โดย ilaw-freedom
ที่มา
เวป ilaw
22 กันยายน 2015
ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมาย “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” กฎหมายพิเศษที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมากและต่อเนื่องมายาวนานยาวนาน กฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจแยกออกจากบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่ละยุคสมัยได้ ตัวบทของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีวิวัฒนาการไปตามสภาพสังคมการเมืองแต่ละยุคสมัย และการบังคับใช้กฎหมายนี้ก็มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
ยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ในยุคนี้พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ พระมหากษัตริย์กับรัฐจึงเป็นเสมือนสิ่งๆ เดียวกันตามคติว่าด้วยสมมติเทพและธรรมราชา โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ การละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายสูงสุดหรือทำลายความมั่นคงของรัฐ
กฎหมายตราสามดวง
กฎหมายตราสามดวง ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บัญญัติให้ความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว มีโทษ 8 สถาน คือ “ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25 ที 50 ที ให้จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้” ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว มีโทษ 3 สถาน คือ “ ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที หมิสกัน 25 ที”
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2425 (รศ.101) นายเทียนวรรณถูกฟ้องร้องกรณีเขียนฎีกาให้กับราษฎรผู้หนึ่งโดยไม่ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และถูกตัดสินว่าหมิ่นตราพระราชสีห์ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่ใช้ประทับในการบริหารราชการของกษัตริย์ โดยกล่าวว่าตรานี้ไม่สามารถบังคับกรมการในหัวเมืองได้ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหมิ่นประมาทเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร โทษทัณฑ์ของเขาเป็นไปตามกฎหมายโบราณ คือ ถูกโบย 50 ที และขังคุกโดยไม่มีกำหนด เทียนวรรณถูกจำขังอยู่ 17 ปี จึงได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ. 2442 (รศ.118)
• ช่วงปี 2441 มีการเนรเทศนายเจ เจ ลิลลี บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Bangkok Free Press ออกนอกประเทศข้อหาดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาลและประชาชนสยาม ที่ประท้วงและพยายามส่งโทรเลขรายงานการเซ็นเซอร์โทรเลข รายงานการสู้รบระหว่างกองทัพสยามกับชาวเขมรที่ไม่จ่ายภาษีของรัฐบาลสยาม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นข้อความที่ผิดข้อเท็จจริงและกระทบความมั่นคง
พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118
ต่อมาเมื่อการสื่อสารในรูปแบบเขียนและการพิมพ์เริ่มแพร่หลาย นำไปสู่การประกาศใช้ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งระบุความผิดการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไว้ในมาตรา 4 ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปีพ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5 ด้วยทรงกริ้วได้วินิจฉัยว่าบทความของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ว่ามีถ้อยคำและความคิดที่มีลักษณะสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ ไม่ได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ ที่กล่าวเทียบเคียงว่ารัชกาลที่ 5 จะเป็นกษัตริย์ที่สุดของวงศ์จากการพูดถึงพระราชโอรสที่เข้าครองราชย์สมัยสุโขทัยองค์หนึ่งไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเสียเมืองแก่กรุงศรีฯ โดยให้จับตัวคุมขังไว้ในโรงพยาบาลคนเสียจริตจนกว่าจะเป็นปกติ ซึ่งมีข้อมูลว่าเขาอยู่เพียง 7 วัน
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127
ด้วยกระแสรัฐสมัยใหม่จากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและศาลนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไว้ในมาตรา 98 ให้มีโทษสูงขึ้น คือ จำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ไว้ในมาตรา 104 ด้วย ให้มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ต่อมาในพ.ศ. 2470 ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมในให้การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น เป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2475 ศาลตัดสิน ตามมาตรา 104 ของกฎหมายลักษณะอาญา กรณีจำเลยตัวต่อราษฎรว่าอ้างว่าเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินปกครองไม่ดี จะต้องถอด และจำเลยจะขึ้นครองราชย์สมบัติแทน และอนุญาตให้ฆ่าโคกระบือและทำสุราเถื่อนกินได้ ว่ามีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ให้จำคุก 7 ปี (ดูคำพิพากษาศาล ฎีกา 612/2475)
พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470
ในภาวะสังคมที่เทคโนโลยีและสื่อสิ่งพิมพ์ที่แพร่หลายต่อสาธารณะมากขึ้น สื่อกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงการอธิบายความเป็นชาติ ในสมัยรัชการที่ 6 จึงมีการออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 มาตรา 5 กำหนดให้บทประพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะยุยงให้กระทำความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักรเป็นบทประพันธ์ประเภท “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ซึ่งเป็นความผิดกำหนดโทษกรณี “…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม…ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”
ต่อมาในพ.ศ. 2470 มีการแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของคำว่าเสี้ยนหนามแผ่นดินในมาตรา 6(5) ว่าคือบทประพันธ์ “..อันมีความมุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะ ให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…”
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี2466 ศาลตัดสินตามพ.ร.บ.สมุดเอกสารฯ 2465 กรณีนายเอ อี ซูฟอาลี และนายสถิต เสมานิลผู้จัดการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วายาโม ถูกกล่าวหาว่ามีบทประพันธ์ที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาทต่ออำมาตย์ของพระเจ้าอยู่หัวและต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ให้จำคุก 5 ปี
ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
24 มิถุนายน 2475 เกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรที่ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดในรัฐเป็นของประชาชน ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของอำนาจรัฐผู้อยู่เหนือกฎหมายไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ
แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ลดโทษและกำหนดบทยกเว้นความผิด
ในช่วงปี พ.ศ.2478 รัฐสภา ยกเลิกมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ ต่อมา ขณะที่ในเวลาใกล้เคียงกัน มีการแก้ไขในมาตรา 104 (1) ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฯ กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่ให้มีเหตุยกเว้นโทษ กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2503 ศาลฎีกาตัดสิน ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา98 กรณีนายสุวัฒน์ วรดิลกและนางเพ็ญศรี พุ่มชูศรีคู่สามีภรรยา ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลง ซึ่งถูกผู้ที่เคยอยู่บ้านเช่าอยู่ร่วมกันแต่ภายหลังมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งกันนำความมากล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองตั้งชื่อสุนัขด้วยพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี เขาถูกฟ้องจากการกระทำ 4 กรรมที่เกิดระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2496 ถึง 15 มกราคม 2501 โดยมีการจับกุมดำเนินคดีในช่วงเดือนมกราคม 2501 หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ศาลชั้นต้นให้จำคุกสุวัฒน์ 3 ปี ยกฟ้องเพ็ญศรีในข้อหานี้ เพราะผู้กล่าวหามีสาเหตุโกรธเคืองกับเพ็ญศรีในเรื่องอื่นมาก่อน ศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษจำคุกทั้งสองคนคนละ 5 ปี โดยศาลฎีกาให้จำคุกนายสุวัฒน์ 5 ปี และยกฟ้องนางเพ็ญศรี (ดูคำพิพากษาศาลฎีกา 1643/2503)
เปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2599 จุดเริ่มต้นมาตรา 112
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ถูกตราขึ้นใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญา ฉบับเดิม โดยย้ายบทบัญญัติมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาไปอยู่ในมาตรา 112 โดยยกเลิกบทยกเว้นความผิดพร้อมแก้ไขเนื้อความเป็นว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงทศวรรษ 2500 การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำไปผูกเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ดำเนินการกำจัดและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2500 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีนายสง่า เนื่องนิยม ถูกกล่าวหาว่าไฮด์ปาร์คกล่าวถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พร้อมทำท่าทางประกอบการพูด ซึ่งหลังตำรวจทำการจับกุมในยุครัฐบาลจอมพลป. ดำเนินการเพียงปรับตามข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจอัยการจึงยื่นฟ้องเขาต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112 ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพ เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน
• ช่วงปี 2503 ศาลฏีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นค้น กรณีนายโกศัย มุ่งเจริญ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ถูกกล่าวหาว่า กล่าวถึงสาเหตุกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ว่ามีความผิดตามมาตรา112 ให้จำคุก 3 ปีลดโทษ 1 ใน 3 เพราะรับสารภาพ เหลือจำคุก 2 ปี (ดู คำพิพากษาศาลฎีกา 51/2503)
• ช่วงปี 2503 ศาลฎีกาตัดสิน กรณีนายประจวบ สารพัด นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์เสรี ที่ถูกกล่าวหาว่า ตีพิมพ์บทความที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์วันจักรีเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2500 ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เห็นพ้องกันว่าบทความมีการมุ่งกล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย เป็นความผิดตามาตรา 112 ให้จำคุก 5 ปี (ดูคำพิพากษาศาลฎีกา1641/2503)
• ช่วงปี 2504 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีนายบุญคอง ลืออำนาจ ที่จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกกล่าวหาว่ากล่าวขณะมึนเมาและทะเลาะวิวาทกับเพื่อนในวงเหล้าพาดพิงถึงพระเจ้าแผ่นดินว่า มีความผิดตามมาตรา112 ให้จำคุก 6 เดือน ลดโทษเพราะรับสารภาพคงเหลือ3เดือน
• ช่วงปี 2505 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีนายภารปตาปซิงห์ ชาวฮินดูขายถั่วที่จังหวัดนครราชสี ที่ถูกกล่าวหาว่า กล่าวถ้อยคำดุด่าคนซื้อถั่วแล้วไม่จ่ายเปรียบถึงพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดมาตรา 112 ที่ผู้ที่จำเลยมีเรื่องด้วยนำเรื่องไปแจ้งความ โดยศาลให้จำคุก 1 ปี
• ช่วงปี 2505 ศาลชั้นต้นตัดสินนายแฮนด์เล่ย์ นายเอ็ดเวอร์ด โซบาวฮิตี้ และนายวิลลเลี่ยม เฮนรี่ กลุ่มนักบินชาวอเมริกันที่จังหวัดอุดรธานี จากการที่ถูกกล่าวหาว่ายิงปืนไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์ในบ้านพักขณะมึนเมา ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ให้จำคุกคนละ 4 ปีลดโทษเพราะรับสารภาพคงเหลือ 2 ปี รอลงอาญา
แก้ไขเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ขึ้นสู่จุดที่รุนแรงที่สุดในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากกรณีการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา อันเป็นที่มาของการปลุกระดมและนำไปสู่การใช้ความรุนแรง หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีการออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น “มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างชุดคำอธิบายว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองในสภาวะวิกฤต ในฐานะเป็นหลักชัยในการระงับเหตุร้ายแรง ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงเป็นเหมือน “พ่อ” ของรัฐ ชุดความสัมพันธ์สร้างอารมณ์ความรู้สึกความผูกพันใกล้ชิดหรือความรักของพลเมืองที่มีต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ทำให้การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพิ่มความหมายในลักษณะที่กระทบความรู้สึกของประชาชน
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2519 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีนายประเสริฐ ลอยตระกูล นักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์บริเวณสถานที่ประทับในพิธีพระราชทานปริญญาฯ บริเวณศาลาอ่างแก้วในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2519 ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ให้จำคุก 4 ปีลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพจึงเหลือ 2 ปี
• ช่วงปี 2521 ศาลตัดสิน กรณีนายอนุชิต ธนัครสมบัติ ถูกกล่าวหาว่า ในวันที่ 16 มกราคม 2519 ไม่ยืนตรงและกล่าวถ้อยคำที่แสดงความไม่เคารพว่า ”เฮ้ยเปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ณ ท้องสนามหลวง ระหว่างการอภิปรายของกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งประชาชนต่างยืนตรงแสดงความเคารพ ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ให้จำคุก 2 ปี (ดู ฎีกา 1294/2521)
• ช่วงปี 2521 ศาลตัดสิน กรณีนายเสนีย์ สูงนารถ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยาม ประจำวันที่ 10 เมษายน 2518 วิพากษ์วิจารณ์พระบรมราวาทของพระราชินีที่พระราชทานแก่นายร้อยตำรวจ และอัดสำเนาบทความนี้เผยแพร่แก่นักข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเป็นความผิดตามมาตรา112 ให้จำคุก 3 ปี และนายเล็ก ลักษณะผล ในฐานะบรรณาธิการ ตามพรบ.การพิมพ์ 2484 ให้ลงโทษจำคุก1ปี (ดู คำพิพากษาศาลฎีกา 861/2521)
• ช่วงปี 2524 ศาลตัดสิน กรณีนายรัตนะ อุตตพันธ์ ถูกกล่าวหา ว่าแสดงท่าทางและกล่าวถ้อยคำที่หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 ขณะเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดอรุณและยังพบใบปลิวมีเนื้อหาเชิงหมิ่นฯหลังตรวจค้นบ้านพัก ให้จำคุก 6 ปี
• ช่วงปี 2525 ศาลตัดสินกรณีนายสนั่น วงศ์สุธี ถูกกล่าวหาว่า กล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ ในการสัมมนาผู้นำแรงงาน ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน
• ช่วงปี 2526 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีพันตำรวจตรีอนันต์ เสนาขันธ์อดีตนายตำรวจและผู้ก่อตั้งขบวนการชนวน ถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยที่สนามหลวงในวันที่ 29 มีนาคม และ 24 เมษายน 2526 พาดพิงถึงบทบาททางการเมืองของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวถึง การซุบซิบเรื่องสถาบันอันเป็นเรื่องปกติของคนไทย โดยเปรียบเทียบเหมือนองค์พระปฏิมาซึ่งกำลังสกปรกและตนได้เริ่มต้นทำความสะอาด ว่า เป็นการกระทำที่ผิดมาตรา112 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี
• ช่วงปี 2544 ศาลชั้นต้นตัดสิน กรณีนายโคชิ ทากาฮาชีชาวญี่ปุ่น ถูกกล่าวหาว่าเขียนบทความสารคดีเรื่องชีวิตชนบที่เชียงใหม่ ซึ่งมีข้อความบางตอนที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปีลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพแต่เนื่องจากเป็นชาวต่างชาติจึงให้รอลงอาญา 2 ปี
ในปี 2553 สังคมการเมืองไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อขับไล่รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 91 คน หนึ่งในเหตุที่รัฐบาลอ้างเพื่อเข้าสลายการชุมนุม คือ มี "ขบวนการล้มเจ้า" อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งภายหลังการสลายการชุมนุมก็มีการจับกุมดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก
ดังที่เคยปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2554 ศาลตัดสิน กรณีนาย
อำพล ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ จำนวน 4 ข้อความ ซึ่งข้อความเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 5 ปี รวม 20 ปี
• ช่วงปี 2554 ศาลตัดสิน กรณีนาย
ธันย์ฐวุฒิ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปภาพข้อความลงในเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2 ข้อความ และเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ปล่อยให้ผู้อื่นโพสข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 1 ข้อความ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 13 ปี
• ช่วงปี 2555 ศาลตัดสิน กรณีนาย
โจ กอร์ดอน ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกที่ชื่อว่า บาทเดียว ซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือThe King Never Smiles ให้จำคุกจำเลย 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือจำคุก 2 ปี 6 ปี
ในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและเข้าบริหารประเทศ โดยประกาศให้คดีที่อยู่ในหมวดความมั่นคง รวมทั้งคดีมาตรา 112 พิจารณาที่ศาลทหาร และภายใต้การบริหารประเทศด้วยกฎอัยการศึกเกือบ 1 ปี ในช่วงเวลานี้มีสถิติการจับกุมและดำเนินบุคคลตามมาตรา 112 เป็นอย่างน้อย 53 คน
ดังที่ปรากฏคดีตัวอย่าง เช่น
• ช่วงปี 2557 ศาลทหารกรุงเทพตัดสิน กรณีนาย
คฑาวุธ ถูกกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุออนไลน์ มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ให้จำคุกจำเลย 10 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือจำคุก 5 ปี
• ช่วงปี 2558 ศาลทหารเชียงใหม่ตัดสิน กรณี
ศศิวิมล ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเป็น 7 ข้อความ มีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ให้จำคุกจำเลยกรรมละ 8 ปี รวม 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือจำคุก 28 ปี
• ช่วงปี 2558 ศาลทหารกรุงเทพตัดสิน กรณีนาย
พงษ์ศักดิ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพและข้อความ 6 ครั้ง มีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ให้จำคุกจำเลยกรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือจำคุก 30 ปี
......................................................................
อ้างอิง
สรุปเรียบเรียงจาก
นพพล อาชามาส, การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556
เรื่องเกี่ยวเนื่อง...
