งานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์"โดยมีวรวิทย์ เจริญเลิศ,พวงทอง ภวัครพันธุ์, ภัควดี วีระภาสพงษ์, เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ ,ประจักษ์ ก้องกีรติ, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ ร่วมตอบโจทย์ว่าหากมองไปในอนาคต หากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี
23 พ.ค.58 - ในงานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น เดิมมีกำหนดจะจัดงานที่โรงละคร หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้างานเพียงหนึ่งวัน ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้แจ้งว่าโรงละครกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สะดวกให้ใช้สถานที่
ต่อมาทางผู้จัดงานจึงได้ย้ายไปจัดงานในลักษณะปิดในพื้นที่ส่วนตัวแทน โดยรูปแบบงานเป็นการกล่าวบรรยายแสดงมุทิตาจิตในโอกาสอายุครบรอบ 75 ปี ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยวิทยากรหลายท่าน เพื่อตอบโจทย์ร่วมกันว่าหากมองไปในอนาคต ถ้าหากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี โดยมีเวลากล่าวท่านละ 10 นาที
พวงทอง ภวัครพันธุ์: รัฐบาลจากการเลือกตั้งกับการยุติวัฒนธรรมแห่งการลอยนวล
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลอยู่กับสังคมไทยมานาน เมื่อผู้มีอำนาจทำผิดต่อชีวิตของประชาชนแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ การยุติวัฒนธรรมเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี เพราะในหลายประเทศที่เกิดความรุนแรงโดยรัฐก็ใช้เวลารอหลายสิบปีในการเอาผิด แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีเจตจำนงที่จะทำให้มันยุติลงด้วย
พวงทองกล่าวว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญที่นำไปสู่การเปิดประตูให้การรัฐประหาร คือการผลักดันการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทย เหตุการณ์นี้ยังขมวดปมข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2553 ว่าพวกเขาถูกหลอกมาตายเพื่อผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตร เป็นการตอกย้ำการดูถูกเหยียดหยามที่มวลชนอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวหา มันยังส่งผลให้การพิจารณาคดีการสลายการชุมนุมที่ดำเนินมาได้ดีพอสมควร การไต่สวนการตายโดยศาลอาญา 17 ราย ศาลยืนยันว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร สิ่งเหล่านี้ชะงักหยุดลงหลังรัฐประหาร
สามเดือนหลังรัฐประหารเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างสำคัญ ศาลอาญาบอกว่าศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โยนเรื่องไปให้ปปช. ซึ่งเป็นระบบที่ปิด ประชาชน-สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปฟังการพิจารณาได้ และยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะไปถึงชั้นศาลหรือไม่ หลังรัฐประหารยังเห็นความพยายามทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ในปี 53 เป็นฝีมือคนเสื้อแดง เราจะเห็นการจับกุมบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำ
พวงทองกล่าวว่าการเอาผิดการสลายการชุมนุมปี 53 ต่อให้เริ่มจากการเอาผิดคุณอภิสิทธิ์หรือสุเทพ เพราะในกระบวนการชั้นศาล เราจะได้ข้อเท็จจริงข้อมูลจำนวนมากว่ากระสุนที่ทำให้คนเสียชีวิตบาดเจ็บนั้น มาจากทิศทางไหน กองกำลังทหารไหนที่ตั้งอยู่ เขาได้รับคำสั่งมาอย่างไร จะทำให้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจสลายการชุมนุมนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาผู้นำของกองทัพเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วย
สิ่งที่ประชาชนจะต้องทำในอนาคต คือเรียกร้องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ต้องเดินหน้ารื้อฟื้นให้เหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐ กลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรมที่เปิดเผยและโปร่งใสอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็น 5 ปี 10 ปี 20 ปี เพื่อยุติวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลในสังคมไทย เป็นบทเรียนให้คนมีอำนาจว่าคุณไม่สามารถตัดสินใจอย่างง่ายๆ ในการปิดชีวิตประชาชน เพราะเชื่อว่าจะลอยนวลได้เหมือนอดีตที่ผ่านมา
เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ: ค่าแรงและความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน
เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าถ้าดูตัวเลขประกันสังคม คือคนที่ถูกจ้างงานในระบบในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการอยู่ที่ 10 ล้านเศษๆ และกำลังแรงงานของประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีประชากรในวันทำงาน 38 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีคนกว่า 28 ล้านคนที่ไม่ถูกจ้างงานในระบบ ถูกกันออกจากเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในฐานะคนทำงาน นี่ยังไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขที่จดทะเบียนมีประมาณ 1 ล้านกว่า แต่จริงๆ อาจมีถึง 10 ล้านคนที่ไม่ได้จดทะเบียน
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งช่วงชั้นของการใช้แรงงานหลายระดับ เรามักจะบอกว่าแรงงานที่มีฝีมือ มีสกีลสูง คนที่ทำงานที่เรียกว่า Creative Economy ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบประกันสังคม รวมถึงในภาคบริการ ก็อยู่ในการจ้างงานแบบพาร์ททาร์ม หรืองานในโรงงานเองก็อยู่ในสัญญาจ้างแบบชั่วคราว หรือบางส่วนก็นำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า เราอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก และมีการแบ่งช่วงชั้นในตลาดแรงงานสูงมาก
แนวโน้มของรัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาเผด็จการทหาร ก็คือการผลักดันนโยบายที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการลดสวัสดิการสังคมลง นั่นหมายความว่านโยบายที่จะโยนภาระของการดูแลตัวเอง เช่น การศึกษา การสาธารณสุข จะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออยู่ใต้เผด็จการทหาร
เก่งกิจกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ รัฐบาลควรลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO 87 และ 98) อนุสัญญา 87 คือสิทธิของการรวมตัวของคนงาน และอนุสัญญา 98 คือการให้สิทธิแรงงานมีอำนาจในการต่อรองได้ในหลายรูปแบบและรัฐต้องคุ้มครอง
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP หรืออัตรากำไรในบริษัทเอกชนทั้งหลาย หรือกรณีแรงงานข้ามชาติซึ่งได้น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ ราว 160 บาท แต่ก็ต้องช่วยนายจ้างโกหกว่านายจ้างให้ 300 บาท เพราะรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังในการจับกุมตลอดเวลา ความคิดเรื่องชาตินิยมและการรังเกียจแรงงานข้ามชาตินั้น เป็นอาวุธสำคัญของรัฐที่จะใช้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เราพึ่งพากำลังแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก
ดังนั้น สถานการณ์แรงงานไทยคือ หนึ่ง เรามีกำลังแรงงานที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมกว่า 70% สอง ความคิดแบบชาตินิยมซึ่งกำลังครอบงำ รวมถึงการที่ไม่ยอมรับสิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงาน และการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม มาจำกัดสิทธิการชุมนุม ทำให้โอกาสของแรงงานในการต่อรองเพื่อเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการสังคมกลับลดต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้
เวลาเราพูดถึงอาเซียนของสามัญชน สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดคือการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ หรือการเพิ่มสิทธิของแรงงาน เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศอาเซียนจะพูดเรื่องค่าแรงที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการแบ่งช่วงชั้นในตลาดแรงงาน ที่จะกดขี่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่านี่จะเป็นวาระของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องผลักดัน
นพพล ผลอำนวย: การเมืองกับความชอบธรรมทางการเมือง
