
Reporter Journey
17 hours ago
·
และแล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่แพทย์เกือบทั้งโรงพยาบาลรัฐพร้อมใจกันลาออก หรือย้ายสังกัดไปที่อื่นกันเกือบหมด โดยเหตุการณ์นี้เกิดที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ซึ่งนับว่าเป็นจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญที่สุดจังหวัดหนึ่ง และการเดินทางเพื่อที่จะขึ้นเครื่องบินในจังหวัดที่ใกล้ที่สุดอย่างอุดรธานี ยังต้องใช้เวลานั่งรถยาวนาน 3 - 4 ชั่วโมง ที่อยู่ห่างออกไปถึง 200 กิโลเมตร
.
จากประกาศของโรงพยาบาลที่เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กถึงประเด็นข่าวที่ออกมาคือ แพทย์อินเทิร์น 1 ในโรงพยาบาลแห่งนี้ซึ่งมีจำนวน 16 คน ที่ทำงานใช้ทุนกำลังจะครบ 1 ปี แจ้งความประสงค์ลาออกเพื่อกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนามีทั้งสิ้น 6 คน เนื่องจากผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานในโรงพยาบาลสังกัดกทม. แล้ว และมีอีก 4 คน กำลังอยู่ในระหว่างการคัดเลือกเข้าทำงานในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เช่นกัน
.
หมายความว่าจะมีแพทย์อินเทิร์น 1 หายไปจากโรงพยาบาลแห่งนี้ถึง 10 คน จากทั้งหมด 16 คน ซึ่งความสำคัญของแพทย์อินเทิร์น 1 คือทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทั่วไปที่มีจำนวนมหาศาลในวอร์ดผู้ป่วยนอก (OPD) โดยเป็นการวินิจฉัยโรคและคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นว่ามีความจำเป็นจะต้องส่งต่อไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ และแน่นอนว่าโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ป่วยในแต่ละวันล้นจนจะขี่คอรอคิวกันอยู่แล้ว การไม่มีแพทย์อินเทิร์นเพียงพอกำลังกลายเป็นหายนะของระบบสาธารณสุขในจังหวัด
.
จากข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬระบุว่า สถานการณ์ของแพทย์มีอัตราส่วนต่อประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทย คือแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 6,000 คน และปัจจุบันทั้งจังหวัดมีแพทย์เพียง 73 คน ขณะที่ประชากรมีจำนวนถึง 420,000 คน ซึ่งบึงกาฬติดอันดับจังหวัดที่แพทย์ขาดแคลน 1 มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
.
ในแต่ละปีบึงกาฬจะมีแพทย์เข้ามาใหม่ราว 10–16 คน แต่กลับมีอัตราการลาออกประมาณ 4–5 คน ทุกปี พอครบปีที่ 3 ซึ่งแพทย์อินเทิร์นจะใช้ทุนครบพอดี ก็จะมีสิทธิ์ลาไปศึกษาต่อเฉพาะทางไปเกือบหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแพทย์เกือบทั้งหมดเป็นมีภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด หรือไม่ก็มาจากกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งมีความประสงค์ต้องการกลับไปเรียนต่อเฉพาะทางเพื่อเพิ่มทักษะทางวิชาชีพและรายได้ให้สูงขึ้น ไม่ก็อยากกลับไปอยู่ใกล้บ้านใกล้ครอบครัว เพราะแพทย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง มีคนที่รักเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่พวกเขาหรือเธอต้องประกอบอาชีพแพทย์เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามวุฒิการศึกษาที่ร่ำเรียนจบมา
.
อีกทั้งบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ตั้งใหม่ได้เพียง 14 ปี แล้วก็ยังไม่เจริญ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้ามาตรฐาน แถมตั้งอยู่ห่างไกลจากจังหวัดอื่นๆ ไกลจากกรุงเทพฯ การเดินทางก็ไม่สะดวก ทำให้การอยู่ทำงานในจังหวัดนี้ไม่ดึงดูดให้คนอยากอยู่ใช้ชีวิต แม้แต่คนบึงกาฬก็ยังต้องหนีออกจากจังหวัดบ้านเกิดตัวเองไปหางานทำจังหวัดอื่น เนื่องจากอัตราการจ้างงานและค่าจ้างต่ำ
.
