วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2567

‘ตุลาประชาชน’ เปิดศาลจำลองฟ้องรัฐ ฐานละเมิดสิทธิเสรีภาพ-สังหารประชาชน


พรรคประชาชน - People's Party
7 hours ago
·
[ ‘ตุลาประชาชน’ เปิดศาลจำลองฟ้องรัฐ ฐานละเมิดสิทธิเสรีภาพ-สังหารประชาชน ]
.
ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีโศกนาฏกรรมที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อประชาชนหลายเหตุการณ์ บางเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยมโจ่งแจ้งกลางเมือง แม้จุดเริ่มต้นของแต่ละครั้งอาจแตกต่างกัน แต่ทุกเหตุการณ์จบคล้ายๆ กันคือไม่มีใครต้องรับผิด กระบวนการยุติธรรมไม่เคยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าจะคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้จริง
.
เป็นที่มาของกิจกรรมช่วงบ่ายวันนี้ (13 ตุลาคม) ที่ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคประชาชน พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช ร่วมกับกลุ่มดินสอสี ในกิจกรรม ‘ตุลาประชาชน’ เปิดศาลจำลองให้ประชาชนได้ลองฟ้องรัฐจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในนามของความมั่นคง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
.
กิจกรรมครั้งนี้ พรรณิการ์ รับบททนายความประชาชน ยื่นฟ้องรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการจับกุมคุมขัง สังหาร ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภา 2535, เมษาและพฤษภา 2553, คดีตากใบและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
ส่วน ศศินันท์ รับบท อัยการ ทนายของรัฐที่ต้องแก้ต่างข้อกล่าวหา ขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ รับบทคณะลูกขุน รับฟังข้อต่อสู้และข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนจะลงมติตัดสินว่าจำเลยในคดีนี้ซึ่งคือรัฐ มีความผิดจริงหรือไม่
.
พรรณิการ์ ในฐานะทนายประชาชน ได้กล่าวถึงความรุนแรงที่กระทำในนามของรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน พร้อมเบิกหลักฐานต่างๆ ทั้งภาพถ่ายประชาชนที่ถูกกระทำ ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันล้อมปราบผู้ชุมนุม 6 ตุลา 19, ภาพอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์ ‘ถีบลงเขาเผาลงถังแดง’ ที่รัฐกระทำต่อประชาชนผู้ต้องข้อหาเป็น ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ รวมถึงภาพโศกนาฏกรรมตากใบ ที่ประชาชนถูกสลายการชุมนุมและถูกบังคับให้ต้องแออัดยัดเยียดอยู่ภายในรถยีเอ็มซีของทหารกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อนำตัวไปสอบสวนยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเมื่อถึงที่หมาย 75 คน
.
ด้านศศินันท์ที่รับบทอัยการ แก้ต่างทนายฝ่ายโจทก์ในหลายประเด็นและหยิบยกคำกล่าวอ้างที่มักถูกนำมาใช้เสมอโดยฝ่ายรัฐ เช่น การกระทำของรัฐเกิดขึ้นจาก ‘ความหวังดีต่อประเทศ’ เพื่อจัดการ ‘การใช้เสรีภาพเกินขอบเขต’ ที่จะกระทบต่อ ‘ความมั่นคงของชาติและสถาบันหลัก’ ขอให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า แล้วจง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’
.
ทั้งนี้ หลังประชาชนคณะลูกขุนรับฟังพยานหลักฐานจากทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว จึงลงมติชี้ขาด ความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าฝ่ายรัฐกระทำผิดจริง ต้องคืนความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสียและครอบครัวในแต่ละเหตุการณ์
.
กิจกรรมศาลจำลองครั้งนี้ คือการจำลองสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้งในสังคมไทย
.
วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้เซาะกร่อนบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ทำให้การสังหารประชาชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกครั้งไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ มีเพียงการเยียวยาด้วยเงิน แต่บาดแผลในจิตใจยังตกค้าง ประวัติศาสตร์ไม่ได้รับการชำระ ความยุติธรรมไม่เคยถูกส่งถึงผู้สูญเสีย สังคมไม่สามารถเดินหน้าสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้ ซ้ำร้ายยังพาสังคมกลับไปสู่วังวนของปัญหาเดิม
.
การมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองในการทำให้ประเทศมีหลักนิติรัฐนิติธรรม จึงสำคัญมากต่อการหยุดวงจรอุบาทว์นี้ โดยการแสดงเจตจำนงต้องทำผ่านการกระทำ มิใช่เพียงคำพูด รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการคืนความยุติธรรมแก่ประชาชน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมศาลจำลองวันนี้ เป็นไปได้ในความเป็นจริง
.
ตุลาการสามารถตัดสินให้ประชาชนชนะ
นำตัวผู้เกี่ยวข้องมารับโทษ
อนาคตจะไม่มีใครกล้าทำซ้ำอีก
.
เมื่อถึงวันนั้น สังคมไทยจึงจะเดินหน้าสู่อนาคต ความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะเคียงข้างประชาชน จึงจะกลับมา


https://www.facebook.com/PPLEThai/posts/pfbid02BxiXCatqfDiBFA6mc51Kr6vkkARLA24qNvrGRxpi55QLQzw6aCepRebDHmrEm9V2l
.....