นพพล ผลอำนวย อดีตนักศึกษาปริญญาโท ม.เชฟฟิลด์ กล่าวว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่เข้าใจลักษณะของการเมืองไทยสมัยใหม่อย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของความชอบธรรม รัฐบาลจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องอ้างความชอบธรรมหรือหาเหตุผลมาสนับสนุนได้ ในทางรัฐศาสตร์คลาสสิกมองแนวคิดความชอบธรรมว่าคือการจัดสรรสิ่งมีคุณค่าโดยสิทธิทางอำนาจ แต่ใครล่ะจะมีความชอบธรรมในการมาจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่า แมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยา ได้พยายามแบ่งความชอบธรรมว่ามีที่มาจากสามอย่าง คือประเพณี บุญบารมี และกฎหมาย
เดวิด เบตเทิร์น นักคิดชาวอังกฤษ พยายามอธิบายความชอบธรรมโดยมองถึงสามองค์ประกอบ หนึ่งคืออำนาจจะชอบธรรมหรือไม่ต้องตรงกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ กฎเกณฑ์นี้ไม่ใช่เพียงกฎหมาย แต่อาจจะหมายถึงประเพณีที่มีอยู่ในสังคม สอง แล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นมันถูกให้คำอธิบายหรือเหตุผลในสังคมนั้นอย่างไร โดยมันจะชอบธรรมเมื่อคนในสังคมนั้นมันเชื่อว่าชอบธรรม คือกฎเกณฑ์นั้นมันต้องสอดคล้องกับความเชื่อในสังคม สามคือเรื่องการยินยอม (Consent) ของประชาชนต่อการใช้อำนาจรัฐของผู้ปกครอง แต่ในเรื่องการยินยอมก็มีปัญหาว่าบางครั้งมันก็วัดไม่ได้ว่าคนมันมีความยินยอมต่ออำนาจของรัฐนั้นมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะรัฐที่มีการใช้ความกลัว ใช้การปิดหูปิดตาประชาชน นำไปสู่ความเงียบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยอมรับความชอบธรรมก็ได้
นพพลกล่าวว่าประชาธิปไตยไทยมีอายุค่อนข้างสั้นเหมือนเทียบกับระบอบเดิม กฎเกณฑ์ความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยยังไม่สามารถสถิตเสถียรลงในสังคม ทั้งยังถูกท้าทายจากความชอบธรรมแบบจารีตตลอดเวลา และรัฐบาลจากประชาธิปไตยยังไม่คำนึงถึงตรงนี้ ไปผลักดันสิ่งที่ไม่สามารถให้เหตุผลความชอบธรรมได้ ทำให้คนเสื่อมศรัทธากับความชอบธรรมแบบประชาธิปไตย โจทย์ของรัฐบาลประชาธิปไตยคือคิดถึงความชอบธรรมที่สมเหตุสมผลสอดคล้องกับประชาธิปไตย
ประจักษ์ ก้องกีรติ: กระบวนการและสถาบันการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและรัฐสภา
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันสืบเนื่องจากเรามีระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีความบกพร่อง ไม่ใช่ระบอบที่มีความชอบธรรม แต่ว่าภายใต้กฎกติกาในการขึ้นสู่อำนาจยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอยู่ แต่ปรากฏว่าสังคมไทยเลือกใช้วิธีการที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมมาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ผิดทางและไม่มีทางออกจากวิกฤตินี้ได้
ถามว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ แต่จากการศึกษาก็พบว่าแม้ก่อนหน้านี้คนไม่พอใจประชาธิปไตย เมื่อเผด็จการเข้ามาแล้วใช้อำนาจไปสักพัก คนพบว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมไม่ได้มีทางเลือกเชิงนโยบาย หรือไม่ได้มีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ดีไปกว่าระบอบประชาธิปไตยบกพร่องเลย นักวิชาการเรียกมันว่าระบอบเผด็จการที่เปลือยเปล่า คือคุณไม่ได้มีความชอบธรรมที่เหนือกว่า ไม่ได้มีทางเลือกเชิงนโยบายให้ ถามว่ามันดำรงอยู่ได้อย่างไร ก็ดำรงอยู่ด้วยเครื่องมือของการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายที่เห็นต่าง และผนวกรวมฝ่ายที่ไม่ได้ยึดอุดมการณ์ มาเป็นพวก
กรณีสังคมไทย มีคนสองกลุ่มที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย แล้วมีส่วนร่วมในการทำให้ประชาธิปไตยล่มสลาย ก็คือกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่เสียอำนาจและผลประโยชน์ กับกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งรู้สึกว่าประชาธิปไตยที่มีมาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่แบบที่เขาชอบ