ปัญหาที่จะตามมาคือ เมื่อแพทย์ที่ปกติมีไม่เพียงพออยู่แล้ว การที่แพทย์ลาออกเพิ่มยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่สั่งสมเรื้อรังมายาวนานให้เลวร้ายลงไปอีก
.
อีกทั้งโรงพยาบาลบึงกาฬเป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดที่ต้องส่งแพทย์ลงไปยังโรงพยาบาลระดับชุมชนก็ขาดแคลน ซึ่งถ้าหากคนไข้เยอะแต่แพทย์ลดลง แพทย์จะยิ่งทำงานหนักมากขึ้น
.
เมื่อทำงานหนักจนร่างกายและจิตใจอ่อนหล้า มนุษย์ที่ต่อให้มีอุดมการณ์แน่วแน่แค่ไหนก็ตามสักวันก็ไม่สามารถรับมือกับภาระงาน และระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำงานอยู่ได้อย่างมีความสุข แถมยังทำร้ายคนทำงาน สุดท้ายก็นำมาสู่การลาออกเพื่อไปอยู่ในสถานที่ที่คุณภาพชีวิตดีกว่า มีอนาคตกว่า
.
คำถามคือ แล้วกระทรวงสาธารณสุขรับรู้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่? ก็ตอบได้ว่ารู้ แต่วิธีการแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ คือ การไม่แก้ที่ต้นตอของปัญหา แต่ยังพยายามบีบ รีด ขยี้ให้แพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดและกำลังบอบช้ำหนักต้องแบกระบบที่กำลังพังลงต่อไป โดยเบื้องต้นจะขอให้มีการบริหารจัดการส่งหมออินเทิร์นภายในเขต 8 ไปหมุนเวียนแต่ละโรงพยาบาล
.
นั่นหมายความว่า จะต้องไปเอาตัวแพทย์จากจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 8 ที่แต่ละจังหวัดก็มีแพทย์ไม่เพียงพออยู่แล้วเกลี่ยมาที่บึงกาฬ เพื่อหวังว่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่แผนระยะยาวเพื่อรักษาบุคลากรอันมีค่าต่อระบบนั้นก็ยังไม่ยอมทำและปล่อยให้วนลูปเหมือนเดิมซ้ำๆ ไม่เปลี่ยนแปลง
.
อันที่จริงการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตแพทย์เพิ่มเยอะๆ ซึ่งในความจริงแล้วก็ผลิตเยอะไม่ได้เนื่องจากการจะสร้างคนๆ หนึ่งให้เป็นแพทย์ต้องใช้เงินงบประมาณไม่น้อย เพราะหลักสูตรแพทย์แบบสากลนั้นก็เป็นศาสตร์จากโลกตะวันตก องค์ความรู้ ตำราเรียน เครื่องมือ และอุปกรณ์ ก็ต้องนำเข้า อีกทั้งอาจารย์แพทย์ก็ไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะรองรับ ซึ่งระดับคนเป็นอาจารย์แพทย์ยิ่งต้องมีความรู้สูงก็มีจำนวนไม่มากในประเทศนี้ และต่อให้แต่ละปีจะมีเด็กสอบติดแพทย์เข้ามาดูเหมือนจะเยอะ แต่กว่าจะเรียนจบ 6 ปี กว่าจะสอบได้ใบประกอบวิชาชีพแพทย์ บางคนอาจจะถอดใจไปกลางคันเรียนไม่จบครึ่งต่อครึ่งที่สอบเข้ามาได้ เพราะการเรียนแพทย์ไม่ได้ง่ายเหมือนนั่งกดแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ต้องใช้ทั้งกายทั้งใจ ความรู้มันสมอง ความรับผิดชอบสูง เพราะมันคืออาชีพที่ต้องดูแลคนอื่นและทำงานกับความเป็นความตายของมนุษย์
.
ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้นที่กำลังแห่ลาออกจากระบบ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เทคนิค ก็กำลังลาออกจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศเป็นจำนวนมากไม่แตกต่างกัน เพราะการอยู่ในระบบที่ไม่เคยแคร์คนทำงาน กำลังกลับมาทำร้ายระบบเอง ซึ่งเมื่อระบบอ่อนแอลงผลกระทบก็จะตกกับประชาชนผู้ใช้บริการ ที่เดิมทีก็รอการรับการรักษานานอยู่แล้วให้รอนานเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะยิ่งสร้างความหงุดหงิดใจมากขึ้น และทำให้กรณีการกระทบกระทั่งระหว่างคนไข้ ญาติ และบุคลากรเกิดขึ้นบ่อยมากตามลำดับ เพราะคนทำงานขาดแคลน งานล้นมือทำไม่ทัน คนป่วยก็เพิ่มมากขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างดีมานและซัพพลาย
.
สำหรับประเทศไทยนับว่าคนไทยเข้าถึงการรักษากับแพทย์ได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพียงแค่เจ็บป่วยนิดๆ หน่อยๆ เอะอะก็ไปหาหมอแล้ว ทำให้คนไทยละเลยการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย เพราะต่างคนก็คิดว่าไปหาหมอเอาเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าป่วยขึ้นมา
.
สิ่งนั้นทำให้ภาระในการรักษาพยาบาลตกอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย เพราะในแต่ละปีสถาบันการศึกษาสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้เพียงแค่ 2,000 - 3,000 คนเท่านั้น อย่างที่ทราบกันการเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาเรียนหนัก 6 ปี เมื่อเรียนจบก็ไปทำงานใช้ทุนอีก 3 ปีเป็นอินเทิร์น 1 2 และ 3 ยังไม่รวมการเรียนต่อด้านเฉพาะทางที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเพิ่มอีก 2 ปี อีกทั้งถ้าจะยกระดับวิทยฐานะก็ต้องเรียนหลักสูตรต่างๆ เพิ่มซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วกว่าที่แพทย์คนหนึ่งจะสามารถเป็นบุคลากรที่มีฝีมือในระดับสูงได้ต้องเรียนยาวนานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น
.
จากข้อมูลสถานการณ์แพทย์ในปัจจุบัน จำนวนแพทย์ทั่วประเทศมีทั้งหมดมีประมาณ 50,000 - 60,000 คน แบ่งเป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน หรือคิดเป็น 48% แต่ภาระงานเราที่ดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ประมาณ 45 ล้านคน จะเห็นว่า 75 - 80% ของประชากร แต่มีแพทย์ในระบบแค่ 48% ตัวเลขนี้จึงเห็นภาระงานชัดเจน เฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ในขณะที่มาตรฐานโลกกำหนดให้แพทย์ 3 คนต่อประชากร 1,000 คน นับว่าแพทย์ไทยต้องรับมือกับคนไข้ล้นทะลักเกินกำลังกว่าที่ควรจะเป็น
.
ผลที่ตามมาคือ แพทย์ไทยเผชิญคือการทำงานหนักเกินกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลก โดยข้อมูลผลสำรวจการสำรวจชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐระบุว่า แพทย์ต้องทำงานนอกเวลาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น
.
1. ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 9 แห่ง
2. ทำงานมากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 4 แห่ง
3. ทำงานมากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 11 แห่ง
4. ทำงานมากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 18 แห่ง
5. ทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 23 แห่ง
.
ซึ่งตามมาตรฐานโลกระบุว่า แพทย์ต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนแพทย์นับแสนคน ต่างจากไทยที่มีแพทย์เพียงหลักหมื่นคน แต่ต้องดูแลประชากรทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน ความเหนื่อยล้าต่อภาระงาน ระบบที่ไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และปัญหาการทำงานเป็นพิษทั้งจากคนในองค์กร จากคนไข้และญาติ ทำให้เป็นตัวเร่งให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกในที่สุด
.
