วันเสาร์, เมษายน 03, 2564

"เราอยากให้คนในกระบวนการยุติธรรมมีความกล้าหาญเหมือนนักโทษการเมือง" ความในใจของ "โจ" พนักงานออฟฟิศที่ลางานมาให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี



iLaw
15h ·

"เราอยากให้คนในกระบวนการยุติธรรมมีความกล้าหาญเหมือนนักโทษการเมือง"
ความในใจของ "โจ" พนักงานออฟฟิศที่ลางานมาให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี
"ที่เรามาวันนี้ (25 มีนาคม 2564) เพราะเราอยากมาให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดี (คดีมาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี) เพราะไม่รู้ว่าอัยการจะฟ้องคดีพวกเขาเลยหรือเปล่า และถ้าฟ้องวันนี้ก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะได้ประกันตัวกันไหม"
"เราเป็นคนร้อยเอ็ด แต่ไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัยที่เราเรียนอยู่ชั้นปี 2 ในวิชาภาษาอังกฤษกับสถานการณ์ปัจจุบัน (English on current issues) เราเคยพรีเซนต์เรื่องไผ่ ดาวดินที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ในชั้นเรียน ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่เราภูมิใจ"
"ถามว่าเรามาอินการเมืองได้ยังไงนะเหรอ ครอบครัวเราก็มีส่วนนะ คือพ่อกับแม่ของเราเป็นคนเสื้อแดง และเราก็เป็นคนอีสาน เราเห็นว่าคนจนโดนกดขี่มายังไงบ้างเขาถึงต้องออกมาบนท้องถนน ถ้าเขาไม่เดือดร้อนก็คงไม่ออกมาหรอก แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 53 สิ่งที่รัฐทำ เรารับไม่ได้ที่มีคนตาย 99 ศพ แล้วไม่มีใครต้องรับผิดชอบ แล้วพอคนเสื้อแดงถูกสลายก็มีบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ สำหรับเรานั่นมันคือการทำลายหลักฐาน พวกเขาทำเหมือนคนเสื้อแดงมาทำให้บ้านเมืองสกปรกแต่สิ่งที่คุณลบมันคือเลือดนะ แต่มาถึงวันนี้เราก็ดีใจที่มีคนเข้าใจคนเสื้อแดงในวันนั้นมากขึ้นจนมีการออกมาขอโทษ"
"หลังเรียนจบในปี 2562 เราก็เข้าทำงานที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงที่มีการชุมนุมที่ขอนแก่นเราก็ไปเข้าร่วมบ้าง เราเพิ่งย้ายมาอยู่กรุงเทพช่วงปลายปีที่แล้ว เลยยังไม่เคยร่วมชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพ พอปีนี้มาอยู่กรุงเทพเลยมีโอกาสไปร่วมการชุมนุมสองครั้งสุดท้ายของ #เดินทะลุฟ้า แล้วก็เมื่อวาน (24 มีนาคม 2564) ที่มีชุมนุมที่ราชประสงค์เราก็ไปมา"
"เราว่ามันน่าหดหู่นะที่เด็กหลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะพวกเขากล้าแสดงออก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราคิดว่าเราต้องลางานมาให้กำลังใจพวกเขาในวันนี้ เราต้องการแสดงตัวว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ให้เขารู้ว่าเมื่อมีความไม่ยุติธรรมก็มีคนพร้อมแสดงตัวว่าไม่เห็นด้วย"
"วันนี้เรามาคนเดียว จริงๆ คนที่มาก็ไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัว รวมถึงคนที่โดนคดีเราก็ไม่ได้รู้จักใครมาก่อน เราเคยเจอเบนจาในการชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า เราก็เข้าไปทักทายแล้วให้กำลังใจน้องเค้า สำหรับเราการมาวันนี้เหมือนเราได้ทำอะไรซักอย่าง ถึงจะมีคนมาไม่มากแต่เราก็เป็นหนึ่งในนั้น เราคิดว่าพวกเขา(ผู้ต้องหา) น่าจะต้องการกำลังใจ และเราก็อยากให้พวกเขารู้ว่าอย่างน้อยก็มีเราที่ให้กำลังใจพวกเขา รวมทั้งคนอื่นๆ ที่มาในวันนี้ และถ้าจะมีใครถูกจับอีก เราก็พร้อมจะมาให้กำลังใจพวกเขาอีก"
"เมื่อวานนี้ (24 มีนาคม 2564) เราได้ไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ด้วย เรานับถือมายด์นะที่เธอเปิดหน้าพูดแทนใครหลายๆ คน และอยากขอบคุณที่กล้าพูด ในสิ่งที่ควรถูกพูดมานานแล้ว"
"สำหรับคนที่อยู่ในเรือนจำ เราอยากบอกให้พวกเขาไม่ต้องห่วงพวกเรา ขอให้ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด คนที่อยู่ข้างนอกจะสู้ต่อไปจนกว่าพวกเขาจะได้รับอิสรภาพ และอยากให้พวกเขามีกำลังใจ"
"สำหรับคนมีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม เราอยากบอกพวกเขาให้ทำหน้าที่ให้เหมาะสมและเป็นธรรม อยากให้ทำในสิ่งที่เมื่อคุณทำไปแล้วประเทศนี้มีประชาธิปไตยพวกคุณจะไม่มานั่งเสียใจทีหลัง อยากให้พวกคุณกล้าหาญเหมือนนักโทษการเมืองที่ยอมแลกอิสรภาพของพวกเขาในการต่อสู้ ทุกวันนี้บางทีเราก็รู้สึกเหมือนกับว่าคนในกระบวนการยุติธรรม ยอมแลกความยุติธรรมกับคำสั่งของเบื้องบน เราอยากบอกว่าที่ผ่านมาพวกคุณทำให้ประชาชนอย่างเราสิ้นหวัง ทำให้ความยุติธรรมกลายเป็นปาฏิหารย์ที่ต้องคอยลุ้นว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่"
"พอเรารู้ว่าวันนี้อัยการเลื่อนการฟ้องคดีเราก็รู้สึกโล่งใจ ตอนที่พวกเขาออกมาเราไม่ได้เข้าไปทักทายหรือคุยกับใครเป็นพิเศษหรอกนะ เราเห็นว่าพวกเขาคงเหนื่อยกับการสัมภาษณ์แล้ว ตอนที่เบนจาเดินผ่านเราก็ยิ้มให้เธอ เราไม่รู้หรอกว่าน้องจะจำเราได้ไหม แค่เราได้มาเป็นกำลังใจ เป็นหนึ่งในจำนวนนับวันนี้เราก็ดีใจแล้ว"
บทสัมภาษณ์ "โจ" พนักงานออฟฟิศที่ลางานเพื่อมาให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ที่เข้ารายงานตัวกับอัยการ ณ สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ สัมภาษณ์เมื่อ 25 มีนาคม 2564
.....
Phichet Deemak
นักโทษการเมืองกล้าแสดงจุดยืนตัวเอง แล้วคนในกระบวนการยุติธรรม​กล้ายึดมั่นในความถูกต้อง​รึเปล่า?