ประจักษ์กล่าวว่าตนคิดว่ากลุ่มแรกเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันเป็นสงครามที่เขาสู้บนเดิมพันสูง คิดว่าไม่สามารถดึงชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกลับมาสู้ในเกมประชาธิปไตยได้ ต่างจากในฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ที่ชนชั้นนำเขาฉลาดพอที่จะสู้ภายใต้ระบบกติกาประชาธิปไตยเพราะเห็นว่ามีประโยชน์กว่า เหนื่อยและเสียหายน้อยกว่า ประชาธิปไตยจึงมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง ส่วนที่คิดว่าสามารถดึงกลับมาและต้องทำคือชนชั้นกลาง ทำอย่างไรที่จะทำให้ชนชั้นกลางไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ยอมหันกลับมาอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย เพื่อจะมีประชาธิปไตยในระยะยาว เราไม่สามารถผลักไสชนชั้นกลางออกไปอยู่ข้างนอกกติกาประชาธิปไตยได้ตลอดไป
โจทย์นี้คือการฟื้นฟูคุณภาพประชาธิปไตย โดยภารกิจนี้ไม่สามารถทำได้โดยรัฐบาลเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีส่วนช่วยกัน ยุทธศาสตร์คือเราเปลี่ยนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไม่ได้ แต่เราต้องโดดเดี่ยวชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในทางการเมือง วิธีทางหนึ่งก็คือการฟื้นฟูคุณภาพประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบบรัฐสภา โดยเมื่อระบอบเผด็จการมันไม่มีฐานทางสังคมสนับสนุนใดๆ มันจะอยู่ไม่ได้
ประเด็นหนึ่งที่เราคิดและศึกษากันน้อย คือการปฏิรูปพรรคการเมือง ระบบประชาธิปไตยมันดำรงอยู่ไม่ได้ด้วยการมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอและนักการเมืองที่ไร้คุณภาพ ต่อให้มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรงขนาดไหน แต่ระบบตัวแทนมันห่วยมาก ระบอบก็ขาดความสมดุล ตราบใดที่เราไม่พูดเรื่องปฏิรูปพรรคการเมือง และระบบเลือกตั้ง มันจะทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการซึ่งผูกขาดองค์ความรู้ตรงนี้ แล้วก็มาออกแบบที่ไม่ได้เรื่องให้ทั้งสังคมใช้
และสังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิด จากการที่มองนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชั่วช้า แต่ต้องมองเป็นเครื่องมือที่เราต้องใช้ในการขับเคลื่อน ผลักดันวาระของภาคประชาชนให้มันเป็นจริง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ภาคพลเมืองกับภาคการเมืองเชื่อมต่อกัน เพื่อให้พรรคการเมืองไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำที่หลุดลอยไปจากสังคม แต่มีฐานทางสังคมรองรับ
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: กระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อหรือเรื้อรัง รัฐบาลทุกยุคสมัยทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก็พยายามจะแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ตนเห็นว่าปมเงื่อนของการต่อสู้เป็นเรื่องทางการเมือง ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็ต้องเป็นวิธีทางการเมือง การต่อสู้ในทางการทหารหรือความรุนแรงไม่สามารถแก้ได้จริงๆ
หลายคนหันมาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง จากการใช้วิธีที่รุนแรง มาเป็นความขัดแย้งที่ไม่รุนแรง โดยผ่านการพูดคุย การสื่อสารระหว่างฝ่ายที่ต่อสู้กัน กระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาก็เริ่มชัดเจนขึ้นสองปีที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN หรือขบวนการอื่นๆ แต่ในอนาคต กระบวนการสันติภาพนี้จะยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร
ศรีสมภพนำเสนอว่าข้อเสนอห้าข้อจากสองปีที่แล้ว จากฝ่ายของขบวนการ BRN เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ที่รัฐบาลประชาธิปไตยในยุคต่อไปต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ ประเด็นแรก คือจะต้องยอมรับฝ่ายที่เขาต่อสู้ ยอมรับความเป็นตัวแทนหรือสถานภาพของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้ ยอมรับประชาชนที่เข้าไปสู้กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิหรือความยุติธรรมให้เข้ามาสู่กระบวนการพูดคุย ข้อที่สอง คือต้องยอมรับว่ากระบวนการสันติภาพ ต้องมีผู้เจรจาไกล่เกลี่ย ผู้ประสาน ซึ่งอาจต้องมีฝ่ายคนกลางเข้ามา ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถเข้ามาช่วยทำให้เกิดการพูดคุยอย่างเป็นระบบได้