ไม่เพียงแค่เรื่องการทำงานหนักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยระบบราชการไทยที่เป็นแบบนี้ ทำให้มักเจอปัญหาการตกเบิกเงินเดือนบุคลากรอยู่แทบทุกปีงบประมาณ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มายาวนานและไม่มีทางแก้ไขได้เสียที เสียสะท้อนของแพทย์โรงพยาบาลรัฐ พบว่าการตกเบิกเงินเดือนแพทย์ มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน หรือนานถึง 10 เดือนก็โดนกันมาแล้ว ซึ่งในระหว่างนั้น แพทย์จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เลย แพทย์จบใหม่ที่เข้ามาทำงานเต็มตัวจะเจอกันทุกราย และการเรียนแพทย์นั้นกว่าจะจบมาได้มีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนจนถึงหลักล้านบาท ดังนั้นแพทย์ที่ทนผ่านช่วงเวลาไม่มีเงินเดือนมาได้นับว่าเก่งมาก เพราะแพทย์ที่จบจากการเรียนโดยใช้ทุนของมหาวิทยาลัยรัฐ ก็ใช่ว่าจะมีฐานะดีที่พ่อแม่จะจ่ายเงินให้ลูกไปทำงานจนกว่าจะได้เงินเดือน อีกทั้งด้วยสามัญสำนึกของคนที่เรียนจบแล้ว ได้งานทำแล้ว ไม่มีใครอยากแบมือขอเงินพ่อแม่ต่อ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ระบบราชการแก้ไขไม่ได้เสียที
.
ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เคยให้ข้อมูลว่า การลาออกของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบราชการไม่เคยแคร์คนทำงาน และมักให้ทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงกันข้ามกับโรงพยายบาลเอกชนที่ส่วนใหญ่จะแคร์แพทย์มาก กลัวแพทย์ลาออก เพราะว่าโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องการเก็บแพทย์ฝีมือดีเอาไว้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพราะการลาออกของแพทย์ หรือย้ายไปอยู่โรงพยาบาลคู่แข่งนั้นนับเป็นความเสียหายทางโอกาสที่โรงพยาบาลควรจะได้รับ ดังนั้นการรั้งตัวของแพทย์เอาไว้ด้วยฐานเงินเดือนที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่า และการให้สวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่โรงพยาบาลรัฐจะให้ได้ จึงเป็นข้อเสนอสำคัญที่จะรั้งแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ลาออก
.
วันนี้โรงพยาบาลบึงกาฬคือตัวอย่างที่เริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่า การที่บางคนชอบพูดว่า “ทำไม่ไหว ไม่เต็มใจทำก็ลาออกไปซะ” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดกับระดับโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ยังไม่รวมทั้งโรงพยาบาลระดับอำเภอ ชุมชนที่ทั้งโรงพยาบาลเหลือแพทย์แค่ 1 คน หรือไม่มีเลย
.
การพยายามเติมคนเข้ามาในระบบที่เหมือนกับถังน้ำที่รั่วอยู่ตลอดเวลา ต่อให้เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเต็ม ถ้าไม่อุดรอยรั่วอย่างถูกวิธี ถ้าคนไข้กับญาติยังคงปากดีแบบนี้ สักวันโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ก็จะเริ่มเห็นแพทย์ทะยอยลาออกจนแทบไม่เหลือเช่นกัน สุดท้ายเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ถ้าไม่มีเงินรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องไปซื้อยากินเอง ต้มยาหม้อกินเอง หรือไม่ก็ได้รับการเปิดเลนพิเศษ ดิ่งตรงจากบ้านสู่วัดไปเลยไม่ต้องแวะโรงพยาบาล ถ้าวันหนึ่งระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงง่ายเกินไปจนไม่เห็นคุณค่าแบบนี้ยังไม่สามรถหยุดวงจรอนาถนี้ลงได้จนระบบพังครืนลงทั้งประเทศ
https://www.facebook.com/photo?fbid=1230199855129494&set=a.226668178816005