Salika21 hours ago
·
ถ้อยแถลงล่าสุดของลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) เรียกเสียงชื่นชมล้นหลาม จากการยืนหยัดเตือนพลเมืองสิงคโปร์และผู้คนทั้งโลกให้เตรียมรับมือคลื่นกระแทกลูกใหม่ หลังสหรัฐอเมริกาเดินหน้าขึ้นภาษีการค้าอย่างแข็งกร้าว แต่ก่อนจะไปถอดรหัสความหมายลึกซึ้งของคำพูดเหล่านี้ เราลองมาดูว่านายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พูดอะไรบ้างในแถลงการณ์ที่ทั่วโลกต้องฟังอย่างครุ่นคิด
.
เขาชี้ชัดแบบไม่อ้อมค้อมว่าสิงคโปร์ต้องเตรียมใจรับมือกับแรงสั่นสะเทือนจากเวทีการค้าโลก หลังสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าครั้งใหญ่ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ออกโรงเตือนว่า ความสงบและเสถียรภาพระหว่างประเทศที่โลกเคยคุ้นเคยจะไม่หวนกลับมาในเร็ววัน พร้อมชี้ให้เห็นแนวโน้มของระเบียบโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น
.
“เราต้องไม่หลงคิดว่าโลกจะกลับไปเป็นเช่นเดิม กฎเกณฑ์ที่เคยคุ้มครองประเทศเล็กๆ อาจไม่สามารถยืนหยัดได้อีกต่อไป” เขาล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ผ่าน YouTube เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า “ผมพูดเรื่องนี้เพื่อให้ทุกคนเตรียมใจไว้ล่วงหน้า เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองประมาท เพราะความเสี่ยงในวันนี้สูงกว่าเดิมหลายเท่า”
.
คำเตือนของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 3 เมษายน โดยเฉพาะกับจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมถึงหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกลายเป็นชนวนใหม่ของความตึงเครียดทางการค้าโลก
.
แม้สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีเพียง 10% ซึ่งนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ลอว์เรนซ์ หว่อง เตือนว่า ความเสียหายที่แท้จริงอาจลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าที่เห็น
.
“สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เพียงแค่ภาษีในวันนี้ แต่เป็นแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะเริ่มทำตามสหรัฐอเมริกา โดยใช้กำลังและผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง การเพิกเฉยต่อกรอบ WTO และระบบระหว่างประเทศที่เคยถ่วงดุลไว้ นั่นคือความจริงที่โหดร้ายที่เราต้องเผชิญ” เขากล่าว
.
เขายืนยันว่าสิงคโปร์จะยังคงเสริมสร้างความสามารถในประเทศ พร้อมจับมือกับพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อยืนหยัดในโลกใหม่ที่วุ่นวายยิ่งขึ้น “เราพร้อมกว่าอีกหลายประเทศ ด้วยความสามัคคี ความมั่นคงทางการเงิน และความตั้งใจแน่วแน่”
.
นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของโลกาภิวัตน์ว่า กำลังเดินหน้าเข้าสู่ระเบียบโลกแบบใหม่ โดยอ้างถึงบทบาทดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นผู้นำในการผลักดันระบบการค้าเสรีและ WTO ซึ่งแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ทำให้เกิดเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
.
“สิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่การปฏิรูป แต่คือการถอนตัวออกจากระบบที่ตัวเองสร้างขึ้น การใช้ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้เฉพาะประเทศ ถือเป็นการปฏิเสธกรอบ WTO อย่างสิ้นเชิง”
............................................................................................
:: เสียงสะท้อนจากรัฐบาลและภาคธุรกิจสิงคโปร์ ::
.
ด้านรองนายกรัฐมนตรี กัน คิม ยอง ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เตือนว่าครัวเรือนและธุรกิจในประเทศต้องเตรียมรับมือกับ “สถานการณ์ที่เลวร้าย” พร้อมเผยว่าสิงคโปร์กำลังทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจ และอาจต้องปรับตัวในไม่ช้า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ
.
ด้าน ลี เซียนลุง รัฐมนตรีอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศสิงคโปร์ ก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การเติบโตของสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบแน่นอน แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลลัพธ์อย่างชัดเจน
.
ในขณะเดียวกัน สมาคมการค้าและภาคธุรกิจในประเทศต่างเตรียมความพร้อมรับมือกับต้นทุนที่อาจพุ่งสูงขึ้นจากความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทานโลก พร้อมแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจลามกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก
............................................................................................
