วันจันทร์, เมษายน 19, 2564
ความเหี้ย-ต่างกัน : ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คณะราษฎรไม่ได้ทุบอาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และสรรพสาระอื่น ๆ ตามที่ฝ่ายขวาและพวกที่เห็นด้วยกับการ"ทำให้หาย"ของหมุดคณะราษฏรอ้าง บทความนี้ยาว แต่อ่านเถอะ คนเขีนนตั้งใจให้ข้อมูล
คิดอย่าง
9h ·
คณะราษฎรไม่ได้ทุบศาลสถิตย์ยุติธรรม และสรรพสาระอื่น ๆ เผื่อท่านที่ผ่านมายังไม่ทราบข้อเท็จจริงได้อ่านครับ (รีโพสต์)
-------------------------------
สถาปัตยกรรม์ยุติธรรม์สถิต : เมื่อระเบียบ และความโกลาหลแสดงตนผ่านงานสถาปัตยกรรม กรณีศึกษากลุ่มอาคารศาลฎีกา
-------------------------------
“คณะราษฎรเป็นผู้รื้อศาลสถิตย์ยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5” จริงหรือ? #ประวัติศาสตร์แห่งดราม่าไม่รู้จบของกลุ่มอาคารศาล
.
- เพื่อจะเข้าใจสถานภาพของปัญหาทั้งหมด เราอาจจะต้องย้อนกลับไปในราวปลายปี พ.ศ. 2555 ณ บริเวณท้องสนามหลวงได้มีการทุบกลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่าอายุกว่า 70 ปีทิ้งท่ามกลางเสียงค้านของนักอนุรักษ์จำนวนมาก โดยการดำเนินการรื้อถอนเริ่มตั้งแต่อาคารในส่วนด้านที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม และทยอยรื้อลงจนราบเตียนเหลือเพียงเสี้ยวของอาคารส่วนหัวมุมไว้ดูต่างหน้า จากนั้นเวลาไม่นานนัก พื้นที่ของอาคารศาลหลังเดิมจึงมีการสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยประเพณีขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
.
- ครั้งนั้นในวงการอนุรักษ์ และประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดนานาวิวาทะที่ร้อนแรงไม่แพ้คราวรื้อเรือนไม้บอมเบย์ เมืองแพร่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทีเดียว [1]
.
- ในช่วงเวลาดังกล่าวมีความพยายามจากหลายภาคส่วนรวมถึงกรมศิลปากร และสมาคมสถาปนิกสยามในการคัดค้านการรื้ออาคารศาลดังกล่าว มีการยก #คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารหลังเก่า ที่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร และเปรียบเสมือนอนุสรณ์สถานในการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้ #ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยมีอธิปไตยทางการศาลอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481 รวมถึงการคัดค้านโดยยกประเด็นที่แบบอาคารศาลหลังใหม่ (ที่เราเห็นกันทุกวันนี้) มีการออกแบบโดยมีความสูงรวมมากถึง 32 เมตร #สูงเกินที่กฎหมายกำหนด 2 เท่า (กฎหมายกำหนดให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องสูงไม่เกิน 16 เมตร [2] )
.
- กระนั้นความพยายามคัดค้านดังกล่าวก็ไม่เป็นผล การเน้นย้ำเรื่องข้อกฎหมายถูกปัดตกด้วยเหตุผลว่าโครงการอาคารศาลหลังใหม่ได้รับ “#ข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ” [3] และคงเป็นความสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่นักอนุรักษ์ในอนาคตควรนำมาเป็นกรณีศึกษาต่อไป
.
- เมื่อฝุ่นควันของการรื้อทำลายจางลง กระแสวิพากษ์วิจารณ์การรื้ออาคารศาลนี้ก็ค่อย ๆ เบาบางลงตามไปด้วยจนกระทั่งเงียบหายไปจากกระแสสังคมในที่สุด ห้าปีต่อมาโดยไม่มีใครคาดคิดหมุดคณะราษฎรถูกถอนออกไปอย่างลึกลับในเช้าวันที่ 14 เมษา 2560 การหายไปของหมุดดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ และทวงถามหาผู้รับผิดชอบในสังคม คณะราษฎรและมูลเหตุแห่งการตรึงหมุดก็ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันทั่วไป อาคารศาลฎีกาที่ถูกทุบทำลายลงนั้นก็ได้รับผลานิสงค์พลอยถูกหยิบจากเศษซากปรักหักพังขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้งด้วย (โดยอาจจะเรียกว่าเป็นความบังเอิญด้วยซ้ำ)
.
- ธรรมดาสังคมประชาธิปไตยที่การคิดต่างเป็นสิ่งที่พึงเกิดขึ้นได้ เมื่อมีเสียงสนับสนุนคุณค่าของหมุดคณะราษฎรก็ย่อมมีเสียงของผู้ไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดกระแสในหมู่เพจการเมือง และประวัติศาตร์ฝ่ายขวา ต่างพากันออกมาแสดงความยินดีต่อการหายไปของหมุดดังกล่าว หนึ่งในเหตุผลรับรองการสูญหายของหมุดที่ถูกแชร์ต่อแพร่อย่างแพร่หลายคือการยกกรณี “#ประวัติศาสตร์อาคารศาลฎีกาของคณะราษฎร” มาใช้เป็นตัวสนับสนุนโดยชี้ว่าการรื้อหมุดนั้นก็มีความชอบธรรมเช่นเดียวกับการที่คณะราษฎรเองก็ได้ทำการ
.
”#สั่งทุบ” "#ศาลสถิตย์ยุติธรรม" สัญลักษณ์การเฉลิมฉลอง 100 ปี ราชวงศ์จักรี และสร้างศาลของตัวเองมาแทนที่ (Cr. เพจคณะร่าน) [4]
.
- การรื้อถอนมรดกคณะราษฎรครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนกงกรรมกงเกวียน และการ ”#เอาคืน” การกระทำที่บังอาจล่วงเกินของพวกคณะราษฎรในสายตาของผู้สนับสนุนกลุ่มดังกล่าว
.
- #แต่ข้อกล่าวหาทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือ ? แน่นอนเกริ่นมาขนาดนี้เชื่อว่าสำหรับเพื่อนสมาชิกเพจคิดอย่าง ก็คงไม่เป็นการยากเกินเดาว่าคำเฉลยคือ “#มั่วสิ้นดี” หรือหากกล่าวอย่างสุภาพลงมาหน่อยก็คงบอกได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดที่พอจะยอมรับได้ แต่จะเพราะอะไรนั้น เราจะขอพาเล่าย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอาคารศาลกัน
-------------------------------
(1) #ศาลสถิตย์ยุติธรรมหลังแรก_คือสัญลักษณ์การเฉลิมฉลอง_100ปี_ราชวงศ์จักรีจริงหรือ ?
.
- ย้อนกลับไปถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 สยามได้เกิดการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลจากการปกครองแบบตะวันตก เพื่อสร้างรัฐที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ซึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระบบศาลยุติธรรมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการปฏิรูปในครั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นหลักที่ยังถูกมองจากจักรวรรดินิยมว่ามีความล้าหลังอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้ประเทศเหล่านี้ปฏิเสธระบบกฎหมายไทย และอำนาจศาลของสยาม ส่งผลมาสู่การที่ราชสำนักต้องยอมรับสนธิสัญญาที่ทำให้รัฐสยาม #เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทางกฎหมาย ที่ได้ถูกอธิบายในยุคหลังว่าเป็นสถานภาพที่ #ยังไม่มีเอกราชทางการศาลสมบูรณ์ [5] ทั้งที่ความจริงราชสำนักไทยก็เล็งเห็นประโยชน์จากการปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาล สอดรับกับข้อพิพาทเมื่อสยามเข้าสู่การค้าในตลาดสมัยใหม่กับชาวต่างชาติตะวันตกและจีน (ประเด็นการยอมรับสนธิสัญญาของชนชั้นนำนั้น เราขอแนะนำหนังสือ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และ The Crown and The Capitalists โดย รศ.ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์) ส่งผลให้เมื่อเกิดการก่อตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมขึ้น รูปลักษณ์ของศาลใหม่นี้จึงถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ #ที่จะต้องนำเสนอสิ่งที่เห็นว่าเป็นความศิวิไลซ์ หรือ #ทันสมัยแบบตะวันตก
.
- อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมหลังแรกนี้ได้สร้างขึ้นโดยฝีมือของสถาปนิกตะวันตกกลุ่มแรกที่เข้ามาในสยามคือ จอห์น คลูนิช สถาปนิกชาวสก๊อตผู้ที่มีส่วนในการออกแบบพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และโจอาคิม กราซี สถาปนิกอิตาลีผู้มีส่วนรับผิดชอบการสร้างอาคารตะวันตกหลายแห่ง [6]
.
- รูปแบบสถาปัตยกรรมศาลหลังนี้ได้รับอิทธิพลคลาสสิคเป็นผังสมมาตรรูปตัว E ถูกสร้างอย่างใหญ่โตชนิดที่ยังไม่เคยมีอาคารที่ทำการทางราชการที่ใหญ่โตเช่นนี้มาก่อนในสยาม อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมยังมีจุดเด่นที่หอนาฬิกาสูงที่ประดับยอดบุษบกสัมฤทธ์แบบไทยสั่งหล่อจากเมืองเวนิส อิตาลี ทำให้ตัวศาลสามารถมองเห็นได้แต่ไกล และยังเป็นจุดที่ช่างภาพชาวตะวันตกนิยมใช้ในการถ่ายภาพมุมสูงในช่วงเวลาหนึ่ง (ภาพพระเมรุเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ก็ถูกถ่ายจากบนหอคอยนี้)
.
- และในพิธีวางศิลาฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงเลือกวันที่ 21 เมษายน 2425 เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการฉลองครบรอบร้อยปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับการครบรอบร้อยปีการสถาปนาราชวงศ์ [7] ดังนั้นการกล่าวว่า ศาลสถิตยุติธรรมหลังแรกคือสัญลักษณ์การเฉลิมฉลอง 100ปี ราชวงศ์จักรี ก็อาจจะไม่ผิดนักแต่ก็ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นควรที่จะต้องมองออกมาในบริบทความจำเป็นของการสร้างอาคารศาลในฐานะส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นกัน
.
- กลับกันกับภาพลักษณ์ความศิวิไลซ์ทันสมัยที่ต้องการนำเสนอ #อาคารหลังนี้กลับประสบความล้มเหลวในด้านความเป็นอาคารทันสมัย ด้วยปัญหาโครงสร้างหลายด้านตลอดระยะการใช้งาน เริ่มจากเวลาเพียงสิบปี #ตัวโครงสร้างของหอนาฬิกาสูงพบว่ามีรอยร้าวลึกยากที่จะแก้ไขนำมาสู่การรื้อหอสูงลงในปี พ.ศ.2435 ปัญหาน้ำรั่วตามจุดต่าง ๆ ของอาคารจากการสร้างหลังคาเป็นพื้นดาดฟ้าหรือ Flat slab จนต้องปรับเป็นหลังคาปั่นหยาในภายหลัง สะท้อนความล้มเหลวของสถาปนิกตะวันตกเองที่ไม่สามารถแก้ปัญหาฐานรากอาคารเมื่อต้องเจอดินอ่อนในกรุงเทพฯ ได้ แม้จะใช้โครงสร้างสมัยใหม่ก็ตาม [8]
-------------------------------
(2) #อาคารศาลแบบโมเดิร์น_จุดเริ่มต้นจากปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราช
.
- ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นถึงปัญหาโครงสร้างอาคารหลังแรก แม้จะมีการแก้ปัญหาที่ตัวอาคารต้องประสบมาอย่างต่อเนื่องแต่อาคารก็มีสภาพทรุดโทรม เมื่อล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 7 เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้เร่งรัดให้ทำการออกแบบก่อสร้างอาคารหลังใหม่ โดยจะให้มีขนาดใหญ่ขึ้น กินพื้นที่ครอบคลุมระหว่างถนนราชดำเนินถึงแนวคลองหลอดตามที่ได้รับพระราชทานเพิ่มขยายออกไปจากเดิม [9] โดยอาคารหลังใหม่นี้ตั้งใจจะให้เป็นอาคารทรงไทย เรียกตามแผนขณะนั้นว่า #ยุติธรรมปราสาท หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากรเป็นผู้ทำบันทึกโครงงานการก่อสร้าง และกรมพระนครสรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และทรงให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้ยืมตัวนายชาร์ล เบเกอแลง (นายเบกูแลง) สถาปนิกกระทรวงมหาดไทย ให้ไปดูงานแบบกระทรวงยุติธรรมต่าง ๆ ในยุโรปเป็นเคสสตาร์ดดี้ และกลับมาทำแบบก่อสร้างอย่างละเอียดต่อไป ทว่านายเบเกอแลงได้ทำบันทึกความเห็นกลับมายังเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมว่าตนเองถนัดงานออกแบบก่อสร้างในแนวโมเดิร์นมากกว่า หากจะทำอย่างไทยมีลวดลายประดับมากนั้นไม่ถนัดนัก “เป็นการฝืนนิสัย” การไปดูกรณีศึกษาที่ยุโรป นอกจากจะได้ดูแบบกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว ยังจะส่งแบบ “#ตึกแบบมอเดอร์น” เข้ามาให้เลือกพิจารณาประกอบด้วย [10]
.
- เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้นำความเห็นของนายเบเกอแลงเข้าหารือในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2472 ว่าหากจะใช้สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นกับอาคารศาลจะสมควรหรือไม่ ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าไม่ขัดข้อง โดยจะขอยกข้อความในจดหมายเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศส่งมาถึงพระยาจินดาภิรมย์สรุปความเห็นที่ประชุมในวันนั้นมาดังนี้
.
“...ฉันได้นำความกราบบังคมทูลในเรื่องนี้ ตามทำนองที่ได้มีจดหมายบอกมายังเจ้าคุณนั้น เพราะเห็นว่าเป็นการใหญ่และจะใช้แบบมอเดอร์น จะมีข้อรังเกียจกันอย่างไรหรือไม่ เช่นสมเด็จกรมพระนริศฯ เป็นต้น ก็เป็นช่าง และรักสวยรักงามอยู่มาก จึงเป็นอันได้ความว่า พระเจ้าอยู่หัวรวมทั้งอภิรัฐมนตรีทุกพระองค์ #ทรงนิยมให้สร้างเป็นแบบมอเดอร์น และอนุมัติตามที่เราทั้งสองได้คิดกันแล้วนี้...” [11]
.
- ทั้งนี้เมื่อการพิจารณาเห็นตรงกันว่าควรสร้างอาคารศาลหลังใหม่ให้เป็นแบบโมเดิร์นเพื่อความแข็งแรง ก็มีข้อแนะนำให้เสริมสัญลักษณ์ทรงไทยเป็นรูปพระมหาปราสาทเข้าไปประกอบส่วนบนด้วย โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ทรงเห็นชอบในแนวทางนี้ แล้วมีการเรียกโครงการก่อสร้างอาคารศาลแบบโมเดิร์นยอดปราสาทแบบลำลองกันในครั้งนั้นว่า “#ปราสาทยุติธรรม” [12] อย่างไรก็ตามโครงก่อสร้างนี้ได้ถูกระงับไปชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และจะได้ถูกรื้อมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในไม่กี่ปีถัดจากนี้
-------------------------------
(3) #กลุ่มอาคารศาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง #มรดกฉันทามติครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชภายใต้บรรยากาศใหม่
.
- เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แผนที่จะมีการปรับปรุงกลุ่มอาคารศาลก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในปี 2481 แต่ครั้งนี้โครงการก่อสร้างถูกผลักดันอย่างมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์การยุติธรรมของไทย โดยมีที่มาที่สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ "เอกราชทางการศาล" คืนอย่างสมบูรณ์ (อธิปไตยโดยสมบูรณ์) [13] จากการที่รัฐบาลสมัยคณะราษฎรก็ได้เร่งทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่หลายฉบับ สานต่อมาจากรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนมาแล้วเสร็จเรียบร้อยครบทุกอย่างในปี 2477 ประกาศใช้ในปี 2478 และนับจากจุดนี้รัฐบาลก็ได้พยายามดำเนินนโยบายเพื่อให้มีการแก้ไขสนธิสัญญา ที่ไม่เสมอภาคอันเป็นเหตุให้ไทยเสียเอกราชทางการศาลลง ซึ่งก็ได้มีประเทศต่าง ๆ ทยอยแก้สนธิสัญญาใหม่มาโดยลำดับ จนในที่สุดประเทศไทยได้ลงสัตยาบันสนธิสัญญาใหม่กับประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศสุดท้ายในปี 2481 ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีเอกราชทางการศาลสมบูรณ์อย่างแท้จริง
.
- #เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2481 ได้บันทึกถึงเหตุผลในการก่อสร้างอาคารศาลนี้ไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 มีความตอนหนึ่งว่า
.
".....#บัดนี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญ แล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา....." [14]
.
- โดยที่โครงการกลุ่มอาคารศาลที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้จะมีความใหญ่โต และพื้นที่มากกว่าอาคารเดิมถึงสามเท่าด้วยผังอาคารศาลรูปตัว V ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ที่ออกแบบขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้เป็นกลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร #รูปแบบสถาปัตยกรรมศาลใหม่จะสร้างด้วยรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์น ลดทอนลายละเอียดจากงานคลาสสิคลง และแต่งลายผนังคอนกรีตด้วยการเซาะร่องเลียนแบบหิน โดยที่จุดเด่นที่สุดของโครงการศาลใหม่นี้คือส่วนศาลฎีกาติดสนามหลวงที่มีแผนจะสร้างมุขยอดโดมอย่างอาร์ตเดโค ที่หากพิจารณาดูจะมีความคล้ายกับสภาไดเอทของญี่ปุ่นอย่างมาก [15]
.
- สถาปนิกผู้ออกแบบคือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากรที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในยุคสมัยนั้น โดยมีสถาปนิก และวิศวกรที่สำคัญในยุคสมัยมาดูแลด้วยอีกหลายท่านคือ หมิว อภัยวงศ์ หลวงบุรกรรมโกวิท นายเอฟ ปิโตโน ส่วนผู้มีความรู้เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรมก็เช่น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ เป็นต้น [16]
.
- และแน่นอนว่าโครงการสร้างศาลครั้งนี้จะกินพื้นที่เต็มที่ดินของหน่วยงานศาลตั้งแต่ส่วนราชดำเนินในถึงคลองคูเมืองเดิม จึงมีแผนที่จะรื้ออาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงด้วย แต่เมื่อถึงช่วงการก่อสร้างจริง อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมซึ่งเป็นอาคารหลังแรกนั้นก็ยังไม่ได้ถูกรื้อลงในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากแผนงานของโครงการไม่ได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกันทั้งหมด แต่ได้ทะยอยทำเป็นส่วน ๆ ไป [17]
.
- โดยอาคารส่วนแรกเริ่มสร้างในปี 2482 (อาคารปลายตัววี ด้านหลังอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 (วันชาติ และวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย) อาคารหลังที่สองที่สร้างขึ้นคือ อาคารปีกตัววีฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม สร้างในปี 2484 ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน 2486 [18]
.
- และเมื่อมาถึงส่วนอาคารฝั่งถนนราชดำเนินใน ที่จะสร้างแทนที่อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น โครงการกลับถูกระงับลงไปอันเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารศาลหลังแรกจึงรอดจากการถูกรื้ออย่างหวุดหวิดไปชั่วระยะหนึ่ง ดังที่หลายท่านอาจยังพอเห็นได้จากภาพถ่ายทางอากาศภายหลังสงครามโลกโดย Peter Williams-Hunt (ดูภาพในคอมเมนต์ด้านล่าง)
.
- ทั้งนี้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความคิดที่จะรื้อสร้างอาคารศาลสถิตยุติธรรมเดิมลง และสร้างกลุ่มอาคารใหม่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นผสมไทยได้มีมาก่อน และได้รับความเห็นชอบจากรัชกาลที่ 7 และคณะอภิรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นแล้ว อาจไม่เป็นการกล่าวเกินข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศาลในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ก็คือการหยิบเอาไอเดียตกผลึก และแบบตั้งต้นของกลุ่มอาคารกระทรวงยุติธรรมแบบโมเดิร์นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชมาปรับปรุงใหม่ [19] ทั้งหากยังไม่ลืมความคิดที่ว่าจะให้มียอดปราสาทอย่างไทยบนอาคารด้วย และเรียกว่าปราสาทยุติธรรม การที่แบบของอาคารศาลฝั่งราชดำเนินสมัยคณะราษฎร (ซึ่งไม่ทันได้สร้าง) ปรากฏโดมคล้ายอย่างสภาไดเอทของญี่ปุ่น ก็ย่อมน่าจะสะท้อนการอนุวัติเอาไอเดียของปราสาทตามแนวคิดดั้งเดิมมาปรับปรุงอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง
.
