คลิป สรุปการอภิปราย #พรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลและงบทหารฯ— Piyabutr Saengkanokkul (@Piyabutr_FWP) October 17, 2019
"ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ครับ"
ชม! การอภิปรายเต็มๆ : https://t.co/QNVgdWYp2t#อนาคตใหม่ #ประชุมสภา pic.twitter.com/wEaYHN2115
เชิญอ่านคำอภิปราย “ไม่เห็นด้วย” พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลและงบ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล
17 October 2019
พรรคอนาคตใหม่
เชิญอ่านการอภิปรายฉบับเต็มของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ต่อพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๒
(คลิปวิดิโออยู่ท้ายบทความ)
…
“เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่
ผมจำเป็นต้องขอใช้เวลาของที่ประชุมแห่งนี้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับพระราชกำหนดฉบับนี้
ผมยืนยันว่าการอภิปรายของผมจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนสมาชิกและประชาชน
และเมื่อทุกท่านได้ฟังจนจบ ท่านจะทราบว่านี่คือการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา
คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา 30 กันยายน 2562 และมีผลใช้บังคับในวันถัดจากประกาศดังกล่าว คือวันที่ 1 ตุลาคม 2562
ใจความสำคัญของพระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของ กองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนดให้ไปเป็นของหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการในพระองค์
เมื่อสักครู่นี้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทนของคณะรัฐมนตรี ได้ชี้แจงความจำเป็นของการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ ผมมีประเด็นในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องอธิบายกันสักเล็กน้อย
พระราชกำหนดคืออะไร?
พระราชกำหนดคือกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจในการตราและใช้ไปพลางก่อน ให้มีผลดั่งเช่นพระราชบัญญัติ แล้วหลังจากนั้นจึงให้รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบรับรองเพื่อให้พระราชกำหนดนั้นมีผลได้ต่อไป
การตราพระราชกำหนดจึงเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญ ยอมให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในการออกกฎหมายหรือที่ผมเรียกว่า “ออกไปก่อน ใช้ไปก่อน แล้วจึงจะให้รัฐสภารับรองในภายหลัง”
นี่เป็นข้อยกเว้นตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพื่อมิให้ฝ่ายบริหารใช้ข้อยกเว้นนี้อย่างฟุ่มเฟือย พร่ำเพรื่อ จนนานวันเข้า จากข้อยกเว้นจะกลายเป็นเรื่องทั่วไป จนนานวันเข้าฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจตาม มาตราในรัฐธรรมนูญนี้ แทนฝ่ายนิติบัญญัติเสียเอง เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา
ดังนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดเอาไว้ เพื่อป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในส่วนนี้อย่างเกินขอบเขต
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 172 ในวรรคแรก การที่คณะรัฐมนตรีจะถวายคำแนะนำเพื่อให้มีการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องเป็นไปด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดใน 4 เหตุ ดังต่อไปนี้
- เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ
- เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ
- เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
- เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
นอกจากเหตุเหล่านี้แล้ว ในมาตรา 172 วรรค 2 ยังกำหนดอีกว่า การตราพระราชกำหนดตามวรรคแรก ให้กระทำเฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า “เป็นกรณีฉุกเฉิน” ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
เมื่อคณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดขึ้นมาแล้ว รัฐธรรมนูญก็บอกไว้ว่า
ถ้ามีการประชุมสภาสามัญก็ต้องรีบนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นญัตติด่วน
ถ้าไม่มีแล้วมีการเปิดวิสามัญเช่นวันนี้ เราก็ต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นญัตติด่วน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
นอกจากนั้นยังมีช่องทางที่ 2 ที่สภาผู้แทนราษฎรอาจจะเข้ามาตรวจสอบพระราชกำหนดได้ นั่นก็คือ สมาชิกเข้าชื่อกัน ประมาณ 100 คนขึ้นไป หรือ 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีอยู่ 2 ช่องทางหลักๆ ที่จะใช้ในการตรวจสอบการตราพระราชกำหนด 2 ช่องทางนี้
