วันอาทิตย์, มีนาคม 17, 2562

เคยรู้ไม๊ ประเทศราวครึ่งหนึ่งของโลกนี้ ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา เพราะทั้งที่มาและบทบาทของวุฒิสมาชิกที่ว่ามานี้คือเรื่องที่ “ผิดปกติ” มาก ๆ ในมาตรฐานโลกปัจจุบัน





Society: รู้หรือไม่ ประเทศราวครึ่งหนึ่งของโลกนี้ ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา
.
ในการเลือกตั้งของไทยครั้งที่จะถึงนี้ ใครพอจะติดตามข่าวการเมืองหน่อยก็คงจะพอรู้ว่า วุฒิสภาจะมีบทบาทมาก ๆ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และก็จะมีอำนาจทางการเมืองในการกำหนดทิศทางประเทศอีกสารพัด
.
เราคนไทยอาจจะรู้สึกชินชาพอสมควร เพราะตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมาดูโลก เราก็คงคุ้นเคยกับการที่จะมีวุฒิสภาและวุฒิสมาชิกที่มีอำนาจขนาดนี้มาตลอด ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้เลือกพวกเขาเข้าไปนั่งในสภากันด้วย
.
แต่รู้ไหมครับว่าทั้งที่มาและบทบาทของวุฒิสมาชิกที่ว่ามานี้คือเรื่องที่ “ผิดปกติ” มาก ๆ ในมาตรฐานโลกปัจจุบัน
.
แต่เราก็คงจะต้องรู้ก่อนว่าวุฒิสภาโดยทั่วไปมันมีหน้าที่อะไร ?
.
ตามประวัติศาสตร์โลก สิ่งที่เรียกรวม ๆ ว่าวุฒิสภา หลัก ๆ แล้วมันก็เป็นสภาของชนชั้นนำและบรรดาผู้อาวุโสในสังคม ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือ “ปกครองประเทศ” หรืออย่างน้อย ๆ ก็มีหน้าที่ในการเสนอกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ให้กับกษัตริย์อีกที
.
พูดง่าย ๆ คือ บทบาทหน้าที่มันไม่ได้ต่างจากสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ แต่สมาชิกมันไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งของปวงชนทั้งหมด แต่มันมาจากการที่เหล่าชนชั้นนำ คัดสรรตัวแทนกันเอง เพื่อไปค้านอำนาจกับกษัตริย์ (ซึ่งในประเทศยุโรปเป็นแบบนี้เกือบหมด) พูดง่าย ๆ มันตั้งขึ้นมาเพื่อให้กษัตริย์ ไม่สามารถออกกฎหมายตามอำเภอใจในระดับที่จะไปกระทบชนชั้นนำอื่น ๆ ของสังคมได้
.
กล่าวคือ มันเป็นสภาที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำนั่นเอง
.
อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วุฒิสภาไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนได้ทั้งหมด และชนชั้นนำที่เกิดใหม่ ๆ อย่างกลุ่มพ่อค้าที่ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการออกกฎหมายเลย ก็ไม่พอใจ มันเลยมีการแยกสภาที่จะเป็นตัวแทนของ “สามัญชน” ที่ไม่ใช่ชนชั้นนำหรืออภิชนออกมา
.
ซึ่งในกระบวนการทางประวัติศาสตร์หลายร้อยปี กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย “สภาสามัญชน” หรือสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของปวงชนทั้งหมด ก็ได้กลายมาเป็นสภาหลักในการออกกฎหมายและออกนโยบายในการปกครอง
.
ดังนั้น ในแง่นี้คำถามคือ วุฒิสภาจะมีเอาไว้ทำไมกัน ในเมื่อมันมีหน้าที่ซ้อนกับทางสภาผู้แทนราษฎร ?
.
คำตอบของหลาย ๆ ประเทศคือ มันก็ไม่ควรจะมี เพราะมีหน้าที่ซ้ำซ้อน จะมีไปทำไมให้เปลืองภาษีประชาชน และประเทศราว ๆ ครึ่งโลก ทุกวันนี้เขาไม่มีวุฒิสภานะครับ เขามีแค่สภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว
.
ซึ่งนี่เราไม่ได้พูดถึงประเทศกึ่ง ๆ เผด็จการที่มีสภาเดียวแบบจีน หรือเวียดนามเท่านั้น ประเทศประชาธิปไตยชั้นนำแบบเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ล้วนไม่มีวุฒิสภา และนี่ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดแค่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกด้วย ประเทศจำนวนไม่น้อยในลาตินอเมริกา และแอฟริกาก็ไม่มีวุฒิสภา หรือในเอเชียของเขา ประเทศประชาธิปไตยอย่างอินเดีย บังคลาเทศ ไปจนถึงเกาหลีใต้ก็ไม่มีวุฒิสภา
