วันพุธ, เมษายน 26, 2566

ภาษาพาทัวร์ ? มีคนอ่าน ภาษาพาที อย่างมี Empathy อ่านไป เอ๊ะไป


Phanidchanok Nidnok Damnoentam
7h
.
#ภาษาพาที

ได้อ่านหนังสือชุดนี้ครบทั้ง 6 เล่ม 6 ระดับชั้นแล้วเป็นที่เรียบร้อย คิดว่าพยายามอ่านอย่างมี Empathy มากแล้ว คือพยายามไม่ตั้งธงในใจ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความเอ๊ะที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดการอ่านได้ คิดว่าการอ่านในตอนที่โตแล้ว เราก็มีภูมิต้านทานประมาณนึง จริงๆ ก็อยากไปนั่งอ่าน หรือไปนั่งดูเด็กๆ อ่านเหมือนกัน ว่าพวกเขาคิดเห็นยังไง รีแอ็คชันนเป็นยังไงน่ะนะ

ขอว่าไปเป็นข้อๆ

- เล่ม ป.1 ยังไม่มีอะไรให้ลุ้นมาก เพราะยังเป็นคำโดด เน้นหัดอ่าน ผ่านเรื่องราวของตัวละคร ใบโบก ใบบัว ช้างสองตัวเพื่อนรักของเด็กๆ
.
- พอขึ้นป.2 เป็นต้นไป เนื้อหาจะเริ่มยาวขึ้นตามความเหมาะสมของช่วงวัย มีส่วนนึงที่ชอบ คือเห็นความตั้งใจที่จะส่งตัวละครใบโบก ใบบัว ออกจากหนังสือไป ช้างสองตัวนี้เป็นเหมือนตัวแทนความเป็นเด็ก ที่ปรากฏมาตอนป.1 วัยเริ่มเรียนเขียนอ่าน อ่านออกครั้งแรกก็ได้รู้จักกับเพื่อนสองตัวนี้ ทีนี้พอขึ้นป.2 หนังสือไม่ตัดฉับ แต่ยังเลี้ยงใบโบกใบบัวเอาไว้ถึงประมาณเทอมหนึ่ง ซึ่งก็เป็นช่วงสิ้นสุดปฐมวัยพอดี มีการปูเรื่องมาให้เห็นเหตุผล ก่อนที่เด็กๆ จะต้องอำลาเพื่อนช้าง และเนื้อเรื่องหลังจากนั้นก็จะเป็นชีวิตของเด็กๆ กับการใช้ชีวิตในสังคมนี้
.
- ซึ่งความชิบหายวายป่วงก็คือเริ่มต้นหลังจากช้างไปแล้วนั่นแหละ 5555555 สามารถหาจุดเอ๊ะได้ตั้งแต่เล่ม ป.2 เลย
.
- พีคหนักมากๆ จะอยู่ที่เล่ม ป.5-6 เข้าใจว่าเป็นเพราะมันคือวัยที่อ่านคล่องแล้ว คนเขียนก็เลยมันมือ เขียนเรื่องราวประโลมโลก ยัดเยียดทัศนคติล้าหลังเข้าไปให้อ่านกันด้วยสำนวนนิยายสมัยก่อนสงครามโลก อินสะไปร์บาย ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน แต่ฝีมือไม่ถึงเท่า ดังนั้นเราจึงได้เห็นคอนเทนท์บ้ง ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะมาจากสองเล่มนี้แหละ แต่จริงๆ เล่มอื่นก็มี เยอะเหมือนกัน
.
