วันเสาร์, มีนาคม 20, 2564

ชวนคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จะผลักดันต่ออย่างไรให้เห็นผล - Siripan Nogsuan Sawasdee



Siripan Nogsuan Sawasdee
8h ·

ชวนคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จะผลักดันต่ออย่างไรให้เห็นผล
การโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. โดย สว.+ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งไม่แสดงตัว ทำให้หลายคนท้อ และตั้งคำถามว่า ทำไมแก้ รธน. ถึงยากเย็น ทีคณะรัฐประหารฉีกทิ้งทำได้ง่าย และทำมาหลายครั้งแล้ว
รธน. ที่ออกแบบให้การแก้ไขใด ๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลยนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติทั้งของตัว รธน. และ ระบบการเมืองที่ รธน. ได้สร้างขึ้น เพราะแม้ ส.ส. ทั้ง 500 คน ยกมือให้แก้ หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. 84 คน ก็แก้ไม่ได้
เป็นมาตรการที่ยากกว่าการแก้ รธน. อเมริกาที่ว่ายากมากแล้ว ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียง super majority เสนอโดย 2/3 ของ ส.ส+ สว. และรับรองโดย 3/4 ของมลรัฐ (38 จาก 50 มลรัฐ) เสียอีก
ศาล รธน. วินิจฉัยว่า หากจัดทำ รธน. ใหม่ต้องทำประชามติ แม้จะตั้งข้อสังเกตได้ว่า คำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้อ้างอิงจากมาตราใดใน รธน. เพราะไม่มีที่ใดใน รธน.กำหนดไว้
แต่ดิฉันเห็นด้วยว่า หากจะแก้ รธน. ทั้งฉบับ ควรทำโดยผ่านประชามติ ถามความเห็นประชาชนก่อน เพื่อยืนยันอำนาจสถาปนา รธน. ของประชาชน
ลองจินตนาการว่า หากในอนาคต มี รธน.ที่ดี ที่เราชอบ แต่บุคคลกลุ่มหนึ่ง อยากแก้ และได้คุมเสียงข้างมากในรัฐสภา เราก็คงไม่อยากเห็นการแก้ รธน. ทั้งฉบับโดยไม่สอบถามความประสงค์ของเรา
ดังนั้น การทำประชามติ เมื่อมีการแก้ รธน. ทั้งฉบับ ควรทำให้เป็นบรรทัดฐานสืบไป
ด่านสำคัญในจุดนี้ คือ รธน. 2560 มาตรา 166 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจ ริเริ่มการทำประชามติ เมื่อดูทรงจากการโหวตคว่ำ ทั้ง ๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขเองแล้ว ความหวังว่า ครม.จะเร่งรัดให้แก้ไข รธน. คงไม่เป็นจริงได้ หากไม่มีแรงกดดันหนัก ๆ จากสังคม
แสงรำไรในขณะนี้คือ สภากำลังพิจารณา พรบ.การออกเสียงประชามติ โดยขอให้รัฐสภา และประชาชน สามารถริเริ่มการทำประชามติได้ ไม่ใช่อำนาจผูกขาดของ ครม. เท่านั้น
เมื่อทำประชามติ คำถามควรชัด และตรงไปตรงมา แยกเป็นข้อ ๆ เช่น
1. ท่านประสงค์ให้ยกเลิก รธน. 2560 และจัดทำ รธน.ใหม่ ใช่หรือไม่
2. ท่านประสงค์ให้ใช้ รธน.....(ระบุปี รธน.)ไปพลางก่อน ในระหว่างจัดทำร่าง รธน.ใหม่ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ เราก็เผื่อใจไว้แหละว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอาจไม่ประสงค์ให้มีการจัดทำ รธน. ใหม่ก็ได้ เพราะดูเหมือนประชาชนทั่วไปยังไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ที่สำคัญเจตนารมณ์ของประชนจะปรากฎชัดก็ต่อเมื่อ กระบวนการทำประชามติสร้างความมั่นใจว่า ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิรณรงค์ รับ ไม่รับ ร่าง รธน. ใหม่ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม
ข้อเสนอของดิฉันระหว่างรอ พรบ.ประชามติ และที่จริงแล้วเป็นแนวทางที่ทำไปพร้อมกันได้ คือ การแก้ รธน. รายมาตรา
ขณะนี้เริ่มมีการรณรงค์เชิญชวนให้แก้ 3 ประเด็น คือ 1. ยกเลิก สว. ให้เหลือ สภาเดียว 2. ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และ 3. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
เข้าใจได้ว่า เมื่อ สว. ขัดขวางการแก้ รธน. หลายคนก็เลยคิดว่า ยกเลิก สว. เสียเถิด
แต่...ดังได้กล่าวแล้วว่า การแก้ไข รธน.รายมาตรานั้น จะต้องเจอค่ายกล สว. 84 เสียง ลองตรองดูว่าจะเป็นไปได้หรือที่จะมี สว.ถึง 84 คน โหวตให้ตัวเองตกงาน
ส่วนการแก้ไขเพื่อ ปฏิรูปศาล และองค์กรอิสระ รธน. 60 กำหนดให้ต้องทำประชามติหลังผ่าน วาระ 3 ซึ่งต้องใช้เวลา และเป็นประเด็นไข่แดงของ คสช.
จึงขอเสนอเหมือนที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า หากจะแก้รายมาตราเพื่อปลดสลัก รธน. 2560 ควรเร่ิมที่ 2 ประเด็นสำคัญ ที่แก้ได้โดยไม่ต้องทำประชามติ คือ
1.ที่มาของนายกรัฐมนตรี
กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ให้ สว. โหวตร่วมด้วย
2.แก้ไขระบบเลือกตั้ง --ซึ่งดูเหมือนไม่มีใครชอบ แต่ทำไม ไม่เสนอแก้?
ขอเสนอให้ใช้ระบบผสม MMP มีบัตรเลือกตั้ง 2ใบ สำหรับ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 2% หรือ 3%
ผู้เสนอแก้ได้คือ >>ส.ส. 100 คน ขึ้นไป หรือ ประชาชน 50,000 คน
จำนวนเสียงเห็นชอบที่ต้องการ>>เกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ ส.ส.+ส.ว. ต้องได้ไม่น้อยกว่า 375 เสียง หมายความว่า นอกจาก ส.ว 84 คน ที่ให้ความเห็นชอบแก้ไขในวาระแรกแล้ว ต้องมี ส.ส. อีก 291 คน ซึ่งแม้ฝ่ายค้านในปัจจุบันจะมี 212 เสียง แต่ 291 เสียง เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ คราวนี้ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย คงไม่สับสนแล้วนะ
สำหรับการยกเลิก สว.นั้น ควรถกเถียงกันจริงจังเมื่อมีโอกาสจัดทำร่าง รธน. ใหม่
ดิฉันชัดเจนว่า ปฏิเสธ สว.แต่งตั้งอย่างสิ้นเชิง แต่หากมีระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมทำให้ได้ตัวแทนหน้าใหม่ ๆ ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ การยังคง สว.ไว้ ก็มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ
เราอาจจะยังต้องการ สว. เพื่อถ่วงดุล ส.ส. และทำงานร่วมกันในการตรวจสอบรัฐบาล ช่วยเป็นกระบอกเสียงของคนกลุ่มน้อย และป้องกันการผูกขาดเสียงข้างมากในระบบรัฐสภา แต่ทั้งนี้ สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและควรลดขนาดลง อาจให้เหลือเพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น
ขอส่งเสียงไปยังนักการเมือง และ ผู้มีพลังชี้นำความคิดทั้งหลายว่า
จะเริ่มรณรงค์เรื่องอะไร ขอให้คิดให้รอบด้าน และไม่ควรเสนอประเด็นสุดโต่งทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นไปได้ยาก หากเร่งรีบ ไม่พิจารณาให้รอบคอบ และไม่สามารถสร้างแนวร่วมในสังคมได้ รบ 100 ครั้ง ก็แพ้ 110 ครั้ง (อีก 10 ครั้ง โดนฝั่งเดียวกันถล่ม)
ถ้าไม่ถูกใจ เชิญทัวร์ลงได้ค่ะ แต่ขอเก็บค่าที่จอดรถในอัตราดังนี้
รถทัวร์ 100 บาท/ คัน
รถตู้ 50 บาท/ คัน
รถยนต์ 10 บาท/ คัน
มอเตอร์ไซค์ และ จักรยาน ฟรี
...
Pipob Udomittipong
7h ·

ผมเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เคยเขียนไปแล้วด้วยว่าเหมือนกรณี #ชิลี เขาทนอยู่กับรัฐธรรมนูญเผด็จการของนายพลปิโนเชต์มา 40 ปี แก้เป็นรายมาตราไปหลายครั้งแล้ว แต่แก้แล้วไม่สุด มันเขียนหมกเม็ดให้แก้ยากมา ๆ
สุดท้ายเรียกร้องให้ทำประชามติใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คำถามง่าย ๆ ข้อ (1) ควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ (2) ผู้ใดควรเป็นผู้ยกร่าง ให้สส.ช่วยร่าง หรือจะเลือกใหม่ทั้งหมด คนชิลีเลือกอย่างหลัง สสร.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด ร่างเสร็จก็ต้องมาลงประชามติใหม่อีกว่าจะรับรองหรือไม่
มันดูเหมือนช้า แต่มันชัดเจน ฝ่ายโน้นจะไม่มีวันอ้าง 16 ล้านเสียงได้อีกเลย

Pipob Udomittipong

ทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เหมือน #ชิลี มันดูเหมือนช้า แต่มันชัดเจน ฝ่ายโน้นจะไม่มีวันอ้าง 16 ล้านเสียงได้อีกเลย https://workpointtoday.com/chile-referrendum/
...
Thanapol Eawsakul
5h ·

เห็นด้วยกับอ.สิริพรรณ ทั้งหมด
ยกเว้นตรงนี้
ไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยมีสภาเดี่ยวไม่ได้
..........................
"สำหรับการยกเลิก สว.นั้น ควรถกเถียงกันจริงจังเมื่อมีโอกาสจัดทำร่าง รธน. ใหม่
ดิฉันชัดเจนว่า ปฏิเสธ สว.แต่งตั้งอย่างสิ้นเชิง แต่หากมีระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมทำให้ได้ตัวแทนหน้าใหม่ ๆ ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ การยังคง สว.ไว้ ก็มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ
เราอาจจะยังต้องการ สว. เพื่อถ่วงดุล ส.ส. และทำงานร่วมกันในการตรวจสอบรัฐบาล ช่วยเป็นกระบอกเสียงของคนกลุ่มน้อย และป้องกันการผูกขาดเสียงข้างมากในระบบรัฐสภา แต่ทั้งนี้ สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและควรลดขนาดลง อาจให้เหลือเพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น"
.....