ข้อเสนอที่สาม คือต้องมีสักขีพยานจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ มาร่วมในการพูดคุยนี้ ข้อที่สี่ คือต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของ สิทธิความเป็นคนอยู่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งของมลายูมุสลิมและคนไทยพุทธ อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการยอมรับความแตกต่างในพื้นที่
ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของความยุติธรรม คือเขาต้องการให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังในคดีการเมือง ความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้โดยไม่มีเงื่อนไข เขาไม่ใช่อาชญากรหรือโจร แต่เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความเท่าเทียม โดยคิดถึงการยุติธรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน อาจจะต้องมีการจัดการในกระบวนการยุติธรรมที่มันเป็นพิเศษ เพื่อให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติเป็นไปได้ เช่น มีการแสวงหาข้อเท็จจริง ให้มีหลักฐานจากทุกๆ ฝ่าย มีการเยียวยา ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเข้าสู่กระบวนการลงโทษ และอาจมีกระบวนการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม
เวียงรัฐ เนติโพธิ์: ระบอบกระจายอำนาจกับรัฐรวมศูนย์
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าเมื่อวิเคราะห์เรื่องการกระจายอำนาจของไทยมันมีลักษณะเฉพาะ หรือส่งผลอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากรัฐธรรมนูญปี 2540 การกระจายอำนาจทำให้รัฐไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์หลายประการถูกกัดเซาะหรือเปลี่ยนแปลงไป
ประการแรก รัฐไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์มีการครองอำนาจโดยระบบราชการ มีสายการบังคับบัญชารวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง แต่การกระจายอำนาจทำให้ข้าราชการถูกแย่งอำนาจ ในการแชร์อำนาจรัฐมาสู่อำนาจของนักการเมือง ซ้ำยังเป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือไปกัดเซาะอำนาจรัฐที่มีข้าราชการครองอำนาจ
ประการที่สอง การกระจายอำนาจไปกัดเซาะการเป็นรัฐที่อาศัยระบบอุปถัมภ์เป็นตัวกลางในการส่งผ่านอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งรัฐไทยเริ่มต้นจากการสร้างรัฐด้วยการรวมศูนย์ และมีการอาศัยพึ่งพาเสริมสร้างเครือข่ายผู้มีอิทธิพลให้เข้มแข็ง แล้วก็สร้างการรวมศูนย์ตัวเองด้วยการอาศัยบารมีอิทธิพลของเจ้าพ่อ เพราะตัวเองไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่กระจายอำนาจเอาอำนาจไปให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทำให้อำนาจที่เป็นทางการมาแทนที่อำนาจที่ไม่เป็นทางการ จากเจ้าพ่อเพียงไม่กี่คนกระจายมาสู่เจ้าพ่อตัวเล็กๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าระบบอุปถัมภ์แบบเดิมอ่อนแอลงไป
ประการที่สาม การกระจายอำนาจไปกัดเซาะความเข้าใจว่าเรามี sphere อำนาจอันเดียวกัน ในนามของชาติศาสนา เมื่อประชาชนทุกคนสามารถเลือกผู้ปกครอง สามารถเปลี่ยนผู้ปกครอง และสามารถที่จะบอกได้ว่าใครสร้างถนนหน้าบ้านตัวเอง มันทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ ใครเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้การกระจายอำนาจถูกท้าทายและกดทับ โดยความพยายามจะดึงอำนาจรวมศูนย์กลับ
ต่อคำถามที่ว่าหากเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะทำอย่างไร คิดว่าคำตอบอยู่ที่กระบวนการกระจายอำนาจ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ระบอบที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่จะส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐในระยะยาว โดยเห็นว่านักการเมืองในระบอบการเลือกตั้งจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่เป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อผลประโยชน์ในการได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องจริงใจมุ่งมั่นให้การกระจายอำนาจสัมฤทธิผลที่สุด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
