วันอาทิตย์, กรกฎาคม 31, 2565

สมัยเด็กๆ เคยเชื่อจากหนังสือว่ามีโครงการต่างๆ มากมาย ที่ทำให้ประชาชนคนไทยไม่ยากจน ไม่ลำบาก พออยู่พอกิน อยู่กันอย่างสบายมีความสุข - จนโตขึ้นมา ถึงได้รู้ว่าความเชื่อก็คือความเชื่อ สร้างภาพก็คือสร้างภาพ เรื่องจริงก็ส่วนเรื่องจริง

Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล 
16h

หมดยุคของการอ้าง "ความยั่งยืน" อย่างฉาบฉวย
คลิปวีดีโอของ สิงห์ คอร์ปอเรชัน วันก่อน โดนโจมตีทั่วทุกสารทิศในความปลอมที่เหลือเชื่อว่าจะปล่อยออกมาในยุคนี้ได้ ปลอมชัดจนทำให้บางคนเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ครีเอทีฟสอดไส้จงใจทำงานนี้ออกมาให้โดนด่า (แต่ส่วนตัวอยากจะบอกว่า ไม่มีทางหรอกนะคะที่ครีเอทีฟจะปล่อยอะไรออกมาต่อสายตาสาธารณะ โดยที่แบรนด์ไม่ตรวจตราและอนุมัติก่อนน่ะ)
ในฐานะนักวิจัยที่ทำวิจัยเกี่ยวกับ "ธุรกิจที่ยั่งยืน" มาหลายปี คลิปวีดีโอนี้ทำให้นึกถึง "ความฉาบฉวย" ของการอ้างคำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ความยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน -- ซึ่งน่าเสียดายที่ปีนี้ 2022 แล้ว หลายบริษัทยังคงไม่ตระหนักว่าตัวเอง "ฉาบฉวย" กับเรื่องนี้อย่างไรค่ะ
อยากพูดสั้นๆ แค่ว่า วันนี้หมดยุคที่บริษัทไหนๆ จะอ้างความยั่งยืนอย่างฉาบฉวยแล้ว เพราะปัญหาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนต่างๆ มองเห็นชัดเจนแล้วว่าเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างไร ตั้งแต่หายนะจากภาวะโลกรวน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยธุรกิจ (ตั้งแต่การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานที่ความคิดทางการเมืองไม่ตรงกับผู้บริหาร ไปจนถึงการค้ามนุษย์และใช้งานคนเยี่ยงทาสในห่วงโซ่อุปทาน) ฯลฯ
ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ ต่อไปนี้บริษัทต้องเลิกเน้นการสร้างภาพหรือทำโครงการเชิงบวกเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวเองดูดี แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ วิธีทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น --
- บริษัทพลังงานที่ประกาศเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทำโครงการประหยัดพลังงาน แต่รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักและยังคงลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนมหาศาลกว่าพลังงานหมุนเวียนมาก (แถมประกาศเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกแบบนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นพิธี)
- ธนาคารที่ประกาศว่ามีนโยบายสินเชื่อที่คำนึงถึงความเสี่ยง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล) อย่างรอบด้าน แต่ยังเดินหน้าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่ก่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก และมีข้อร้องเรียนมากมายจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ
- บริษัทที่ประกาศนโยบายเคารพสิทธิมนุษยชน ทุ่มเงินลงทุนมากมายในเมียนมา แต่ไม่แสดงท่าทีใดๆ ทั้งสิ้นกับการประหัตประหารประชาชนอย่างโหดร้ายโดยคณะรัฐประหารเมียนมา มิหนำซ้ำยังเดินหน้าขยายธุรกิจโดยจับมือกับคณะรัฐประหาร
- บริษัทที่ประกาศจะดูแลคู่ค้า ดูแลเศรษฐกิจฐานราก เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน แต่ขณะเดียวกันก็วางเงื่อนไขเอารัดเอาเปรียบคู่ค้ารายย่อยทุกประตู กีดกันคู่แข่งหน้าใหม่ด้วยการกดดันและเลี้ยงดูปูเสื่อหน่วยงานกำกับดูแล ฯลฯ
- บริษัทที่ประกาศว่าเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพสิทธิแรงงาน แต่ข่มขู่พนักงานที่ออกมาใช้สิทธิพลเมือง จงใจเลือกปฏิบัติโดยไม่รับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแต่ความคิดทางการเมืองไม่ตรงกับผู้บริหาร หรือไล่พนักงานออกด้วยเหตุผลเดียวกัน
ฯลฯ
เชื่อว่าวันนี้หมดยุคของบริษัทประเภทด้านบนแล้วค่ะ ถ้ายังโกยกำไรอยู่ได้ก็อยู่ได้เพียงเพราะมีอำนาจผูกขาดหรืออิทธิพลเหนือรัฐมายาวนาน หรือลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่าบริษัทเป็นแบบนี้
ยิ่งไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนจริงๆ --- ซึ่งมี "การดูแลสิ่งแวดล้อม" และ "ความยุติธรรมทางสังคม" เป็นหัวใจ และต้องบอกว่า ใน "วิกฤต" ความไม่ยั่งยืน ก็มี "โอกาส" ทางธุรกิจอยู่มากมายด้วย -- บริษัทแบบนี้นับวันจะยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไม "ความสามารถในการแข่งขัน" ของบริษัทจึงจะถดถอยลงเรื่อยๆ
.....
Sataporn Akcharasiwaroj
สมัยเด็กๆ เคยเชื่อจากหนังสือว่ามีโครงการต่างๆ มากมาย ที่ทำให้ประชาชนคนไทยไม่ยากจน ไม่ลำบาก พออยู่พอกิน อยู่กันอย่างสบายมีความสุข

Sudkhet Sukhwichai
Sataporn Akcharasiwaroj เคยเชื่อเหมือนกันครับ จนเราโตขึ้นมา ถึงได้รู้ว่าความเชื่อก็คือความเชื่อ สร้างภาพก็คือสร้างภาพ เรื่องจริงก็ส่วนเรื่องจริง ยิ่งได้รู้ถึงกระบวนการทำโฆษณาเพื่อใครหรืออะไรซักอย่างให้ดูดีด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ภาพความจริงมันชัดขึ้นไปอีก
โครงการต่างๆไม่ว่าจากส่วนไหน หาความยั่งยืนจริงๆไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป หายไป ยั่งยืนจึงเป็นเพียงคำที่เอาไว้หลอกให้คนเพ้อฝันว่ามันคือสิ่งที่ดี แค่นั้น

Sataporn Akcharasiwaroj
Sudkhet Sukhwichai gen เดียวกันมั้งครับ 55