:: ย้อนรอยประวัติศาสตร์ และบทเรียนจากทศวรรษ 1930 ::
.
ผู้นำสิงคโปร์ยังเตือนอีกว่า โลกอาจกำลังเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งความขัดแย้งทางการค้าไต่ระดับสู่ความตึงเครียดทางการเมือง และนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารในที่สุด นั่นคือช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
.
“เราต้องไม่ประมาท เพราะหากโลกยังคงดำเนินตามเส้นทางนี้ ประเทศเล็กๆ อย่างเราเสี่ยงที่จะถูกบีบให้พ้นวง ถูกทอดทิ้ง และหลุดออกจากเวทีโลกในที่สุด” เขากล่าวสรุป
.
จากถ้อยแถลงดังกล่าว สามารถถอดรหัสกลยุทธ์การสื่อสารของผู้นำสิงคโปร์ และบทบาทภาวะผู้นำ ได้ดังนี้
.
1. การสื่อสารอย่างมีวิสัยทัศน์ (Visionary Communication) : ลอว์เรนซ์ หว่องไม่เพียงกล่าวถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยกระดับการสื่อสารไปสู่ภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลก (Global Order Disruption) โดยใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน เช่น “ความสงบและเสถียรภาพของโลกที่เราเคยรู้จัก จะไม่กลับมาในเร็วๆ นี้” และ “เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในโลกาภิวัตน์ ที่อิงกับกฎเกณฑ์ มาสู่โลกที่เผด็จการ กีดกัน และอันตรายมากขึ้น”
.
นี่ไม่ใช่การพูดเพื่อสร้างความตื่นตระหนก แต่เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว
.
ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จะช่วย “เชื่อมโยงเหตุการณ์เฉพาะหน้า” เข้ากับ “แนวโน้มระยะยาว” ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
.
2. ความโปร่งใสและการพูดความจริง (Radical Transparency) : ผู้นำส่วนใหญ่มักใช้ถ้อยคำที่ “กลางๆ” หรือ “ปลอบใจ” เพื่อหลีกเลี่ยงการตื่นตระหนก แต่เขาเลือกที่จะ “พูดตรง พูดจริง และพูดก่อน” เขาเตือนว่า “อย่าหลงระเริง ความเสี่ยงมีอยู่จริง และเดิมพันนั้นสูง” รวมถึง “เราอาจถูกบีบให้จำนน ถูกละเลย และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
.
การใช้แนวทาง “พูดความจริงแม้จะขื่นขม” (Brutal Honesty) แบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้นำ และความไว้วางใจในสติปัญญาและวุฒิภาวะของประชาชน
.
ความโปร่งใสช่วยลดข่าวลือ สร้างความน่าเชื่อถือ และบอกให้ประชาชนเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมรับมือกับผลกระทบในระดับต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการบริหารของสิงคโปร์ที่เน้น “รัฐบาลที่พูดจริง ทำจริง” ไม่ปิดบัง ไม่ขายฝัน
.
3. การปลุกความสามัคคีและความมั่นใจ (Reinforcement of National Unity) : แม้จะเตือนตรงๆ เตือนแรงๆ แต่นายกฯ สิงคโปร์ไม่ทิ้งความหวัง โดยเน้นย้ำให้ประชาชนเชื่อว่า “หากเรายังยืนหยัด มีความสามัคคี และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เราจะสามารถยืนอยู่ได้แม้ในโลกที่มีปัญหา” และ “เรามีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยทุนสำรอง ความสามัคคี และความมุ่งมั่นของเรา”
.
นี่คือรูปแบบการสื่อสารแบบ “Truth + Hope” หรือ “พูดความจริงเพื่อเตรียมใจ และทิ้งท้ายด้วยความหวังเพื่อรวมพลัง” เขาไม่ได้ต้องการทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือหวั่นวิตก แต่ทำให้ “ตื่นรู้” แล้วชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ไม่ได้ไร้ทางเลือก การเน้นย้ำ “ความสามัคคี” เป็นการยืนยันถึง “พลังของการรวมกันเป็นชาติเล็กที่ยิ่งใหญ่” และเป็นหนึ่งในเสาหลักของการบริหารประเทศสิงคโปร์
.
4. การใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการให้ความรู้และปลุกพลังพลเมือง (Civic Education through Crisis) : นายกฯ สิงคโปร์ใช้สถานการณ์การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาเป็นจุดเปลี่ยนในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบ WTO, การค้าเสรี, และบทบาทของสิงคโปร์ในเวทีโลก เขาอธิบายว่าระบบ WTO เคยสร้างเสถียรภาพให้โลก แต่วันนี้ถูกละทิ้ง และโลกอาจย้อนกลับไปสู่ยุคที่ “ใครมีอำนาจก็เป็นฝ่ายกำหนดกติกา”
.