เสียงของเยาวชนกับการต่อรองอำนาจระบบการศึกษาไทย
เรวดี งามลุน, นันณิชา ศรีวุฒิ และสลิล อาวุธ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ กล่าวร่วมกันถึงปัญหาที่นักศึกษาปัจจุบันเจอ คือระบบการจัดการต่างๆ เป็นแบบบนลงล่าง ส่งตรงมาทางเดียว เป็นการจัดการแบบเสร็จสรรพ โดยกว่านักศึกษากว่าจะรู้ว่างบหรือโครงการต่างๆ จะมาถึงโดยผ่านอะไรมาบ้าง โดยไม่มีพื้นที่ในการเสนอความคิดเห็น
ในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดการไว้ ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน บริการต่างๆ ไม่ตรงจุดตรงประเด็น บางครั้งสวัสดิการเราได้รับก็จริง แต่เรากลายเป็นฝ่ายต้องแก้ไขสวัสดิการต่างๆ เหล่านั้นเองด้วยซ้ำ เช่น ตอนอยู่หอใน ก็เผชิญกับการไฟดับ น้ำไม่มา เอารถมาจอดก็ไม่มีที่จอดหรือมีปัญหารถหาย โดยไม่มีบุคลากรเข้ามาดูแลตรงนี้ นักศึกษาก็ทำได้แค่รอ หรือสวัสดิการต่างๆ เองก็มีการแบ่งสำหรับอภิสิทธิ์ชน เช่น ในพื้นที่ห้องสมุดเองกลับมีธุรกิจร้านกาแฟ ที่มีการกั้นพื้นที่ของห้องสมุด คนที่จะเข้าถึงที่นั่งหรือประโยชน์นั้นได้ก็ต้องซื้อกาแฟราคาแพง
ทั้งสามเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการทำให้การเมืองหรือเรื่องในมหาวิทยาลัยออกมาให้คนนอกรับรู้บ้าง ไม่ใช่อยู่เพียงในมือของหน่วยงานที่กุมผลประโยชน์หรือบังคับทิศทางของมหาลัย นักศึกษาควรมีสิทธิในการเฝ้าดูหรือสังเกตการณ์การทำงานของมหาลัย และการทำให้มหาลัยเป็นจุดนัดพบกันของทั้งนักศึกษา อาจารย์ ชุมชนชาวบ้าน ให้มีส่วนรวม ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางความคิด และพื้นที่ทางกายภาพ การเปิดพื้นที่ทางความคิดจะนำไปสู่เสรีภาพในความรู้ ซึ่งแหล่งการเรียนรู้สามารถอยู่รอบตัว สามารถดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนต่อการเรียนรู้ในมหาลัย การเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะจะทำให้มหาลัยเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบมากขึ้น ทำให้คนภายในมหาลัยเห็นคนอื่นๆ เท่าเทียมกับเรา
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล: สังคมแห่งความฝัน
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่าอาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งในการกำหนดความคิดของคนในสังคม โดยเฉพาะละครหลังข่าวต่างๆ วนเวียนอยู่กับการแย่งผัวเมีย ความดีชนะความชั่ว โลกที่แยกชัดเจนระหว่างขาวกับดำ คนดีก็ดีโดยกำเนิด ชั่วก็ชั่วโดยกำเนิด แล้วระบบสื่อสารมวลชนของไทยอยู่ภายใต้กฎของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด
คนที่ทำงานสื่อรู้ดีว่าตนทำอะไรอยู่ ตนได้พูดคุยกับผู้บริหารช่องสถานีหลายช่อง ทุกคนอยากนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้าสู่วงการ แต่อำนาจของสื่อมวลชนที่ถูกกำหนดมาแสนนาน มันกำหนดความคิดของการชมละคร คนพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาละครหลังข่าวก็เป็นเหตุให้เรตติ้งไม่ดี โฆษณาไม่เข้า แต่การเข้ามาของทีวีดิจิตัล ก็นำไปสู่ความพยายามจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ นำสังคมให้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าเศร้าคือหลังรัฐประหาร มีความพยายามนำกสทช.เข้าไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเผด็จการอีกครั้ง เหมือนกับย้อนหลังกลับไป
ในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เราพบว่าผู้คนในสังคมปัจจุบันอยู่กับความกลัว เราถูกหล่อหลอมให้กลัว กลัวสอบไม่ติด กลัวไม่มีงานทำ กลัวบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แปลว่าสังคมเรามันไม่มีความแน่นอน ไม่มีความมั่นคง เพราะมันไม่มีความหวังและความฝัน คนถูกขุดความฝันไปตั้งแต่แรกด้วยระบบ censorship แล้วไม่ใช่เซ็นเซอร์แค่ในสื่อ แต่ในความคิดของเราเอง พอมีความคิดอะไรนอกกรอบปรากฏขึ้นมา เราจะถูกอะไรบางอย่างกดดันให้เราไม่คิดไม่ฝันต่อ พอไม่มีความหวังและความฝัน เราเลยดำรงชีวิตโดยความกลัว และดำเนินชีวิตแบบเห็นแก่ตัว มันไม่มีพลังในจิตวิญญาณที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพี่อความฝันของตัวเอง อำนาจนิยมที่อยู่ในสื่อมวลชนมันกำหนดสังคมมาโดยตลอด
