วันศุกร์, เมษายน 16, 2564

ทำไม หนึ่งในสี่ ของคนในสหราชอาณาจักรไม่นิยมเจ้า อยากให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์


ราชวงศ์อังกฤษ: ฟังเสียงคนส่วนน้อย ทำไมไม่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์

15 เมษายน 2021
บีบซีไทย

แม้ราชวงศ์อังกฤษมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีและได้รับเสียงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ แต่หนึ่งในสี่ของคนในสหราชอาณาจักรอยากให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ มาฟังเหตุผลของพวกเขา

หลังเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์ ผู้คนทั่วโลกถวายความอาลัยและกำลังใจให้สมาชิกรางวงศ์อังกฤษให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเศร้าโศกนี้ไปให้ได้

จากผลสำรวจล่าสุด คนส่วนใหญ่ยังให้คุณค่าต่อประเพณีของราชวงศ์อังกฤษในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ แต่ก็มีคนไม่น้อยที่อยากให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและให้ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้ง

โพลสำรวจโดยองค์กรยูกอฟ (YouGov) พบว่า คน 63% อยากให้สถาบันกษัตริย์อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป ขณะที่คนจำนวนหนึ่งในสี่อยากให้ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคนจำนวนหนึ่งในสิบยังลังเลในเรื่องนี้

ราชวงศ์อังกฤษบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบต่าง ๆ มาเกือบ 1,000 ปีแล้ว หากไม่นับช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ที่อังกฤษเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐในระยะเวลา 5 ปี หลังสงครามกลางเมือง



ประมุขของรัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการลงพระปรมาภิไธยผ่านกฎหมาย แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และเปิดการประชุมสภา แต่อำนาจส่วนใหญ่ถูกโอนย้ายและกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง พระชนมายุ 94 พรรษา ยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐในเครือจักรภพ 54 ชาติ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเป็นชาติอาณานิคม

"ส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าเราไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป ไม่แน่ใจเลยว่ามีเพื่ออะไร เหมือนเป็นสิ่งตกค้างจากยุคล่าอาณานิคม และยุคที่ต่างไปจากตอนนี้มาก ๆ" คริสเตน จอห์นสัน เจ้าหน้าที่ด้านจัดการของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจากเมืองดาร์บี กล่าว

"เรามีเจ้าหน้าที่หลายระดับที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นฉันจึงไม่เห็นว่าทำไมเราต้องมีสถาบันกษัตริย์ ในทางทฤษฎีแล้ว พระราชินีต้องทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯทุกอย่าง แต่จริง ๆ แล้ว ก็เป็ประมุขแต่เพียงในนาม และเป็นประมุขที่ต้องใช้เงินมหาศาลด้วย"

สำนักพระราชวังเปิดเผยว่า ในปี 2020 ราชวงศ์อังกฤษได้เงินภาษีจากประชาชนถึง 69.4 ล้านปอนด์ (2.77 พันล้านบาท) เพื่อทรงใช้สอย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์



สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของชาติในเครือจักรภพ 54 ชาติ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเป็นชาติอาณานิคม

เงินก้อนนี้เรียกว่าเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant) ซึ่งใช้สำหรับพระราชกรณียกิจของพระราชินีและสำนักพระราชวัง การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานและซ่อมบำรุงพระราชวัง

"เงินภาษีจากประชาชนถูกใช้ไปสนับสนุนพระญาติปลายแถวจำนวนมาก ที่มีงานทำก็เพราะตำแหน่ง และได้รับการคุ้มครอง และอื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาทำอะไรให้ประเทศบ้าง" คริสเตน กล่าว

"สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงครองราชย์มายาวนานมากและทำได้อย่างสง่างาม พระองค์ดูเป็นสตรีที่น่ารักคนหนึ่ง ฉันไม่เห็นความจำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์ นอกจากเหตุผลด้านการท่องเที่ยว และคนที่อยากมาดูพระราชวังบักกิงแฮมก็ยังสามารถไปชมได้แม้จะไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้ว"

สมเด็จพระราชินีนาถและสมาชิกครอบครัวของพระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ "สมาชิกราชวงศ์ผู้ทรงงาน" และทรงประกอบพระราชกรณียกิจกว่า 2,000 งานในแต่ละปีทั้งในและต่างประเทศ มีความตั้งใจให้บทบาทเหล่านี้ช่วยให้ชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมั่นคงมากขึ้นผ่านงานสาธารณะและเพื่อการกุศล

"ฉันมองราชวงศ์อังกฤษเป็นเหมือนข้าราชการที่มีอภิสิทธิ์ เกิดมาก็ได้เข้าทำงาน และก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้" แซมมี ไนต์ กล่าว

แซมมี เกิดและโตในแคนาดา แต่ตอนนี้ได้สัญชาติอังกฤษแล้ว เธอมองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีอนาคตในสหราชอาณาจักรและในประเทศเครือจักรภพ

"ฉันมองว่าสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันจะตายไปพร้อมกับสมเด็จพระราชินีนาถ" แซมมี กล่าว "ฉันไม่ชอบสมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่ ๆ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สหราชอาณาจักรจะมีประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง"



ผลสำรวจระบุว่า คนอายุ 18-24 ปี มีจำนวนน้อยมากที่คิดว่าสหราชอาณาจักรควรมีสถาบันกษัตริย์ ส่วนคนที่อายุมากกว่า 65 ปี ยังอยากให้คงไว้อยู่อย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ ความคิดเห็นคนก็แตกต่างไปตามภูมิภาคด้วย อย่างในสกอตแลนด์ มีคนแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์

"ในฐานะคนสกอตแลนด์ ผมรู้สึกแปลกแยกและห่างไกลจากสถาบันกษัตริย์มาก" แมทธิว เบอร์ตัน-เว็บสเตอร์ เจ้าหน้าที่ศูนย์เลี้ยงเด็กจากสกอตแลนด์ กล่าว

"สิ่งที่ยังเตือนเราอยู่ว่ายังมีพวกเขาอยู่คือเงินของเรา หรือตอนที่ใครคนหนึ่งสิ้นพระชนม์"

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ไปโดยสิ้นเชิง สตีเฟน อลิสัน ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเมืองอิสระ ซึ่งเกษียณอายุแล้ว บอกว่าเขาอยากให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญบางส่วน

"จริง ๆ แล้วผมชอบประเพณีและความสืบเนื่องที่ดำเนินมาโดยสมาชิกราชวงศ์อาวุโส แต่มีเชื้อพระวงศ์รุ่นเยาว์เยอะเกินไป" เขากล่าว

"เราต้องการสมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายแห่งเวลส์ ผมอยากให้มีเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายจอร์จไว้ด้วยเพราะเป็นองค์รัชทายาทโดยตรง แต่หลังจากนั้นแล้ว เราไม่ต้องการเจ้าชายและเจ้าหญิงเป็นสิบ ๆ พระองค์"