ศชอ. ส่งข้อความข่มขู่บุคคลเรื่องการดำเนินคดี ม.112 ไม่น้อยกว่า 62 ราย เผยแพร่ข้อมูลบุคคลในกูเกิ้ลแม็พกว่า 466 รายโดย
admin01028/06/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ว่าได้ถูกสมาชิกของ “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายดังกล่าว สถานการณ์ดังกล่าวค่อยๆ เข้มข้นขึ้น และมีผู้ถูกคุกคามจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลายเดือนนี้
จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบว่ามีผู้แจ้งข้อมูลลักษณะนี้มาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมอย่างน้อย 62 รายแล้ว
สรุปรูปแบบการคุกคาม: ส่งไฟล์ข้อมูลส่วนตัวขู่ดำเนินคดีโดยเฟซบุ๊กอวตาร ก่อนเปิด Google maps ระบุข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับรูปแบบการคุกคามที่เกิดขึ้น พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็น “อวตาร” คือไม่เปิดเผยชื่อสกุลและหน้าตา ใช้ภาพการ์ตูนต่างๆ เป็นรูปโปร์ไฟล์ และไม่ได้เป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กแต่อย่างใด พยายามส่งข้อความมาทางกล่องข้อความส่วนตัว ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตกเป็น “เป้าหมาย”
เฟซบุ๊กอวตารดังกล่าวพบว่ามีหลายสิบบัญชี อาทิเช่น
Boreys Mornhs (แอดมิน ศชอ.), เอ มินเนี่ยน ศชอ,
Aniss Aniss,
ยัยตัวร้าย ยยย,
สมถวิล ที่รัก, lamaomsin Naja,
Gonna Mayan,
ชิซูกะ นาโมมิ,
จิน ฟรีคส์,
Itt Itt No,
มีนามว่า ตัวร้าย,
นมเปรี้ยว ร้อนร้อน,
หมาน้อย จอมป่วน, หมู หวาน,
หมอ มนัส,
Diable Mal,
ลูกมู๋ สามตัว,
เจ้าหญิง ยิ้มหวาน เป็นต้น
ผู้ใช้เฟซบุ๊กอวตารดังกล่าว จะมีการแนบไฟล์เอกสารเป็น PDF ที่มีรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตกเป็น “เป้าหมาย”, ข้อความหรือการแชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และทำการรวบรวมข้อมูลทางสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว เช่น การค้นหาเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน, การนำชื่อบุคคลไปค้นหาในแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อยืนยันข้อมูลส่วนบุคคล, การรวบรวมถ่ายภาพบุคคลหรือเอกสารอื่นๆ ที่เคยมีการโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก นอกจากนั้นยังมีการใส่ “รหัสไฟล์งาน” แต่ละไฟล์กำกับไว้อย่างเป็นระบบด้วย
ผู้ใช้เฟซบุ๊กอวตาร ยังมีการเขียนข้อความประกอบการส่งไฟล์ อาทิเช่น “ศชอ. ฝากส่งให้” “คุณไม่ได้มีแค่คดีนี้คดีเดียว” “ในคุกข้าวฟรีครับถ้าไม่เรื่องมากเกินไป”
ตัวอย่างการส่งข้อความและไฟล์เอกสารจาก “เฟซบุ๊กอวตาร”
นอกจากนั้น หากผู้ใช้เฟซบุ๊กยังไม่ได้อ่านในกล่องข้อความ เฟซบุ๊กอวตารเหล่านั้นยังได้ไปคอมเมนต์ในข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นเป้าหมาย เพื่อแจ้งให้อ่านใน “อินบ็อกซ์” ด้วย พร้อมแคปภาพการส่งข้อความโพสต์ประกอบในคอมเมนต์ด้วย บางรายยังได้รับเอกสารดังกล่าว โดยการส่งมาทางอีเมล์อีกด้วย
จากการตรวจสอบ ข้อความที่มีการกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พบว่ามีทั้งข้อความที่คอมเมนต์ในเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul, การแชร์หรือคอมเมนต์ในเพจ KTUK – คนไทยยูเค, ข้อความที่โพสต์หรือคอมเมนต์ในกลุ่ม “รอยิลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง” หรือบางรายก็เพียงแต่แชร์ข้อความจากเพจทางการเมืองต่างๆ โดยไม่ได้เขียนข้อความใดประกอบ
ขณะเดียวกันไฟล์เอกสารที่ “เฟซบุ๊กอวตาร” ดังกล่าว ได้ส่งให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กในช่วงหลัง ยังมีหน้าที่ระบุว่าเป็น “ขั้นตอนการแจ้งความของกองทัพมินเนี่ยน” โดยมีการสรุปข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี พบว่ามีข้อความดังต่อไปนี้
“1. ถ่ายเอกสารหลักฐาน 3 ชุด /สําเนาบัตรประชาชน3 /หากบ้านเลขที่ตรงกับบัตรประชาชนไม่จําเป็นต้องใช้สําเนาทะเบียนบ้าน (ที่ต้องถามถึงบ้านเลขที่เพราะเจ้าหน้าที่สอบปากคําจะถามเราว่าเหตุเกิดที่ไหน (ให้ตอบว่าระหว่างที่ข้าพเจ้ากําลังเล่น Facebook อยู่ที่บ้านพัก….., ได้เปิดมาเจอข้อความนี้ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ……จึงได้เก็บเอกสารนํามาแจ้งความ
***** ก่อนไปแจ้งความอยากให้ท่านศึกษาเอกสารอย่างถี่ถ้วนเหมือนอ่านข้อสอบเพราะเราจะต้องเข้าใจในเนื้อหาเพื่อที่จะได้สอบปากคําอย่างราบรื่น
2. แจ้งเจ้าหน้าที่ตํารวจว่าต้องการมาแจ้งความดําเนินคดี พร้อมยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ (หากเป็นไปได้ควรแนบไฟล์ใส่usb) หรือส่ง LINE ให้เจ้าหน้าที่
3. เมื่อยื่นเอกสารแล้วให้ถามเจ้าหน้าที่ว่าจะสอบปากคําได้วันนี้เลยไหมหรือนัดมาอีกครั้ง / หากนัดมาสอบปากคําวันหลัง เราจะต้องได้ใบลงบันทึกประจําวันกลับไป
4. เมื่อนัดสอบปากคําเสร็จเรียบร้อยเราจะได้ใบแจ้งความ และเมื่อเจ้าหนาที่เริ่มดําเนินคดีอาจจะ 6-9 เดือนตามขั้นตอน ถึงตอนนั้นผู้ตองหาจะได้รับหมายเรียกมาที่ สน. ท้องที่ ที่เราไปแจ้งความคะ