ชูเกียรติกล่าวถึงประเด็นว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง คือ อันดับแรก พยายามทำทุกวิถีทางที่จะบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออก ที่จะพูดและถกเถียงกันอย่างเป็นคนเท่าๆ กัน ต้องทำให้แนวคิดนี้ต้องเข้าไปอยู่ในสื่อสารมวลชน และสื่อก็ต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล เมื่อสร้างความฝันได้แล้ว รัฐบาลก็ควรจะสร้างโอกาส ที่จะเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงเศรษฐกิจให้เท่าเทียมมากขึ้น
วรวิทย์ เจริญเลิศ: ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการ
วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าเหตุผลในเรื่องการสนับสนุนรัฐสวัสดิการ ประเด็นแรกคือบริบทโลกมันก็เปลี่ยนไป ทั้งโลกาภิวัตน์สูงและเป็นทุนนิยมการเงิน วิกฤติของทุนนิยมวงรอบมันก็สั้นลง เกิดถี่ขึ้น สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่อาศัยแรงงานราคาถูก ทำให้ขยับขึ้นไปแข่งขันในตลาดแรงงานคุณภาพที่ดีกว่าไม่ได้ สามคือวิกฤติทางการเมือง รัฐประหารครั้งนี้ดึงสังคมไทยให้ถอยกลับไปสู่หลุมดำ ความอับจนของอำนาจและปัญญา
วิกฤติเหล่านี้ ชนชั้นล่างและแรงงานกลายเป็นผู้รับภาระนี้ จำนวนมากถูกเลิกจ้าง เกิดสภาวะการตกงานถาวร ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง แล้วคนก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งปัญหาสุขภาพ การต้องทำงานอย่างหนัก การถูกจ้างงานแบบชั่วคราว หรือในกลุ่มเกษตรกรเองก็ต้องมาขายแรงงานนอกฤดูเพาะปลูก หรือทำงานรับจ้างต่างๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความจำเป็นต้องทำให้คนเหล่านี้มีพื้นที่ยืนในความเสี่ยงเหล่านี้ ระบบสวัสดิการสังคมแบบเบ็ดเสร็จน่าจะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้
ไทยจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการ รัฐในมิติทางสังคม ไม่ใช่รัฐในมิติของการแข่งขันอย่างเดียว เรามีประกันสังคมครอบคลุมแรงงาน 13 ล้าน ให้สิทธิประโยชน์ 7 อย่าง แต่คนที่เหลืออีกประมาณ 25 ล้านคน เราบอกว่ามีระบบประกันสุขภาพ 30 บาทอยู่ แต่ก็เฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่มีอย่างอื่น จะทำอย่างไรให้คนมีสิทธิขั้นต่ำทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ น่าจะมีการบูรณาการกัน ยังต้องพัฒนาการศึกษาฟรี ที่พักอาศัยฟรี เงินน่าจะมาจากการเก็บภาษี ทั้งภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน อีกทั้ง รัฐสวัสดิการคงไม่เกิดขึ้นจากการปฏิรูป จำเป็นต้องต่อสู้ในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพการแสดงออกด้วย เราถึงจะปฏิรูปในเรื่องนี้ได้
จีรนุช เปรมชัยพร: คอร์สติวเข้มสื่อเรื่องเสรีภาพประชาชน
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่าเดิมคิดจะกล่าวในเรื่องการติวสื่อเรื่องเสรีภาพ ซึ่งมาจากความอึดอัดคับข้องใจในฐานะสื่อ ในรอบหลายปีมันมีความรู้สึกกระดากเขินอายที่จะบอกว่าเราเป็นสื่อมวลชน ในทั่วโลก สื่อมวลชนเป็นกลุ่มคนแรกที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องเรื่องเสรีภาพ แม้เสรีภาพสื่อไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับเสรีภาพประชาชน แต่มันก็ต้องสอดคล้องและสนับสนุนกัน ไม่ใช่ในลักษณะการบอกว่าสถานะเสรีภาพสื่อเหนือกว่าเสรีภาพประชาชน
