บานปลายไม่เกินคาด เรื่องอึงอื้อที่มีคนว่าศาลสั่งฆ่าแพะ จากการตัดสินประหารสองหม่องแรงงานข้ามชาติเกาะเต่า
พระสงฆ์พม่าในศรีลังกาพากันไปยกป้ายประท้วงหน้าสถานทูตไทยในกรุงโคลอมโบ อาจก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ถึงสถานที่อื่นๆ ทั่วโลกได้
ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครยอมรับคำชี้แจงของทางการรัฐบาลทหารไทยแค่ไหน ที่ว่ายังมีขั้นตอนอุทธรณ์และฎีกา ในการโต้แย้งคำพิพากษาอยู่
เพราะกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากลมิได้ให้ ‘ผ่านๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง’ ดั่งเช่นมาตรฐานการเมืองไทย ที่เดี๋ยวนี้ใช้เป็นมาตรฐานตุลาการด้วยอีกแขนง
ความยุติธรรมถึงที่สุดย่อมต้องกระทำในการตัดสินครั้งแรกและครั้งเดียวก่อนเสมอ “ฆ่าคนบริสุทธิ์หนึ่งคนเลวร้ายกว่าปล่อยผู้กระทำผิดเป็นร้อย” นี่คือหลักการสำคัญกว่าอื่นใดในการที่จะตัดสินปลิดชีวิตใคร
สั่งฆ่าคนโดยมักง่ายไม่อยู่ในสารบบของทศพิศราชธรรม อันสอดรับกับหลักมนุษยธรรมทั่วไป
คลิปที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย โดยหญิงชาวพม่าพูดไทยไม่คล่องนัก วิงวอนพระมหากษัตริย์และเจ้าหญิงไทยได้โปรดผ่อนโทษสองหม่องอย่าให้ถึงตาย ทั้งที่พวกเธอชาวพม่าเชื่อว่าเขาทั้งสองต้องเป็นแพะรับบาป บ่งบอกอะไรบางอย่างต่อการระมัดระวังในการใช้พระปรมาภิไธย
คำตัดสิน ๖๓ หน้าของสามผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุย (หนึ่งนาย สองนางสาว) ซึ่งอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธยโดยตรง จะกัดกร่อนความศักดิ์สิทธิ์ออกไปตราบเท่าที่กระบวนการพิจารณาคดียังบกพร่อง
Pipob Udomittipong ตั้งคำถามว่า “กระบวนการจับกุมและควบคุมตัวของเราได้มาตรฐานหรือไม่? Istanbul Protocol เอามาใช้มั้ย? มีการบันทึกการจับกุม ลงทะเบียนผู้ต้องขัง ตรวจร่างกายและที่สำคัญให้ญาติและทนายเข้าเยี่ยมโดยไม่ปิดกั้นหรือไม่? ตราบใดที่กระบวนการเหล่านี้ไม่เคลียร์ หรือไม่มี ความคาใจกับกระบวนการยุติธรรมมันไม่หายไปไหน ไม่ว่าผู้เสียหายจะเป็นไทย พม่า มลายู ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังหรอก”
การละเลยข้อเท็จจริงบางอย่างโดยเห็นว่าหลักฐานปรักปรำแข็งขันพอแล้ว ไม่ใช่ความถูกต้องทางยุติธรรมหากการปรับใช้กฎหมายเกิดการลักลั่น
ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าดีเอ็นเอของผู้ต้องหาตรงกับที่พบในร่างหญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย โดยไม่พบดีเอ็นเอของจำเลยบนจอบที่ใช้เป็นอาวุธสังหารผู้ตาย ไม่สามารถสรุปเป็นที่สุดได้ว่าผู้ที่ร่วมเพศกับเหยื่อฆาตกรรมเป็นคนเดียวกับที่ลงมือฆ่า
มิใยที่ข้อโต้แย้งของจำเลยว่าถูกซ้อมบังคับให้รับสารภาพ จะถูกปัดออกไปเพียงเพราะไม่มีหลักฐานยืนยันจากราชทัณฑ์ นั้นในระบบวัฒนธรรมสากลอาจถูกก่นด่าว่า ‘เหลวไหล’ เป็นอย่างเบา และถ้าหนักกว่านี้ก็จะเป็นเจตนาชั่วร้ายบิดเบี้ยวความจริง
วิธีการบิดเบือนอีกอย่างที่รัฐบาล คสช. มักทำอยู่เสมอยามที่เกิดคดีความอันเป็นที่จับจ้องของต่างประเทศ ก็คือกล่าวหากลุ่มคนที่ออกมาติติง ทักท้วง และประท้วงว่ารับงาน และ/หรือถูกปลุกปั่นโดยฝ่ายการเมืองที่ถูกรัฐประหารไป
คดีเกาะเต่านี้ก็ไม่พ้นตามเคย