- ที่น่าแปลกใจสำหรับเราคือเล่ม ป.4 ไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับปรับปรุง หรือว่าแยกทีมงานคนละชุด หรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ถือว่าเป็นเล่มที่มีจุดชวนอึดอัดน้อยที่สุดจากทั้งหมด คือเขียนเรื่องราวมาด้วยความตั้งใจที่ต่างจากเล่มอื่นชัดเจนเลยนะ เห็นถึงความพยายามนำเสนอเรื่องราวร่วมสมัยชวนให้พูดคุยต่อ เช่น มีบทหนึ่งเขียนเรื่องเพื่อนร่วมห้องที่เป็นเด็กพิเศษ ด้วยน้ำเสียงที่สำหรับเราคิดว่าโอเคมากๆ เลยนะถ้าคิดว่ามันคือตำราไทยอ่ะ เล่มนี้จะแตะไปยังเรื่องรอบตัวรอบโลก เล่าด้วยทัศนคติที่ค่อนข้างไม่ตัดสิน สั่งสอนในระดับกำลังดี ความยาวและยากของเนื้อหาดูเหมือนจะยากกว่าป.6 อีกนะ 555 เลยค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นทีมงานคนละชุดกันแน่ๆ
.
- ซึ่งพอได้อ่านเล่มป.4 เลยทำให้คิดว่า เอาจริงๆ มันมีความเป็นไปได้อยู่ที่จะทำให้มันดี คือป.4 ก็ยังไไม่ใช่หนังสือที่ดีที่เราอยากให้ลูกเรียนหรอกนะ แต่มันดีที่สุดในซีรี่ส์นี้ และสัมผัสได้ถึงความพยายามออกจากกรอบบางอย่าง คิดว่าถ้าได้คุยกับคนทำงานเล่มนี้น่าจะดี
.
- ตัดมาที่ ป.5-6 เละเทะไม่มีชิ้นดี คือสองชั้นนี้เด็กเข้าสู่วัยรุ่นแล้วเนาะ เค้าเริ่มจะไม่อยากฟังผู้ใหญ่สอนแล้ว แต่หนังสือสอนมากกก สอนจนอึดอัด ไม่มีความเป็นเพื่อนที่อยากจะนั่งลงคุยกับเขาเลย ในทางภาษา ชั้นพี่ใหญ่ของระดับประถมนี่เขาคล่องแคล่วทางภาษามากแล้ว แต่หนังสือไม่มีความรุ่มรวยทางภาษาให้เขาเลย มันจืดชืดและอยู่ในกรอบ ไม่มีการทดลอง กลอนก็ไม่เพราะ ไม่ใส่ใจกับพวกสัมผัสในหรือการเล่นคำฉวัดเฉวียน ที่เราว่ามันสำคัญมาก ข้อเขียน บทกวีดีๆ มันจะส่งพลังให้เด็ก โดยเฉพาะกับคนที่เขาชอบภาษา จำได้ว่าตอนเด็กๆ สิ่งที่เราได้อ่านมันท้าทายเรามากกว่านี้ และทำให้อยากสู้ อยากรู้ต่อ จนทำให้ภาษาไทยเป็นวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุด
.
- มีคนถามถึงคนเขียน ซึ่งในเล่มจะไม่ปรากฏ มีแค่ชื่อคณะกรรมการจัดทำยาวเหยียด จากการอ่านแล้วทั้งหมด พอจะจินตนาการคนเขียนได้ว่า เป็นคนอายุมากแล้วที่ชอบอ่านนิยายไทยประโลมโลก จึงได้เก็บเอาชุดคำและสำบัดสำนวนเชือดเฉือนยุคหลังสงครามโลกมาไว้ได้ครบถ้วน และเชื่อเอาแล้วว่าชุดภาษาในยุคนั้นนั่นล่ะคือตัวแทนความเป็นไทย ที่ควรบรรจุไว้ในตำราเรียน เมื่อได้รับโอกาสให้เขียน จึงลงมือตั้งใจเขียนจากประสบการณ์ จากคลังคำที่ตนมีอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างคุ้มภาษีประชาชน
.