Atukkit Sawangsuk
7h ·

การคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้กลับไปนับหนึ่งใหม่ แต่นับศูนย์ ปิดทางแก้ไขในระบบ ไม่สามารถกลับสู่ประชาธิปไตยได้ตลอดไป
เป็นการปิดประตูอย่างไม่แยแสใครด้วย ไพบูลย์ นิติตะวัน ซาดิสต์ถึงขั้นเสนอลงมติวาระสาม
ทำให้ภูมิใจไทยลนลาน หนีกระเจิง ด่ากราดศรีธนญชัย สภาโจ๊ก แต่ตัวเองไม่กล้าลงมติ เผ่นหนีไปแถลงจุดยืนที่ฝ่าเท้า
ส่วนประชาธิปัตย์ จำใจต้องกัดฟันโหวต หนีไม่ได้ เพราะใช้ข้ออ้างแก้รัฐธรรมนูญผสมพันธ์ประยุทธ์ แต่ก็โหวตแค่ 30 คน
ไพบูลย์หัวเราะเย้ยหยัน สมน้ำหน้า ดัดจริตปากเก่งกันดีนัก
รู้หรอกว่ายังไงก็ไม่กล้าถอนตัวจากรัฐบาล
:
ถ้าว่าตามศาลรัฐธรรมนูญ การไปลงประชามติก่อน ก็มีพลัง มีความหมาย
ว่าประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนา ไม่เอารัฐธรรมนูญ 60 ต้องการยกเลิก ต้องการฉบับใหม่
แต่หลังจากนั้นก็เป็นสุญญากาศ ไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินต่ออย่างไร
รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเลย กำหนดให้มี สสร.
หรือต้องกลับมาแก้ 256 ตั้ง สสร. ต้องได้ความเห็นชอบ 84 ส.ว. แล้วทำประชามติอีกที
ร่างเสร็จทำประชามติอีกที กลายเป็นทำประชามติ 3 ครั้ง
ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญอีก? อาจยักท่าไม่ตอบก็ได้ ปล่อยให้ทำไป แล้วไพบูลย์ สมชาย ค่อยยื่นศาลขวาง
:
จะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ล่าชื่อไล่ 250 ส.ว. อย่างธนาธร-ปิยบุตรว่า
ท้ายที่สุดก็ต้องม็อบ ม็อบใหญ่โตมโหฬาร ถึงจะกดดันพวกหน้าด้านได้
จะเอาพลังมาจากไหน คนไทยไม่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง
คิดว่าสู้ไปก็เท่านั้น ติดคุกตะราง ลงทะเบียนคนละครึ่งเราชนะเรารักกันดีกว่า
เศรษฐกิจพินาศ อดตาย ล้มละลาย ก็โทษตัวเองโทษดวงชะตา ไม่ได้คิดจะออกมาเปลี่ยนแปลงอะไร
:
เราอยู่ใต้อำนาจซาดิสต์ ที่ไม่เคยคิดจะผ่อนคลาย
ทั้งที่ปล่อยให้แก้รัฐธรรมนูญไป ก็คุมอำนาจได้ ซื้อเวลาให้ประยุทธ์ เปลี่ยนอะไรไม่ได้มาก ทำไมไม่ปล่อย
เพราะเขาต้องการให้ประชาชนยอมรับสภาพหมดหนทางสู้
จำยอมอยู่ใต้อำนาจจนเคยชิน
แล้วจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องแยแสใคร ทุกคนกลัว ทุกคนปิดปาก
ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเองให้คนยอมรับนับถือ
แต่ใช้การบังคับ ใช้ความกลัว ทุกคนต้องศิโรราบไม่งั้นติดคุก
:
ภายใต้ระบอบอำนาจนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่แก้ไม่ได้
อีก 2 ปีเลือกตั้งใหม่หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่
พรรคพลังประชารัฐก็จะชนะถล่มทลาย ชนะทั้งฝ่ายค้าน ทั้งประชาธิปัตย์
เพราะมันจะกวาดนักการเมือง "บ้านใหญ่" เข้าไปอยู่ใต้กลไกที่มีทั้งเงิน มีทั้งกฎหมาย และอำนาจรัฐ นโยบายแจกสะบัด
บังคับให้อยู่ในทางตัน ทั้งด้วยรัฐธรรมนูญ ศาล องค์กรอิสระ
เลือกตั้งก็ไม่มีทางชนะ
:
อำนาจที่บังคับให้คนไม่มีความหวัง ไม่มีทางสู้ มีแต่ต้องยอมจำนน
มันดูใหญ่โตมหึมาแต่ก็ล่อแหลม สร้างความขัดแย้งไปทั่ว
อยู่ได้ด้วยปืนด้วยทหารตำรวจด้วยความอยุติธรรม
แต่วันไหนถ้าพังก็ลามหมดทั้งโครงสร้างเป็นโดมิโน