“ตอนนี้ผมอยากรู้ว่าใครที่ไปยุยงปลุกปั่นให้คนออกมาชุมนุมต่อต้าน โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในประเทศไทย” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คนสำคัญ คสช. ระดับรุ่นพี่ของหัวหน้ากล่าวกับผู้สื่อข่าว
“เชื่อว่าพวกเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลทำงานได้ด้วยความเรียบร้อยจึงยุงยงปลุกปั่นขึ้นมา แต่กำลังสืบสวนอยู่”
(
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1451291853)
หวังว่าฝ่ายสืบสวนของทั่นจะไม่ใช่แค่รับข้อมูลจากแหล่งนั่งเทียนอย่าง ‘เจ้าพระยานิวส์’ ที่กุเป็นตุเป็นตะว่าหนุ่มพม่าที่เป็นแกนนำการประท้วงหน้าสถานทูตไทยนั้นเกี่ยวโยงกับกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ และใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร
แหล่งข่าวเจ้าพระยาอ้างโพสต์เฟชบุ๊คของนายกิตติทัช ชัยประสิทธิ์ (หน้าเพจเข้าไม่ได้แล้ว แต่เขาใช้ชื่อนี้ Kittitouch Chaiprasith) ที่เขียนว่า
“แกนนำม็อบประท้วงศาลไทยตัดสินประหารสองหม่องนั่นชื่อ SiThu Maung ‘ซึ่งเป็นคนที่นิยมกลุ่มการเมืองตระกูลชินวัตร’ เพราะ “เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เค้าลงรูปให้ดอกไม้กับนาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วยมือตนเองเลย”
เอาละ นายสิตู เมือง ชาวพม่าคนนี้อาจจะรักและศรัทธา น.ส.ยิ่งลักษณ์ (เดาเอาว่า เนื่องจากชาติก่อนเธอเป็นแม่นางตองยีน่ะนะ) ถึงได้เอากุหลาบไปมอบให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นสมัครพรรคพวกชินวัตรเหมือนที่คุณกิตติทัชเป็นลิ่วล้อ คสช.
มิหนำซ้ำข่าวเจ้าพระยาบอกว่า นาย Shaung Wai แกนนำผู้ประท้วงชาวพม่าอีกคน เคยโพสต์บนเฟชบุ๊ครูปชูสามนิ้วของกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ นี่ก็อีกแหละ เขาอาจศรัทธาและมี conviction กับหลักการ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เหมือนพวกนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่
เขาจะกลายเป็นผู้สนับสนุนตระกูลชินวัตรอย่างที่นายกิตติทัชกล่าวอ้างได้อย่างไร เช่นเดียวกับพวก Anonymous ที่เข้าไปแฮ็คเว็บทางการไทยเพื่อคัดค้านการก่อตั้ง Single Gateway ไม่ใช่พวกสลิ่มไทยโหนเจ้าแต่ดันสวมหน้ากาก Guy Fawkes
มันไม่อาจมุสาได้พอๆ กับบอกว่าสำนักข่าวเจ้าพระยาเป็นส่วนจัดตั้งของตระกูล ‘รักในหลวง’ ที่ทำการบ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย
เหล่านั้นเป็นวิธีการเด็กเล่นแบบ bully ที่หวังผลในการ ‘หาแพะ’ มาปิดบังกระบวนการครองอำนาจอย่างเผด็จการของกลุ่มขุนศึก-ศักดินาไทย
ทว่ายังมีกระบวนการหลงผิดในระบบตุลาการไทย ที่คิดว่าตนเป็นชนชั้นเหนือกว่าประชาชนทั่วไป ส่วนหนึ่งจะอ้างความเป็น ‘ร่างทรง’ แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกส่วนหนึ่งเพ้อพกว่าพวกตนกำอำนาจชี้เป็นชี้ตายในแผ่นดินไว้แล้ว ใครอื่นอย่าแหยม
นั่นทำให้อดีตผู้พิพากษาคนหนึ่งสำแดงอาการ ‘ข่มท่าน’ ออกมาว่า “ขอบอกให้ทราบว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วการที่ท่านกล่าวหาหรือด่าศาลโดยไม่ได้เป็นไปตามควรแก่กรณีและโดยไม่มีเหตุผลย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นศาล”
(