วิวัฒนาการของ “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ในรอบ 200 ปี ตามบริบทสังคมการเมือง
21 กันยายน 2015
ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมาย “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” หรือที่บางคนเคยเรียกว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กฎหมายมาตรานี้เป็นกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมากและต่อเนื่องมายาวนานยาวนาน กฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจแยกออกจากบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่ละยุคสมัยได้ วิวัฒนาการของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์พอจะเห็นรูปธรรมได้จากการกำหนดความผิดและโทษ การแก้ไขเพิ่มเติม และกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจากคดีความที่เกิดขึ้นจริง
ยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ในยุคนี้พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ พระมหากษัตริย์กับรัฐจึงเป็นเสมือนสิ่งๆ เดียวกันโดยพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวงในฐานะผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความความยุติธรรมในรัฐ ตามคติว่าด้วยสมมติเทพและธรรมราชา[1]โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ การละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายสูงสุดหรือทำลายความมั่นคงของรัฐ
กฎหมายตราสามดวง
กฎหมายตราสามดวง ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากการชำระกฎหมายต่างๆ ในสมัยอยุธยา กฎหมายตราสามดวงกำหนดความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ได้บัญญัติความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ เอาไว้ ความว่า
“ผู้ใดทะนงองอาจ์บ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน ๆ หนึ่งคือให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25 ที 50 ที ให้จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้”
มาตรา 72 ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว ความว่า
“ถ้าผู้ใดติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัวต่างต่าง พิจารณาเปนสัจ ให้ลงโทษ 3 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที หมิสกัน 25 ที”
และมาตรา 58 ความผิดฐานด่าผู้มีบรรดาศักดิ์ ความว่า
“..ด่าท่านผู้มิบันดาศักดิ ท่านให้ลงโทษ 4 สถาน สถานหนึ่งคือ ให้แหวะปากลงโทษถึงสิ้นชีวิตร ให้ตัดปากเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 50 ที ไม้หวาย 25 ที ให้ไหมโดยยศถาศักดิ”
อย่างไรก็ตาม[2] ลักษณะและโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กินความหมายเพียงในมาตราดังกล่าวเท่านั้นแต่ยังปรากฏในบทบัญญัติอื่นๆกว่า 100 มาตราที่คุ้มครองการล่วงละเมิดต่อกษัตริย์ในด้านต่างๆ เช่น การมิได้ใช้ราชาศัพท์อันควร การโจมตีข้าราชการของกษัตริย์ หรือการกระทำใดๆต่อสัญลักษณ์ของกษัตริย์ เป็นต้น
ลักษณะของกฎหมายเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมระบบศักดินาซึ่งจัดแบ่งชนชั้นของบุคคลในยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งระบบศักดินายังส่งผลต่อการนิยามความผิดและกำหนดบทลงโทษด้วย เช่น การนำศักดินามาใช้ในการคำนวณปรับไหม และการถือสิทธิพิเศษทางการศาล[3]เป็นต้น
พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118
ต่อมาเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 การสื่อสารในรูปแบบเขียนและการพิมพ์เริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชน มีการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการบ้านเมืองหรือความประพฤติของข้าราชการ จึงมีการปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ให้เป็นระบบและมีอารยะมากขึ้น นำไปสู่การประกาศใช้ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 ในสมัยรัชกาลที่ 5
พระราชกำหนดนี้ ระบุความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา 4 ความว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑลฤาสมเด็จพระอรรคมเหษีฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี…โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเป็นที่ แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ …ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า 1500 บาท ฤาทั้งจำคุกแลปรับด้วย…”
กฎหมายนี้ก็ยังคงรักษาลำดับชนชั้นในสังคมและวัฒนธรรมจากกฎหมายตราสามดวงเอาไว้ และข้อหาหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ถูกทำให้มีความหมายที่เคร่งครัดมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารงานของราชการก็ยังคงถูกตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ได้เช่นกันและไม่มีการกำหนดบทยกเว้นความผิดหรือโทษแต่อย่างใด
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127
ด้วยกระแสรัฐสมัยใหม่จากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและศาลนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งมีการเพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้สูงขึ้นด้วย กฎหมายนี้ กำหนดความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูลไว้ในส่วนที่ 1 มาตรา 98 ความว่า
“ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า ห้าพันบาท อีกโสดหนึ่ง”
และมาตรา 100 ความว่า
“ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ในหมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎภายในพระราชอาณาจักรมาตรา 104 ไว้ด้วย ความว่า
“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง”
ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2470 ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมใน (1) เป็นให้การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวางกว่ากฎหมายฉบับก่อนๆ และมีการเพิ่มคำว่าแสดงความอาฆาตมาดร้ายเข้ามาเป็นครั้งแรกด้วย[4]
ข้อสังเกต คือ นิยามของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงการเปลี่ยนสยามสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จากเดิมที่อ้างอิงอำนาจความชอบธรรมอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติได้เคลื่อนไปสู่การอ้างอิงหรือผูกสถาบันกษัตริย์ฯ เข้ากับความเป็นชาติไทย ความเป็นชาติที่แท้จริงจึงเท่ากับการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้การการดูหมิ่นกษัตริย์เท่ากับเป็นการดูหมิ่นอำนาจของผู้คนภายในชาติที่มอบให้กษัตริย์ไว้ด้วย
พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470
ขณะเดียวกันในภาวะสังคมที่เทคโนโลยีและสื่อสิ่งพิมพ์ที่แพร่หลายต่อสาธารณะมากขึ้น สื่อจึงกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงการอธิบายความเป็นชาติ[5] แบบใหม่ที่ชาติเป็นของราษฎรโดยกษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองประเทศตกเป็นเป้าหมายในการแสดงความคิดเห็นโดยตรง ซึ่งมีการต่อสู้กลับโดยใช้ข้อหาหมิ่นฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 มาตรา 5 กำหนดให้บทประพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะยุยงให้กระทำความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักรเป็นบทประพันธ์ประเภท “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ซึ่งเป็นความผิดกำหนดโทษกรณี “…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม…ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”
ต่อมาในพ.ศ. 2470 มีการออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่กำหนดคำว่าเสี้ยนหนามแผ่นดินในมาตรา 6(5) ว่าคือบทประพันธ์ “..อันมีความมุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะ ให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฤารัฐบาล ฤาราชการแผ่นดิน…”
ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
24 มิถุนายน 2475 เกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรที่ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดในรัฐเป็นของประชาชน ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของอำนาจรัฐผู้อยู่เหนือกฎหมายไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ
แม้จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้ว แต่กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายลักษณะอาญาฯ ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมา และถูกใช้ในฐานะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐซึ่งรวมถึงสมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย
ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ยังบัญญัติให้“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งหลักการนี้ส่งผลต่อการขยายขอบเขตในการตีความความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเวลาต่อมา[7] และความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังคงผูกโยงเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐเช่นเดียวกับในระบอบเก่า
แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ลดโทษและกำหนดบทยกเว้นความผิด
ในปี พ.ศ.2478 รัฐสภา ยกเลิกมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ ทั้งนี้ตามหลักความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ2475ในขณะนั้นซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย”
ต่อมา ในปีพ.ศ.2477 มีการแก้ไขในมาตรา 104 (1) ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฯ เป็นว่า “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี.... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท ด้วยอีกโสตหนึ่ง แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรากฎบทบัญญัติยกเว้นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ
เปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 จุดเริ่มต้นมาตรา 112
ในช่วงทศวรรษ 2490 กลุ่มอำนาจฝ่ายนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามฟื้นฟูสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในฐานะความเป็นชาติดังเช่นระบอบเก่า ขณะที่คณะราษฎรเริ่มหมดอำนาจทางการเมือง และการเมืองของโลกอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่มีการโจมตีระบอบกษัตริย์โดยแนวคิดคอมมิวนิสต์
จึงมีการตราประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2499 ขึ้นใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญา ฉบับเดิม โดยย้ายบทบัญญัติมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายใหม่ โดยยกเลิกบทยกเว้นความผิดพร้อมแก้ไขเนื้อความเป็นว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” โดยมาตรา 112 ถูกบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงทศวรรษ 2500 การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำไปผูกเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ดำเนินการกำจัดและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง เช่น กรณีการประหารชีวิตนายครอง จันทดาวงศ์ ซึ่งถูกล่าวหาว่ามีแผนร้ายในการทำลายประเทศชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ลบหลู่พระบรมเดชชานุภาพอย่างร้ายแรง[8] ความมั่นคงของรัฐกลายเป็นวาทกรรมใหม่ที่รับรองการใช้ข้อหาหมิ่นฯในลักษณะที่ขยายความหมายให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการปฏิวัติซ้ำของจอมพลสฤษดิ์ 20 ตุลาคม 2501 คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกดำเนินคดีในศาลทหารอีกด้วย
