วันศุกร์, เมษายน 16, 2564

“ยืนหยุดขัง 112 นาที” 15 เม.ย. ของชาวเชียงใหม่



ประชาไท Prachatai.com
6h ·

ชาวเชียงใหม่กว่า 100 คนร่วม “ยืนหยุดขัง 112 นาที” 'นิธิ' ถามจะมีกฎหมายไปทำไม หากถูกกล่าวหาแล้วก็ต้องถูกลงโทษเลย ชี้สังคมไทยต้องมี “สภาวะที่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างไม่เดือดร้อน”
อ่านเพิ่มเติม : https://prachatai.com/journal/2021/04/92575
15 เม.ย. 2564 วันนี้เวลา 17.00 น. – 18.52 น. ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่กว่า 100 คน ร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 นาที” เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม ม.112 และมอบสิทธิในการประกันตัวให้แก่พวกเขาได้มีโอกาสออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
ภายในงานมีประชาชนทั่วไปและนักวิชาการหลายคนเข้าร่วมงานนี้ อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไชยันต์ รัชชกูล ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นัทมน คงเจริญ ชำนาญ จันทร์เรือง และทัศนัย เศรษฐเสรี เป็นต้น
“ผมคิดว่าวิธีการที่เราทำอยู่ในตอนนี้ก็เป็นการรับมือกับ 112 แล้ว ประเด็นปัญหาของม.112 ต้องเข้าใจว่า มาตรานี้ทำงานได้เพราะความกลัว ถ้าคุณประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดความกลัว เช่นเป็นต้นว่าโดนคดี 112 แล้วคุณไม่มีวันที่จะได้รับการประกันตัว ทีนี้ การสู้คดีก็จะต้องเป็นเรื่องของเวลาและความยากลำบากต่อชีวิตคุณ ฉะนั้นทุกคนก็จะไม่กล้าสู้กับคดีนี้ แต่ถ้าเราทำให้ความกลัวที่ถูกใช้กับคดีนี้มันเริ่มลดลงเรื่อยๆ ม. 112 ก็จะกลายเป็นกฎหมายที่ไม่มีความหมาย” นิธิ ตอบคำถามที่ว่าสังคมไทยจะรับมือกับการใช้กฎหมาย ม.112 ในตอนนี้อย่างไร
ต่อคำถามที่ว่าสังคมควรมีท่าทีอย่างไรต่อการอดอาหารของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำราษฎร และคนอื่นที่ถูกคุมขังอยู่ในตอนนี้ นิธิ กล่าว่า เขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันเป็นทางเลือกของเขาที่เขาตัดสินใจแล้ว เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ ตนคิดว่าเรามีหน้าที่อย่างเดียวคือให้กำลังใจ
“มีความสำคัญแก่มนุษย์ทั้งโลกนี้นะครับ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะกล่าวหาโดยรัฐหรือคนอื่นก็ตาม คุณยังไม่ได้ผิด จะผิดหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นต้องเอาคุณอยู่ในสภาวะที่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างไม่เดือดร้อน มันเป็นหลักการพื้นฐานเลย ไม่ใช่ว่าทันทีที่ใครถูกกล่าวหาแล้วก็ต้องถูกลงโทษเลย ถ้าแบบนั้นจะมีกฎหมายไปทำไม จะมีระบบยุติธรรมไปทำไม” นิธิ กล่าวถึง ความสำคัญของสิทธิในการประกันตัว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการกลับมาบังคับใช้ม.112 อีกครั้งในช่วงปลาย พ.ย. 63 จนถึงวันที่ 1 เม.ย.64 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีม.112 ไปแล้วอย่างน้อย 82 คน ใน 74 คดี และ พรพิมล (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดี หมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ม.112 รายล่าสุดของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นเดือนเม.ย.นี้ นับเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีการเมืองช่วงเวลานี้เป็น รายที่ 20 โดยเป็นคดีตาม ม. 112 รายที่ 13