https://www.facebook.com/chuchart.srisaeng)
เนื่องจากทั่นเป็นข้าราชการเกษียณ ย่อมใกล้ฝั่งมากกว่านักกฎหมายรุ่นหลัง ตามทฤษฎีสังคมวิทยาเกี่ยวกับการพัฒนาของสมอง ทั่นมีโอกาสหลงลืมหรือเลอะเลือนได้มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า แต่เราก็ละไว้ว่าทั่นอาจไม่เป็นเช่นนั้น
ถึงอย่างไรยังต้องฟังความจากคนรุ่นใหม่ด้วย อย่างทนายอานนท์ นำภา บอกว่า “จงวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ตามหลักเหตุผลเถิด อย่าได้ยกเอาชุดครุยมาข่มชาวบ้านเลย”
ทนายอานนท์ให้เหตุผลหนุนคำเตือนของตนว่า
“๑) การวิจารณ์คำพิพากษาศาลไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย เช่น บอกว่าคดีนี้ศาลตัดสินโดยไม่รับฟังพยานจำเลย หรือยกเหตุผลแห่งความไม่มีเหตุผลของศาล แบบนี้ไม่ผิด ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย แต่ถ้าไปกล่าวหาศาลก็เป็นความผิดเช่น ไปบอกว่าศาลรับเงินรับทอง ศาลทำตามใบสั่ง เป็นต้น
๒) ผู้พิพากษาที่เขียนบทความนี้ไม่ควรไปกล่าวหาว่าการชุมนุมของประชาชนพม่าว่าน่าจะเกิดจากการยุยง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง การไปกล่าวเช่นนั้นแสดงว่าไม่คิดว่าคนเราสามารถตัดสินใจเองได้เมื่อเห็นความไม่เป็นธรรม เป็นการดูถูกศักดิ์ศรีของเพื่อนบ้าน ยิ่งเหมือนไปเติมเชื้อไฟ
๓) เป็นพิพากษาที่ใช้ตรรกกะวิปริต เพราะไปใช้ตรรกกะว่า ‘รู้ได้อย่างไรว่าเขาบริสุทธิ คุณเป็นคนร้ายเองหรือไง’
นายชูชาติ ศรีแสง เขียนว่า "ขอถามบุคคลที่ออกมาให้ความเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้หรือ จึงรู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิด”
ทนายอานนท์เขาก็ตอบว่า “ไปใช้ตรรกกะแบบนั้นเดี๋ยวชาวบ้านเขาก็สวนมาหรอกว่า ‘แล้วท่านรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด ท่านเป็นผู้ร่วมกระทำผิดหรือไง’
ทีนี้ลองมาดูข้อคิดจากของเก่าที่ผู้ชอบศึกษาระดับปัญญาชนสยามว่าไว้บ้าง Sulak Sivaraksa เขียนถึงการหมิ่นศาลในคดีสวรรคต พร้อมยกตัวอย่างว่า
“คุณฟัก ณ สงขลา เป็นทนายความมีชื่อเสียงมากเรื่องกรณีสวรรคต ท่านพูดกับศาลว่าพยานโจทก์ให้การอย่างไร ศาลจด แต่พยานจำเลยให้การ ศาลไม่จด คุณฟักบอกว่า "ใต้เท้าครับ ใต้เท้าจดคำให้การเฉพาะของฝ่ายโจทก์ ผมซักค้านก็ไม่จด" ศาลบอกว่า "คุณฟัก ถอนคำพูดเดี๋ยวนี้นะ" คุณฟักบอกว่า "ไม่ถอนครับ เป็นความจริงครับ ก็ใต้เท้าไม่จดจริงๆนี่ครับ"
ทีนี้หยุดพักกลางวัน พอหลังเที่ยงศาลนั่งบัลลังก์ ตำรวจเต็มเลย ถามว่า "คุณฟัก จะถอนคำพูดเมื่อสักครู่หรือไม่" คุณฟักบอกว่า "ไม่ถอนครับ" ศาลบอกว่าหมิ่นประมาทศาล ขังคุก ๒ เดือน นี่คือการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ก็ไม่จดจริงๆ นี่ครับ”
ส. ศิวรักษ์ จึงให้ synopsis ของเหตุการณ์นั้นว่า
“การใช้อำนาจบาตรใหญ่มันไม่ดี มันเป็นมาร มันมีธรรมที่เหนืออำนาจ ศาลฏีกาก็เหมือนกัน ศาลฏีกาคือศาลฏีกา อย่านึกว่าวิเศษ ทุกคนต้องเคารพคนอื่น ที่สำคัญคือต้องเคารพคนเล็กคนน้อย สำคัญกว่านั้นคือเคารพธรรมะ เคารพสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อย่าตะแบงเป็นอันขาด”
(คนเก่าเล่าเรื่อง น.๑๖๔-๑๖๕)
ก็หวังอีกว่า คนที่เป็นผู้พิพากษาจะตระหนักเรื่องการใช้อำนาจบาตรใหญ่ไว้บ้างก็แล้วกัน