วันอังคาร, ตุลาคม 08, 2562

การเสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นทั้งสิทธิและเสรีภาพ กอ.รมน.และเครือข่ายรักษ์สยาม ควรถูกฟ้องกลับ


การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องต้องห้ามทางความมั่นคงไปแล้วหรือ ความมั่นคงของใคร ของรัฐ ของรัฐบาล หรือกระบวนการอนุรักษ์นิยม (อำนาจเบ็ดเสร็จ)

จากคำของนายชวน หลีกภัย ที่ “ขอแนะนำว่า เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงจะต้องระมัดระวัง ถ้ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดีกว่าเดิมก็อย่าไปทำ” นี้คิดว่าประธานสภาฯ เจาะจงในบริบทของการแก้ปัญหาชายแดนใต้เป็นหลักใหญ่


เพราะอ้างเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาฯ จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี ๔๗ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายใต้ในปี ๔๔ แต่ในส่วนของการเสนอว่า บางทีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๑ ที่ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรแบ่งแยกไม่ได้ ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ถูกต้องก็ได้

ในเมื่อมิใช่หมายความให้ล้มล้างระบอบ อย่างที่ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจทหารพยายามยัดเยียดข้อหา ถ้าปรับเป็นแบบ สหราชอาณาจักร หรือให้มีเขตปกครองพิเศษ โดยไม่มีผลต่อมาตรา ๒ ซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประเด็นอยู่ที่ถ้าประเทศจะเดินไปในทางการปกครองประชาธิปไตย ต้องไม่มีการจำกัดการแสดงความคิดเห็นให้อยู่แต่ในกรอบของ คสช. หรือ กอ.รมน. ที่เข้ามารับงานการกำกับควบคุมปวงชนแทน คสช. เท่านั้น

ดังนี้การที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ไปแจ้งความในข้อหาร้ายแรง ม.๑๑๖ (ยุยงปลุกปั่น) ต่อแกนนำ ๗ พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการและสื่อสารมวลชน ๑๒ คน จึงเป็นการกระทำในลักษณะคุกคามข่มเหงด้วยกฎหมาย (ใช้กฎหมายปิดปาก)
 
ในความเห็นของ อจ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ.จัดว่า “เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของ ดร.ชลิตา (บัณฑุวงศ์ แห่ง ม.เกษตรฯ ผู้ร่วมเสวนาการแก้ปัญหาภาคใต้ที่ปัตตานี อันเป็นต้นเหตุแห่งการแจ้งความของ พล.ต.บุรินทร์)

ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเธอตาม รธน. มาตรา ๓๔” แล้วยังการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันไม่เพียงประเด็นแก้ปัญหาไฟใต้ แต่เพื่อตีกรอบให้ระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่เผด็จการทหารโหนสถาบันเจ้าฯ

“ตามครรลองที่ รธน.บัญญัติไว้ (ม.๒๕๖) จึงเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย กรณีไม่เข้าข่าย ม.๑๑๖()” ซึ่ง อจ.พนัส อธิบายว่า “มิได้มีลักษณะเป็นการ ปลุกปั่นยุยง

หรือ ปลุกระดม ที่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ที่ ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด”

ฉะนี้ อจ.ชลิตา ซึ่งตกเป็นเป้าการมุ่งทำลายเพื่อสาวไปถึงกลุ่มฝ่ายค้านในกระบวนการกำจัดฝ่ายตรงข้าม เพื่อการสืบอำนาจ คสช.ได้เดินไปอย่างราบเรียบถึง ๒๐ ปีเป็นอย่างน้อย ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงบอกว่า

“การแก้ไขธรรมนูญหรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งควรจะเป็นกระบวนการปกติในการนำพาประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย ได้ถูกทำให้กลายมาเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไปแล้วโดยผู้มีอำนาจรัฐ” เจ้าตัวแจ้งว่ามีการ

“ข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วง ๓-๔ วันที่ผ่านมา (และ) ก็พบว่ามีมาหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรังควาน การด่าทอด้วยคำหยาบ การขู่ทำร้ายและขู่ฆ่าให้ตาย...กระบวนการสร้างหวาดกลัวนี้มีการกระทำอย่างเป็นระบบผ่านกลไก #การปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (#IO) และผ่าน #สื่อมวลชนที่ไร้จรรยาบรรณ

นอกจากนั้นยังทราบมาด้วยว่าในระดับพื้นที่ในชนบท รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีการใช้กลไกต่างๆ ของรัฐลงไปในระดับตำบลและหมู่บ้าน ในการทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและไม่กล้าพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญู”

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งฝ่ายค้านเสนอมีการขานรับมากขึ้นทุกวันในหมู่ประชาชน เนื่องจากกำหนดให้ตั้ง สสร.หรือสภาร่างฯ ที่มาจากปวงชนเพื่อดำเนินการแก้ไข จะได้รัฐธรรมนูญแท้จริงของประชาชนในที่สุด จึงเห็นเจตนาของ กอ.รมน.ไม่ยาก ว่าทำการสกัดกั้นสุดฤทธิ์

โดยที่มีการแจ้งความและดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันทำนองนี้มาแล้ว ๔๓ คดี มีผู้ต้องหาอย่างน้อย ๑๓๐ คน ดังที่ ไอลอว์เก็บข้อมูลไว้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged พร้อมสรุปว่า “คดีจำนวนมากยังอยู่ระหว่างกระบวนการในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือการพิจารณาคดีของศาล
 
มีกรณีที่ศาลลงโทษจำคุกอย่างน้อย ๕ คดี (รอลงอาญา ๓ คดี) เช่น คดีโพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือรัฐประหารซ้อน ของ 'ชญาภา' และศาลยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย ๗ คดี เช่น คดีกรณีผู้สื่อรายงานข่าวการชุมนุมต้านรัฐประหาร แต่ลงวันที่ผิด”

จึงควรแล้วที่ ๗ พรรคฝ่ายค้านร่วมกันฟ้องกลับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่๔ ในฐานะ ผอ.รมน ภาค ๔ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า บานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท


เช่นเดียวกับการที่มีคนไปฟ้อง กกต.ให้พิจารณายุบพรรคฝ่ายค้าน ๖ ราย ที่ไปร่วมเสวนาการแก้ปัญหาภาคใต้ที่ปัตตานี ด้วยข้อหา “อันเป็นเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ”

นั้น นายนพดล อมรเวช เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยาม จึงควรตกเป็นผู้ต้องหาพร้อมกับสองเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ด้วย