วันศุกร์, กรกฎาคม 15, 2565

ก้าวข้ามความกลัว เรื่องงบประมาณส่วนพระองค์ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าออกความคิดเห็นนักเพราะมันเหมือนเป็นทาบูของคนไทยมาเนิ่นนาน ขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่พยายามทำเรื่องนี้ให้โปร่งใสมากขึ้น คนไทยจะได้เห็นความพอเพียงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ว่าจริงแท้แค่ไหน


Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
8h

[ การเมืองแห่งความเป็นไปได้: ‘ความก้าวหน้า’ ในการชี้แจงงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ - ยิ่งโปร่งใส ยิ่งลดข้อครหา ]
.
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมและพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเล็กหรือใหญ่ เราเชื่อว่าจะต้องถูกตรวจสอบอย่างจริงจังด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพื่อนำไปสู่การจัดสรรหรือการหั่นออกอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษี
.
‘หน่วยราชการในพระองค์’ เป็นอีกหน่วยที่สำคัญต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีครับ ไม่ว่าด้วยความสำคัญของพันธกิจ และด้วยขนาดของงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 8,000+ ล้านบาท และโดยเปรียบเทียบแล้วยังถือว่าสูงกว่าหน่วยงานระดับกระทรวงหลายกระทรวง พรรคก้าวไกล จึงตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดว่า ในการชี้แจงเพื่อขอรับงบประมาณควรเป็นไปด้วยหลักการเดียวกันกับหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น
.
ในการพิจารณางบฯ ปี 63 : ไม่มีการชี้แจงใน กมธ. งบประมาณ รวมถึงไม่มีเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม (ซึ่งเป็นเอกสารที่ทุกหน่วยงานรับงบประมาณจะมีการจัดทำและเผยแพร่ให้ กมธ.) นอกเหนือจาก 1 บรรทัดในเอกสารงบประมาณ
ในการพิจารณางบฯปี 64 และ ปี 65 : มีการให้ ผอ. สำนักงบประมาณเป็นผู้ชี้แจงแทนต่อ กมธ. งบประมาณ แต่ก็ยังคงขาดเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม
.
สำหรับการพิจารณางบฯ ปี 66 นี้ ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับแจ้งจากเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลใน กมธ. ว่า มีความก้าวหน้าขึ้น เพราะหลังจากเราตั้งข้อสังเกตและทวงถามมาตลอด ในที่สุด ปีนี้เราได้เห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการชี้แจงเหตุผลในการขอรับงบประมาณของหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ ทั้งในส่วนกระบวนการและเชิงเนื้อหาครับ แม้เราจะมองว่า รายละเอียดแผนดำเนินงานและการแจกแจงรายการค่าใช้จ่ายในเอกสารงบฯ ควรจะละเอียดกว่าที่เป็นอยู่ (ยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานของหน่วยงานอื่นที่ขอรับงบประมาณในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน) แต่เราก็ยังหวังว่าปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า
.
มาถึงตรงนี้ การพิจารณางบประมาณของหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างไร ผมขอแจกแจงรายละเอียด ดังนี้ครับ
.
ความก้าวหน้าขึ้นในส่วน #กระบวนการ
.
สิ่งที่เกิดขึ้น : ส่วนราชการในพระองค์ มีการปรับกระบวนการชี้แจง 3 อย่าง ที่นับเป็นครั้งแรกในสมัยสภานี้
.
1. มีแจกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้กับ กมธ. งบฯ (แม้จะมีเพียง 3 หน้า ที่เป็นข้อมูลใหม่)
2. มีวิดีทัศน์ความยาว 5 นาที เพื่อให้ข้อมูลและแจกจายรายละเอียด รวมถึงจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก
3. มีการมอบหมาย เลขาฯ ครม. มาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณและตอบคำถาม กมธ.
.
ความก้าวหน้าขึ้นในส่วน #เนื้อหา
.
สิ่งที่เกิดขึ้น : กมธ. สังกัดพรรคก้าวไกล ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงบประมาณที่ไม่ได้ถูกตั้งโดยส่วนราชการในพระองค์ แต่สัมพันธ์หรือมีการใช้ชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปอยู่ในชื่อโครงการ (ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท) ซึ่งทางเรากังวลว่ามีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันฯ ได้ หาก :
1. สังคมมีความเข้าใจผิดว่างบฯส่วนนี้ เป็นงบของสถาบันฯโดยตรง หรือ
2. ส.ส. ไม่ประสงค์จะตั้งคำถามหรือตรวจสอบโครงการด้วยมาตรฐานเดียวกันกับโครงการอื่น จนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่โครงการไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีการทุจริต ซึ่งจะทำให้ชื่อของสถาบันฯเสื่อมเสีย แม้สถาบันฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม
.
กมธ.สังกัดพรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในนั้น ได้เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อถามตรงนี้ไป เลขา ครม.ในฐานะผู้ชี้แจง ได้ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า:
.
"ขอให้หน่วยงานต่างๆ หลีกเลี่ยงคำว่า ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ในการจัดทำโครงการ โดยเฉพาะบางหน่วยงานที่มักใช้ต่อท้ายชื่อโครงการและรายการต่างๆ"
.
ผมมองว่า ความเห็นนี้เป็นสัญญาณที่สำคัญมาก และหวังว่าหน่วยงานอื่นจะนำแนวปฏิบัตินี้ไปใช้ในอนาคต ด้วยความตระหนักอยู่เสมอ ว่าการใช้ชื่อสถาบันฯเพื่อห้อยท้ายชื่อโครงการของหน่วยงานตนเอง มีโอกาสจะส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันฯได้
.
ผมเป็นคนหนึ่งครับที่เคยอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ในฐานะ กมธ. งบประมาณ และเคยเรียกร้องถึงสังคมแห่งความมีวุฒิภาวะที่ต้องพร้อมรับฟังความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน และต้องพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
.
สิ่งที่พวกเราประสงค์เป็นสิ่งเรียบง่ายและไม่ได้มีอะไรที่เกินเลยกว่าหลักการพื้นฐาน ว่าทุกหน่วยงานที่มีการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนควรต้องถูกตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่างบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และเพื่อให้หน่วยงานได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ตามคำพูดที่ว่า “ยิ่งโปร่งใส ยิ่งลดข้อครหา”
.
#ก้าวไกล #งบ66 #งบสถาบัน #ประชุมสภา


Chananchida Sirijunto Tan
เรื่องงบประมาณส่วนพระองค์ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าออกความคิดเห็นนักเพราะมันเหมือนเป็นทาบูของคนไทยมาเนิ่นนาน แต่เอาจริงๆ ในยุคสมัยนี้ ถ้าอยากให้สถาบันยืนเคียงข้างไปกับประชาชน เรื่อง งบประมาณ ทำให้โปร่งใส ดีที่สุดค่ะ เรียบง่าย ชัดเจน คนไทยจะได้เห็นความพอเพียงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนน