วันจันทร์, เมษายน 19, 2564

“ยังมีเงินเกือบ ๓.๘ แสนล้านบาทสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ” บิ๊ก 'แต่' ก็ยังจัดการโควิดขาดตกบกพร่อง


หากเปรียบชาติเป็น ร่างประชากรเป็นสองขา ราชการเป็นสองแขน รัฐบาลคือหน้าตา ศีรษะคือประมุข สถานการณ์โควิดเวลานี้เป็นการที่ไทยตกลงไปในปลักโคลนดูด หาก ๘ หมื่น ๔ พันเซลส์ในหัวไม่สามารถสั่งงานให้แขนและมือหาทางออกได้ ประเทศนี้ย่อมง่อยเปลี้ยเสียขา

ล่าสุดเซลส์ในสมองบอกว่า “รัฐบาลยังมีเงินเกือบ ๓.๘ แสนล้านบาทสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ” โดยจำนวน ๒.๔ แสนล้านมาจากการกู้ ซึ่งถ้าฟื้นฟูได้จริงดังอ้าง ก็จะต้องไปตามใช้หนี้บวกดอกเบี้ยกันอีก

ที่เหลือนอกนั้น เกือบแสนล้านมาจากงบกลางสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉิน ซึ่งจัดว่าเป็นเงินในพกในห่อไว้ใช้ได้ ใช้หมดแล้วต้องมีงบฯ ใหม่ไว้สำรองใช้ต่อไปข้างหน้า มีแค่ ๓๖,๘๐๐ ล้านนั่นเป็นเงินสำหรับบรรเทาอาการโควิด ใช้แล้วใช้เลย

แต่ปุถุชนคนตั้งหน้าทำมาหากิน ไม่ต้องมุ่งมั่นมอบร่างกายเป็นราชพลี หรือมีนิสัยแก้ไม่ได้รักษาไม่หายเป็นเส้นแป้งลวกนิ่มหลากสี พิจารณาคำแถลงของโฆษกสำนักนายกฯ เมื่อ ๑๘ เมษาแล้ว ย่อมเห็นว่ามีบางอย่างขาดตกบกพร่อง

อนุชา บูรพชัยศรี บอกว่านายกรัฐมนตรี “มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี ๒๕๖๔ นี้ เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ” มันตรงข้ามกับแนวโน้มที่ชาวบ้านเห็น ในเมื่อ การฉีดวัคซีน ไม่ได้ดีขึ้นเลย


แล้วยังการรักษาผู้ติดเชื้อและเกิดอาการป่วยเหลวเป๋ว อีกทั้งการ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกัน ไม่ว่าจากการ ล็อคดาวน์ และ ชัตดาวน์กิจกรรมและกิจการทั้งหลาย ยังขาดตกและบกพร่องอีกเยอะ

Thitikan Thitipruethikul @thitipruethikul เห็นประกาศทางการจังหวัดภูเก็ตแล้วอดไม่ได้ต้องทวี้ตกระตุก “มีแต่คำสั่งปิด แต่ไร้มาตรการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ” เช่นกันกับที่ ศบค.กำหนดเวลาเปิด-ปิดของร้านอาหาร-เครื่องดื่ม “นั่งกินไม่เกินสามทุ่ม เปิดขายไม่เกิน ๕ ทุ่ม”

ส่วนการฉีดวัคซีนนั้น “ฉีดได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แผนการเตรียมความพร้อมไม่มี” ดังที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งคณะก้าวหน้า ชี้แนะถึงความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการอย่างมีสัดส่วนด้วยการ “ป้องกันไม่ให้ลูกจ้างตกงานเพิ่ม

โดยรัฐบาลอาจช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือน ๕๐% แลกกับการที่นายจ้างไม่เลิกจ้าง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้ารายละ ๓,๐๐๐ บาท ต่อเดือน ซึ่งโดยสภาวะการคลังยังทำได้”

นอกเหนือไปจากนั้น ต้อง “เปลี่ยนทัศนคติผู้บริหาร” เลิกทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนไม่ใช่ภาระจะต้องมาแสดงท่าถอนหายใจใส่ไมโครโฟน ทั้งที่การระบาดรอบนี้ ซึ่งไม่ต่างกับรอบแรกๆ “การติดเชื้อนั้นมาจากอภิสิทธิ์ชนและการเลือกปฏิบัติ” ทั้งสิ้น

หรือไม่ก็ เปลี่ยนรัฐบาล หมดทั้งยวงเลย เช่นที่ อธึกกิต แสวงสุข ว่าน่าจะดีที่สุด กระนั้นรัฐบาลอันสืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารก็ยังแจกจ่าย สมบัติผลัดกันชมต่อไปไม่ยี่หระอะไรทั้งสิ้น ตัวอย่างของการผลัดกันตั้งยื่นอำนาจไปมาระหว่างกันในคณะทหาร

จากที่กรรมาธิการท่องเที่ยวในวุฒิสภาเต็มไปด้วยทหารเกือบทั้งคณะ ล่าสุดมีการส่ง “น้องติ๊ก ลงมาลุยเอง...แต่งตั้งพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา (น้องชายนายกฯ คนที่ไปประชุมสภาปีละ ๖ ครั้ง) เป็นกรรมาธิการการท่องเที่ยวแทนตําแหน่งที่ว่าง”

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจซึ่งกำลังย่ำแย่ ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของโควิด แต่อีกส่วนหนักหนาไม่แพ้กันเกิดจากการ ไร้น้ำยาของคณะทหาร อย่างนี้ชาวบ้านถึงไม่เชื่อว่าพี่ตู่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจปี ๖๔ ไปรอดได้

ดังนี้ระบบ ‘Nepotism’ เล่นพวกพ้องจึงยิ่งเฟื่องฟูภายใต้การครองเมืองของ คสช.และคณะสืบทอดอำนาจ จนเห็นได้รำไรว่า กระเบื้องกำลังลอยเฟื่อง และน้ำเต้าน้อยถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอด ๖-๗ ปีที่เป็นมา ปรากฏการขึ้นแท่นของ เสี่ยกลางเป็นอีกสัญญาน


“สารัชถ์ รัตนาวะดี นอกจากจะยึดกลุ่มทุนพลังงาน คือ กัลฟ์ และเข้ามาแทรกแซงการเมืองตามพรรคการเมืองต่างๆ และส่งลูกน้องคือ ชัยวุฒิ (ธนาคุมานุสรณ์) มาเป็นรัฐมนตรีแล้ว (ยัง) เข้าลงทุนในทุนสื่อสาร”ด้วยการซื้อหุ้น INTUCH เกือบ ๑๙% ๖๐๗ ล้านหุ้น

Thanapol Eawsakul แย้มว่า “งานนี้ไม่ใช่แค่ AIS (จากการซื้อเรียบ ADVANC) เท่านั้นเสี่ยกลางยังจะส่งคนเข้าไปยึด กสทช. ด้วย ทำให้เขาขึ้นแท่น “นายทุนผูกขาดคนหนึ่ง ที่สูสีกับธนินท์ เจียรวนนท์และเจริญ สิริวัฒนภักดี”

และแล้ว “ทั้งหมดทั้งปวงเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ๒๕๕๗ โดยที่คนเหล่านี้เป็นผู้ส่งส่วยไปเลี้ยงดูคณะรัฐประหาร”

(https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/4164239310309543, https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement/posts/347049613597974 และ https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10161680663279848)