วันพุธ, มีนาคม 13, 2562

‘กองทัพไทย’ ใกล้เคียง ‘พม่า’ เข้าไปทุกที ‘ดร.ดุลยภาค’ ชี้




https://www.facebook.com/thai.udd.news/videos/2267762686813003/


‘กองทัพไทย’ ใกล้เคียง ‘พม่า’ เข้าไปทุกที ‘ดร.ดุลยภาค’ ชี้ ทหารยังไม่คลายจากการเมือง วางเกมผ่านรัฐธรรมนูญ แม้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ยังต้องตามแก้กติกาในสภา เทียบ ‘อองซาน ซูจี’ มีเสียงข้างมากต่อรองได้ แต่จัดการกองทัพไม่ได้ ต่างจากเหตุการณ์ประชาชนลุกฮือในฟิลิปปินส์ ขณะกัมพูชามี 'ยุบพรรค' เช่นเดียวกับไทย อ้างเอกภาพชาติ - วิเคราะห์ท่าทีผบ.ทบ.ท่ามกลางเสียงปี่กลองการเมือง หลายพรรคชูนโยบายจี้จุด ตีหัวใจในปริมณฑลต้องห้าม ทั้งงบฯ กลาโหม การเกณฑ์ทหาร ปรับอัตรานายพล

แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเมียนมา ถึงบทบาทกองทัพในการเมืองไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และอุปสรรคของการมีประชาธิปไตยในอาเซียน

-ปฏิกิริยา ผบ.ทบ. ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จะเป็นปัญหากับประชาธิปไตยหรือไม่

ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ท่านคงมองว่าในช่วงเลือกตั้ง ทหารยังมีบทบาท ต้องได้รับความเคารพและจะต้องเข้ามาดูแลหากมีสถานการณ์ผิดปกติ

ในจังหวะนี้เองฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. ก็ดำเนินกลยุทธ์หรือรณรงค์ทางการเมืองหลายอย่างจี้จุด ตีไปที่หัวใจของกองทัพ มีข้อเสนอเต็มที่ ไม่ใช่แค่ลดบทบาททางการเมืองอย่างเดียว แต่จะตัดงบฯ กลาโหม ลดงบฯ กองทัพ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพ รวมถึงการเกณฑ์ทหาร ปรับอัตรานายพล ซึ่งเดิมเป็นปริมณฑลสงวน ในสายตาทหารไม่ควรมีพลเรือนเข้ามาแทรกแซง

ทำให้ ผบ.ทบ. มีปฏิกิริยาตอบโต้กับฝั่งที่ไม่เอาสืบทอดอำนาจ เป็นอุณหภูมิการเมืองที่รุนแรง

แต่โดยเนื้อแท้ในทางทฤษฎีทหารกับการเมืองหรือการพัฒนาประชาธิปไตย ข้อเสนอหลายอย่างของฝ่ายไม่เอาสืบทอดอำนาจมีหลายอย่างน่ารับฟัง เพราะสะท้อนความเหนือกว่าของพลเรือน ซึ่งนี่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพประชาธิปไตย

ถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลพลเรือนต้องสามารถเจาะเข้ามาในองค์กรทหารได้ มีความหมายถึงประชาธิปไตยที่เบ่งบาน

แต่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พลเรือนจะคุมได้บางปริมณฑลเท่านั้น สำหรับประเทศไทย รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมกองทัพในด้านการป้องกันประเทศและอิสระในการบริหารจัดการองค์กรภายใน

ขณะที่ข้อเสนอของ 3-4 พรรคการเมืองของไทยเป็นการตีเข้าไปที่หัวใจกองทัพ

-บทบาทกองทัพไทยกับเมียนมา ต่อการเมืองภายในของทั้ง 2 ประเทศ

จากประสบการณ์ที่ได้จากเคสของพม่า ทหารมักจะเคลมว่า ถ้ามีประชาธิปไตยแต่ปราศจากกฎระเบียบก็จะมีค่าเท่ากับอนาธิปไตย หรือความสับสนวุ่นวาย เขาจะเคลมตรงนี้มาตลอด แล้วทหารก็จะเข้ามาดูแลบ้านเมือง

