วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2567

ประธานวุฒิสภาสั่งงดประชุม ๑ วัน ทำให้ร่าง พรบ.ประชามติต้องเลื่อนพิจารณาออกไปอีก ๑ เดือนกว่า

งานนิติบัญญัติสำคัญมากสองเรื่อง ที่ฝ่ายค้านผลักดันสุดเหวี่ยง คือแก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม ซึ่งพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง บางอย่างถูก สว.สีน้ำเงินออกมางัด และดูแล้วน่าจะตั้งท่าดันกันต่อจนตกหน้าผา

เมื่อวันก่อน เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.ภาคประชาชนปูดว่า ประธานวุฒิสภาสั่งงดประชุมสองวัน วันนี้ (๑๔ ตุลา) หยุดชดเชย แล้วแถมหยุดวันที่ ๑๕ เพิ่มอีกวัน “จะกระทบต่อไทม์ไลน์การแก้ พรบ.ประชามติให้ทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะหมดวันที่ ๓๐ ตุลาคม”

เราทราบกันว่า สว.สีน้ำเงินชุดนี้เริ่มขยับกล้ามของตนด้วยการตีตกร่างฯ ที่ ส.ส.โหวตผ่านไปให้ บอกว่าต้องมติโหวตสองชั้นแทน เสียงข้างมากปกติก็ผ่าน (ชั้นเดียว) จึงต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา ปรับจูนให้ทันวันที่ ๓๐ ตุลา

ตามไทม์ไลน์ทีจะลงตัว วุฒิสภาต้องตั้ง กมธ.ร่วม ในวันที่ ๑๕ ตุลา เพื่อที่กรรมาธิการของสองสภาได้ถกกันประมาณ ๑ อาทิตย์ตั้งแต่ ๑๖ ตุลา ให้แล้วเสร็จในวันที่ ๒๓ ตุลา จะได้ส่งร่างให้ที่ประชุมใหญ่ร่วมสองสภาพิจารณาในวันที่ ๒๔ ตุลา

เป้าหมายก็คือวันที่ ๒๘ ตุลา วุฒิสภาอนุมัติร่าง แล้ววันที่ ๓๐ ตุลา สภาผู้แทนฯ ก็ให้ความเห็นชอบตาม ตานี้เมื่อวุฒิสภางดประชุมวันที่ ๑๕ ก็ต้องเลื่อนไปประชุมวันที่ ๒๑ แทน ย่อมไม่ทันตามไทม์ไลน์แน่ๆ เพราะวันที่ ๓๐ ตุลาเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม

เมื่อไม่สามารถผ่านร่าง พรบ.ประชามติได้ทันสมัยประชุมนี้ ก็ต้องเลื่อนไปประชุมต่อในสมัยหน้าซึ่งเริ่มวันที่ ๑๒ ธันวา เสียเวลาไปเดือนกว่าๆ ทีเดียว ระหว่างปิดสมัยประชุม เทวฤทธิ์บอกว่าทั้งที่ช่วง ๑๕-๑๘ ตุลา ก็มีการประชุมกรรมาธิการ สว.

ไฉนประธานสั่งงดประชุมเต็มสภาในวันที่ ๑๕ แม้นว่าปกติแล้วการประชุมเต็มสภาและคณะกรรมาธิการต่างๆ จะกระทำพร้อมกันไปได้ หลายคนเลยเก็บเอาไปสงสัยได้ว่า พรบ.ประชามติถูกประธานวุฒิสภาวางยาเสียแล้วกระมัง

อนึ่ง โชคดี ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ไปแขวนค้างในการประชุมสภาฯ เมื่อ ๒๙ สิงหา และได้รับการบรรจุในวาระประชุมวันที่ ๑๗ ตุลานี้แทน ซึ่งจะเป็นเพียงการเสนอรายงาน เกี่ยวกับแนวทางการเสนอกฎหมายนี้เท่านั้น

“ส่วนร่างกฎหมายจริงๆ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเข้าสมัยประชุมหน้า” ส.ส.ปกรณ์วุฒิว่า พร้อมทั้งขอบใจพรรคเพื่อไทย ที่ทำตามคำพูดเดิมที่ว่าจะนำรายงานแนวทาง พรบ.ประชามติ ๓ ประเด็น เข้าสู่การพิจารณาตั้งแต่วันที่ ๑๗ นี้ สามประเด็นที่ว่าก็คือ

จะให้ตัดนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ออกไป กับไม่ตัด หรือไม่ก็ให้นิรโทษกรรมคดี ม.๑๑๒ โดยมีข้อแม้ นั่นคือต้องมีการพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเจ้าพนักงานสะเพล่า หรือผู้ต้องหาถูกกลั่นแกล้ง จึงได้รับนิรโทษกรรม

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/36YQg25sJP6 และ https://www.senate.go.th/.../1/fileups/182/files/meeting.pdf)