วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 17, 2562

ย้อนดู 4 เหตุการณ์ ล้มรัฐบาลด้วยการลงมติในสภา



การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2562 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีความหมายสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง นี่คือครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และ สอง มีวาระการประชุมพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ

1. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (วาระที่ 1) ซึ่งรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งงบประมาณไว้ถึงจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย อีกประเด็นที่น่าจับตาในร่าง พ.ร.บ. นี้คือ การเพิ่มขึ้นของงบประมาณกระทรวงกลาโหม และการตั้งงบกลาง หรือรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้รัฐนำไปใช้ได้นอกจากงบประมาณที่ได้รับปกติ

2. พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

โดยก่อนหน้านี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้อาจไม่ถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และร่างพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ของรัฐบาล อาจขัดกับมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (โปรดดู: ‘อานนท์’ วอนสภาฯ ตีตก พ.ร.ก.โอนกำลังพล – งบฯ ทบ. – กองทัพไทย ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์)

อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ไม่ได้จบแค่เป็นการอภิปรายเพื่อลงมติของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้สภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. เป็นผู้ผ่านร่างฯ งบประมาณมาโดยตลอดเท่านั้น แต่การประชุมครั้งนี้ยังอาจสะท้อนเสียงในการกำหนดความเป็นอยู่และเสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย เหตุผลคือในอดีตที่ผ่านมีบทเรียนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้งการลาออกของนายกรัฐมนตรี กระทั่งมีการยุบสภาฯ เพราะแพ้การลงมติมาแล้ว

โอกาสนี้ลองทบทวนเหตุการณ์สำคัญในการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาสู่การล้มรัฐบาลในอดีต เพื่อเป็นคู่มือหนึ่งในการติดตามการประชุมสภาฯ ในวันพรุ่งนี้



1. ‘จอมพล ป.’ แพ้โหวตย้ายเมืองหลวง-สร้างพุทธมณฑล

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างที่ประเทศไทยตกอยู่ในกระดานสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติกฎหมาย 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการลงมติแบบลับ ผลคือสภาฯ ไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487 ซึ่งรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศพระราชกำหนดฉบับนี้ไปตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2487 การไม่รับร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับพระราชกำหนดราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 มาก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน

ปัจจัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ปี 2487 ถือเป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มประกาศชัยชนะในหลายสนามรบ ในทางเดียวกันฐานะของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายอักษะ ก็อยู่ในช่วงตกต่ำ แม้ว่า จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจสูงสุด รวมทั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ตาม ถึงที่สุดการแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ครั้งติดกัน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมต่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกต่ำ จนนำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 ก่อนที่รัฐบาลเสรีไทยสาย ปรีดี พนมยงค์ จะก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง



2. ‘เปรม’ ล้ม เพราะพยายามผ่านกฎหมายเก็บภาษีดีเซล

ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ปี 2521-2531 พบว่า เคยมีเหตุการณ์ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตีตกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2529 (สมัยสามัญ) เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม 2529

โดยกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น เมื่อ สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลแห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ยกเลิกบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา 85 ท้ายพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้วให้เพิ่มข้อความตามมาตรา 88 ทวิ เข้าไปแทน

รัฐบาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลเป็นก๊าซเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มเติมจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมัน

กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลตั้งเป้าทำให้รถเก่ากลับไปเสียภาษีอัตราเดิม ขณะที่รถใหม่ที่ใช้น้ำมันดีเซลจะเสียภาษีมากกว่าปกติ เพื่อต้องการไม่ให้ประชาชนกลับมาใช้น้ำมันดีเซลอีก ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องตรากฎหมายดังกล่าวเพราะเป็นเหตุที่เป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านได้มีการอภิปรายคัดค้านอย่างกว้างขวาง แสดงความไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจาก การตรากฎหมายฉบับนี้มิได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งร่างกฎหมาย ก็พบความไม่รอบคอบคือ อัตราภาษีใหม่ที่จะเก็บภาษีรถดีเซลเพิ่มก็ไม่มีหน่วยเงินบาทกำกับ และยังเห็นว่ารัฐบาลส่งเสริมการลงทุนผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทย แต่กลับขึ้นภาษีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับนโยบายเดิม

การอภิปรายเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินไปอย่างยาวนาน ก่อนจะจบลงเมื่อประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียง 140 ต่อ 137 เสียง ต่อมา ไกรสร ตันติพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอญัตติให้มีการนับคะแนนใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการให้ลงคะแนนโดยการยืนขึ้น ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียง 143 ต่อ 142 เสียง

เท่านั้นไม่พอ สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอให้มีการนับคะแนนใหม่เป็นครั้งที่สาม โดยครั้งนี้ใช้วิธีการขานชื่อเรียงลำดับตัวอักษร โดย สส. จะต้องกล่าวคำว่า “อนุมัติ” หรือ “ไม่อนุมัติ” ผลการนับคะแนน ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง 147 ต่อ 143 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เหตุการณ์นั้นสะท้อนความไร้เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล

กลางดึกของวันเดียวกัน ไตรรงค์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศอ่านพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 โดยอ้างเหตุสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว


3. ‘กลุ่ม 10 มกรา’ คว่ำรัฐบาลเปรม 3

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องเผชิญกับภาวะความไร้เสถียรภาพของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จนนำมาสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร

เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อกลุ่ม ’10 มกรา’ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองอิสระภายในพรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกับฝ่ายที่กุมอำนาจการเมืองในพรรค จนนำมาสู่การลงมติแตกขั้วกันของ 2 ฝ่าย และส่งผลต่อรัฐบาลเปรมสมัยที่ 3 จนทำให้มีการยุบสภาฯ และนำมาสู่การยุติบทบาททางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

การยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 มีสาเหตุเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยกมือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/2531 วันที่ 28 เมษายน 2531 ทำให้รัฐมนตรีสังกัดพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 16 คน ยื่นใบลาออก

สำหรับความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งมี เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรค วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ได้พยายามมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งกลุ่ม 10 มกรา ต้องการชื่อเฉลิมพันธ์ ขณะที่กลุ่ม ชวน หลีกภัย ได้เสนอ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค และวีระเองได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแข่งกับ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งเฉลิมพันธ์และวีระพ่ายแพ้ต่อพิชัยและพลตรีสนั่น

ต่อมากลุ่ม 10 มกรา จึงได้ยื่นใบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ ภายหลังจากการที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจนทำให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภาฯ เมื่อปี 2531 ซึ่งกลุ่ม 10 มกรา บางส่วนและทางกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2531


4. สปก. 4-01: เอาที่ดินรัฐไปแจกเศรษฐี

หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 การเมืองไทยกลับเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2536 พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งนำมาเป็นอันดับหนึ่ง และจัดตั้งรัฐบาล โดยหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สัญญาไว้กับสภาผู้แทนราษฎรคือ การปฏิรูปที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้และเกษตรกรที่ครอบครองทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ โดยจะปรับปรุงกลไกการบริหารและการจัดการของรัฐ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 4 ล้านไร่ หรือที่เรียกกันหน้าสื่อว่า ‘ส.ป.ก. 4-01’

ในเวลาต่อมานโยบายนี้ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า ‘กลุ่ม 16’ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนจากพรรคชาติพัฒนาซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และจากพรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น กล่าวหาว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์นำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ไปแจกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ประชาชนที่มิใช่เกษตรกร หากแต่เป็นการนำที่ดินไปให้คนใกล้ชิดกับรัฐมนตรีระดับสูงของรัฐบาล

วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ภายหลังการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกรณีการแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 พรรคพลังธรรม ได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมเป็นรัฐบาล ทำให้ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจที่จะตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งมีการตีความกันว่าเป็นการรับผิดชอบที่ฝ่ายค้านโจมตีนโยบายการปฏิรูปที่ดินในเรื่องการแจก ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่พวกพ้องของคนในรัฐบาลและเศรษฐี


“สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ในภาวการณ์ที่ผ่านมาปรากฏว่า พรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรคมีความแตกแยก จนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน…”

พระบรมราชโองการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ข้อความดังกล่าวอธิบายภาพการเมืองยุคที่ระบบรัฐสภาไร้เสถียรภาพได้เป็นอย่างดี

ที่มา Way Magazine