วันจันทร์, เมษายน 12, 2564

ยิ่งชีพมาอัพเดทเรื่องที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. ลุมพินี บ้านนี้เมืองนี้เสื่อมหนัก รวมแล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ ตำรวจเขาต้องอยู่ให้เป็น เจอคนอ่อนเขาก็ข่ม เจอคนแข็งเขาก็ยอม เพราะถ้าเขาเจอมาตรา 157 เจ้านายที่เอาแต่สั่งๆๆ ก็ช่วยเขาไม่ได้



Yingcheep Atchanont
April 8 at 10:22 AM ·

บทสรุปของการไป สน.ลุมพินี ในฐานะผู้ต้องหาวันนี้ “ไม่สนุก” ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากโดนข้อหาอีก แต่ถ้าการใช้เสรีภาพการแสดงออกโดยสุจริตจะทำให้โดนข้อหาอีกจริงๆ ก็คงจะต้องใช้โอกาสนี้ดันเพดานมาตรฐานกระบวนการสอบสวนเช่นเดิมอีก หรือมากขึ้นไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติหน้าที่โดยรวมของตำรวจอยากสรุปว่า “พอใช้ได้” ไม่ได้มีการปฏิบัติที่แย่กับคดีทางการเมือง ตรงกันข้ามจะขอคาดหมายว่า ปฏิบัติดีกว่าคดีอาญาอื่นๆ ด้วยซ้ำ สิ่งที่ปฏิบัติไม่ถูกก็คือไม่ถูกมานานแล้ว และก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ในเร็ววัน แต่อย่างน้อยต้องไม่แย่เกินไปในคดีที่เกิดกับตัวเอง
ยกที่ 1 ยืนยันจะบันทึกวิดีโอในระหว่างการสอบสวน โดยใช้วิธีมายื่นหนังสือ​ “แจ้งให้ทราบ” พร้อมระบุกฎหมายที่เกี่ยวข้องอธิบายไว้ให้ชัดเจนก่อนหน้าหนึ่งวัน เพื่อให้ตำรวจได้รับหนังสือแล้วเตรียมตัวมาตอบคำถาม แต่ยังตอบได้ไม่ดี หาข้อกฎหมายมาเป็นเหตุในการห้ามไม่ได้ จึงใช้วิธีเนียนๆ พูดเหมือนจะยอมให้ เพื่อให้ผ่านๆ ไปก่อนไม่งั้นงานเริ่มไม่ได้
ยกที่ 2 อำนาจพนักงานสอบสวน เนื่องจากในหมายเรียก เขียนชื่อพ.ต.ท.นพดล และพ.ต.ท.เทอดศักดิ์ เป็นพนักงานสอบสวนที่ต้องมาพบ แต่เมื่อมาแล้วไม่ได้เจอ เจอแต่รองผู้กำกับชื่อ สมัคร กับพนักงานสอบสวนชื่อร.ต.อ.สุทวัฒน์มานั่งทำงาน เลยถามว่าทำไมอำนาจทำคดีนี้ ตอนแรกแกตอบแค่ว่า ทำงานเป็นคณะ เราถามว่า มีหลักกฎหมายอ้างอิงอะไรที่ให้คุณมีอำนาจได้ ถ้ามีคำสั่งแต่งตั่งให้มีอำนาจขอดูหน่อย แกยุ่งเอาให้ดูไม่ได้ เรายอมให้เดินหน้าสอบสวนไปก่อน เพื่อจะไม่เสียเวลา แต่สุดท้ายสมัครก็เป็นคนเอามาคำสั่งแต่งตั้งให้ดูได้ ยกนี้ ตำรวจทำถูก
ยกที่ 2.5 ความชัดเจนของข้อหา ร.ต.อ.สุทวัฒน์ แจ้งข้อกล่าวหาโดยอ่านจากเอกสารที่เตรียมไว้ ซึ่งต้องชื่นชมว่าตำรวจเตรียมพร้อมรับการสอบสวนอย่างดี ทำให้ไม่เสียเวลามากเกินไป แต่พอถามกลับไปว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 15 ที่เอามาแจ้งข้อหาเนื้อหาเป็นอย่างไร กลับตอบว่า ไม่มีหน้าที่ มีแค่หน้าที่มาอ่าน เราเลยยืนยันขอให้อธิบายกฎหมายที่ใช้เป็นข้อหาให้ได้ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ หายไป 15 นาที ปริ้นท์ทุกอย่างมาวางให้ ถือว่า พนักงานสอบสวนยังเตรียมตัวดีไม่พอ การที่ไม่เข้าใจกฎหมายแต่มาแจ้งข้อหาถือว่าไม่ชอบ แต่สุดท้ายแก้ตัวได้ ให้ผ่าน ไม่ติดใจ ซึ่งก็ถือว่าไม่แย่ที่เลือกมาฉบับเดียว ถ้าเลือกมา 7-8 ฉบับเหมือนคดีที่เคยเห็นก่อนหน้านี้คงต้องคุยกันยาว ส่วนฉบับที่ 15 นี้จะเลือกมาถูกไหม ค่อยเอาไปเถียงกันในชั้นศาล
ยกที่ 3 ตำรวจไม่ยอมให้ไฟล์วิดีโอในระหว่างการสอบสวน ก็ไม่อยากใช้กำลังฉุดกระชากลากเอาแผ่นซีดีบนโต๊ะมาจากมือตำรวจให้ได้ และก็ไม่อยากให้ตำรวจต้องเดือดร้อน ถูกเจ้านายเล่นงานเป็นรายบุคคล แม้จะมีพูดจาไม่ดีใส่กันบ้าง แต่ก็ไม่ถือสาเป็นการส่วนตัว จึงขอให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่า ตัวเองเข้าใจกฎหมายผิด และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ยอมทำมา ตอนแรกแอบคิดว่าถ้าตำรวจเขียนหนังสือไม่โอเค ก็จะเขียนหนังสือโต้แย้งไปเลยทันที แต่เท่าที่ดูก็โอเค ก็จึงเอาเท่านี้ หนังสือที่ได้มาจะเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของการ “ปฏิบัติผิด” ลิดรอนสิทธิจำเลยในกระบวนการสอบสวนที่เป็นมาตลอดยาวนานในประเทศนี้โดยไม่มีกฎหมายรองรับ โดยมีลายมือชื่อผู้กำกับสน.ลุมพินีรองรับไว้