เขาจะบอกว่าทหารจะเข้ามาชั่วคราวเท่านั้น แต่ที่บอกว่าชั่วคราวก็เคยทำมาแล้ว 26 ปีซึ่งระยะเวลายาวนานมาก ขณะเดียวกันทหารเมียนมาก็ตระหนักดีว่า ถ้ามีกฎระเบียบ แต่ไม่มีประชาธิปไตย มันก็เป็นเผด็จการ ซึ่งอยู่ไม่ได้ในโลกใบนี้

เมื่อโลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน แต่ขอให้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่กองทัพควบคุมได้อยู่บ้าง ตรงนี้ทำให้ชนชั้นนำทหารพม่า ตัดสินใจออกแบบระบอบการเมืองที่เป็นระบอบการเมืองลูกผสม หรือ hybrid regime

คือ ให้มีการเลือกตั้ง ให้มีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่พลเรือนมากขึ้น แต่อย่าตัดบทบาทกองทัพ เมียนมาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบแน่นอน

พลเอกอาวุโสตานฉ่วย เคยบอกเองว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน เป็นประชาธิปไตยสไตลล์พม่า มีสารสำคัญให้เห็นในรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ของพม่า

กรณีเมียนมา อองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่สุดท้ายต้องเจรจากับทหาร

สุดท้ายทำอะไรไม่ได้มากในการปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณกองทัพ จัดการกับกองทัพ เพราะชนะภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร ที่กำหนดให้ต้องแชร์อำนาจกับกองทัพ ขณะที่ก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะล้มกองทัพขนาดนั้น แต่ทำได้ระดับหนึ่งในการต่อรองบางมิติ

ล้มกองทัพไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ลดดรีกรีของกองทัพฮวบฮาบไม่ได้ นี่คือข้อจำกัด

ขณะที่ในบางประเทศ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงที่มีการลุกฮือ ปี 1986 เพื่อโค่นล้มเผด็จการมาร์กอส รัฐบาลใหม่ของอาคีโน อาศัยอานิสงส์จาก People Power Revolution มาลดอิทธิพลกองทัพ

รัฐบาลประสบความสำเร็จในการจัดการกองทัพ มีการสถาปนาอำนาจในรัฐธรรมนูญ และออกแบบกำกับว่าถ้ากองทัพยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะถูกลงโทษ

แต่ก็เป็นเงื่อนไขว่า รัฐบาลพลเรือนที่ทำแบบนี้ได้ ต้องมีฐานอำนาจ นั่นคือใช้ฐานอำนาจจากการลุกฮือของประชาชนเป็นแรงหนุนในการจัดการกองทัพ

สำหรับประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีการลุกฮือประชาชน เพราะประชาชนมีทั้งฝ่ายนิยมชื่นชอบคุณทักษิณ และ ฝ่ายที่เชียร์สืบทอดอำนาจ จึงไม่เห็นการลุกฮือของประชาชนจริงๆ ฉะนั้น แรงเหวี่ยงให้รัฐบาลพลเรือนจัดการกองทัพจึงมีอยู่ต่ำ ไม่สามารถโยกคลอนกองทัพได้เต็มที่

หรือเราอาจจะเจอโมเดลแบบเมียนมา คือ แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ด้วยรัฐธรรมนูญที่ออกแบบเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ มีบทบาทของสว. มีการปั้นระบอบการเมืองลูกผสมคอยกำกับให้รัฐบาลฝ่ายตรงข้ามซึ่งชนะการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรกองทัพได้มาก

ดังนั้นการปฏิรูปอาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง

โครงสร้างในสภาเมียนมา มีทหารอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ ใช้บล็อคความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างได้

แต่ว่าหลายๆ อย่างก็เสียเปรียบพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภา อย่างเช่น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งมีอองซาน ซูจี เป็นประธานพรรค

ในปัจจุบันนี้ NLD เดินเกมแก้รัฐธรรมนูญ เริ่มจะมีความชัดเจนคืบหน้าได้แล้ว ก็ทำให้กองทัพตกอยู่ในสภาวะค่อนข้างลำบาก เพราะว่าเป็นเสียงส่วนน้อยในสภานี่คือกรณีเมียนมา

ส่วนกรณีไทย มีความแตกต่าง เพราะว่าทหารไทยไม่ได้ผ่านยุคเป็นผู้ปกครองโดยตรงมายาวนานอย่างพม่า 50 ปี ทหารไทยเป็นผู้ปกครองโดยตรงสั้นๆ และคลายตัวออก แต่กลับมาได้ตลอด เป็นวงรอบทางการเมืองที่มีลักษณะพิเศษ

