ไม่ว่าจะเป็น ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์
ในฐานะเพื่อนซี้ หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล สายกองหนุน ที่ออกมาให้ท้าย ผบ.ทบ.
ต่อการที่ ‘แดงหย่าย’ บรรยายจวกทั้งนักวิชาการและฝ่ายซ้าย
‘ดัดจริต’ คิดแก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๑
เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้
ไม่นับ ‘แรมโบ้อีสาน’
ที่ฉวยโอกาสยกหางนาย สร้างค่ากำหนดราคาตนเองเผื่อจะยกระดับจาก ‘ขี้ครอก’ ขึ้นไปเป็นลิ่วล้อได้บ้าง
คนเหล่านี้ต้องฟังปิยบุตร แสงกนกกุล ‘rebuttal’ โต้กลับ
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จึงจะแตกฉานหลักการเมือง ‘ประชาธิปไตย’ ได้บ้าง
ในที่นี้ขอนำรายงานการบรรยายของเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
ซึ่ง หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยกรุณาถอดความออกมาตีแผ่ต่อสาธารณชนอย่างละเอียด มาฉายซ้ำอย่างกำชับ
เท่าที่ผู้เขียนความเห็นนี้นี้ประทับใจ
เรื่องแรกเกี่ยวกับมาตรา ๑ รัฐธรรมนูญ
ที่ดูเหมือนพวกสืบทอดอำนาจติดใจกันนัก โดยเฉพาะ ศรีสุวรรณ จรรยา ถึงขนาดจะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ทำให้เสื่อมเสียสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน
อ้างว่าเพจ ‘Chinese Embassy in
Bangkok’ ยังตั้งข้อสังเหตุภาพที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถ่ายคู่ โจชัว
หว่อง แสดงว่า “มีการติดต่อกับกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีน โดยมีท่าทีเชิงสนับสนุน...”
นั้น
แม้ธนาธรจะระบุว่าพบกันเพียง ๕ นาฑี ศรีสุวรรณก็ยังตั้งท่าสงสัย
“เป็นการกระทำที่ผิดอย่างร้ายแรงและไร้ความรับผิดชอบ”
ตามที่เพจสถานทูตจีนกล่าวหาอยู่ดี
ปิยบุตรแนะให้ ผบ.ทบ.และใครๆ
ที่ออกมาประกาศห้ามแตะมาตรา ๑ นั้น กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญเสียใหม่
อย่าเอาแต่ความรู้สึกส่วนตัวมาผูกเงื่อนให้เป็นปัญหา
“เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา
๒๕๕ และ ๒๕๖ (๘) ซึ่งระบุไว้ว่าถ้าจะแก้ไขหมวด
๑ ต้องผ่านประชามติ” ในฐานะนักกฎหมายมหาชน ปิยบุตรจึงยันว่า
มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญแก้ได้
เพียงแต่มีข้อจำกัด จะทำไม่ได้ต่อเมื่อเป็นการ “เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจากราชอาณาจักรไป
และเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจากความเป็นรัฐเดี่ยว”
ปิยบุตรย้ำด้วยว่าที่ผ่านมา “ฝ่ายค้านได้ประกาศหลายครั้งในที่สาธารณะ
ว่าไม่แตะต้องหมวด ๑ และหมวด ๒ประเด็นที่ ผบ.ทบ. หยิบมาพูดจึงเป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญ
‘ผิด’ ทั้งหมด” ดังนั้น “ผบ.ทบ.
ต้องไม่นำความเข้าใจผิดของท่านเอง ความรู้สึก ความเชื่อของท่านเอง
มาทำลายขบวนการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
เขายังเจาะจงเลคเชอร์วิชารัฐธรรมนูญ คสช.
๒.๐ ให้ ผบ.ทบ.และสายเกาะหางได้ซึมซับว่า “โลกยุคปัจจุบันต้องถอดรื้ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ออกจากองค์ประธาน
แล้วสร้างอำนาจสูงสุดใหม่คือประชาชน” ประชาชนคือผู้สร้างชาติ
ทั้งนี้เขาขยายความการสร้างชาติว่าต้องประกอบด้วยคุณค่าพื้นฐาน
(ใหม่) ๔ ประการ “ประกอบด้วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์,
สิทธิมนุษยชน, การพึ่งพาช่วยเหลือกันฉันมิตรอย่างเพื่อนร่วมชาติ
และเคารพความแตกต่างหลากหลาย”
“ดังนั้นอยากให้คิดให้ดีว่าเรื่องแบบนี้
เรื่องสำคัญแบบนี้ คนมีที่ปากกา มีมือ มีปาก มีความคิด กับคนที่มีอาวุธ
ใครกันแน่ที่ละเมิดมาตรา ๑” ปิยบุตรกล่าวถึงกรณี ผบ.ทบ.สวมเครื่องแบบไปบรรยายสับแหลกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร
นั่นคือการเล่นการเมืองเต็มตัว
คือเป็น ไฮบริด (ลูกผสม) แบบนี้
บอกไม่ยุ่งการเมือง แต่ตบเท้าแสดงความเห็นการเมืองได้บ่อย ๆ
ในอนาคตก็จะสร้างปัญหาได้” มิหนำซ้ำปัจจุบันมีการยึดอำนาจแบบใหม่ เปลี่ยนจาก Warfare
เป็น Lawfare “หรือใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าจัดการ”
เป็นการ “ยึดอำนาจด้วยกฎหมาย...เอาประเด็นปัญหาทางการเมืองไปอยู่ในมือของศาล
ปรากฏให้เห็นถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค
อำนาจศาลสูงในการตัดสินคดีคอร์รัปชันของนักการเมือง โดยมาในนามของ Rule of
law (หลักนิติธรรม)”
อีกทั้งถามกลับย้อนเกล็ด ผบ.ทบ. “จะฝากประเทศไว้ในมือคน
๓ กลุ่มหรือ” คือกองทัพที่ “แทรกแซงทางการเมืองได้เสมอ พร้อมรัฐประหารทุกเวลา
และยังติดหล่มอยู่ในยุคสงครามเย็น” และ “สื่อยุยงปลุกปั่นที่เขาเรียกว่า ‘ดาวสยาม 4.0’”
หรือ “รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ
ที่ตอนอำนาจล้นมือยังแก้ปัญหาไม่ได้เลย จะปล่อยให้เข้ามาแก้ไขปัญหา คิดว่าไม่มีทาง”
นักวิชาการกฎหมายที่หันมาทำการเมืองด้วยมือทิ้งท้ายการเลคเชอร์นายทหาร
จากการที่ถูกพาดพิงว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้ายดัดจริต’ ว่า
“การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้มีได้ ๒ แบบคือ ‘ปฏิวัติกับปฏิรูป’
โดยอย่างแรกเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ปราศจากอำนาจ โอกาส
และทรัพยากรที่ลุกขึ้นมาบอกทำไมไม่แบ่งให้เขาบ้าง
“ถ้าคนที่ครองอำนาจเห็นว่าต้องแบ่งปัน ก็จะเกิดการจับมือกันปฏิรูป
แต่ถ้าคนที่ครองอำนาจมัวแต่คิดว่าเป็นผู้ไม่หวังดี มีมาสเตอร์มายด์
ถ้าพวกเขาทนไม่ไหวก็จะเกิดการปฏิวัติ”