วันอาทิตย์, เมษายน 23, 2566

ชีวิต ‘นายแบก’ ผู้ต้องการแรงหนุนของภาครัฐ ที่ขอไปแล้วเงียบหาย

ขณะที่ ติ่ง ประชาธิปไตย เถียงกันไปเถียงกันมา จะเอาอะไรก่อนดีระหว่างโครงการเศรษฐกิจมหภาค กับรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ลองมาดูในสิ่งที่ มูลนิธิกระจกเงา เสนอไว้

“นี่อะไร ปล่อยให้คนตัวเล็กที่แบกจะไม่ไหวแล้ว ก็ยังคงต้องแบกต่อไป โดยไม่รู้ว่าจะถูกถ่ายน้ำหนักนี้โดยรัฐได้ในวันไหน” เรื่องราวของชายสูงอายุ อาชีพขับรถแท็กซี่ กับเพื่อนหญิง “ที่รู้จักกันเพียงโลกออนไลน์” ซึ่งพิการจากเส้นเลือดสมองตีบ

“เธอกับเขาอยู่ร่วมในบ้านเดียวกันมากว่า ๒ ปี” หลังจากที่ฝ่ายชายได้รับโทรศัพท์จากฝ่ายหญิงว่า ถูกไล่ออกจากบ้านไม่มีที่จะอยู่แล้ว ร้องห่มร้องไห้ไปรับหน่อย แม้จะอยู่ห่างกันนับ ๓๐๐ กิโลเมตร เขาก็รีบบึ่งไปรับเธอมาทันใด

ออกไปขับรถแท็กซี่ก็ห่วงแกนะ นอนอยู่คนเดียวที่บ้าน บางครั้งผมกลับมาก็ตีหนึ่งตีสอง ก็เริ่มงานดูแลแก อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว กว่าผมจะได้นอนก็เกือบเช้าแล้ว แกยังคงกัดฟันสู้ ตัวเองก็ใช่จะอยู่ดี นับวันรายได้ยิ่งน้อยลง ร่างกายทรุดโทรม

กระดูกเสื่อม เป็นไมเกรน หูตึง ความดันสูง จึงต้องติดต่อกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ผ่านทางสายด่วนเมื่อปลายปี ๖๕ หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม “เขาก็ลงมาพูดคุย วัดความดัน เจาะเลือด แล้วก็มีผ้าอ้อมสำเร็จรูป มีนมมาให้ ๑ แพ็ค แต่ผมก็ขอวีลแชร์ไปด้วย”

จากวันนั้นถึงวันนี้ วีลแชร์ยังไม่ได้ ทวงถามก็ไม่ได้ เขาให้บัตรคนพิการมาใบหนึ่ง ทำอะไรไม่ได้เพราะจะต้องไปลงทะเบียนที่ภูมิลำเนาเดิม ทำไมเจ้าหน้าที่เขาไม่ทำให้เบ็ดเสร็จไปเลย ป้าจะกลับไปยังไงที่บ้านแก ผมจะไปทำให้ได้อย่างไรในสภาพแบบนี้

“บ่าของคนตัวเล็กก็มีข้อจำกัดที่จะแบกรับในระยะเวลาที่นานๆ ได้ รัฐซะอีกที่ควรจะเป็นผู้เข้าไปแบกชีวิตที่พิการและไร้ที่พึ่งไว้อย่างเต็มใจจากบ่าที่ใหญ่กว่าตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป” มูลนิธิกระจกเงาตัดพ้อแทนชายชราผู้ แบก เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แต่ไม่มีโอกาสได้แบกพรรคการเมือง

(https://www.facebook.com/mirrorf/svbNDdP6XHWDJZSvWE)