Pipop Udorn
19h ·
อย่าเห็นเด็กเป็นศัตรู
จู่ๆเมื่อเช้าก็คิดถึงเรื่องเล่าที่พี่เดช บุลสุขที่ผมเคารพรักผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยเล่าให้ฟังสมัยที่ท่านเป็นกรรมการประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี พี่เดชซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์ในไทยเป็นคนมีความสามารถรอบด้านไม่ว่าจะเป็นการจัดการธุรกิจ บริหารคน เล่นดนตรี แต่งเพลง แต่งให้ธรรมศาสตร์ก็หลายเพลง ที่สำคัญท่านมักมีเรื่องเล่าที่ให้ข้อคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ฟังเสมอๆ
วันหนึ่งระหว่างการประชุม ท่านเล่าให้ฟังถึงเจ้าของบ้านคนหนึ่งซึ่งหงุดหงิดมากกับการที่มีเด็กคนหนึ่งเข้ามาขโมยแอปเปิ้ลในสวนหลังบ้านทุกวัน ไปวันละลูก พยายามจับเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ วันหนึ่งเจ้าของบ้านตัดสินใจนำป้ายไปติดไว้ที่สวนว่า “ในสวนนี้ มีแอปปิ้ลลูกหนึ่งที่มียาพิษ (One of the apples is poisonous)” ผมฟังแล้วก็คิดตามไปว่า ไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านฉีดยาพิษไว้จริงไหม ฉีดที่ลูกไหน แต่ป้ายนี้น่าจะทำให้เด็กกลัว เพราะไม่รู้ว่าลูกไหนที่มียาพิษ ขืนขโมยไปกินก็อาจโดนยาพิษตายได้ แล้วเด็กจะทำยังไงต่อไป เจ้าของบ้านเข้านอนคืนนั้นด้วยความสบายใจ
ตื่นเช้าขึ้นมา เจ้าของบ้านเข้าไปในสวนเพื่อสำรวจแอปเปิ้ล แล้วก็พบว่ามีข้อความเพิ่มเติมต่อท้ายป้ายที่ติดไว้ว่า “ตอนนี้มีสองลูกแล้วจ้ะ (Now there are two)”
ผมฟังแล้วก็อ้าปากค้างกับตอนจบของเรื่องนี้ที่คาดไม่ถึง เป็นอันว่าผลลัพธ์ที่เจ้าของบ้านคาดหวังจะจัดการกับเด็กย้อนกลับมาหาตัวเอง และเกิดผลเสียหนักยิ่งกว่า เพราะไม่มีทางรู้เลยว่ามียาพิษอยู่จริงไหม ที่แอปเปิ้ลลูกไหนในสวน ทำให้เจ้าของบ้านไม่กล้ากินเลยแม้แต่ลูกเดียว พูดง่าย ๆ คือเท่ากับจะต้องเสียแอปเปิ้ลไปทั้งสวนนั่นเอง
พี่เดชให้ข้อคิดว่า แอปเปิ้ลในสวนมีเยอแยะ ร่วงทิ้งไปวันนึงก็ตั้งหลายลูก แทนที่จะมัวหาทางไล่จับเด็ก ถ้าเจ้าของบ้านเปลี่ยนวิธีเป็นหาทางคุยกับเด็กก็จะรู้ว่า เด็กยากจนไม่มีหนทาง จึงมาขโมยแอปเปิ้ลไปเพื่อให้แม่ที่ป่วยได้ทานวันละลูก เมื่อรู้แล้วเจ้าของบ้านก็สามารถแสดงน้ำใจว่า ไม่ต้องมาขโมยหรอก ให้มาเก็บไปได้วันละสองลูก ให้แม่ลูกนึง ให้เด็กอีกลูกนึง ซึ่งด้วยความเมตตากรุณาที่มีให้ทั้งเด็กและแม่ เจ้าของบ้านก็จะได้เด็กเป็นเพื่อนช่วยดูแลสวนให้ หรือมาช่วยงานอื่นๆได้ด้วย การแก้ปัญหาโดยการผลักเด็กให้กลายไปเป็นศัตรู นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเล็กของเดิมแล้ว กลับสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่า สร้างความเสียหายมากกว่าเดิม พี่เดชสรุปตอนท้ายว่า "ศัตรูแม้มีคนเดียว ก็มากเกินไปแล้ว"
