วันอังคาร, กรกฎาคม 26, 2565

มารู้จัก “ARSIWA” กฎหมายว่าด้วย “การมีส่วนรู้เห็น” กับอาชญากรรมระหว่างประเทศ กฏหมายระหว่าประเทศที่ ไอ้ตู่ควรสำเหนียก กรณี buddy-buddy กับพม่า


Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
July 22

[ Explainer: “ARSIWA” อะไรคือกฎหมายว่าด้วย “การมีส่วนรู้เห็น” (Complicity) กับอาชญากรรมระหว่างประเทศ ]
.
ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมได้ยกมาตรา 16 ของ ARSIWA ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย “ความรับผิดชอบของรัฐหนึ่งต่อการกระทำผิดของอีกรัฐหนึ่ง” ขึ้นมาเพื่อเตือนรัฐบาลว่าอย่าเพลี่ยงพล้ำในเรื่องการต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการปล่อยให้เครื่องบินรบเมียนมาบินเข้าในอาณาเขตไทยกลับไปยิงถล่มกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง เพราะว่าอาจถูกตีความได้ว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้แล้ว เคยใช้ในคำตัดสินศาลโลกมาแล้วในคดีบอสเนีย ทำให้เสี่ยงกับประเทศไทยต้องไปชี้แจงหรือรับผิดร่วมกับเมียนมาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่ทั้งไทยกับเมียนมาก็เป็นสมาชิก
.
อะไรคือ ม.16 ของ ARSIWA? : ARSIWA หรือ Articles on Responsibility of States for Internationally Wrongful Acts (2001) บทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐต่อความการกระทำผิดระหว่างประเทศ เป็นข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ 56/83 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2001 โดยที่มาตรา 16 ของ ARSIWA ได้บัญญัติไว้ว่ารัฐหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของอีกรัฐหนึ่งหากให้ความช่วยเหลือต่อการกระทำผิดระหว่างประเทศ ถ้า: 1) รู้ว่าการกระทำผิดนั้นเกิดขึ้น 2) ถ้ารัฐนั้นทำเองก็ผิดเหมือนกัน
.
อะไรคือสถานะของกฎหมายของ ARSIWA มีผลบังคับใช้หรือไม่?:
มีผลบังคับใช้ ถึงแม้ว่าโดยปกติข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะไม่มีผลบังคับใช้ แต่ ARSIWA ได้กลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย Customary International Law หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ “ศาลโลก” (ICJ) ได้ใช้มาตรา 16 ของ ARSIWA พิพากษาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนีย (Bosnian Genocide) เมื่อปี 2007 หรือคดี Bosnia and Herzegovina v. Serbia and Montenegro
.
ความผิดตาม ม.16 ของ ARSIWA มีองค์ประกอบอะไรบ้าง?:
จากคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนีย ศาลโลกต้องตัดสินว่ารัฐยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือเซอร์เบีย) มีส่วนรู้เห็นกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในบอสเนียโดย นายพล Ratko Mladić กับกองกำลังรัฐ Republika Srpska หรือไม่? ซึ่งนิยามของ “การมีส่วนรู้เห็น” (Complicity) อ้างอิงตาม มาตรา 16 ของ ARSIWA ซึ่งมีองค์ประกอบว่า 1) ต้องมีความผิดระหว่างประเทศ 2) ต้องมีการช่วยเหลือ 3) ผู้มีส่วนรู้เห็นต้อง “รู้” ความการกระทำที่เป็นความผิดนั้นเกิดขึ้น
.
เพราะฉะนั้น ทำไมเหตุการณ์เครื่องบินเมียนมาใช้น่านฟ้าไทยกลับไปก่ออาชญากรรมถึงไม่ใช่เรื่องเล็ก?:
เพราะเหตุการณ์ในเมียนมาไม่ใช่แค่เรื่องภายในอย่างที่รัฐบาลไทยชอบพูด แต่เป็นอาชญากรรมที่ UN สอบสวนอยู่และต้องขึ้นศาล ตอนนี้ UN กำลังสอบสวนอาชญากรรมในเมียนมาอยู่ด้วยกลไก IIMM (Independent Investigative Mechanism on Myanmar) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้ออกรายงานมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าอาชญากรรมในเมียนมาเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” และ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
.
และในตอนนี้เมียนมาก็กำลังขึ้นศาลโลก ICJ (ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่) ในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา วันนี้เมียนมาขึ้นศาลโลกคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ในวันข้างหน้าเมียนมาก็คงต้องขึ้นศาลโลกในเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ และถ้าหากประเทศไทยทำสิ่งที่เข้าข่ายช่วยเหลือตาม ม.16 ของ ARSIWA ก็จะต้องร่วมรับผิดและขึ้นศาลโลกด้วย ซึ่งนี่เป็นความเพลี่ยงพล้ำอีกข้อหนึ่งที่ผมได้อภิปรายในสภา คือรัฐบาลไปละเมิดกฎหมายข้อไหนไม่ผิด ไปละเมิดกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว เคยเป็นคำตัดสินของศาลไปแล้ว
.
สำหรับแนวทางการพิจารณาคดีด้วยมาตรา 16 ของ ARSIWA หากเทียบกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนีย กับกรณีการปล่อยให้เครื่องบินเมียนมาใช้น่านฟ้าไทยก่ออาชญากรรม สามารถเทียบองค์ประกอบได้ดังนี้
