วันเสาร์, เมษายน 03, 2564

รวมพลคนเดือนตุลา ห่วงคนรุ่นใหม่ แถลงถึงศาลยุติธรรมให้ ผู้ต้องหา 112 ได้รับสิทธิ์ประกันตัว และพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม


สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News
13h ·

รวมพลคนเดือนตุลา ห่วงคนรุ่นใหม่ แถลงถึงศาลยุติธรรมให้ ผู้ต้องหา 112 ได้รับสิทธิ์ประกันตัว และพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
วันนี้ (2 เม.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่ม OCTDEM ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิก เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง- พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช- สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี -สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล-สุธรรม แสงประทุม-ทศพร เสรีรักษ์-วรชัย เหมะ ภาคนักวิชาการเช่น ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ- ธงชัย วินิจจะกูล -ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-พนัส ทัศนียานนท์-สุเทพ สุริยะมงคล มีนักธุรกิจ นักหนังสือพิมพ์ และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม
สุเทพ สุริยะมงคล ประธานโดมรวมใจ กล่าวว่า เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วมีนักศึกษาที่อยากให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีประชาธิปไตย คนเหล่านี้ได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเพียงเพราะคิดต่างจากผู้มีอำนาจ มาปัจจุบันนี้เรายังได้ยินเสียงเพลงหนักแผ่นดินอีกครั้งที่เมื่อ 40 กว่าปีก่อนเคยมีและหายไป เขามองว่า คนคิดต่างไม่ผิด แต่ควรให้ที่ยืนกับเขา วันนี้คณะทำงานเห็นว่า เราควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรม เราจึงทำหนังสือถึงผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ถึงศาลยุติธรรม ความว่า ตามที่บรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชนและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ฝ่ายรัฐได้ใช้อำนาจปราบปราม จับกุม คุมขัง พวกเขาไว้ในเรือนจำ ปรากฏว่าศาลยุติธรรมไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) พวกเขา โดยเฉพาะบรรดาแกนนำที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ดังปรากฏข้อเท็จจริงที่ประชาชนไทยทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น
เราเห็นว่า โดยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและนิติรัฐนิติธรรมนั้น การที่ศาลยุติธรรมจะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและทำคำสั่งใด ๆ จักต้องเป็นไปโดยยุติธรรม และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยุติธรรม
การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้
.
เราเชื่อว่า ศาลยุติธรรมย่อมต้องเข้าใจ และทราบดีว่า หลักสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคดีนั้น คือการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่และจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดแล้วไม่ได้
เราเชื่อว่า ศาลยุติธรรมย่อมเข้าใจดีว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชน
.
เราเชื่อว่า ศาลยุติธรรมตระหนักดีว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดี บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ดี กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศเรายึดถือและได้ให้สัตยาบันไว้ต่อนานาชาติก็ดี ล้วนมีบทบัญญัติชัดเจนว่า การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาในระหว่างพิจารณาคดี เป็นข้อกำหนดที่ศาลพึงยึดถือและพึงปฏิบัติ
.
เราเห็นว่า เหตุผลของศาลยุติธรรมที่ปฏิเสธการขอปล่อยตัวชั่วคราวบรรดาผู้รักประชาธิปไตยเหล่านั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวข้างต้น เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ย่อมต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มูลคดีทั้งหมดล้วนสืบเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี และคดีเช่นนี้ในภาวการณ์ปกติอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลอาจใช้ดุลพินิจปล่อยชั่วคราวได้ เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและความยุติธรรมใดใดทั้งสิ้น
.
ไม่ว่าการตัดสินใจของศาลยุติธรรมที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะมาจากเหตุผลใด จะมีเหตุผลจากการถูกบีบบังคับโดยอำนาจนอกระบบ หรือเป็นความประสงค์ของศาลยุติธรรมเองก็ตาม เราเห็นว่า การตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เกิดวิกฤตความศรัทธาความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมในที่สุด ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของท่านเองทั้งสิ้น
.
เราเชื่อว่า เจตนาที่จะคุมขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไว้ตลอดการพิจารณาคดี รวมทั้งการขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐในการที่ไม่ให้เขาเหล่านั้นพบปะกับทนายความก็ดี การจงใจข่มขู่คุกคามในยามวิกาลต่อผู้ต้องขังเหล่านี้ก็ดี ย่อมไม่อาจขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้
.
ด้วยความกังวลใจต่อระบอบนิติรัฐในประเทศนี้ เราหวังที่จะเห็นศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและพิจารณาอรรถคดีต่างๆไปโดยยุติธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง ปราศจากการครอบงำจากผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด
.
เราขอเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อศาลยุติธรรมว่า ท่านต้องให้โอกาสเขาเหล่านั้นในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่โดยเปิดเผย และมีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขาในระหว่างการพิจารณาคดี อันเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของพวกเขาที่มีอยู่ตามหลักกฎหมายยุติธรรม
พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า "...ผมเอง อันที่จริงเป็นคนรุ่นก่อนคนเดือนตุลา เมื่อเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 เรียนจบแล้วไล่ๆกับอาจารย์ชาญวิทย์ ผมได้เห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา ปลื้มปีติยินดีกับชัยชนะในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่...คราวนั้นเรามีความรู้สึกว่า เราได้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ 6 ตุลา นำความเศร้าโศกเสียใจและสลดใจ ไม่สามารถที่จะตอบเพื่อนๆต่างชาติว่า มันเกิดขึ้นอะไรในการเมืองไทย...ตั้งแต่นั้นมาผมมีความรู้สึกว่า เราต้องมี Commitment บางอย่างเพื่อประเทศชาติและสังคมที่ดีกว่าที่เป็นในปัจจจุบัน สิ่งนั้นคือสิ่งที่ผมเชื่อถือและศรัทธามตลอดคือ เสรีภาพ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ...ส่วนที่จะทำได้พยายามจะกระทำอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ มาจนถึงทุกวันนี้มันมีความรู้สึกที่น่าสลดใจ ที่เหตุการณ์เหมือน 45 ปีที่แล้วเหมือนจะเวียนกลับมาอีก หวังว่า ในที่สุดแล้วจะมีการทบทวนความคิด ท่าทีต่างๆของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างในส่วนที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม ผมคิดว่า ศาลยุติธรรมต้องมีบทบาทในการคุ้มครองและส่งเสริมรักษาเสรีภาพของประชาชน ต้องปกป้องคุ้มครองการที่ประชาชนจะถูกย่ำยีจากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม...
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า "...ผมอยู่ที่นี่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 5 ตุลา 2519 ผมทำงานกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรามาที่นี่เราเคารพสักการะ อนุสรณ์สถานคนเดือนตุลา แต่หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เหยื่อรายแรกคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ...ผมอยากจะเห็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยดำเนินการไปตามตัวบทกฎหมายที่แท้จริง ผมอยากจะบอกบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..."
จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า เราเป็นผู้ที่ถูกกระทำในอดีตและมีประสบการณ์ในการปราบปรามเข่นฆ่า เราควรจะใช้ประสบการณ์ในการบอกสังคมว่า การปราบ คุกคาม ทำร้ายต่อผู้เห็นต่างไม่เป็นประโยชน์ มีแต่จะเกิดความสูญเสีย สิ่งที่เราทำได้คือ ช่วยนำประสบการณ์มาเสนอ ให้ผู้เห็นต่างที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมสังคมเดียวกันและร่วมสร้างสังคมไปด้วยกัน วันนี้เห็นชัดเจนว่า มีการคุกคามทำร้าย เราต้องการเสนอคือต้องการให้หยุดคุกคามและการใช้หลักนิติธรรมกับผู้เห็นต่าง ระยะเฉพาะหน้านี้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาและเยาวชนที่เห็นต่างกับรัฐ เราจึงทำหนังสือขอพิจารณาในการปล่อยตัวผู้ต้องหา เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่นี่ไม่ใช่เป็นการไปเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพราะคิดว่า ทำแบบนั้นก็เพิ่มคนให้ได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์คือ การเสนอความรู้และนำข้อคิดเห็นไปเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อสังคม ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง การยื่นจดหมายเป็นกิจกรรมเริ่มต้น แต่จากนี้ไปก็จะต้องคิดต่อไปว่า จะร่วมแก้ไขความขัดแย้งอย่างไรต่อไป แต่ไม่ใช่การร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา "เราเห็นเขาในฐานะที่เป็นผู้ที่แสดงความเห็นต่าง มีความปรารถนาดีต่อสังคม แต่กำลังถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน...ทำให้เขาได้รับความเป็นธรรม สามารถต่อสู้คดีได้อย่างไม่มีอะไรขัดขวาง" เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่องจุดยืนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จาตุรนต์ตอบว่า ถ้าถามเป็นรายคนก็คงมีจำนวนมากที่เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลแต่การทำงานในลักษณะเป็นกลุ่มยังไม่ได้พิจารณาร่วมกัน เขากล่าวย้ำว่า จุดยืนของกลุ่มคือ "หาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างสันติและหลักนิติธรรมและหลักนิติธรรมที่ว่านี่เฉพาะหน้ามันรวมถึงเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่หลักรัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อตกลงต่างๆที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีกับองค์กรระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาไม่ว่าข้อหาใด" "ข้อหาอะไรจึงไม่ใช่ประเด็น ประเด็นของเราคือว่า ไม่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกคุมขังอยู่ด้วยข้อหาอะไร ถ้ายังไม่มีการพิพากษาถึงที่สุดและไม่มีเหตุว่าจะหลบหนี ต้องได้สิทธิในการประกันตัว"
จากนั้นในเวลาประมาณ 14:20 น กลุ่ม OCT DEM ได้เดินทางไปหน้าศาลฎีกาเพื่อยื่นหนังสือถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม
ภาพ Thaivoice.ORG2
#OCTDEM #ราษฎรนิวส์

https://www.facebook.com/RatsadonNews/posts/125677656192626