าหนี้นี้เป็น #สัมปทาน การเดินรถเป็นระยะเวลา “30 ปี” แทน โดย BTS ก็จะรับภาระหนี้อันนี้เอาไว้เอง… แถมแบ่งรายได้ให้กับ กทม. ในตลอด 30 ปีนี้ด้วย…
.
3. แต่… เรื่องพีคของวิดีโออันนี้ก็คือ BTS พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เหมือนจะมี #ปัญหาซ้อนปัญหา ที่ BTS ไม่สามารถก้าวล่วงได้… และอาจมีคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ไข…
.
4. สุดท้ายแล้ว BTS ก็ปิดท้ายด้วยการขอความร่วมมือจากรัฐในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ โดยบอกว่าหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้งาน…
.
#สรุปแล้ว เรื่องนี้น่าติดตามเป็นอย่างมากว่าจะจบยังไง BTS จะได้รับการชำระหนี้หรือจะตกลงกันได้ที่วิธีไหน… แล้วประชาชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ก็ต้องรอดูต่อไปครับ…
.
#ทิ้งท้าย เข้าไปฟังคลิปเต็มๆ ได้ที่ channel ของ BTS เลยครับ
.
ที่มา: https://youtu.be/Sj-k_9Hx6H8


บีทีเอสส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

Apr 8, 2021

BTSSkyTrainChannel

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงถึง แนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาดังนี้ โดยกล่าวว่า “ในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผมก็ทราบถึงความเดือดร้อน ผมเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ขั้นตอนก็เหลือเพียงอยู่อย่างเดียวคือนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วนำไปสู่เรื่องการเจรจา ที่มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว”
 
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ให้ประชาชนได้รับทราบว่าที่ผ่านมา บริษัทฯ เข้าใจถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นหลัก ประกอบด้วย ค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรที่กรุงเทพมหานครโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ

ทั้งนี้บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชน จะเข้าใจถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญ และได้พยายามอย่างที่สุด ที่จะร่วมรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ขอขอบคุณผู้โดยสารทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และจะพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด
.....


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
Yesterday at 8:01 AM ·

เมื่อวานระหว่างนั่งรถไฟฟ้า BTS ไปงานศพที่วัดธาตุทอง ได้เห็นคลิปในจอของรถไฟฟ้าที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น คือการทวงหนี้ออกอากาศ ที่ทาง BTS ชี้แจงว่ากทม.ค้างชำระหนี้จำนวนมากกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ก้อนนี้จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ถ้า ครม.ยอมต่อสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปี (2572-2602)
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)นี้ เดิมการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของ รฟม.(กระทรวงคมนาคม) แต่ต่อมารัฐบาลมอบให้ กทม.ดูแล ทำให้ กทม.มีภาระหนี้สินในส่วนของงานก่อสร้างที่ รฟม.ได้ทำไปแล้วคือ
หนี้ก้อนที่ 1. งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (ที่ รฟม.ออกไปก่อน) ประมาณ 60,000 ล้านบาท
ต่อมา กทม.ได้ให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จ้าง BTS ในการติดตั้งงานระบบ ทำให้เกิดหนี้อีกก้อน
หนี้ก้อนที่ 2. งานระบบเดินรถ ไฟฟ้า และ เครื่องกล (จ้าง BTS) ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ต่อมา เมื่อเริ่มเปิดเดินรถโดยไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถให้ BTS
หนี้ก้อนที่ 3. ค่าจ้างเดินรถ (จ้าง BTS) จำนวน 9,602 ล้านบาท
สรุปรวม กทม.มีหนี้หลักๆของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 ก้อน รวมแล้วประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยหนี้ก้อนที่ 2 และ 3 เป็นหนี้กับ BTS ประมาณ 30,000 ล้านบาท
ถ้าหนี้เหล่านี้ เป็นหนี้ที่ถูกทำขึ้นอย่างถูกต้องตามระเบียบ โปร่งใส มีการอนุมัติตามขั้นตอน กทม.ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายหนี้เหล่านี้
หนี้ก้อนที่ 1 และหนี้ก้อนที่ 2 เท่าที่ผมมีข้อมูล ทางกระทรวงการคลังก็พร้อมจะหาแหล่งเงินกู้ให้ (เหมือนที่หาให้ รฟม.) ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเอกชน และให้ กทม.ทะยอยจ่ายคืน
ส่วนหนี้ก้อนที่ 3 เรื่องการจ้างเดินรถนั้น คงต้องไปดูอีกทีว่า ได้มีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เป็นอำนาจใครที่สั่งไม่ให้เก็บค่าโดยสาร ถ้า ครม.สั่งไม่ให้เก็บค่าโดยสาร ครม.ก็ควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้
หรือถ้า กทม. เป็นผู้ไม่เก็บค่าโดยสารเอง ก็ต้องดูว่าอำนาจอนุมัติให้ไม่ต้องเก็บค่าโดยสารนี้เป็นของใคร ของสภา กทม. หรือ ของผู้ว่า กทม. หรือ ของบริษัท กรุงเทพธนาคม และจะเอาเงินส่วนไหนมาจ่าย
แล้วถามว่าหนี้เหล่านี้ กทม.จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ก็คงต้องตอบว่าหลังจากปี 2572 รถไฟฟ้าสีเขียวทั้งหมดจะกลับมาเป็นของ กทม. (ถึงแม้ว่าผู้บริหาร กทม. ที่ผ่านมา ได้ทำการจ้างเอกชนให้เดินรถล่วงหน้าไปถึงปี 2585 แล้ว) รายได้ค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์เช่น ค่าโฆษณา ทั้งหมด ก็จะกลับมาเข้า กทม.โดยตรง 100% ซึ่งเราสามารถใช้รายได้ตรงนี้มาทะยอยจ่ายหนี้เหล่านี้ได้จนหมดสบายๆ และถ้ามีเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ก็สามารถลดค่าโดยสารให้ประชาชนได้อีก
ส่วนการจะให้สัมปทานเอกชนต่ออีก 30 ปี โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อให้เอกชนรับภาระหนี้ในปัจจุบันไป ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณ คงต้องคิดให้ละเอียด รอบคอบ เพราะสุดท้ายแล้วคนจ่ายจริงๆก็คือประชาชน และ ต้นทุนทางการเงิน(ดอกเบี้ย)ของเอกชนสูงกว่าของรัฐบาล รวมทั้งต้องบวกกำไร และ ค่าความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งต้องมีการกำหนดค่าโดยสารในอนาคตไว้ล่วงหน้า ทำให้ กทม.จะไม่สามารถลดค่าโดยสารเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ในอนาคต
จะตัดสินใจอย่างไรก็ขอให้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ
(รูปนี้ผมไม่ได้ถ่ายเองนะครับ เพื่อนส่งต่อมา ขอบคุณท่านเจ้าของรูปด้วยนะครับ)