โผล่แล้วโครงการนำร่อง ‘แลนด์บริดจ์’ เรียกว่าร่าง พรบ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ตั้งข้อสังเกตุว่า ‘รวบรัด’ ขั้นตอน และ “รวบอำนาจทางกฎหมายและผูกขาดการตัดสินใจ”
ร่างกฎหมายนี้ เมื่อ ๑๑ มีนา ๖๘ รมช.คมนาคมแจ้งว่า ยังร่างไม่เสร็จ อีก ๑๐ วันต่อมาปรากฏบนเว็บไซ้ท์กลางว่าเปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ ๒๑ มีนา ถึง ๒๐ เมษา ทำให้วันนี้มีร่าง พรบ.เขตเศรษฐกิจภาคใต้ ๔ ฉบับผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว
รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ร่างฯ ทั้งสี่ฉบับจ่อถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๓ กรกฎาคมนี้ ได้แก่ร่างที่เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่างฯ ของ สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.ภูมิใจไทย
อีกร่างฯ เสนอโดย อนุชา บูรพชัยศรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กับต้องมีร่างของรัฐบาลประกบ จัดทำโดยสำนักนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคใต้ ๔ จังหวัด คือชุมพร ระนอง สุราษฎร์ และเมืองคอน
ทั้งนี้ให้อำนาจการตัดสินใจในโครงการนี้ทั้งหมด ไว้ที่ ‘คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้’ ซึ่งถูกขนานนามว่า ‘ครม.ชุดเล็ก’ ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับองค์ประกอบย่อยนำไปสู่แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ๓ โครงการ
ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว จ.ชุมพร กับท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง จ.ระนอง โครงการรถไฟรางคู่ และทางหลวงพิเศษ (Motorway) ระหว่างท่าเรือชุมพรและระนอง ซึ่งอันนี้ ‘เอ็นลอว์’ บอกว่า “มีนักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสังเกตต่อความไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มทุน”
แล้วยังจะก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม “โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดระนอง ‘ขุมทองอันดามัน’ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหล่อเลี้ยงชีวิตของสัตว์” อันจะ “สร้างรายได้มหาศาลทั้งจากการท่องเที่ยวและการทำประมง” ดีเสียกว่าเปลี่ยนพื้นที่เป็นย่านอุตสาหกรรม
“ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม และต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่ยากต่อการฟื้นฟูเยียวยา” ร่าง กม. SEC เหล่านี้จึงถูกจัดให้เป็นร่าง กม.การเงิน ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อนนำเข้าสภา
ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้สี่จังหวัดนี้เดินตามแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมล้วมากมาย “จากการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมและโรงงานจำนวนมาก การปล่อยมลพิษ น้ำมันรั่ว” ยังต้องมีการ ‘ประเมินผลสัมฤทธิ์’
EnLAW รณรงค์ต้านร่าง
กม.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เหล่านี้ ด้วยเหตุหนึ่งจาก “สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกรวบอำนาจในการตัดสินใจ”
อีกทั้งโดยตัวอย่างผลร้ายที่เกิดจากโครงการอีอีซี
“ที่คนภาคตะวันออกต้องเผชิญปัญหา โดยที่ไม่ได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และวิถีชีวิตที่มีอยู่เดิมต้องล่มสลาย”