โดยรายละเอียดแล้ว แตกต่างกัน ข่องทางที่สมาชิกจะเข้าชื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือ การตรวจสอบทางกฎหมายว่า พระราชกำหนดนี้ตราขึ้นมาโดยเข้า 4 เหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้วหรือไม่
แต่ในวรรคที่ 2 ที่ระบุว่า กรณีที่จะตราได้นั้นจะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ท่อนนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบ เพราะมันเป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรเองก็มีอำนาจถ่วงดุลกับคณะรัฐมนตรีในส่วนนี้ ด้วยการที่เราประชุมกันเช่นในวันนี้ ที่ผมยืนอภิปราย นี่คือช่องทางในการตรวจสอบทางการเมืองที่สภาผู้แทนราษฎรมีต่อคณะรัฐมนตรี
ผมต้องกล่าวย้ำตรงนี้เพื่อให้ทางรัฐมนตรี ทางคณะรัฐมนตรี และทางเพื่อนสมาชิกทุกท่านได้เข้าใจตรงกัน สิ่งที่ผมอภิปราย และที่พวกเราจะลงมติกันต่อไป นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรีตามระบบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นี่คือกระบวนการออกกฎหมาย นี่คือการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
คณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ถวายคำแนะนำและเป็นผู้รับผิดชอบการตราพระราชกำหนด พระราชกำหนดฉบับนี้ลงนามสนองพระบรมราชโองการโดยใคร?
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ดังนั้นสิ่งที่ผมอภิปรายไปทั้งหมดคือการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี การตรวจสอบการใช้อำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการนั่นเอง
ตัวอย่างการตราพระราชกำหนดในอดีต
ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยก็มีการใช้ช่องทางการตราพระราชกำหนด
สมัยรัฐบาลของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 2 สมัย 5 ปีเศษๆ ออกพระราชกำหนดทั้งสิ้น 12 ฉบับ
สมัยรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2 ปี 8 เดือนเศษๆ ออกพระราชกำหนดไป 3 ฉบับ
สมัยรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 ปี 9 เดือน ออกพระราชกำหนดไป 7 ฉบับ
แต่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ท่านเข้ารับหน้าที่วันที่ 16 กรกฎาคม หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ จนกระทั่งถึงวันนี้ 3 เดือน ท่านตราพระราชกำหนดไปแล้ว 2 ฉบับ และทั้ง 2 ฉบับนี้ก็มีประเด็นปัญหาว่าเป็นพระราชกำหนดที่เข้าเงื่อนไขตาม มาตรา 172 หรือไม่ ?
ฉบับแรก พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองสถาบันครอบครัว พวกเราเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว และระหว่างนี้กำลังรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีมาอีก 1 ฉบับ คือที่เราพูดคุยกันในวันนี้
เหตุผลในการตราพระราชกำหนด
เราลองมาพิจารณาถึงเหตุผลในการตราพระราชกำหนด
เมื่อสักครู่ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อภิปรายถึงเหตุผลในการตราในเหตุผลท้ายพระราชกำหนดฉบับนี้ เขียนไว้ดังนี้
“เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขา และถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ องค์ราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัย และพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้”
จากเหตุผลท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวที่ผมอ่านไปเมื่อสักครู่ นั่นก็เท่ากับว่า คณะรัฐมนตรีอ้างเหตุเรื่องความปลอดภัยของประเทศและยืนยันว่า นี่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในเรื่องความปลอดภัยของประเทศ ถูกต้องที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันของชาติ พระองค์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรแห่งประเทศไทย การถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ส่วนนี้ไม่น่ามีปัญหา เป็นเรื่องความปลอดภัยของประเทศ
ทว่าประเด็นที่เป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่า “กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้” คำว่า “ฉุกเฉิน” คืออะไร? ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า “ฉุกเฉิน” เอาไว้ว่า “ที่เป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วนและต้องรีบแก้ไขโดยพลัน” คำว่า จำเป็นโดยรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หมายถึงอะไร? หมายถึง ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำ จะเกิดผลร้ายแรงตามมา จึงเร่งด่วนหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนด ยืนยันว่า พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์เกี่ยวกับการถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ และรักษาความปลอดภัย นี่คือวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
