วันอังคาร, ตุลาคม 08, 2562

เห็นฤทธิ์รังแกประชาชนแล้ว รื้อเลย - ผลงาน กอ.รมน. หลังรัฐประหาร 2 ยุค




ขณะที่ กอ.รมน. โฉมปัจจุบันเพิ่งมีอายุเพียง 12 ขวบเท่านั้น โดยได้รับการ "สถาปนาอำนาจ" อย่างจริงจังหลังรัฐประหารปี 2549 เมื่อรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กำหนดให้ กอ.รมน. มีสถานะเป็น "ส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี"

อภิรัชต์ คงสมพงษ์ : "ข้าพระพุทธเจ้า จักรักษามรดกของพระองค์ท่าน ไว้ด้วยชีวิต"
วันกองทัพไทย: 5 สมัยแห่งสงครามในรัตนโกสินทร์

หลังรัฐประหารปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้สั่งการ "ขยายอำนาจและบทบาท" ของ กอ.รมน. ออกไปอย่างกว้างขวาง ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดย "เข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ" และให้ กอ.รมน. "กำหนดเองว่าสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย" ซึ่ง ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงและการทหาร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าทำให้เกิดสภาวะ "รัฐซ้อนรัฐ"

ถอดโครงสร้าง "รัฐบาลคณะน้อย"

กอ.รมน. ยุคใหม่ถูกนำเสนอภาพว่าเป็นการทำงานในลักษณะองค์กรผสม 3 ฝ่าย พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร แต่โดยข้อเท็จจริง "ทหารยังมีบทบาทนำพลเรือน" โดยแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
  1. ส่วนบริหาร มีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหาร มีนายกฯ เป็น ผอ.รมน. ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็น รอง ผอ.รมน. และเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็น ลธ.รมน. และมีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายนราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงร่วมด้วย จึงถูก ศ.ดร. สุรชาติ เรียกขานว่า "รัฐบาลคณะน้อย"
  2. ส่วนอำนวยการ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลการปฏิบัติ ประกอบด้วย 6 สำนัก 2 กลุ่มงาน และ 1 ศูนย์
  3. ส่วนประสานงาน มีหน้าที่บูรณาการการวางแผนอำนวย การประสานงาน และการปฏิบัติ ประกอบด้วย 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ รับผิดชอบงาน 6 ด้าน ดังนี้
  • ศูนย์ 1 รับผิดชอบด้านยาเสพติด
  • ศูนย์ 2 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
  • ศูนย์ 3 การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
  • ศูนย์ 4 ด้านความมั่นคงพิเศษ อาทิ ชาวม้งลาว, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน, บุกรุกป่าไม้, ภัยพิบัติระดับชาติ ฯลฯ
  • ศูนย์ 5 ด้าความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ คือจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ศูนย์ 6 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมสถาบัน
  4. ส่วนปฏิบัติงานในพื้นที่ มีหน้าที่วางแผน อำนวย การประสานงาน และกำกับดูแลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย กอ.รมน.ภาค 1-4, กอ.รมน.จังหวัด และ กอ.รมน.กทม. และศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานอื่น ๆ

มวลชนจัดตั้งของ กอ.รมน.

แม้ต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ แต่การจัดตั้ง "องค์กรมวลชนของรัฐ" ยังเป็นภารกิจสำคัญของ กอ.รมน. โดยมีการระบุชื่อไว้อย่างน้อย 9 กลุ่ม ประกอบด้วย ชมรมผู้นำชุมชนมุสลิม, ชมรมคาทอลิก รักษาความมั่นคงภายใน, สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, สมาคมนักธุรกิจไทย-ซิกข์ รักษาความมั่นคงภายใน, โครงการประชาชนมีส่วนร่วม, ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านใจรักษ์แผ่นดิน, โครงการเพชรในตม, ไทยอาสาป้องกันชาติ

ถ้าย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น กอ.รมน. เคยสร้างมวลชนมากกว่า 20 กลุ่ม จากนั้นในปี 2521 รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย 'ไทยอาสาป้องกันชาติ' รวมมวลชนกลุ่มต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน และอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง

ปี 2524 รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่งจัดตั้ง "กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ" ให้อยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพบก ก่อนย้ายไปอยู่ใต้ กอ.รมน.


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAIคำบรรยายภาพกอ.รมน. มีบทบาทในการติดตามหาข่าวมวลชนที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.

ผลงาน กอ.รมน. หลังรัฐประหาร 2 ยุค

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง/กลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม และแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐาน ม. 116
  • ติดตามและสกัดกั้นช่องทางการสื่อสารของนักการเมือง/กลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม
  • จับตาความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน อาทิ ในปี 2558 กอ.รมน. ปิดเว็บไซต์ไปทั้งสิ้น 143 เว็บไซต์ คิดเป็นจำนวน URL ทั้งหมด 5,268 URL
  • ระดมมวลชนในสังกัดออกสนับสนุนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติเมื่อปี 2559

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากบทความเรื่อง "กิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง : พัฒนาการและความชอบธรรม"โดย รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ ม. นเรศวร
(http://www.jssnu.socsci.nu.ac.th/uploads/journal/09_Puangthong_JSSNU_15-1_2019.pdf)


อ่านบทความเต็มที่