เช่น ตอนที่คุณทักษิณโดนรัฐประหารโดย คมช. เราไม่สามารถเรียกได้ว่าทหารไทยเป็นผู้ปกครองเต็มๆ และละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือล้างบางทำลายเครือข่ายคุณทักษิณได้เท่ากับทหารเมียนมาทำกับฝ่ายตรงข้าม

เพราะเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาสักพักก็มีการเลือกตั้ง กลุ่มคุณทักษิณก็กลับขึ้นมาสยายปีกได้อีก

แต่สุดท้ายทหารก็กลับมา เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร ซึ่งครั้งนี้รุนแรงในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะสะท้อนให้เห็นว่า ทหารไทยก้าวเข้าสู่ทหารผู้ปกครองเต็มๆ ราว 5 ปี

ตรงนี้ดีกรีทหารไทยระดับใกล้เคียงกับพม่า แต่ผมคิดว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความเป็นเผด็จการเต็มที่เหมือนเกาหลีเหนือ หรือรัฐคอมมิวนิสต์ ผมว่าทหารไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ทหารไทยก็มีการคุกคามสิทธิฝ่ายตรงข้ามพอประมาณเลยทีเดียว

ในมุมของผม ทหารไทยเข้ามาเกี่ยวพันทำให้ ความเป็นประชาธิปไตยชะงักอยู่ร่ำไปในห้วงประวัติศาสตร์ คำถามคือ นับจากนี้ต่อไป หากมีการเลือกตั้งบทบาททหารไทยจะเป็นอย่างไร

จะเหมือนพม่าอย่างหนึ่งคือ ไม่ใช่ทหารผู้ปกครองโดยตรงอีกแล้ว จะมีการแปลงรูป เปลี่ยนร่าง เป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย แต่ชนชั้นนำทหารก็ดีไซน์ไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งระบบการเลือกตั้ง โครงสร้างพลังอำนาจสว. ถ้าเป็นไปตามที่เขาคาดหวังคือมีประชาธิปไตยและมีอำนาจนิยม บทบาทกองทัพ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนยังมีการชักคะเย่องัดข้อถ่วงดุลกันอยู่ร่ำไป ทหารยังไม่คลายง่ายๆ

-ความเป็นเอกภาพในประเทศ เงื่อนไขข้อจำกัดประชาธิปไตยในอาเซียน

กรณีกัมพูชา ประเทศบอบช้ำจากการแบ่งขั้วทางการเมือง และมีสงครามกลางเมืองที่ยาวนาน แต่ได้อำนาจภายนอกคือสหประชาชาติ เข้ามาเพื่อรักษาสันติภาพและนำไปสู่การเลือกตั้ง เป็นพลัง ของประชาธิปไตยที่มีอำนาจภายนอกมาช่วยกำกับอีกที แต่สุดท้ายแล้วมรดกจากสงครามกลางเมือง และวิธีคิดของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเอกภาพชาติ ยังมีพลังเสมอ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ทำไมระบอบฮุนเซน ถึงอยู่ได้ยั่งยืนยาวนาน สมเด็จฮุน เซน เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็รู้อยู่ว่ายังไงพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน ชนะเลือกตั้งแน่นอน

เป็นอำนาจนิยมผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะหมัดเด็ด ไพ่เด็ดอย่างหนึ่งของกัมพูชาคือ เอกภาพชาติ

คนกัมพูชาส่วนใหญ่ยังรับไม่ได้ หากจะมีความขัดแย้งทางการเมืองและกลับสู่ civil war

เค้าอยากให้บ้านเมืองสงบสุข ซึ่งมันก็ดีในแง่เอกภาพชาติ แต่ว่ามันไปทำลายคุณภาพของประชาธิปไตย เพราะ ชนชั้นนำเก่าๆ ยังไม่เปลี่ยนมือ ยังครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ฮุน เซ็นก็ 30 กว่าปีแล้ว

ปีที่แล้วกัมพูชามีการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ สาเหตุหนึ่งคืออ้างเรื่องเอกภาพชาติ โดยรัฐบาลบอกว่า พรรคสงเคราะห์ชาติสัมพันธ์กับต่างชาติ แล้วจะทำให้รัฐบาลระส่ำระสาย