ต่อมายุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการสถาปนาบทบาทใหม่ของกษัตริย์ ผ่านวาทะกรรมที่เชื่อมกษัตริย์เข้ากับประชาธิปไตยนอกจากชาติด้วย เรียกว่า ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย[9]ซึ่งได้สร้างสถานะกษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมืองขึ้นใหม่ที่มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มีลักษณะที่ฉ้อฉลสกปรก พระราชกรณียกิจและพระราชอำนาจต่างๆ ไม่ถูกเข้าใจเป็นเรื่องทางการเมืองไปด้วย[10] การคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของสถาบันตามปกติจึงอาจถูกให้ความหมายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ได้เช่นกัน บริบทช่วงนี้ความหมายของ การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังซ้อนทับเข้ากับการกระทำ คอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นจนแทบเป็นสิ่งเดียวกันด้วย ความหมายของการหมิ่นฯจึงมีแนวโน้มจะถูกตีความอย่างกว้างขวางเท่ากับเป็นการมุ่งล้มล้างทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย[11]
แก้ไขเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่จุดที่รุนแรงที่สุดในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากกรณีการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา อันเป็นที่มาของการปลุกระดมและนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์และขบวนการนักศึกษาประชาชน และความกลัวต่อการคุกคามสถาบันกษัตริย์จากสงครามเย็นในช่วงเวลานั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบทของมาตรา 112
หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งอ้างในแถลงการณ์ถึงเหตุผลของการยึดอำนาจว่ามี "กลุ่มบุคคล…ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเป็นการเหยียบย้ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบัน…ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย…" และต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น “มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
หลังบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจบสิ้นลงพร้อมกับอำนาจของกองทัพ ในทศวรรษ 2520 สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทในการดำเนินพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ จนนำไปสู่พระราชอำนาจนำทั้งในมิติการเมืองและมิติอุดมการณ์ที่ลงหลักสถาปนาอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น[12] นอกจากนี้ ยังมีการสร้างชุดคำอธิบายว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองในสภาวะวิกฤต ในฐานะเป็นหลักชัยในการระงับเหตุร้ายแรง[13] หรืออธิบายพระราชอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์ในตัวบทกฎหมายฐานะเป็นธรรมเนียมที่เข้าใจกันทุกฝ่าย ว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง[14]
ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงเป็นเหมือน “พ่อ” ของรัฐ ชุดความสัมพันธ์สร้างอารมณ์ความรู้สึกความผูกพันใกล้ชิดหรือความรักของพลเมืองที่มีต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นความรู้สึกใหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพิ่มความหมายในลักษณะที่กระทบความรู้สึกของประชาชน เป็นการเนรคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนทั่วไปก็มีบทบาทเป็นผู้สร้างและเผยแพร่อุดมการณ์นี้เองด้วย
สรุปเรียบเรียงจาก
นพพล อาชามาส, การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556 น.44.
อ้างอิง
[1] ดู งานเขียนของพระองค์เจ้าธานีนิวัติเรื่อง“The Old Siam Conception of The Monarchy”1946 และ ดูข้อสังเกตนี้ในธงชัย วินิจจะกุล 2548.ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14ตุลาคม.กรุงเทพฯ:มูลนิธิ14ตุลา.
[2] ดู นพพล อาชามาส การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556 น.44.
[3] ดู ควอวิช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, แปลโดย กาญจนีละอองศรี, และยุพา ชุมจันทร์,พิมพ์ครั้งที่ 1( กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2527), น. 41.
[4] ดู ฐนาพงษ์ ทอนฮามแก้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553 น.82.
[5] อ้างแล้ว[2] น.53-56.
[6] ดู พระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2470 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 44 (5 กันยายน 2470).
[7] อ้างแล้ว[2]น.60.
[8] ดู ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ 2546 .“ภาพลักษณ์ของ“คอมมิวนิสต์”ในการเมืองไทย”, รัฐศาสตร์สาร24(2)น.188-189.
[9] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548.และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน14ตุลา.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[10] ดู ธงชัย วินิจกุล 2548.ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14ตุลาคม.กรุงเทพฯ:มูลนิธิ14ตุลา.
[11] ดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร 2520น.100-101.พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย(พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพฯ:กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
[12] ดู ชนิดา ชิดบัณฑิตย์ 2550.โครงการอันเนื่องมากพระราชดำริ:การสถาปนาอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.
[13] เพิ่งอ้าง,น. 184-185.
[14] ดู ธงทอง จันทรางศุ 2548.พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ.กรุงเทพฯ:ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.