นี่คือการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นบทเรียน เพื่อยกระดับความเข้าใจของสังคม ไม่ใช่แค่ระดับผู้นำ แต่ขยายถึงประชาชนทั่วไป สะท้อนบทบาท “ผู้นำที่เป็นครู“ หรือ Educator-in-Chief ซึ่งเป็นภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ที่หายาก
.
5. ภาวะผู้นำเชิงรุกในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Proactive Leadership in a Disrupted World) : ลอว์เรนซ์ หว่อง เตือนถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า เช่น การตอบโต้จากประเทศอื่นๆ การกีดกันทางการค้า และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
.
เขาเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และครัวเรือน “เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย”
พร้อมย้ำว่า สิงคโปร์จะปรับประมาณการเศรษฐกิจและออกมาตรการเสริมทันทีหากจำเป็น พร้อมกันนี้ก็ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้นำที่เก่งต้องไม่รอรอให้สถานการณ์แย่ก่อนแล้วค่อยแก้ไข แต่เลือกใช้แนวทาง “เตรียมพร้อมก่อนเกิดวิกฤต” นี่คือภาวะผู้นำแบบ Agile + Resilient ที่เน้นการคาดการณ์ + ความยืดหยุ่น + การตัดสินใจเชิงรุก
.............................................................................................
โดยสรุปแล้วภาพรวมภาวะผู้นำของลอว์เรนซ์ หว่อง นายกฯ สิงคโปร์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
.
1. Visionary | มองไกล เข้าใจแนวโน้มโลกที่เปลี่ยนแปลง
2. Courageous | กล้าพูดความจริง ไม่หลบเลี่ยงความขมขื่น
3. Inclusive | รวมพลังประชาชนทุกภาคส่วน เป็นเจ้าของวิกฤตร่วมกัน
4. Transparent | ซื่อสัตย์ โปร่งใส สร้างความไว้ใจอย่างยั่งยืน
5. Agile Leader | เตรียมพร้อม ปรับตัวไว สื่อสารก่อนเสมอ
............................................................................................
:: เมื่อผู้นำต้องมองไกลกว่าคลื่นลมตรงหน้า ::
.
ในห้วงเวลาที่โลกกำลังโหมกระหน่ำด้วยแรงปะทะของความเปลี่ยนแปลง ผู้นำบางประเทศยังคงยืนลังเลอยู่ริมฝั่ง มองคลื่นลูกแล้วลูกเล่าอย่างจับต้นชนปลายไม่ถูก
.
แต่ผู้นำสิงคโปร์เลือกจะไม่ยืนเฉย หากแต่ส่งเสียงเตือนก้องข้ามพรมแดน เพื่อชี้ให้เห็นว่า “คลื่นลูกใหม่กำลังก่อตัว และเราต้องพร้อมก่อนที่มันจะซัดถึงฝั่ง”
.
คำพูดของเขาไม่ใช่เพียงแค่การคาดการณ์ล่วงหน้า หากแต่เป็นการกำหนดทิศทาง และไม่ใช่เพียงการเตือนให้ระมัดระวัง แต่คือการวางหมากเพื่อการปรับทัพในอนาคต เขาไม่ได้แค่สะท้อนสถานการณ์ แต่ได้แผ่พรมและปูทางให้ประเทศต่างๆ ได้เดินตาม
.
นี่คือบทบาทของผู้นำที่แท้จริง ผู้กล้าเผชิญอนาคตในวันที่ผู้นำที่ไร้ศักยภาพยังมะงุมมะงาหรา ยืนมองในความมืดมิด หรืออาจจะเผลอหลับอยู่ในอดีต
.
ในห้วงเวลาที่ “โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” ผู้นำที่ยังไม่รู้ตัวว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร อาจเป็นภาระของประเทศ มากกว่าจะเป็นเข็มทิศนำทาง
............................................................................................
ที่มา :
https://www.channelnewsasia.com/.../singapore-must-brace....
https://www.salika.co/.../decoding-lawrence-wong.../.
Knowledge Sharing Space |
www.salika.co.
#Leadership #นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ #ภาวะผู้นำ #ภาษีศุลกากรตอบโต้ #ลอว์เรนซ์ห
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1238547661608752&set=a.542806074516251