ปัญหาคือว่า ถ้าหากคณะรัฐมนตรียืนยันว่า การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้นั้น
คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริงให้สภาแห่งนี้ทราบว่า ณ วันที่ท่านออกพระราชกำหนดฉบับนี้ มีเรื่องอะไรที่กระทบต่อการถวายอารักขา การถวายพระเกียรติ และรักษาความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องฉุกเฉินทันทีทันใด มีเหตุใดที่ทำให้จำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้นมาทันที หากไม่ตราจะเกิดผลกระทบร้ายแรงตามอย่างไร
ปรากฏว่า ท่านไม่มีการชี้แจงใดๆ เลย คณะรัฐมนตรีไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงเหล่านี้อีกเลย เมื่อสักครู่นี้ ผมก็ตั้งใจจะมาฟัง ท่านรัฐมนตรีก็ไม่ได้ชี้แจงอีก ท่านอ่านตามเหตผลท้ายพระราชกำหนดเท่านั้น
นี่คือภารกิจของกระทรวงกลาโหมมิใช่หรือ?
ผมขอเท้าความกลับไปเล็กน้อย ตามพระราชบัญญัติการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 แก้ไขล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 8 วงเล็บ 2 ยืนยันไว้ว่า กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ พิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมก็คือ ทุกๆ เหล่าทัพ
ดังนั้นจากกฎหมายฉบับนี้เอง จึงยืนยันอยู่แล้วว่า กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดการเรื่องพิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์
นี่เป็นภารกิจหน้าที่ที่ท่านมีอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติ ยังมิพักต้องกล่าวถึง การที่รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ด้วย ลองเปิดอ่านดูได้เกี่ยวกับเรื่องการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีของท่านเมื่อตอนแถลงนโยบาย นโยบายข้อที่ 1 ของท่าน ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดเลย คือ เรื่องการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเทิดทูน การชูพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังต้องกล่าวถึงว่านายทหารทั้งหลายถวายสัตย์ปฏิญาณไว้เช่นไร ท่านผ่านพระราชพิธีต่างๆ เหล่านี้มาหมดแล้วทั้งสิ้น
พอกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ท่านสามารถสั่งการในส่วนต่างๆ ในราชการสังกัดของท่านได้ ท่านลองดูรัฐบาลชุดอื่นๆ เขาทำกัน
ทำไมจึงไม่ตราเป็นพระราชบัญญัติ?
หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์กลายเป็นนิติบุคคล มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม ก็ตอนมีการแก้ไข พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการแก้ไขกฎหมายตอนนั้น สังเกตให้ดีว่า ทำเป็นพระราชบัญญัติกำหนดให้มีหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยส่วนพระองค์ มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม
ต่อมาในปี 2560 ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ในสมัยรัฐบาลของท่านประยุทธ์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นี่ก็ทำเป็นพระราชบัญญัติอีกเช่นเดียวกัน
ต่อไป หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ได้โอนย้ายไปสังกัดส่วนพระองค์ ก็ทำโดยการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมในปี 2560 ทำเป็นพระราชบัญญัติอีกเช่นเดียวกัน
ในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ยังไม่นับรวมถึงสภาแห่งนี้ 2 พระราชบัญญัติแรกซึ่งเป็นเกียรติเป็นศรีแก่สภาของเรา คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญตราของรัชสมัยนี้ 2 ฉบับ ก็เห็นได้ว่าเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน
โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญกำเริบ
ผมคิดว่าประเด็นนี้สะท้อนถึงปัญหาในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงจะคุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษตาม มาตรา 44 ที่ใช้มาเป็นเวลา 5 ปีเศษ
ประเภทเปิดปุ๊บแล้วติดปั๊บทันที ตลอด 5 ปีที่ครองอำนาจใน คสช. มานี้ มีหลายกรณีที่ท่านออกประกาศคำสั่งจำนวนมากแล้วมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
กล่าวคือ ออกมาตรา 44 มาแล้วผิดพลาด ท่านก็กลับออก มาตรา 44 ไปแก้ซ้ำอีก มีกรณีเช่นนี้อีกหลายครั้งหลายหน บางกรณีออก ไม่กี่วันเลิก