ส่วนของประเทศไทยก็เหมือนกัน ผมคิดว่าเราตีคีย์เวิร์ด 2 คำนี้ไม่แตกก็คือ ลู่วิ่งประชาธิปไตยกับการสร้างรัฐสร้างชาติ หรืออาจจะเรียกได้ว่า คำถามเรื่องเอกภาพชาติ ผมคิดว่า ประเทศไทยดึง 2 ตัวนี้มาด้วยกัน

เพราะในบางครั้งที่กลุ่มประชาธิปไตยเคลื่อนไหวเสนอความเห็นที่แตกต่าง กลุ่มผู้มีอำนาจก็บอกว่า มันทำให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ทำให้บ้านเมืองตีกัน

แต่ขณะเดียวกัน เราจะแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเอกภาพชาติและการเดินไปสู่ประชาธิปไตยได้ย่างไร

สังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แล้วกลุ่มการเมืองยังไม่มีสมรรถนะแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและรวดเร็ว จะเปิดโอกาสให้เหล่าขุนศึก ก้าวเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง แล้วถือว่าตัวเองเป็นผู้รักษาความสงบในบ้านเมือง

สังคมแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะในอดีต ในแอฟริกา ในลาตินอเมริกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรูปแบบสังคมแบบนี้ สิ่งที่เห็นก็คือทหารปกครองยาวนาน หรือมีรัฐประหารบ่อยครั้ง

เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาก็คือ ต้องปลดล็อคให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพระดับสูง นักการเมือง สถาบันพรรคการเมืองก็มีคุณภาพในระดับสูง จนทำให้เส้นทางประชาธิปไตยไม่เกิดปัญหา ในเรื่องเอกภาพชาติหรือความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

กลับมาสู่จุดที่บอกว่ามี 2 สมการที่สำคัญ คือ ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบ มีค่าเท่ากับอนาธิปไตย คือ ความสับสนวุ่นวาย

แต่ว่า กฎระเบียบที่ปราศจากประชาธิปไตย ก็มีค่าเท่ากับเผด็จการ สังคมและรัฐของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจอ 2 สมการนี้

ในหลายๆ รัฐ พยายามที่จะปรับตัว คือบางรัฐอยู่ในสมการแรก และโยกมา เข้าสู่สมการหลังมากขึ้น

อย่างในเมียนมา เราเห็นได้ชัดเลยว่า อยู่ในช่วงที่พอมีอนาธิปไตยความสับสนวุ่นวาย กองทัพก็เข้ามาปกครอง แล้วกองทัพก็บอกว่า เพราะนักการเมืองตีกัน เพราะนักการเมืองไม่มีกฎระเบียบอะไรทำนองนี้

แต่ว่าสุดท้ายแล้วกองทัพก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน กองทัพก็ต้องยอมให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ขอให้กองทัพยังควบคุม ยังมีบทบาทได้อยู่

แต่อย่างน้อยสะท้อนว่า พม่าเปลี่ยน ชนชั้นนำทหารยอมเปลี่ยนตัวเอง

หรือแม้กระทั่ง กรณีของสิงคโปร์ก็น่าสนใจ เพราะว่าสิงคโปร์ เป็นรัฐที่มีกฎระเบียบเยอะ ผู้ปกครองก็ครองอำนาจมายาวนาน มีความเป็นอำนาจนิยมผ่านการเลือกตั้งสูงมาก แต่สิงคโปร์ก็ไม่ปฏิเสธประชาธิปไตย เพราะสิงคโปร์ ไม่ต้องการให้ตัวเองถูกมองว่าเป็นเผด็จการเต็มๆ

สุดท้ายแล้วต้องมีการเลือกตั้ง ต้องให้สิทธิประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การปกครองของสิงคโปร์อยู่ได้ เพราะไม่ได้ถูกทั่วโลกประนามหนักว่าเป็นเผด็จการ

ฉะนั้น รัฐไทยจะปรับแบบไหน ใช้โมเดลไหน เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นบทเรียนสำคัญ แม้ว่าจะเป็นบทเรียนที่ให้คุณภาพประชาธิปไตยได้ไม่สูงเทียบเท่ากับตัวแบบยุโรป ในแง่บริบท ฐานทางเศรษฐกิจการเมือง สังคมประวัติศาสตร์ ที่มีคล้ายๆ กันหลายๆ อย่างและอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ผมคิดว่าเราเรียนรู้ได้จากเพื่อนบ้านนะครับ

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)
...