
เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai
15 hours ago
·
[ ผ่าทางตันวิกฤตหมอลาออก เมื่อแพทย์คือ "มนุษย์" ไม่ใช่ "เครื่องจักร" ]
วันที่ 13 พฤศจิกายน 1970 (พ.ศ. 2513) ชอน แท-อิล แรงงานคนหนึ่งในโรงงานสิ่งทอของเกาหลีใต้ ตัดสินใจประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเองพร้อมกับถือหนังสือกฎหมายแรงงาน วิ่งไปตามท้องถนนและตะโกนว่า “เราไม่ใช่เครื่องจักร” “รักษากฎหมายแรงงานด้วย” ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในวัย 22 ปี หลังพยายามเรียกร้องให้นายจ้างเห็นความสำคัญของสิทธิแรงงาน
.
5 ทศวรรษต่อมาในประเทศไทย ยังคงมีแรงงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำงานเยี่ยงเครื่องจักร หนึ่งในนั้นคือ "แพทย์" ที่ปรากฎข่าวสารอย่างต่อเนื่องว่าไม่อาจแบกรับชั่วโมงการทำงานอันหนักหน่วงได้จนต้องลาออกจากระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ "แพทย์อินเทิร์น"
.
กรณีล่าสุดอย่างโรงพยาบาลบึงกาฬออกมาระบุว่าแพทย์อินเทิร์นที่มาชดใช้ทุนที่โรงพยาบาลบึงกาฬจำนวน 16 คนที่กำลังจะใช้ทุนครบ 1 ปี มีการแจ้งความประสงค์ลาออกแล้ว 6 คนเนื่องจากต้องการกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนา ซึ่งผ่านการคัดเลือกเข้าปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว และอีก 4 คนกำลังจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทำให้เกิดกระแสขึ้นว่าการลาออกของแพทย์ไม่ใช่แค่อยากกลับไปภูมิลำเนา และไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาลบึงกาฬเพียงแห่งเดียว แต่ยังมีปัญหาเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทน ฯลฯ รวมถึงเกิดในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศด้วย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ท้ายที่สุดส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไทยกำลังขาดแคลนแพทย์ในระบบภาครัฐ
.
แพทย์อินเทิร์นแทบทุกคนต้องประสบปัญหาการทำงานเกินเวลาและ "ควงเวร" โดยกรณีที่หนักสุดพบว่าทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และควงเวรเกิน 32 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือ "ทำงานติดกัน 32 ชั่วโมง เว้นพัก 8 ชั่วโมง วันต่อมาก็ทำงาน 7 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน เพราะต้องดูห้องฉุกเฉินต่อ วันต่อมาได้พัก 6 ชั่วโมง แล้วก็ทำงานอีก 32 ชั่วโมง จนจำชื่อตัวเองไม่ได้เลย" ไปจนถึงกรณีที่แพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่ควงเวรทั้งสัปดาห์ก่อนจบชีวิตตนเอง หรือแพทย์ที่อดหลับอดนอนจนประสบอุบัติเหตุรถยนต์
.
นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงาน เคยกล่าวไว้ว่า “คนไข้ไม่ควรได้หมอที่ไม่ได้นอนมา 50 ชั่วโมง พูดชื่อตัวเองก็ไม่รู้เรื่อง สมองเหมือนกินเหล้ามารักษาเขา คนไข้ถ้ารู้ว่าแม่ตัวเองได้หมออย่างนี้มารักษา ยอมเหรอ? ผมก็ไม่ยอม มันไม่ยุติธรรมต่อเขา แล้วมันก็ไม่ยุติธรรมกับหมอด้วยที่ต้องมาทำแบบนี้”
.
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเปิดช่องใน พรบ. คุ้มครองแรงงาน ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงาน “ล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น” โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง แต่กลับไม่มีการกำหนดเพดานเป็นกฎหมายว่า ทำงานสูงสุดได้กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์
.
ขณะที่ประกาศแพทยสภาลงวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ว่าด้วยแนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ระบุว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะควรมีชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน หากต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป นั่นเท่ากับว่ากฎหมายไม่เคยกำหนดจำนวนชั่วโมงสูงสุดที่บุคลากรทางการแพทย์ทำได้
.
ก่อนหน้านี้แพทยสภาได้สำรวจความคิดเห็นของแพทย์จบใหม่ ปี 2564 จัดทำโดย นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โดยเป็นการสำรวจแพทย์จบใหม่ที่ได้รับเลข ว. หรือ ใบประกอบโรคศิลปะจำนวน 2,431 คน คิดเป็นร้อยละ 84.8 ของทั้งหมด
.
