วันเสาร์, เมษายน 10, 2564

ยุติธรรมไทย หมายังอาย!! - 9 เม.ย. 64 ศาลอาญา รัชดา ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม คนอื่นๆ ไม่ได้ประกันตัว



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h ·

วันนี้ (9 เม.ย. 64) ศาลอาญา รัชดา ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แต่ไม่ให้ประกันตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยทั้งสามเป็นจำเลยมาตรา 112 ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
.
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท โดยในวันไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จำเลยทั้งสามได้แถลงต่อศาล โดยมีเนื้อหา ดังนี้
.
ปติวัฒน์ (จำเลยที่ 3) แถลงว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและพูดพาดพิงสถาบันฯ อีกอย่างเด็ดขาด โดยจะไปประกอบอาชีพร้องหมอลําเพื่อหาเลี้ยงชีพต่อไป ทั้งยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่เครื่องมือ ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) การวางเงื่อนไขห้ามออกนอกเขตกําหนด หรือการวางเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และจะมาศาลทุกนัด หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่มาศาลนัดหนึ่งนัดใด ก็ยินดีที่จะให้ศาลถอนประกัน
.
ด้าน สมยศ (จำเลยที่ 4) แถลงว่า เนื่องจากจําเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทําให้ไม่อาจหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถตรวจดูพยานหลักฐานโจทก์ได้โดยละเอียด เกรงว่าหากไม่ได้รับโอกาสในต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จะเป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับความยุติธรรม
.
ส่วน จตุภัทร์ (จำเลยที่ 7) แถลงว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก
.
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสามแถลงรับเงื่อนไขของศาล โดยมีเนื้อตรงกันว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราว จะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ โดยมีนายประกันของทั้งสามรับรองว่าจะกำกับดูแลจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติตามสัญญาที่แถลงไว้ต่อศาล
.
ศาลให้ประกัน “หมอลำแบงค์” เพียงคนเดียว อีกสองคนยกคำร้อง ระบุคำแถลงไม่น่าเชื่อถือ เหตุทนายและจำเลยปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดี
.
15.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะ ปติวัฒน์ โดยระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์จากคำแถลงและการไต่สวนตามคำร้องของปติวัฒน์ ประกอบกับคำรับรองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับจำเลย น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อีก จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกันสองแสนบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ 3 กระทำการในสักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด ก่อนปล่อยตัวจำเลยแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ
.
ในส่วนสมยศ และจตุภัทร์ ในคำสั่งได้ระบุว่า แม้จำเลยทั้งสองจะให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนขอปล่อยชั่วคราวเช่นเตียวกับจำเลยที่ 3 แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 64 ศาลนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน จำเลยและทนายของทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีเพียงจำเลยที่ 3 และทนายความจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา
.
อีกทั้ง ทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 นำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนข้อความเพิ่มเติมโดยไม่ใด้รับอนุญาตจากศาล ระบุว่า "ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 22 ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา" กับมีพฤติการณ์จะไม่ยอมไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ และยื่นคำร้องขอถอนทนายความ ทำให้การกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ข้อความและคำแถลงของจำเลยทั้งสองว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ต่อศาลได้ ในชั้นนี้ จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสอง
.
จากคำสั่งดังกล่าวทำให้การถูกขังระหว่างพิจารณาคดีของปติวัฒน์สิ้นสุดลง หลังถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็น เวลา 60 วัน ส่วนสมยศ ถูกคุมขังร่วม 2 เดือน และจตุภัทร์ ถูกคุมขังมา 1 เดือนกว่าแล้ว
.
อนึ่ง คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ยังมีนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยไม่รับการปล่อยตัว นอกจากสมยศ และ จตุภัทร์ แล้วยังมีนักกิจกกรรมที่เหลืออีก 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกขังมา 60 วัน ขณะที่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกขังมา 33 วัน
.
บ่ายนี้ ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยังถูกคุมขังที่เหลือ ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แต่ศาลได้ยกคำร้อง ทำให้ทั้งหมดต้องถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป
.
อีกทั้ง พริษฐ์ยังคงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมากว่า 20 วัน และปนัสยาอดอาหารมาแล้ว 1 สัปดาห์
.
.
.
อ่านฉบับเว็บไซต์ต่อได้ที่: https://tlhr2014.com/archives/28187
.....


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
4h ·

+++ ศาลอาญาไม่ให้ประกันคดีม. 112 กลุ่มราษฎร ทั้ง 4 คดี ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม +++
.
.
วันนี้ (9 เม.ย. 64) เวลา 15.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความและครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว อานนท์ นําภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์ และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์
.
โดยทนายและครอบครัวได้ยื่นประกันตัวจำเลยและผู้ต้องหาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยเงินสดคนละ 200,000 บาท โดยแบ่งเป็นคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร สำหรับอานนท์, ปนัสยา, ภาณุพงศ์, พริษฐ์ และคดีจากการชุมนุม #Mobfest เมื่อ 14 พ.ย. 63 สำหรับพริษฐ์ ทั้งสองคดีอยู่ในชั้นระหว่างพิจารณาคดี หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 9 ก.พ. และ 8 มี.ค. 64
.
อีกคดีหนึ่ง คือ คดีมาตรา 112 กรณีชูเกียรติถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกาในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม “REDEM” และคดีวางเพลิงเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ของไชยอมร โดยทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
.
นอกจากนี้ ไชยอมรยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีชุมนุม 19 ก.ย. 63 โดยทนายและครอบครัวยื่นประกันด้วยเงินสด 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเล็คทรอนิกส์ (EM) เนื่องจากไชยอมรถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 เป็นข้อหาหลักเท่านั้น
.
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของกลุ่มราษฎรทั้งหมด โดยระบุเหตุผลว่า ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง โดยคำสั่งนี้มี นายสันติ บุตรดี ผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม
.
.
อ่านเนื้อหาทั้งหมด: https://tlhr2014.com/archives/28209