งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลจะเข้าสภาในวันที่
๑๗-๑๘ ตุลานี้ ทางฝ่ายค้าน ๗ พรรคนั้นเตรียมอภิปรายอย่างหนักหน่วง เพื่อชี้ว่า ๓.๒
ล้านล้านจะถูกเอาไปถลุงละลายน้ำเหมือนที่ผ่านมา ๔-๕ ปี มิหนำซ้ำเป็นนโยบายขาดดุลเกือบ
๔ แสน ๗ หมื่นล้านบาท
เนื่องจากเป็นการเพิ่มงบฯ แก่ราชสำนักถึง
๑๓% และด้านกลาโหมอีก ๒.๗% นอกเหนือจากงบประมาณจำนวนมากที่สุด กว่า ๕ แสนล้านบาทไปกองอยู่ที่ ‘งบกลาง’ ซึ่งรัฐบาลสามารถเบิกใช้ได้ตามอำเภอใจ
เพียงแค่อ้างว่า ‘จำเป็น’
อีกประเด็นหนึ่งที่ชี้ถึงความไม่น่าพิศมัยของงบประมาณนี้
อยู่ที่การจัดสรรปันส่วนไปอยู่กับกระทรวงที่พรรคหลักของ คสช. (พลังประชารัฐ) ค่อนข้างมากกว่าพรรคร่วมอื่นๆ
อีก ๑๗ พรรค ไม่นับพรรคภูมิใจไทยที่ถึงเวลานี้น่าจะจัดว่าเป็นพรรคหลักของ คสช.
ชัดแจ้งแล้ว หลังจากที่อำพรางอย่างยิ่งระหว่างหาเสียง
พรรคสำคัญที่ทำให้คณะรัฐประหาร
คสช.ได้กลับมาครองเมือง ‘เบิ้ล’ ซ้ำซากในหน้ากาก ‘การเลือกตั้ง’ คือพรรคประชาธิปัตย์ เท่าที่ผ่านมา ๗ เดือนก็เห็นได้ไม่ยากว่า ‘กินน้ำใต้ศอก’ ยังคงสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ขึ้นเสียงอะไรมาก
อาจมุ่งหมาย (เดาเอานะ) วันข้างหน้าจะได้บุญหล่นทับเป็น
‘เจ้าคุณพระ’ บ้าง
แต่ดูท่าแล้วน่าจะยาก เนื่องจากไม่มีอะไรให้ คสช.โปรดปรานเป็นพิเศษสักเท่าไร
เขายังมีความเกรงใจเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยก็ยังดี ได้เวลาอภิปรายมาแค่ ๕ ชั่วโมง
คงต้องก้มหน้าก้มตากันต่อไป
ขณะที่ฝ่ายค้านเตรียมการทะลวงฟันกันได้เต็มที่
ไหนจะปัญหาปากท้องประชาชนอันเป็นที่กระทบกระเทือนทั้งประเทศแล้ว
ยังสมทบด้วยการแก้รัฐธรรมนูญที่แม้แต่ม็อบสมัชชาคนจน ซึ่งยกขบวนเข้ากรุงมาปักหลักได้อาทิตย์หนึ่งแล้วยังเล่นด้วย
โดยประกาศว่า “มิได้หมายถึงเพียงแค่กรณีปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
ที่ยืดเยื้อยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงการเรียกร้องสิทธิทางนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาริดรอนละเมิดสิทธิของพวกเรา”
และ “...หมายถึงความตั้งใจของพวกเราที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ให้เป็นรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’” กลายเป็นประเด็นหนุนฝ่ายค้านเข้าอีก
ส.ส.นครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ปากเก่งคนหนึ่ง
จึงเสนอให้กำหนดเวลาอภิปรายแต่ละวันถึงแค่สี่ทุ่ม เพื่อ “เป็นเพียงพิธีกรรม
ไม่เน้นเนื้อหาสาระหรือคุณภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน” เทพไท เสนพงศ์ยังแกล้งเสี้ยม
๑๐ พรรคเอื้ออาทรขนาดจิ๋ว ให้เป็น ‘ตัวแปรที่สำคัญที่สุด’
ว่าขณะนี้เสียงปริ่มน้ำ รัฐบาล ๒๔๙
ฝ่ายค้าน ๒๔๔ ห่างกันแค่ ๕ เสียง “ถ้าทฤษฎีลิงกินกล้วยใช้ไม่ได้ผล ลิงไม่กินกล้วย
หรือลิงกินกล้วยไม่อิ่ม
ก็จะเป็นอันตรายต่อคะแนนเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างแน่นอน”
(https://www.matichon.co.th/politics/news_1711307
และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_2972142)
ซึ่งการนั้นมีคนอ่านทะลุว่าเหมือน “โยนขี้ให้คนอื่น...แต่ตัวเองจะโหวตเข้าข้างรัฐบาล”
ในเมื่อ ปชป. ๕๓ เสียงไม่ยอมกระดิก แต่ไปสกิด ๑๐ เสียง ให้เรียกหากล้วยเสียนี่ (Peter
Cockea @Pcockea) อันเป็นการเล่นการเมืองอย่างเดิมๆ ของพรรคแมลงสาบ
แต่คนสำคัญในพรรค ปชป.อีกราย อ้างว่าเป็นปัญหาของการที่การเมืองแบ่งขั้ว
๕ ปีที่ผ่านมา “กลายเป็นการเลือกข้าง” แล้ว “เราก็ติดอยู่ตรงกลาง” ทั้งที่ (เรา) “ให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แก้ปัญหาหนี้สิน”
กรณ์ จาติกวณิช ให้สัมภาษณ์เพจ ‘๑๐๑’ ว่าประชาธิปัตย์เลือกเข้าร่วมรัฐบาลกับ คสช. “เพราะว่าเขามีสมมติฐานมาตลอดว่า
การที่เขาจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะเขาคิดว่าประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับ
พล.อ.ประยุทธ์”
ดังนั้นแม้ว่าจะ ‘ผิดหวัง’ จากการบริหารงานของรัฐบาล คสช.
ที่ทำให้รู้สึกว่า “การบริหารเป็นไปแบบวันต่อวัน ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน”
โดยเฉพาะเรื่องแจก “นโยบายแบบนี้ต้องใช้ครั้งเดียว ถ้าใช้บ่อยๆ คนจะดื้อยา”
แต่ถ้าถามว่า “ผมชอบวิธีการไหม ผมชอบ”
ก็เลยทำให้เขาตอบเรื่องว่า “ทำไมยอมรับรัฐบาลทหารได้
ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้ยอมรับ และต้องบอกว่าตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จะหาว่าผมเล่นคำยังไงก็แล้วแต่
เราปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเหนือความคาดหมายของทุกคน”
ทว่า ‘ความจริง’
ที่กรณ์ยอมรับนี้เป็นความจริงเสี้ยวเดียว การ “ที่มีประชาชนไปกาให้เขาจริง”
ไม่ใช่เรื่องต้องช็อคอะไร ในเมื่อเกิดจากกลเม็ดในการ ดูดเอย นับคะแนนพิสดารเอย
การได้เป็นรัฐบาลมิใช่ชนะด้วยคะแนนที่ประชาชนให้
แต่เกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุ
และสนับสนุนโดยพรรคการเมืองที่เอาแต่ดีกับได้ให้ตัวเอง
อย่างพรรคประชาธิปัตย์นั่นไง