ทางกองทัพมินเนี่ยนขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ”
รายละเอียดที่มีระบุในไฟล์เอกสาร และตัวอย่างข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีการรวบรวม
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าสมาชิกของกลุ่ม ศชอ. นี้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อย่างน้อย 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้แก่ การแจ้งความผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 41 ราย เมื่อวันที่
1 มิถุนายน 2564 และ ผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 90 ราย เมื่อวันที่
10 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ทางกลุ่ม ศชอ. ยังเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อแกนนำราษฎรหลายรายในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน 64 ยังพบว่าเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม ศชอ. ได้มีการเผยแพร่ลิงก์แผนที่ของ Google Maps ที่ใช้ชื่อว่า “แผนที่ 112” แผนที่นี้ถูกจัดทำขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564
แผนที่ดังกล่าวมีการปักหมุดข้อมูลสถานที่อยู่ของบุคคลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 466 จุด (ข้อมูลวันที่ 28 มิ.ย. 64 เวลา 14.00 น.) แต่ละจุดได้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายของบุคคล โดยมีการคาดใบหน้าด้วยเลข “112” และมีการใส่ตราสัญลักษณ์สถานศึกษา หรือสถานที่ทำงานลงในภาพ ทำให้สามารถทราบข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของบุคคลในโลเคชั่นนั้น
จากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่ถูกส่งไฟล์และข้อความข่มขู่หลายราย ปรากฏภาพและข้อมูลส่วนตัวอยู่บนหมุดในแผนที่ดังกล่าวที่ทาง ศชอ. เผยแพร่ ทำให้คาดได้ว่าทางสมาชิกของกลุ่ม ศชอ. ได้ดำเนินการส่งไฟล์และข้อความไปให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กในลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นจำนวนมากกว่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานอีกด้วย
ต่อมา เวลา 16.00 น. มีรายงานว่าทั้งโพสต์ของ ศชอ. และหน้าการปักหมุด “แผนที่ 112” บน Google Maps ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว
โพสต์ข้อความของเพจ ศชอ. เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 64 (ขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว)
ข้อสังเกต/คำแนะนำเบื้องต้น กรณีถูกส่งข้อความข่มขู่ดำเนินคดี ม.112จากสถานการณ์กรณีบุคคลไม่รู้จักส่งข้อความ ภาพถ่ายหน้าจอ หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาให้ พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
1. มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย สามารถดำเนินการกล่าวโทษ (แจ้งความ) ต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาประการสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่อง
2. อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการอื่นนอกจากนำข้อมูลไปแจ้งความ เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหาย ใช้ข่มขู่คุกคาม ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อหากระทำรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ตาม
มาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา หรือเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดได้
3. ควรตรวจสอบว่าเราเคยโพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลอื่นไว้ในโพสต์ของตนเองหรือ ผู้อื่นหรือไม่ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาทนายความ หรือดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อความนั้นไว้ก่อน
4. กรณีมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิ้ลแม็พ สามารถกดรีพอร์ท (report) ว่าโพสต์เหล่านั้นเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
5. กรณีมีการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แม้บุคคลภายนอกจะรวบรวมหลักฐานไว้เบื้องต้นเพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องดำเนินการสอบสวนก่อนว่ามีการโพสต์ข้อความ แชร์ข้อความ หรือคอมเมนท์ในลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ และข้อความนั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่
6. รวมทั้งโพสต์ดังกล่าวนั้นโพสต์จากผู้ให้บริการรายใด อุปกรณ์ใดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้โพสต์ และบุคคลใดเป็นผู้กระทำ หากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานตามสมควรแล้วจึงจะออกหมายเรียกให้บุคคลมารับทราบข้อกล่าวหา
7. กรณีได้รับหมายเรียก หมายค้น การตรวจยึดพยานหลักฐาน หรือถูกจับกุม แนะนำให้ดำเนินการตาม
คำแนะนำกรณีควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือ
ได้รับหมายเรียก