ความขัดแย้งในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นการส่งเสริมและประนีประนอมให้การลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การยอมจำนนด้วยการเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่สื่อไทยสมัยก่อนก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ สื่อไทยเคยเชิดหน้าชูตาในแถวหน้าของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เราเคยเห็นความพยายามของพี่น้องสื่อในยุคพฤษภา 35 ที่พยายามรวมตัวกันในการส่งข่าวเล็ดรอดออกมาจากการปิดกั้น แต่ดูเหมือนบทบาทนั้นก็เหมือนจะน้อยลงไปมาก เกียรติภูมิของคนสื่อมันหายไป ความรักหลงใหลในเสรีภาพมันหายไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความคิดอุตริจะพูดในเรื่องสอนสื่อเรื่องเสรีภาพ แต่พอมาคิดก็พบว่าเราสามารถสอนใครเรื่องเสรีภาพได้จริงๆ ไหม เสรีภาพเป็นเรื่องที่สอนกันได้หรือเปล่า แล้วจะสอนกันอย่างไร เสรีภาพเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่สร้างให้เกิดและเติบโตงอกงามได้ แต่เป็นสภาวะแห่งความเป็นอิสระ สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะทำไม่ทำ ชอบไม่ชอบ รักไม่รัก โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับหรือความหวาดกลัว สภาวะแห่งเสรีภาพเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสังคมขาดความสามารถในการเคารพในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์
เสรีภาพเกิดขึ้นได้โดยการส่งเสริมให้คนเรียนรู้และรักในเสรีภาพ การส่งเสริมการเรียนรู้ความหลากหลายของทางเลือก เห็นถึงความอยุติธรรมและความเอารัดเอาเปรียบของโครงสร้างสังคมสูงต่ำ การเปิดประตูแห่งอิสรภาพในการสื่อสารของทั้งสื่อมวลชนและประชาชนคือวิถีทาง ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลเผด็จการทหาร
ภัควดี วีระภาสพงษ์: การปฏิรูปกองทัพ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ มีการนำเสนอในลักษณะการแสดงถึงการไม่สามารถพูดในหัวข้อปฏิรูปกองทัพได้ แต่ได้มีการเปิดให้
ดาวน์โหลดข้อเขียนในเรื่องนี้แทน
นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความพังทลายของการจัดการเวลา
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปิดงานว่าตนพยายามนึกว่าสิ่งที่ทหารกลัวและทำให้จัดงานนี้ที่หอศิลป์ไม่ได้นั้น เขากลัวอะไรกันแน่ ตนคิดว่าเขากลัวว่าจะไม่สามารถจัดการเวลาได้ โดยในประเทศไทยตั้งแต่ปฏิรูปประเทศรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำของไทยพยายามในการจัดการเวลาของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง วิธีในการจัดการเวลาคือจัดการอดีต ให้อดีตเป็นเรื่องเล่าที่เขาเป็นฝ่ายเล่า แล้วบังคับให้ทุกคนจดจำอดีตตามเรื่องเล่าของเขาสืบมา เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เริ่มมาตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น ว่ามันเป็นอดีตที่ไม่จริง อดีตที่คับแคบเกินไป ทำให้ทุกคนสูญเสียอดีตที่แท้จริงของตนเอง
เมื่อไรก็ตามที่คุณทำให้ทุกคนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะไม่มีทางเลือกสำหรับปัจจุบันและอนาคตเลย ฉะนั้นเมื่อไรที่มีคนมาตั้งคำถามว่าอดีตที่เขาเล่ามันไม่จริงหรือคับแคบเกินไป มันคือการท้าทายการจัดเวลา ไม่ใช่อดีตอย่างเดียว แต่การจัดเวลาในปัจจุบันและอนาคตด้วย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้น คงจำคำพิพากษาของศาลในกรณีที่มีดีเจกล่าวว่าปัจจุบันเราไม่ได้มีทาสเหมือนรัชกาลที่ 4 ศาลลงโทษว่าบุคคลผู้นี้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ ม.112 ถูกตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ มันแปลว่าการท้าทายเรื่องเล่าในอดีต มันรุนแรงจนคุณต้องขยายให้ม.112 ไปครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ นี่เป็นคำพิพากษาที่แสดงความตกใจที่คนอื่นๆ แทรกเข้ามาจัดการเวลาด้วย แล้วจากคำพิพากษาก็กลายเป็นการยึดอำนาจบ้านเมือง
รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะจัดเวลาอดีต เวลาปัจจุบันก็ใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจรัฐ จัดการปัจจุบัน เช่น ไม่ยอมให้จัดเสวนา จัดพูดต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าพยายามจัดการอนาคตไปด้วย แต่บัดนี้กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาร้อยกว่าปีคือการยึดกุมอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจตรงๆ เลยในการเข้ามายึดกุมปัจจุบันและอนาคตด้วย ตนจึงคิดว่าไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะมืดมิดถึงขนาดนี้ แต่เชื่อว่ามันจะไม่มืดสนิทและมีแสงสว่างขึ้นมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ภัควดี วีระภาสพงษ์: การปฏิรูปกองทัพ