วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2562

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้แทนราษฎร จาก "อานนท์ นำภา" เรื่อง ขอให้เปิดการอภิปรายและลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562



https://prachatai.com/journal/2019/10/84749
.

.


จดหมายเปิดผนึกถึงผู้แทนราษฎร

( ได้โปรดช่วยกันแชร์ให้ไปถึงทุกพรรคการเมือง)
.
เรียน ผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมือง
.
เรื่อง ขอให้เปิดการอภิปรายและลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
.
ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 มีผลให้อัตรากาลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปเป็นของ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ และมีกำหนดบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ ) ในวันที่ 17ตุลาคม 2562 นั้น
.
กระผมในฐานะของพลเมืองไทยขอเรียนต่อท่านว่า พระราชกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัธรรมนูญและขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยดังนี้
.
1. ในแง่รูปแบบ พระราชกำหนดดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทาง เศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และมิใช่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ การตราพระราชกำหนดดังกล่าวของรัฐบาลจึงขัดกับมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
.
2. ในแง่เนื้อหา การโอนหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เป็นกองกำลังทางทหารไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์และขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการขยายพระราชอำนาจทางการทหารของสถาบันกษัตริย์จนเกิดขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งการบริหารหน่วยงานดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอันจะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภาและศาล การโอนอัตารากำลังพลของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์จึงขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างชัดเจน
.
ฉะนั้น ขอให้ท่านในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทยทำหน้าที่เปิดอภิปรายและได้โปรดมีมติไม่อนุมัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้กฎหมายนั้นเป็นอันตกไป
.
อนึ่ง ขอให้กำลังใจในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร ในการใช้สิทธิและเสรีภาพแทนปวงชนชาวไทย เพราะหากแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนปวงชนไร้ซึ่งเสรีภาพในการทำหน้าที่แล้ว บรรดาประชาชนพลเมืองไฉนเลยจะมีสิทธิเสรีภาพได้ ขอให้ท่านรักษาความศักดิ์สิทธิของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยให้สมภาคภูมิและสมเกียรติแห่งการเป็นผู้แทนราษฎรให้ถึงที่สุดด้วย
.
เชื่อมั่นและศรัทธา

อานนท์ นำภา
.

การไม่อนุมัติพระราชกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารนั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องการเสนอกฎหมายใหม่แต่อย่างใด กล่าวคือไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายค้านต้องเสนอเป็นญัติให้สภาลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนด หากแต่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๒ กำหนดให้เมื่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารอ้างว่าออกโดยเห็นว่า "เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" และออกเป็นพระราชกำหนดแล้ว ต้องนำมาพิจารณาโดยสภาอีกครั้ง เพื่อให้สภาลงมติว่าจะอนุมัติกฎหมายนั้นหรือไม่

กรณีพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 สภาได้บรรจุในวาระการประชุมในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ แล้ว

กรณีไม่ใช่เรื่องเรียกร้องความกล้าหาญของ ส.ส. เพื่อเสนอญัติใหม่ หากแต่เป็นเรื่องหน้าที่ของ ส.ส. ว่าจะลงมติอนุมัติให้กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารนั้นเป็นกฎหมายต่อไปหรือไม่

รายละเอียดการตราพระราชกำหนดดูที่ https://library2.parliament.go.th/…/con…/2561/hi2561-070.pdf

นี่เป็นหน้าที่ธรรมดาของ ส.ส. ในการพิจารณากฎหมาย ตามหลักการถ่วงดุลการแบ่งแยกอำนาจเท่านั้น

หาก ส.ส. เห็นว่าพระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารออกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แค่ลงมติไม่อนุมัติ เท่านั้นกฎหมายก็ตกไป
.


ในอดีตสภาเคยล้มพระราชกำหนดอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ

1. พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นความคิดในการก่อสร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบให้ออกเป็นพระราชกำหนด ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 4 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36

2. พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. 2487

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบให้ออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อปกปิดความมุ่งหมายในการก่อสร้างเขตปลอดทหารขึ้นที่จังหวัดสระบุรี ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 5 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41

ผลจากการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แสดงความรับผิดชอบในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่ได้การตอบสนองจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487

3. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2529 สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณาและมีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดนี้ด้วยคะแนนเสียง 147 ต่อ 143 เพราะเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคการเมืองที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในตอนค่ำของวันเดียวกัน

ดูรายละเอียดที่ http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระราชกำหนด
.