- แต่สำหรับการจัดทำตำราอันเป็นมาตรฐานที่จะส่งไปให้เด็กในประเทศไม่ว่ายากดีมีจนได้เรียน ลำพังมีแค่ความตั้งใจอาจจะไม่พอ ต้องทำงานหนักกว่านั้นมาก ต้องทำงานเป็นทีมให้มาก ทีมที่ว่าต้องไม่ใช่พวกเดียวกันเองด้วย แต่ต้องคัดสรรทีมทำงานที่มีความคิดหลากหลายมาช่วยกันเสนอช่วยกันค้าน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาช่วยรับรองเนื้อหา มิใช่ปล่อยให้อยู่ในมือนักเขียน ที่เราเองก็อาจจะไม่ได้รู้รอบ แถมยังทำการบ้านมาน้อย และอีโก้สูงเสียอีก
.
- Narrative ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าจากมุมมองของเด็ก ที่จะตรงกับช่วงวัยในตำราแต่ละระดับชั้น แต่ปัญหาของการใช้วิธีแบบนี้คือ มันเขียนมาแล้วไม่เด็กจริง เป็นเด็กที่ใช้สำนวนภาษาโคตรโบราณ ถ้านึกไม่ออกว่าประมาณไหน ให้ไปอ่านเพจนักเรียนดี เป็นอะไรทำนองนั้นแหละ หรือว่าจริงๆ แล้วคนเขียนตำราเล่มนี้ที่ทุกคนกำลังตามหา อาจจะเป็นคนเดียวกับแอดมินเพจนักเรียนดีก็เป็นไปได้
.
- อีกปัญหาของวิธีการแบบนี้ นอกจากเรื่องภาษาที่มันปลอมไม่เนียนแล้ว วิธีคิดมันก็ชวนอึดอัดมาก ลองนึกถึงวรรณกรรมเยาวชนที่เด็กอ่านติดกันงอมแงม แฮร์รี พอตเตอร์, ปิ๊บปี้ถุงเท้ายาว, นิโกลา, บรรดาเด็กๆ ในงานของโรอัลด์ ดาห์ล หรือแม้กระทั่งโต๊ะโตะจัง ผู้เขียนที่แม้ไม่ใช่เด็ก เขาเล่าเรื่องผ่านมุมมองวิธีคิดแบบเด็ก ที่สำคัญคือ เข้าไปเป็นพวกเดียวกับเด็กๆ ดังนั้นมันจะไม่มีเลยที่ตัวละครเด็กลุกขึ้นมาพูดว่า "ใช่แล้ว การขโมยนั้นเป็นสิ่งไม่ควรทำ" "เรามาไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองกันเถอะ" คือมันฝืนนนนน มันเป็นคำที่ผู้ใหญ่อยากได้ยิน แต่มันไม่ใช่ธรรมชาติที่เด็กจะพูด
.
- มนุษย์เราโดยธรรมชาติแล้วก็จะใฝ่ไปในทางดีนั่นแหละไม่ต้องเป็นห่วง แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่มั่นใจได้ว่าไอ้พวกนี้มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น ก็เลยยัดเยียดเอาทุกอย่าง ทุกชุดคำที่อยากบอก ใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องกันแบบดื้อๆ ฝืนๆ ไปอย่างนั้นแหละ อยากให้ประหยัดไฟก็พูดเลยว่าประหยัดไฟสิ
.
- ย้อนแย้งมั้ย ในหนังสือตำราเรียนภาษา ที่ปลายทางเราต้องการสร้างผู้ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และไม่อับจนหนทาง มีศิลปะในการใช้มันเป็นเครื่องมือรับใช้ความคิดความต้องการของตัวเอง แอดวานซ์ไปกว่านั้นคือมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง สอดแทรกสารที่เราต้องการสื่อเข้าไป อย่างที่งานเขียนดีๆ หลายชิ้นเขาทำกันได้ แต่ตำราสอนภาษาเล่มนี้กลับแห้งแล้ง และไร้ความสามารถที่จะใช้กลวิธีทางภาษาทั้งหลายมารับใช้ไอ้ความอยากสอนของตัวเอง มันก็เลยแห้งแล้ง เปล่าประโยชน์ เพราะอ่านแล้วไม่เกิดความรู้สึกอะไร ไม่คล้อยตาม ไม่สนุก อ่านแล้วเป็นเพียงความบันเทิงชั่วครั้งคราวที่เสพเข้าไปแล้วก็จะทิ้งมันไว้ตรงนั้น มันไม่ convince อะไรเลย ใช้ความพยายามมากกว่านี้อีกนิดก็ยังดี แต่นี่ไม่เลย แม่ง ถ้าเป็นตำราวิทยาศาสตร์ก็ว่าไปอย่างนะ แต่นี่ตำราสอนภาษา แต่ไม่มีชั้นเชิงในการใช้ภาษาเลย แล้วจะหวังอะไรต่อได้
.