ยกที่ 4 ขอลงบันทึกประจำวันทันทีเมื่อไปถึง อันนี้ตำรวจโอเคให้ทำได้ คือ เมื่อไปรายงานตัวตรงตามเวลานัด ก็ขอลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานเลย ไม่ใช่ทำทุกอย่างเสร็จแล้วค่อยลงบันทึก เพราะการบันทึกทีหลังอาจทำให้เวลาคลาดเคลื่อนได้ เราไปถึงก็ขอลงบันทึกตอน 10.00 เป๊ะ ตอนแรกโต๊ะเขียนบันทึกจะไม่ยอมเขียน แต่พอไปคุยกับระดับสูงขึ้น เขาก็บอกให้ลงๆ ไป ก็เลยไม่มีปัญหา ถือบันทึกประจำวันลงเวลาตรงเป๊ะกลับบ้านมาด้วย 5555
รวมแล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ ตำรวจไว้ใจไม่ได้มากกว่าที่คิด (เดิมก็คิดอยู่แล้ว) แต่ตำรวจก็ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาล ไม่ได้ทำเพื่อผู้ต้องหา ไม่ได้จะช่วยหรือจะกลั่นแกล้งกัน ไม่ได้ทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ทำเพื่อสนับสนุนหรือต่อต้านจุดยืนทางการเมืองใดเป็นพิเศษ
มีเรื่องราวระหว่างการพูดคุยกันเกิดขึ้นอีกเยอะมาก ซึ่งไม่ติดใจโกรธเคือง จึงไม่จำเป็นต้องเล่าต่อสาธารณะ แต่เอาเป็นว่าสำหรับคนที่ “ขี้เกียจ” จะเสียเวลามากนัก การเข้าร่วมกระบวนการในชั้นตำรวจโดยยอมๆ เซ็นๆ แล้วก็กลับบ้านจะดีกับชีวิตมากกว่า ในคดีการเมืองตำรวจจะพยายามไม่ทำอะไรให้มันผิดในทางกระบวนการแบบ “ชัดแจ้ง” อยู่แล้ว ส่วนในทางเนื้อหาถูกบ้างผิดบ้างก็อ้าง “นายสั่งมา” ไปวันๆ (วันนี้ไม่ได้ยิน)
หากใครอยากจะยืนยันสิทธิของตัวเองให้ชัดเจนขึ้น มากขึ้น ก็จำเป็นต้อง “จิตแข็ง” และ “การ์ดไม่ตก” ไม่ยอมอ่อนแม้แต่จังหวะเดียว ต้องแลกมาซึ่งการทำงานหนัก ทำการบ้าน และแบกความรู้พื้นฐานไปไม่น้อย ข้อดีในคดีการเมืองแบบนี้ คือ การไม่ยอมลดละกับตำรวจระดับปฏิบัติ ไม่น่าจะมีข้อหาเพิ่มทันทีทันใด เพราะคนเลือกข้อหาไม่ใช่ตำรวจหน้างานอยู่แล้ว แต่มาจาก “นาย” ของพวกเขา
ยังมีอีกหลายยก ที่รู้จุดอ่อนของตำรวจอยู่แล้ว แต่วันนี้ไม่ได้ใช้งาน เพราะตัดสินใจว่า เอาทรงประมาณให้เรายังได้ไปกินข้าวบ้างก็พอ ไม่งั้นจะหิวตายกันหมด และถ้าเก็บประเด็นอื่นๆ เอาไว้ก่อน ไม่ต้องใช้งานเลยในชีวิตนี้ก็จะดี แต่ถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องลองดันเพดานตำรวจไปเรื่อยๆ
ในที่นี้ ก็อยากจะขอแสดงความเคารพต่อ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ตำรวจที่รับลงบันทึกประจำวัน และตำรวจอีกหลายคนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความใจเย็น อดทน พยายามตอบคำถาม และพยายามทำอะไรให้ถูกต้องตามที่ทักท้วง รวมถึงทุกคนที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ก็ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกันทั้งในวันนี้และหลังจากนี้
เมื่อใดที่ตำรวจทำกระบวนการถูก ผมก็จะชื่นชมในฐานะที่ทำถูกขั้นตอน แต่ไม่ชื่นชมในฐานะที่เป็นเครื่องมือด่านหน้าให้รัฐบาลนี้ แต่ถ้าเมื่อใดตำรวจทำผิด ผมก็จะยืนยัน ดันเพดานให้ตำรวจยกระดับให้ได้ ถ้าผู้ต้องหาคนเดียวดันแล้วไม่เปลี่ยนก็ไม่แปลก โดยต้องมีคนแบกรับความผิดอันนี้ไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นรูปแบบบันทึกภาพและเสียง ซึ่งวันนี้ทำได้แล้ว ทำแค่นี้พอก่อน นอนก่อน ยังมีอีกหลายศึกรออยู่