วันนี้เราเข้าสู่ระบบปกติแล้ว เราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เต็มรูปแบบแล้ว เรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ท่านไม่มีมาตรา 44 เป็นมนตร์วิเศษอยู่ในมืออีกต่อไปแล้ว
ประเภทที่ว่าสั่งอะไรแล้วไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีแล้ว และที่สำคัญท่านมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนแล้ว
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องไม่ลืมว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีจึงต้องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และระมัดระวังรอบคอบกว่าเดิม มิใช่อยากจำทำอะไรก็ทำ
ผมเห็นว่าการตราพระราชกำหนดนี้ เป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญยอมให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรี จึงต้องทำโดยจำกัดอย่างเคร่งครัด ตามเงื่อนไขที่มาตรา 172 กำหนด
พลเอกประยุทธ์ จะเคยชินจะใช้ช่องทางตามมาตรา 172 เหมือนกับมีอำนาจตาม มาตรา 44 ไม่ได้
ส่วนนี้สำคัญอย่างยิ่ง หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปก็เท่ากับว่าเรากำลังสนับสนุนการใช้อำนาจของ พลเอกประยุทธ์ที่ยืนยันว่า อะไรๆ ก็จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จรวดเร็วเด็ดขาดอยู่เสมอมา
หากเราไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เราก็จะช่วยให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจด้วย
ตรงกันข้าม หากเราปล่อยผ่านไปจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ นายกรัฐมนตรีอยากได้กฎหมายอะไร ขี้เกียจรอสภา ไม่อยากมาชี้แจงต่อสภา ก็ใช้อำนาจตราพระราชกำหนด นานวันเข้าการออกพระราชกำหนดก็จะกลายสภาพเป็น มาตรา 44 จำแลง เรื่องนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
ทั้งกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตาม มาตรา 161
ทั้งการแถลงนโยบายโดยไม่แจกแจงที่มาของรายได้ตาม มาตรา 162
ทั้งการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการคุ้มครองและพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562
จนกระทั่งมาถึงการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ซึ่งไม่เป็นไปตามเงือนไขที่กำหนดไว้ใน มาตรา 172
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอดีตที่ผ่านมา ท่านได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญมาโดยเสมอ
จนถึงวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรของเรา เราจะยินยอมให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกต่อไปอย่างนั้นหรือ?
ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องติดๆ กันดังที่ผมเรียนไป 3-4 เรื่องล่าสุดนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจน นี่คือการแสดงอาการของโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ของพลเอกประยุทธ์ นั่นเอง
ทบทวนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาของคำวินิจฉัยนั้นก็ยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”
หนังสือหลายเล่มของนักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายท่านก็อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย ก็เขียนเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า ระบอบนี้คือ ระบอบที่พระมหากษัตริย์ “ทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” รัฐมนตรีผู้สนองพระราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
พรรคอนาตใหม่และตัวผมเองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การอภิปรายของผมในวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา
และที่สำคัญที่สุด นี่คือการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การชี้หน้าด่าคนอื่นว่า ไม่จงรักภักดี
การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้พระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด พระราชกำหนดฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172
ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ผมไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ครับ”
...
“อย่างที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่พูดนั้นถูกต้อง รัฐบาลเป็นคนคิด เป็นคนเสนอ และรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้น ถ้าพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ รัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ ต้องลาออก หรือยุบสภา” นายวิษณุ กล่าวhttps://t.co/lSrI04wPRT— Frequency (@HS2_QRK5_s9) October 17, 2019