- ที่กำลังดราม่าอยู่ตอนนี้ มันจึงกระจายไปหลายเรื่อง สังคมพูดถึงเนื้อหาในเล่ม ที่ว่าด้วยโภชนาการก็ดี ทัศนคติในทางสังคมก็ดี และจริงๆ ยังมีอีกหลายบทที่น่าเอามาถกกันมากด้วยนะ บางบทคือความคิดน่ากลัวมากจนเราต้องย้อนไปอ่านอีกรอบว่าไม่ได้อ่านผิดใช่ไหม แต่ที่เราอาจจะข้ามไป คือความเป็น "หนังสือเรียนภาษาไทย" ของมัน ที่มีน้อยคนมากจะพูดคุยฟังก์ชันทางด้านนี้ เพราะไอ้สิ่งที่อยู่ในเนื้อเรื่องมันเกินจะทนมากไป
.
- นั่นเพราะว่านักวิชาการการศึกษา หรือคนมีที่ส่วนกำหนดนโยบายทั้งหลาย ยังไม่สามารถจะ "บูรณาการ" ได้จริงอย่างที่ชอบพูด เราเห็นด้วยที่ว่าหนังสือเรียนภาษาไทยไม่จำเป็นต้องสอนแค่ภาษา หากแต่ต้องบรรจุคุณค่าที่มาพร้อมกับเรื่องเล่าบันดาลใจ ให้เด็กได้เรียนภาษาอย่างสนุก ทีนี้เรื่องเล่าทั้งหลายมันมาจากหลายศาสตร์ สิ่งที่ต้องทำจึงเป็นการคุยกันทั้งหมด เรื่องไหนสำคัญกับเด็ก โภชนาการใช่ไหม วินัยในการอยู่ร่วมในสังคม คุณค่าวัฒนธรรมไทย มากันให้หมดแล้วคุยถกกัน ได้ข้อสรุปแล้วเอาไปเขียน เขียนแล้วมาตรวจทานความถูกต้องของข้อมูล ตรวจทานความเหมาะสมของน้ำเสียง เพราะหนังสือเรียนไม่ใช่พ็อคเกตบุ๊กส่วนตัวของใคร ตรวจทานเนื้อหาให้มั่นใจที่สุด นำไปทดลองใช้ แล้วค่อยพิมพ์ออกสู่สาธารณะ
.
- ต้องพิถีพิถัน ต้องใส่ใจ ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะเรากำลังพูดถึงการพิมพ์หนังสือครั้งละห้าแสนเล่ม และพิมพ์ไปแล้วมากกว่าสิบห้าครั้ง ทั้งหมดนั้นคือเงินจากภาษีประชาชน
.