.
องค์ประกอบความผิดระหว่างประเทศ:
สำหรับคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนียความผิดของตัวการหลักคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (นิยามคือการทำลายกลุ่มคนบนพื้นฐานของชาติพันธุ์ ศาสนา ส่วนสำหรับความผิดของเมียนมาในปัจจุบันถ้าต้องขึ้นศาลก็คงหนีไม่พ้นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (นิยามคือการโจมตี สังหารพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ)
.
องค์ประกอบการช่วยเหลือ:
สำหรับคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนียองค์ประกอบของความช่วยเหลือคือการสนับสนุนทางการเงินที่ยูโกสลาเวียให้การกองกำลังรัฐ Republika Srpska ส่วนสำหรับความผิดของเมียนมาในปัจจุบันถ้าต้องขึ้นศาล รัฐไทยอาจเข้าองค์ประกอบการให้ความช่วยเหลือจากการกระทำโดยงดเว้น หรือการกระทำโดยปล่อยให้เครื่องบินรบเมียนมาใช้อาณาเขตไทยกลับไปก่ออาชญากรรม ถ้าใช้นิยามของสงครามของ UN ตามข้อมติ 3314 ถ้าเรายกอาณาเขตของเราให้อีกรัฐเดินทางผ่านไปทำสงครามก็เท่ากับเราทำสงครามด้วยแล้ว ถึงนี่ไม่ใช่สงครามระหว่างรัฐ แต่ก็เป็นการใช้อาณาเขตของไทยในการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยที่เราไม่ได้ประท้วงระดับรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ
.
องค์ประกอบความรู้ว่ามีความผิดเกิดขึ้น:
สำหรับคดีบอสเนีย รัฐยูโกสลาเวียท้ายที่สุดไม่ได้เข้าข่ายนี้เพราะไม่รู้ว่าตอนที่ให้เงินสนับสนุนกองกำลังรัฐ Republika Srpska จะเอาไปใช้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนสำหรับความผิดของเมียนมาในปัจจุบันถ้าต้องขึ้นศาล รัฐไทยไม่สามารถปฏิเสธการรับรู้แบบในคดีบอสเนียได้เลยเพราะ ผบ.ทอ ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “เรามีระบบเรดาร์ตรวจจับและมีสายข่าวที่ดี สามารถรู้ได้ว่า เขาจะปฏิบัติการเมื่อใด ในพื้นที่ไหน”
.
สรุปได้ว่านี่ไม่ใช่การที่เพื่อนเดินลัดสนามครับ แต่เป็นการปล่อยให้เพื่อนเดินลัดสนามกลับไปยิงคนในบ้านตัวเอง โดยที่เรารู้ด้วยซ้ำว่าเดินลัดบ้านเราไปทำฆาตกรรม แต่ไม่ห้าม
.
ผลลัพธ์ของคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนีย:
เนื่องจากยูโกสลาเวีย “ไม่รู้” ว่าช่วยเหลือรัฐ Republika Srpska จะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ครบองค์ประกอบตาม ม.16 ของ ARSIWA เลยไม่ผิดฐานมีส่วนรู้เห็นตามมาตรา 3(e) ของ Genocide แต่ก็ยูโกสลาเวียยังผิดตามมาตรา 1 ของ Genocide Convention เนื่องจากไม่พยายาม “ป้องกัน” การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยความผิดตามมาตรา 1 ศาลให้นิยามว่าความผิดดูจาก “ความพยายาม” ที่จะป้องกัน ไม่ได้ดูว่าป้องกัน “สำเร็จ” หรือไม่ ซึ่งยูโกสลาเวียผิดเนื่องจากประธานาธิบดีแค่เตือนว่า “อย่าทำ” แต่ไม่ทำอะไรมากกว่านั้น
.
จากคดีนี้รัฐเซอร์เบียต้องส่งตัว Ratko Mladić และอาชญากรคนคนอื่นๆ ไปดำเนินคดีที่ ICTY หรือ “คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย” ซึ่งเป็นศาลพิเศษตั้งขึ้นเพื่อสำเร็จโทษจำคุกอาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย
.
ในอนาคตหากทหารเมียนมาต้องขึ้นศาลโลก ก็เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งกับรัฐบาลในอนาคตครับ ที่จะต้องไปชี้แจงในเวทีโลกว่าไทยไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าคำตัดสินจะเป็นเช่นใด นี่จะเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่งของจุดยืนไทยในเวทีระหว่างประเทศ
.
**เสริม ประเทศไทยมีสิทธิผิด Genocide Convention เหมือนยูโกสลาเวียหรือไม่?:
มี ถ้าความผิดในเมียนมาจากการรัฐประหารเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอบสวนข้อเท็จจริงอยู่โดย IIMM จากกรณีที่ให้เครื่องบินรบใช้น่านฟ้า ถ้าสุดท้ายไม่เข้าข่ายมีส่วนรู้เห็นตามมาตรา 3(e) เหมือนที่ยูโกสลาเวียไม่เข้าข่าย ก็อาจจะผิดมาตรา 1 ฐานไม่พยายามป้องกันได้เหมือนกันเมื่อเครื่องบินจะเข้ามาในน่านฟ้าเรา
.
**เสริม แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีกับ Genocide Convention จะมีผลบังคับใช้เหรอ?:
ถึงประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคี Genocide Convention แต่ Genocide Convention บังคับใช้กับทุกประเทศในฐานะกฎหมาย Customary International Law ตามข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ตามข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ 96(I) ปี 1946 คำวินิจฉัย ICJ ในปี 1951 และหลักกฎหมายบังคับเด็ดขาดอันไม่อาจยกเว้นได้หรือ Peremptory Norm
.
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ65 #อภิปรายไม่ไว้วางใจ #ก้าวไกล #UN #ICJ #กฎหมายระหว่างประเทศ