.
คือประเทศจากราว ๆ 200 กว่าประเทศทั่วโลก มันมี 100 กว่าประเทศที่การเมืองดำเนินไปได้ตามปกติโดยที่ประเทศไม่ต้องเอาเงินภาษีมาเสียเป็นเงินเดือนให้เหล่าวุฒิสมาชิก
.
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราจะเห็นได้เช่นกันก็คือ แม้แต่ในหมู่ประเทศประชาธิปไตยเอง ก็ยังมีหลายต่อหลายประเทศที่ยังมีวุฒิสภา หรือ “สภาสูง” อยู่ ซึ่งหลัก ๆ มันแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ ประเทศกลุ่มแรก คือแบบที่วุฒิสภานั้นยังคงอยู่ตามประเพณีที่มีมาในอดีต พูดง่าย ๆ คือมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรที่แรง ๆ ระดับวุฒิสภาถูกลบล้าง แต่ตอนนี้วุฒิสภาไม่มีอำนาจอะไรจริงจังอีกแล้ว คือไม่มีอำนาจออกกฎหมาย ไปจนถึงปฏิเสธกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร แต่มีหน้าที่ออกความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาเฉย ๆ ซึ่งโมเดลแบบนี้เราจะเห็นได้ชัด ๆ จากอังกฤษและประเทศอาณานิคมเก่าจำนวนหนึ่ง เรียกได้ว่ามีรวม ๆ ไม่ถึงสิบประเทศ
.
ประเทศกลุ่มที่สอง เรียกรวม ๆ คือ วุฒิสภามีอยู่ มีอำนาจทางการเมืองระดับใกล้เคียงกับสภาผู้แทนราษฎร (คือมีอำนาจตั้งแต่ออกกฎหมาย ปฏิเสธกฎหมายที่ทางสภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ไปจนถึงมีอำนาจในการประกาศสงครามในกรณีบางประเทศ) ซึ่งประเทศพวกนี้เราจะพบได้ตั้งแต่ในทวีปอเมริกายันยุโรปลงไปถึงแอฟริกาและทะลุมาญี่ปุ่น ลักษณะที่ประเทศพวกนี้มีร่วมกันก็คือ สมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจมหาศาลขนาดนี้ ล้วนมาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางตรงแบบประชาชนในประเทศเลือกเลย หรือทางอ้อมแบบที่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลือกพวกเขาอีกที ประเทศกลุ่มนี้มีอยู่ราว ๆ 60-70 ประเทศ
.
ทั้งหมดที่ว่ามา สรุปได้ง่าย ๆ เลยว่าในโลกนี้ ถ้าเขาไม่ยุบวุฒิสภาทิ้งเพราะมันไม่มีหน้าที่แล้ว เขาก็จะลดอำนาจที่มันเคยมีลงจนหมด หรือถ้าเขายังจะคงอำนาจของวุฒิสภาไว้ ระบบเดิมที่วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งกันเองของชนชั้นนำก็ต้องเลิกซะ แต่สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด
.
พูดง่าย ๆ ถ้าคุณจะมีวุฒิสภาที่มีอำนาจทางการเมือง ที่มาของสมาชิกก็ต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่งั้นคุณก็ไม่ต้องมีวุฒิสภาไปเลย นี่คือตรรกะที่คนในโลกทั้งใบใช้กัน
.
...อย่างไรก็ดี ก็มีประเทศกลุ่มหนึ่งในโลกครับ ที่มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากชนชั้นนำล้วน ๆ และมีอำนาจทางการเมืองมหาศาลด้วย ประเทศกลุ่มนี้คือประเทศกลุ่มอาหรับ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน โอมาน บาห์เรน และที่หลุดเข้ามากลุ่มนี้ด้วยก็คือ ไทย
.
ไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจมหาศาลสุด ๆ ซึ่งเราจะพักไว้ก่อนว่าเรื่องนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะนั่นอาจต้องโต้เถียงกัน แต่ประเด็นที่เราน่าจะเห็นร่วมกันทุกคนได้ก็คือ นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติ แบบผิดปกติสุด ๆ ไปเลยครับในมาตรฐานโลก

ที่มา FB

BrandThink