วันอังคาร, เมษายน 22, 2568

ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟ : “การที่ RE Big Lot ไม่มีการเปิดประมูล (เสนอราคาแข่งขัน) และการล็อกราคาที่เก่าไปแล้ว มันจะทำให้ค่าไฟ "แพงเกินควร" ไปอีกยาวนาน เพราะข้อเท็จจริงคือ ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มีต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ


Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล
17 hours ago
·
หนึ่งวันพันเหตุการณ์จริงๆ เมืองไทย 55 อยากเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง "ค่าไฟไทย เมื่อไหร่จะเป็นธรรม" อัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมจากสิ่งที่เคยเขียนไปเมื่อสองปีที่แล้ว (https://greennews.agency/?p=32643) แต่ยังไม่มีเวลา อยากแวะมาแชร์ความเห็นสั้นๆ ต่อกรณีที่ รมว. กระทรวงพลังงาน ออกมาตอบเรื่องที่ เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการคัดเลือกเจ้าปัญหา 5,200 MW ชื่อเล่น "RE Big Lot" (ส่วนของลม รอติดตามตอนต่อไปเพราะครบกำหนดที่ต้องเซ็นในปีหน้า 2569) ก่อนนะคะ
1. ปัญหาของ RE Big Lot ที่หลายฝ่ายพยายามทักท้วงมาตลอดคือ ไม่เปิดประมูล และไม่โปร่งใสชนิดที่เปิดช่องให้ กกพ. ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง เพราะไม่ประกาศหลักเกณฑ์การคัดเลือกล่วงหน้า เหมือนให้เด็กทำข้อสอบโดยไม่รู้ว่าแต่ละข้อมีคำถามอะไร แต่ละข้อมีคะแนนเท่าไหร่ แถมผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดูไร้คำอธิบาย เช่น ทำไมถึงให้ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่ชนะ 40% ของโครงการทั้งหมด จ่ายไฟเข้าระบบก่อนรายอื่น (ตัวเองเคยเขียนบทความเรื่องนี้ สองปีที่แล้ว https://themomentum.co/citizen20-renewable-energy/ )
2. การที่ RE Big Lot ไม่มีการเปิดประมูล (ผู้ประกอบการเสนอราคาแข่งขัน) ส่งผลให้พรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงฝ่ายอื่นๆ ออกมาเรียกร้องว่า ทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง และการล็อกราคาที่เก่าไปแล้ว เช่น แสงอาทิตย์ 2.17 บาทต่อหน่วย นานถึง 20-25 ปี นี่มันจะทำให้ค่าไฟ "แพงเกินควร" ไปอีกยาวนาน เพราะข้อเท็จจริงคือ ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มีต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ ปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ 1.60-1.80 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และอนาคตจะถูกลงกว่านี้อีกมาก
3. การที่รัฐยอมเซ็นสัญญาในโครงการที่มีปัญหามากมาย โดยอ้างง่ายๆ ว่า "ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย" นั้น จึงนับเป็นตลกร้าย โดยเฉพาะในเมื่อไม่กี่เดือนก่อน กกพ. ยังชง ครม. ว่าจะลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท (ตอนนี้ยังลดไม่ได้ เป็นแค่ "ราคาเป้าหมาย") ด้วยการเสนอให้ยกเลิกสัญญา Adder / FiT ของโครงการพลังงานหมุนเวียนในอดีต --- ซึ่งโครงการเหล่านั้นก็ใช้รูปแบบสัญญาแบบเดียวกันกับ RE Big Lot 5,200 MW นี่แหละ เพียงแต่รัฐอุดหนุนน้อยกว่าเท่านั้น ดังนั้นการมาอ้างว่า โครงการในอดีต "แพงไป" แต่กลับมาทำเหมือนเดิมเด๊ะกับโครงการในปัจจุบัน จึงไม่มีเหตุมีผลใดๆ ที่ฟังขึ้น ย้อนแย้งกลับไปกลับมาอย่างยิ่ง คำอธิบายเดียวที่ make sense คือ เลิกเอาใจกลุ่มทุนในอดีต แต่อยากเอาใจกลุ่มทุนปัจจุบัน 555
4. ข้ออ้างของ รมว. พลังงาน ที่บอกว่า มีการใส่ข้อความเพิ่มเติมตามความเห็นกฤษฎีกาว่า "ถ้าผิดก็เลิกสัญญาก่อน 25 ปีได้" สุดท้ายมันจะไม่มีผลอะไรเลย เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่อง "ความผิดตามกฎหมาย" อะไรชัดๆ แต่เป็นเรื่อง ภาครัฐดำเนินนโยบายที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และไม่เป็นธรรมกับประชาชน (มันจะไม่เป็นผลเพราะอะไร ดูได้ง่ายๆ จากคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดในเคส Big Lot นี้แหละ ที่ EA ไปร้องศาลขอคุ้มครอง แล้วศาลปกครองสูงสุดยกคำขอ โดยตัดสินว่า การตัดสินใจของ กกพ. (ที่ไม่คัดเลือกโครงการของ EA) "เป็นไปโดยชอบ" แล้ว -- ซึ่งคิดว่าศาลก็ต้องตัดสินแบบนี้อยู่แล้ว เพราะศาลจะแย้งได้ไงว่าเหตุผลของ กกพ. ไม่ถูกต้อง ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน)
5. ในภาพใหญ่ เราควรเรียกร้องให้รัฐเปิดเสรีภาคไฟฟ้า และปลดล็อคหลังคาโซลาร์ภาคประชาชนอย่างจริงจัง เพราะแทนที่จะเปิดคัดเลือกหลายพันเมกะวัตต์จากผู้ประกอบการ (แล้วใช้รูปแบบสัญญาที่ล้าหลังคือ ล็อกราคาและเงื่อนไขไป 20-25 ปี) การปลดล็อคหลังคาโซลาร์ระดับท้องถิ่น และครัวเรือน จะทำให้ไทยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว แถมเป็นวิธีสร้าง "ประชาธิปไตยทางพลังงาน" กระจายอำนาจให้กับชุมชนและประชาชนด้วย

https://www.facebook.com/SarineeA/posts/1242797247215960