- เราลองถามผู้รู้ ว่าโรงเรียนเลือกที่จะไม่ใช้เล่มนี้ได้ไหม พูดกันแบบโรงเรียนทั้งเอกชนและรัฐบาลที่อยู่ในระบบรับเงินอุดหนุนจากรัฐนะ ได้ความว่า รัฐจะมีงบอุดหนุนค่าหนังสือเรียนอยู่ ซึ่งเล่มนี้ก็จะอยู่ในลิสต์ และมีเล่มอื่นๆ อยู่ด้วย สมมติโรงเรียนไม่ใช่เล่มนี้ ก็สามารถเลือกเล่มอื่นที่อยู่ในลิสต์ได้ ซึ่งในลิสต์นั้นก็คือกระทรวงเลือกมาให้แล้วอยู่ดี ถ้าจะเอานอกจากนี้ไม่ช่วยเงินนะ สมมติมีคนทำหนังสือที่ดีมากๆ ครูอยากเอามาใช้สอนมากๆ แต่ถ้ากระทรวงไม่ได้รับรองให้เข้ามาอยู่ในลิสต์ ก็ใช้เงินรัฐซื้อไม่ได้ ทางเลือกที่เป็นไปได้คือ สั่งหนังสือที่อยู่ในลิสต์กระทรวงมา (เพราะไม่สั่งก็ไม่ได้นะ ไม่งั้นจะถูกมองว่าไม่ใช้งบ เดี๋ยวโดนตัด) แล้วก็ใช้เงินซื้อตำรานอกเข้ามาใช้เรียนจริง ซึ่งเงินนั้นจะมาจากนั้นก็แล้วแต่จะหาทาง เก็บจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือโรงเรียนไปหาเงินมาเอา ซึ่งก็ไม่ค่อยมีใครทำกันหรอก
.
- ถ้าอยากจะหลุดจากระบบบ้าบอนี้ ก็ต้องไปโรงเรียนทางเลือก ที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ดังนั้นจึงมีอิสระที่จะเลือกตำราหรือออกแบบเองได้เต็มที่ แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ซื้อตำราเรียนเอง หรือไปโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนอินเตอร์ ทุกหนทางก็คือต้องใช้เงิน มากหรือน้อยต่างกันไป ทั้งที่เราเสียเงินไปแล้วในรูปแบบของภาษี แต่กลับได้ของไม่ดี เป็นภัยต่อความคิดและทัศคติลูกหลาน ก็เลยต้องเสียเงินเพิ่มไปอีก เพื่อซื้อหาการศึกษาที่ดี
.
/////////////////////////////
คำถามต่อมาคือ แล้วเราควรจะทำยังไงกับหนังสือนี้ดี
.
สำหรับเรา ดีที่สุดก็คือรื้อทิ้งแล้วทำใหม่ ออกแบบหนังสือเรียนภาษาที่มันทันต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ และมีประสิทธิภาพมากพอที่จะสอนภาษาไทยที่แสนยาก ให้เข้าใจ สนุกกับมันได้โดยไม่เกลียดกันไปเสียก่อน เราเคยอ่านมานะมานี และโตมากับซีรี่ส์แก้วกล้า แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าจะต้องเอาตำราพวกนั้นกลับมารีรันอีก ปล่อยให้เป็นหนังสือที่อยู่ในร้าน ในห้องสมุด ที่ถ้าอยากหาอ่านในเวลาว่างก็ทำไป แต่มันไม่ร่วมสมัยพอที่จะใช้เป็นตำราสอนภาษาในยุคสมัยนี้แล้ว มูฟออนกันเถิดทุกคน
.
แต่ก่อนจะสร้างใหม่ เป้าหมายในการทำก็ต้องถูกที่ถูกทางด้วย ความลักลั่นในทางตรรกะอันเป็นปัญหาของภาษาพาที ส่วนหนึ่งก็มาจากความพยายามจะยัดเยียดค่านิยมต้องประสงค์ทั้งหลายเข้าไปอย่างไม่มีศิลปะชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ใดๆ ทั้งสิ้น ผลที่ได้จึงเป็นอย่างที่เห็น แต่จริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับค่านิยมพวกนั้นขนาดเท่าที่ทำอยู่เลยหรือไม่ สิ่งที่ควรอยู่ในหนังสือเรียนภาษาควรเป็นเรื่องอะไร คณะกรรมการที่เข้ามาจัดทำตำราจะต้องเป็นรวบรวมผู้คนที่หลากหลายมากพอ มาช่วยกันออกแบบ ติดตาม ตรวจทาน ตรวจสอบ มิใช่ให้อยู่ในมือใคร หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผูกขาดความคิดความเชื่อ คุณค่า และวิธีการใช้ภาษาไปทั้งหมด
.
เรามีกวีและนักเขียนมากมาย แต่ละคนก็มีเสน่ห์ในการใช้ภาษาไปคนละแบบ เราทำงานร่วมกับเขาเหล่านั้นได้หรือไม่ในแง่การเขียนถ่ายทอด เรามีนักวาดภาพประกอบหลากหลาย ชักชวนเขาเหล่านั้นมาทำงานภาพ เพราะภาพก็คือส่วนหนึ่งของการสื่อสาร ออกแบบรูปเล่มให้สวยงามน่าอ่าน ทำให้ตำราเป็นส่วนที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าภาษาไทยมันน่าเรียน มันร่วมสมัย ภาษาไทยมิใช่ความโบราณ ไม่ใช่การหยุดตัวเองไว้ด้วยชุดภาษาและภาพที่เก่าราวกับกำลังสร้างชาติไปกับจอมพลป. แบบนั้นยิ่งผลักคนให้ออกห่างจากภาษาไทยไปเรื่อย
.
เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่ภาษาไทยต้องช่วงชิงความสำคัญและความนิยมกลับมาให้ได้ พ่อแม่มองข้ามภาษานี้และมุ่งไปที่ภาษาที่สามกันแล้ว เด็กๆ เมื่อได้เริ่มรู้จักภาษาอังกฤษที่ง่ายกว่า สากลกว่า พาเขาไปรู้อะไรได้กว้างกว่า ก็ไม่อยากกลับมาหาภาษาไทยแล้ว ยิ่งพอเป็นภาษาที่ยาก ถ้ามันไม่เย้ายวนพอ ก็จะยิ่งเรียนยิ่งเหนื่อย เราเลยได้เห็นการใช้ภาษาไทยที่กระพร่องกระแพร่งในทุกหย่อมหญ้า การเขียนผิดจะกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาไปแล้ว
.
แต่สำหรับเราที่ใช้ภาษาไทยได้ดีกว่าภาษาไหนๆ กับลูกเรา ภาษาไทยคือภาษาแม่ที่เราจะเอาไว้ใช้สื่อสารกันอย่างลึกซึ้งถึงก้นบึ้งหัวใจมากที่สุด คือภาษาที่เราจะใช้คิดใคร่ครวญในสมองอย่างซับซ้อนที่สุดจนสามารถระบุหลักคิด จุดยืน ความคิดเห็นของตนเองได้ ก่อนที่จะไปภาษาไหน จะต้องมีภาษาแม่นี่แหละที่คิดได้อย่างชัดเจน สื่อสารได้อย่างตรงจุด เมื่อนั้นเขาจะขยับไปสู่ภาษาอื่นได้ เพราะฐานความคิดมั่นคงดีแล้ว
.
ดังนั้นการเรียนเพื่อรู้ภาษาไทยจึงยังสำคัญและจำเป็น ในวันที่ค่าคะแนนด้าน Language Literacy ของประเทศเราต่ำจนน่าตกใจ สะท้อนความสามารถของเด็กส่วนใหญ่ เด็กส่วนหนึ่งที่มีโอกาสมากกว่า ก็กำลังละทิ้งภาษาไทยไปใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ จะบอกว่าเราอยู่ในยุควิกฤตของภาษาไทยก็ได้แล้ว หากยังยืนยันจะใช้ตำราแบบเดิมต่อ สอนด้วยวิธีการแบบเดิมต่อ ดื้อด้านดึงดัน กอดความคิดคับแคบของตนเองที่ถือว่ามีอำนาจเอาไว้ต่อ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
.