ผลสำรวจพบว่าปัจจัยหลักที่คาดว่าจะทำให้แพทย์ลาออก คือ 1. สภาพแวดล้อมการทำงาน คิดเป็น ร้อยละ 61.4 สาเหตุคือถูกเอาเปรียบโดยผู้ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา และวัฒนธรรมการทำงานที่มีการกลั่นแกล้ง 2. ภาระงานหนักเกินไป คิดเป็นร้อยละ 51.7 สาเหตุคือชั่วโมงทำงานยาวนาน มีความรับผิดชอบสูงเกินไปสำหรับแพทย์จบใหม่ 3. เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ คิดเป็นร้อยละ 42.9 สาเหตุคือไม่สมดุลกับภาระงานและความรับผิดชอบและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าระยะเวลารอทุนการศึกษามีผลต่อการตัดสินใจลาออกด้วย
.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลง 7 มาตรการแก้ไขปัญหาหมอลาออกและขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ ประกอบด้วยการผลักดัน (ร่าง) พรบ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ... (ก.สธ.) หรือร่างกฎหมายแยกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
.
รวมถึงการกำหนดพื้นที่พิเศษเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง เสริมระบบบริการด้วยดิจิทัลและเทเลเมดิซีน กำหนดตำแหน่งราชการรองรับแพทย์จากเอกชนและต่างประเทศ พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ และส่งเสริมสวัสดิการเช่น บ้านพัก การเดินทางและรับ - ส่งอย่างเหมาะสม ตลอดจนเงินค่าตอบแทนจากแหล่งเงินบำรุงและงบประมาณ
.
อย่างไรก็ดี ทีมงานสาธารณสุขประชาชนและตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงความกังวลต่อมาตรการของ สธ. ไว้ว่าผู้บริหารมองไม่เห็นภาพรวมของปัญหาเชิงระบบ ไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องหลายข้อที่ปรากฏชัด เช่น ค่าตอบแทนพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ มองไม่เห็นภาระงานที่ล้นเกินและชั่วโมงการทำงานเกินกว่าที่บุคลากรสุขภาพจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างแพทย์รุ่นใหญ่และแพทย์รุ่นใหม่ ระหว่างแพทย์และวิชาชีพอื่น การทุจริตในระบบบริการสุขภาพที่ไม่ได้รับการแก้ไขและจัดการอย่างยุติธรรม การให้ค่าตอบแทนน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่เคารพเกียรติศักดิ์ศรีคนทำงาน ปัญหาเหล่านี้ค่อย ๆ ก่อความรู้สึกสิ้นศรัทธาในระบบสุขภาพนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งบุคลากรสุขภาพตัดสินใจลาออกจากการให้บริการสุขภาพภาครัฐในที่สุด
.
ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากสหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงานต่อกรณีดังกล่าวคือ
.
1) เก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ทั้งข้อมูลภาระงาน ข้อมูลชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ความต้องการเติบโตทางสายงานของแต่ละวิชาชีพ ความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงานและชั่วโมงการทำงาน
.
2) สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานพยายามร่างกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และขณะนี้กำลังพยายามยกร่างกฎหมายดังกล่าว โจทย์สำคัญเพื่อให้มีการกำหนดชั่วโมงการพักผ่อน กำหนดการลดโทษความผิดพลาดเนื่องจากการถูกบังคับให้ขึ้นทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัย และกำหนดให้หน่วยบังคับบัญชาติดตามข้อมูลการขึ้นปฏิบัติงานและการพักผ่อนอย่างจริงจัง พร้อมกำหนดโรดแมปเพื่อให้กฎหมายนี้บังคับใช้ได้
.
3) เพิ่มเส้นทางการเติบโตของทุกวิชาชีพอย่างเท่าเทียม สนับสนุนให้จัดตั้งสหภาพเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาระหว่างหน้างานกับฝ่ายบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องตรวจตราไม่ให้มีการกลั่นแกล้งในการจัดตั้งสหภาพ
.
4) บังคับใช้กฏกระทรวงบางอย่าง เช่น การเก็บห้องฉุกเฉินไว้เพื่อเคสฉุกเฉิน หากไม่เข้ากับเกณฑ์ฉุกเฉินให้ตรวจในเวลาราชการ และบังคับใช้กฏหมายความปลอดภัยในสถานพยาบาลอย่างจริงจัง
.
นอกเหนือจากนี้ผมขอเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของบุคลากรทางการแพทย์ (และรวมถึงลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ทำงานให้กับ รพ.) ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานตามคุ้มครองตาม พรบ. แรงงานฯ เนื่องจากเมื่อแพทย์ออกจาก รพ. รัฐไปอยู่เอกชนก็จะกลายเป็นลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าความคุ้มครองนี้ดึงดูดและเป็นธรรมกับบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า ยังไม่นับรวมว่ารัฐควรบังคับใช้มาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่รัฐเคยประกาศไว้ให้ครอบคลุมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
.
หากภาครัฐยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุดปัญหาแพทย์ลาออกจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากแพทย์นั้นเป็น "มนุษย์" ไม่ใช่ "เครื่องจักร" ไม่ต่างจากพี่น้องแรงงานสาขาอื่น ๆ ที่ควรได้รับสิทธิแรงงานที่เป็นธรรมเช่นกัน
.
อ้างอิง
.
https://www.bbc.com/thai/articles/cx05q4dlj7lo
https://www.the101.world/korean-worker/
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_5142069
https://www.thecoverage.info/news/content/8615
https://hfocus.org/content/2025/04/33817
https://www.facebook.com/photo/?fbid=122148342110437811&set=a.122097843074437811