มาถึงวันนี้อาจมีหลายคนที่คิดว่ามีเทคโนโลยีและวิธีการมากมายที่จะใช้ในการจัดการกับเด็กขโมยได้ไม่ยาก แต่จับเด็กคนนี้ไปก็อาจจะมีเด็กคนใหม่มา จะลงทุนกับการป้องกันขโมยหรือจะแบ่งปันเพื่อสร้างรั้วไมตรี แล้วจะมีวิธีการใดที่ดีไปกว่าการเปลี่ยนให้เด็กที่อยู่ฝั่งตรงข้าม มาอยู่ฝั่งเดียวกันกับเรา เปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตร เปลี่ยนการใช้สติปัญญาความสามารถ และกำลังวังชาของเด็กหนุ่มสาวที่ใช้ในการขโมย ให้มาเป็นประโยชน์กับการดูแลสวนแอปเปิ้ลที่จะเป็นที่กินอยู่ที่ยั่งยืนให้กับเจ้าของบ้าน และคนอื่นๆในชุมชนต่อไป
หลักที่พึงปฏิบัติกับเด็กที่กระทำความผิด จึงต้องเริ่มต้นโดยมี “เมตตา” เป็นพื้นฐาน เมื่อเจ้าของบ้านไม่ยึดติดแต่กับมุมมองของตัวเองว่าเด็กเลว จ้องแต่ขโมย แต่อยากเห็นเด็กมีความสุขโดยไม่ต้องมาขโมย ก็จะพยายามพูดคุย จนเข้าใจเงื่อนไขแม่ป่วย และมุมมองที่ไม่เห็นทางออกอื่นของเด็ก แล้วใช้ “กรุณา” เป็นหนทาง คือเมื่อเข้าใจว่าเด็กเป็นทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้ทุกข์ เห็นเด็กใช้วิธีการที่ผิดก็ช่วยแนะนำ ยื่นมือช่วยเหลือ หาทางออกให้ ช่วยทั้งแม่และเด็ก ซึ่งต้องทำไปด้วย “มุทิตา” คือ มีความยินดีที่จะเห็นว่าการแก้ปัญหาทำให้เด็กมีความสุข ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาโดยใช้โทสะ ไม่ใช่ด้วยอาฆาตพยาบาท มุ่งลงโทษให้สาแก่ใจ สิ่งเหล่านั้นมีแต่เผาใจเจ้าของบ้านให้ร้อนรน สร้างศัตรู ไม่สร้างมิตร ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สุดท้ายเจ้าของบ้านก็ต้องแก้ปัญหาโดยมี “อุเบกขา” ซึ่งคนมักเข้าใจผิดไปว่า คือการวางเฉย ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไร แต่แท้จริงแล้ว อุเบกขาคือ การวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยรัก หรือชัง ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กคนนี้เราโอเคพูดคุย ให้แอปเปิ้ล เด็กอีกคนแจ้งตำรวจจับ เมื่อวางใจเป็นกลาง การดำเนินการในเรื่องใด ๆ ก็จะเป็นไปโดยเสมอภาค โดยยุติธรรม แต่ต้องมี และต้องทำให้ครบถ้วนทั้ง 4 องค์ประกอบ
อ่านมาถึงตรงนี้ท่านก็คงเข้าใจดีว่าผมกำลังพูดถึง “พรหมวิหาร 4” อันเป็นธรรมประจำใจของพรหม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับผู้เป็นใหญ่ เป็นธรรมที่ใช้เป็นหลักใจในการทำงานของผู้ที่ต้องปกครองคน เป็นหลักประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์อันทำให้ผู้ปกครองเป็นที่สรรเสริญว่าดำรงตนโดยชอบแล้ว