วันพุธ, ตุลาคม 09, 2562

เริ่มแล้วอีกอย่าง คดีความมั่นคงโดย พรบ. คอมพิวเตอร์ อันพัลวันพัลเกกับข้อหา ‘๑๑๒’

คดีความมั่นคงอีกอย่างเริ่มแล้วสำหรับยุค คสช.๒ เรื่องการ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์” อันพัลวันพัลเกกับข้อหา ๑๑๒ ดูได้จากแถลงของกองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเมื่อวานซืน

“มีผู้ไม่หวังดีได้ก่อกระแสข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ (Hashtag) ที่ไม่เหมาะสม...และสร้างความเกลียดชัง...จนอาจทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ” รัฐมนตรีดิจิทัลจึงได้ สั่งการให้ บก.ปอท. ดำเนินการขอหมายจับจากศาล

“ซึ่งข้อความที่โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นประมาณร้อยข้อความ และแชร์ข้อความประมาณ ๕๐ ครั้ง” ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา ๑๔(๓)

อัตราโทษสูงสุดจำคุก ๕ ปี ปรับ ๑ แสนบาท โดยแถลงเดียวกันบอกด้วยว่า ใครที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความดังกล่าวเหล่านั้น ก็จะมีความผิดด้วยตามมาตรา ๑๔(๕) ระวางโทษเท่ากัน

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์สองฉบับรายงานตรงกันว่า การจับกุมครั้งนี้ต่อเนื่องจากการที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ได้ประกาศว่าจะทำการกวาดล้าง อาชญากรรมดิจิทัลขนานใหญ่ที่เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

แล้วเมื่อวานนี้ (๘ ตุลา) มีแถลงแจงเพิ่มเติมว่า ศูนย์เฟคนิวส์ ของกระทรวงดิจิทัลเอาจริงนะ ถ้ามีใครแจ้งเบาะแสข่าวปลอมละก็จะตรวจสอบได้ภายในสองชั่วโมง ทั่นรัฐมนตรียังแจ้งฝากร้านค้าร้านกาแฟต่างๆ ที่ให้บริการฟรีอินเตอร์เน็ต

ว่าจักต้องเก็บข้อมูล “การจราจรทางอินเตอร์เน็ตของผู้ลงทะเบียนใช้ไวไฟของร้านเป็นเวลา ๙๐ วัน” เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจเมื่อต้องการด้วย ไหมล่ะ ไชน่าโมเดลก็มาเหมือนกัน

ทั้งนี้ทั่นชี้  “อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๒๖ ซึ่ง ดีอีเอสได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ปอท.แล้ว และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย”

 
มีข้อสังเกตุว่าทำไมคดีนี้ไม่ใช้ ม.๑๑๒ ฟ้อง ทั้งที่ข้อกล่าวหาเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ สันนิษฐานว่าน่าจะเพราะอ้างไม่ได้ชัดเจนว่าเจาะจงกระทำต่อสถาบันกษัตริย์ไทย โดยโพสต์ดังกล่าวของผู้ต้องหากล่าวถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี เท่านั้น

แม้ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “อยากให้มันจบอย่างไร” ยกตัวอย่าง “ยิงแบบรัสเซีย...กิโยตินอย่างฝรั่งเศส...หรือลี้ภัยแบบเยอรมัน” ดูเหมือนความผิดที่ถูกกล่าวหาอยู่ที่ มีคนเข้าไปไล้ค์และแชร์มากมาย ซ้ำมีการเพิ่มเติมภาพเกี่ยวกับ #ขบวนเสด็จ ที่ติดเทร็นด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งเมื่อสองสามวันก่อน

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของผู้ต้องหา (กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์) ชี้แจงว่า เมื่อเจ้าตัวเห็นว่าโพสต์ของตนไปกันใหญ่ มีการบิดเบือนเนื้อความ และ “บางส่วนเป็นการ ล่าแม่มดด้วย” จึงได้ลบโพสต์ทิ้งแล้วค่อยเปิดใหม่ (ตามรายงานของ ข่าวสดอิงลิช)

หลังจากที่กาณฑ์ถูกควบคุมตัวที่กองกำกับการตำรวจดิจิทัล และถูกแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวเมื่อบ่ายวานนี้ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามโพสต์ข้อความในลักษณะคล้ายกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก

แม้รัฐมนตรีดิจิทัลจะไม่ยอมรับว่าการจับกุมนี้เกี่ยวกับแฮ้สแท็ก #ขบวนเสด็จ ก็ยืนยันว่าการโพสต์ดังกล่าวเป็นความผิด “ที่รับไม่ได้” (ข่าวรอยเตอร์ซึ่งตีพิมพ์โดยบางกอกโพสต์รายงาน) น่าจะเพราะ แฮ้สแท็กเจ้าปัญหานั่น
 
ลงภาพรถติดบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีบรรยายว่ารถพยาบาลถูกสั่งให้จอดรอ ห้ามเปิดไฟกะพริบและสัญญานไซเร็น โดยโพสต์ของ Andrew MacGregor Marshall (ซึ่งเจ้าตัวโปรโมตเพจด้วยแฮ้สแท็ก ฝรั่งถ่อย)

เขาชี้แนะ “เราไม่รู้นะขบวนของใครที่ทำให้การจราจรติดขัดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม แต่ไม่ใช่คิงวชิราลงกรณ์แน่ เพราะยังทรงประทับอยู่ที่เยอรมนี...”

อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีพุทธิพงษ์ไม่วายย้ำเตือนว่า “การจับกุมครั้งนี้เป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ควรคิดให้ดีก่อนโพสต์อะไร เพราะจะกลายเป็นความผิดอาญาได้” จะเรียกว่าเชือดหมูให้ฟายดู คงไม่มีใครเถียง

ซ้ำร้ายสามารถจับเอาผิดได้ ง่ายๆเสียด้วย ดังคอมเม้นต์ของ @PK_noithi ที่ว่า 

“จริงๆ คือถ้าดูตามพรบ. คอมแล้ว ต้องถามทำยังไงถึงจะไม่ผิดดีกว่า เพราะเขียนไว้กว้างเหลือเกินครับ (แค่คำว่า น่าจะ นี่ก็ไปได้ยาวๆ)”