Som Song
ตำรวจเขาต้องอยู่ให้เป็น เจอคนอ่อนเขาก็ข่ม เจอคนแข็งเขาก็ยอม เพราะถ้าเขาเจอมาตรา 157 เจ้านายที่เอาแต่สั่งๆๆ ก็ช่วยเขาไม่ได้

Law Inspiration
April 8 at 8:56 PM ·
คุณยิ่งชีพมาอัพเดทเรื่องที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. ลุมพินี ให้อ่านกันครับ
แบบที่คุณยิ่งชีพบอก .. การโดนข้อหาต้องไป สน. ”ไม่สนุก” แน่นอนครับ [รวมทั้งการไปขึ้นศาลด้วย]
เท่าที่อ่านดู ตำรวจก็ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งอะไร พยายามทำตามหน้าที่ โดยอย่างยิ่งคดีการเมือง ที่มักระวังตัวเป็นพิเศษ
ซึ่งไม่แปลกใจอะไร เพราะ คนปฏิบัติงานเหล่านี้ รู้อยู่แล้วว่าการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอด .. วันนึงคนที่เป็นผู้ต้องหา อาจจะกลับมาเป็นผู้มีอำนาจในวันข้างหน้าก็ได้
ดังนั้น จะทำอะไร ก็พยายามอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด อย่าคิดว่าพวกมากลากไปแล้วจะรอด
@Harvey