-------------------------------
(4) #อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมสมัยรัชกาลที่_5_หายไปตอนไหน ?
.
- อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมหลังแรกถึงแม้จะไม่ได้ถูกรื้อตามแผนโครงการแรกของรัฐบาลคณะราษฎร แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เราพอรู้กันว่ามีการดำเนินนโยบายรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์อย่างแข็งขันก็มีการดำเนินการดำเนินการรื้ออาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมลงเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ ภายใต้การออกแบบใหม่ในปี 2502 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดในปี 2506 [20] (ก็อาคารศาลฎีกาฝั่งราชดำเนินที่ถูกนำมาใช้โจมตีคณะราษฎรว่าสร้างใหญ่น่าเกลียดตรงข้ามสนามหลวงนั่นแหละ)
.
- ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า คณะราษฎรเป็นผู้สั่งทุบอาคารศาลสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะประการแรกนั้น มีโครงการจะรื้ออาคารศาลหลังเดิมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประการถัดมาคือตลอดยุคสมัยของคณะราษฎร อาคารศาลสถิตยุติธรรมสมัยรัฐกาลที่ 5 นั้นยังอยู่มาโดยปกติสุข การรื้อที่เกิดขึ้นนั้นก็ได้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลคณะราษฎรหมดอำนาจมาหลายปี และเป็นเรื่องตลกร้ายที่อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมที่กลุ่มรอยัลลิสต์สุดโต่งในปัจจุบันรู้สึกโหยไห้เสียดายนั้นกลับถูกทุบโดยรัฐบาลฝ่ายรอยัลลิสต์เสียเอง อีกทั้งความพยายามเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์กลุ่มอาคารศาลฎีกาทั้งหมดก็ยังได้เผื่อแผ่ความรักนอกเหนือไปจากกลุ่มอาคารสมัยคณะราษฎร ไปยังอาคารที่สร้างสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้น่าชิงชังด้วย
.
ดราม่าของกลุ่มอาคารศาลจึงเอวังประการฉะนี้
-------------------------------
[1] – ตัวอย่างการแสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ใน บทความชาตรี ประกิตนนทการ: บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ "รื้อ-สร้าง" ศาลฎีกาใหม่ https://prachatai.com/journal/2008/05/16793
[2] – http://www.resource.lib.su.ac.th/.../2016-09-01-07-36-31...
[3] – https://prachatai.com/journal/2012/12/44334
[4] – https://www.facebook.com/.../%E0%B8%97.../1296850653739017/
[5] – สมชาติ จึงสิริอารักษ์, สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2480 (กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553) หน้า 185
[6] – สมชาติ จึงสิริอารักษ์, การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่ระหว่างญี่ปุ่นกับสยาม ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ถึงสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1850-1945/พ.ศ.2390-2488) : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560) หน้า 121
[7] – อ้างแล้ว , สมชาติ จึงสิริอารักษ์, 2553. หน้า 185
[8] – อ้างแล้ว , สมชาติ จึงสิริอารักษ์, 2560. หน้า 121
[9] – อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) – ไฟล์ดิจิตอล http://digital.library.tu.ac.th/.../fro.../Info/item/dc:1623 หน้า หน้า 98
[10] – เพิ่งอ้าง หน้า 100
[11] – เพิ่งอ้าง หน้า 102
[12] – เพิ่งอ้าง หน้า 103
[13] – อ้างแล้ว , สมชาติ จึงสิริอารักษ์, 2560. หน้า 178
[14] – ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์(กรุงเทพฯ : มติชน, 2563)
[15] – อ้างแล้ว , สมชาติ จึงสิริอารักษ์, 2560. หน้า 180
[16] – เพิ่งอ้าง หน้า 178 - 179
[17] – อ้างแล้ว ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563
[18] – เพิ่งอ้าง
[19] – มีการอธิบายดังนี้เช่นกันใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) หน้า 103
[20] – ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558.)