ส่วนในตอนนี้ ตอนที่เรายังทำตำราใหม่ไม่ได้ หนังสือก็ถูกแจกจ่ายไปยังเด็กๆ กำลังห่อปกเตรียมเปิดเทอมกันอยู่ สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ ช่วยกันตรวจสอบสอดส่อง และใช้หนังสือเป็นสื่อกลางในการพูดคุยกัน เราว่าข้อดีที่สุดของหนังสือชุดนี้ คือมันชวนให้ "เอ๊ะ" ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นพ่อแม่ นั่งดูลูกอ่านหนังสือชุดนี้แล้วเขา "เอ๊ะ" ขอให้ดีใจว่าเขาอ่านรู้เรื่อง อ่านแล้วเชื่อมโยงเข้าสู่ชีวิต ประเมินชั่งน้ำหนัก และวิพากษ์วิจารณ์ให้เหตุผลได้ว่าเขาคิดเหมือนหรือต่างกับในหนังสืออย่างไร เหล่านี้คือสิ่งอันประเสริฐที่เราได้แต่หวังว่าลูกจะเอ๊ะ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตำราเรียนที่มันบ้งๆ ก็สอนเราได้
.
ถ้าเราเป็นคุณครู ที่อ่านแล้วก็รู้สึกเอ๊ะ เอาความเอ๊ะของเราโยนเข้าไปในห้องเรียน ให้เกิดการถกถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันให้มากๆ เอาเรื่องราวในหนังสือมาขยี้กัน ไม่ต้องสรุปข้อคิด แต่ขยายเรื่องออกมาให้กว้าง เพื่อเห็นมุมมองที่แตกต่าง ยิ่งเนื้อหาแบบนี้ยิ่งเร้าให้อยากคุย มันสนุกแน่ๆ และจะสนุกขึ้นถ้าคุณครูเย้าต่อ พาไปต่อด้วยคำถามที่ท้าทายความคิดเด็ก นั่นแหละ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปในระหว่างที่เรายังต้องทนใช้ตำราเล่มนี้
.
ช่วยกันไปก่อน เหมือนที่เราต้องช่วยตัวเองกับแทบทุกเรื่องในการใช้ชีวิตในรัฐไทยนี้ กระแสนี้จุดติดแล้ว และเราว่ามันคงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในซักทาง อย่างน้อยหากเราได้รัฐบาลขั้วใหม่หลังการเลือกตั้ง ก็หวังว่าสิ่งอันเป็นผลพวงมรดกของแนวคิดชาตินิยมล้าหลัง ของรัฐทหารที่มาจากการรัฐประหาร อย่างเช่นตำราชุดนี้ น่าจะต้องไม่เพียงถูกสังคายนา แต่ควรนำไปเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกหน้ากระดาษ ทุกหมึกพิมพ์ ได้แปรสภาพไปเป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ หากจะย่อยสลาย ก็ขอให้ไม่มีพิษภัยกับผืนดินที่กลบฝัง หากจะเผา ก็ขอให้เผาในโรงเผาที่มีมาตรฐาน อย่าได้สร้างพิษภัยใดๆ ทิ้งไว้บนโลกใบนี้อีกเลย

พอที…
 
(https://www.facebook.com/photo/?fbid=10159108524602330&set=a.10158910232542330)


ภาษาพาทัวร์? แม่นิดนกถกประเด็นดราม่าแบบเรียน ภาษาพาที | The Rookie Mom LIVE

Salmon Podcast

Streamed live 8 hours ago 
The Rookie Mom

วันนี้ 20.00 น. ไลฟ์กับตัวแม่ “นิดนก” โฮสต์ The Rookie Mom ในประเด็นที่ฮ็อตกว่านี้��ม่มีอีกแล้วกับแบบเรียน “ภาษาพาที” ที่พาให้ถกว่า ทั้งภาษาและเนื้อหามาถึงจุดนี้ได้ไง ตัวมัมเลยตั้งตี้เปิดเล่มแบบเรียนคุยกันให้ “ถึงลูก-ถึงคน-ถึงเครื่อง” งานนี้ร่วมถกกับตัวพ่อ “โจ้บองโก้” และคนทำหนังสือ “บก. กาย” จาก Salmon Book ด้วย แล้วเจอกันจ้า...