วันพุธ, กรกฎาคม 27, 2565

🔥🔥 วัดตาชั่งสอบจริยธรรม ‘ผู้พิพากษา’ ร่วมราษฎร ย้อนกรณี ‘อดีตประธานศาลฎีกา’ ชุมนุม กปปส.


Voice TV
9h

วัดตาชั่งสอบจริยธรรม ‘ผู้พิพากษา’ ร่วมราษฎร
ย้อนกรณี ‘อดีตประธานศาลฎีกา’ ชุมนุม กปปส.
บทบาทผู้พิพากษาควรจัดวางอยู่ตรงไหนในการแสดงออกทางการเมือง เวียนมาเป็นคำถามในกระแสอีกระลอก เมื่อสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ที่ประชุมกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณทบทวนความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส กรณี ‘วิชิต ลีธรรมชโย’ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ในฐานะผู้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกา เข้าร่วมการชุมนุมม็อบราษฎร โดย ก.ต.มีมติไม่ต่ออายุ ‘วิชิต’ เป็นผู้อาวุโส และจะมีการพิจารณาการสอบสวนอีกครั้ง
ไทม์ไลน์มูลเหตุ
เมื่อเรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นในสังคมออนไลน์ เนื่องจากเกี่ยวโยงกับการแสดงจุดยืนทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ ‘วอยซ์’ จะพาย้อนเชื่อมร้อยเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นสู่มติที่เกิดขึ้น
ย้อนไปเมื่อ มี.ค. 64 พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการตุลาการตรวจสอบและดำเนินการผู้พิพากษาศาลฎีกา พร้อมด้วยภาพถ่ายผู้พิพากษาเข้าร่วมชุมนุมราษฎร โดยระบุวัตถุประสงค์ในเอกสารตอนหนึ่งว่า
“เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้พิพากษา ในการป้องกันผู้ไม่เลื่อมใสในสถาบันพระมหากษัตริย์”
ฟากฝ่ายกฎหมายฝั่งรัฐบาล ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน ธ.ค. 64 ถึงข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการฝ่ายตุลาการ โดย ‘วิษณุ’ ให้ฝ่ายตุลาการวินิจฉัยกันเอง หากประชาชนมีหลักฐานประจักษ์สามารถส่งเรื่องไปยัง ก.ต.เพื่อตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง
กระทั่งผ่านไปกว่า 1 ปี บทตรวจสอบของการร้องเรียน ได้ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวอิศรา ระบุว่าแหล่งข่าวได้ให้ข้อมูล โดย ก.ต.มีมติไม่ต่ออายุผู้พิพากษาที่ถูกยื่นตรวจสอบ จากปมร่วมม็อบราษฎร
กางประมวลจริยธรรม
‘วอยซ์’ ได้ค้นหาข้อมูลประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ พบว่าริเริ่มโดยแนวคิดของ ศ.โสภณ รัตนากร ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและการดำรงตนของข้าราชการตุลาการ โดยแบ่งเป็น 6 หมวด เพื่อบัญญัติหน้าที่และหลักปฏิบัติ
ซึ่งพบว่าในหมวด 4 จริยธรรมเกี่ยวกับกิจการอื่น มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติของข้าราชการตุลาการ ถึงบทบาทในการแสดงออกทางการเมือง ดังที่บัญญัติไว้ดังนี้
ข้อ 33 ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ
ข้อ 34 ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือ เจ้าหน้าที่ ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใด ๆ ในการเลือกตั้งสมาชิก รัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักฝ่าย พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง
แน่นอนว่าจากประเด็นนี้ ได้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียออกมาตั้งคำถามถึงบทบาท ‘ผู้พิพากษา’ โดยหยิบยกกรณี ‘เมทินี ชโลธร’ อดีตประธานศาลฎีกา เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการเผยแพร่ภาพในอดีต
ขณะที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ซึ่งนำไปสู่การทำรัฐประหารรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เมื่อปี 2557
กลายเป็นข้อถกเถียงว่ามีความเหมาะสมตามหลักปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ และมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตุลาการ
รวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ‘สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เคยเขียนบทความในเว็บไซต์ the101.world เรื่อง ‘คำตอบของ ก.ต. ต่อกรณีผู้พิพากษาร่วมชุมนุมทางการเมือง’ มีการนำรายงานการประชุมถึงการเข้าร่วมชุมนุม
โดยคำตอบของหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม ชี้ว่าภาพดังกล่าวไม่ได้อยู่ท่ามกลางที่ชุมนุม และการแต่งกายไม่ได้บ่งบอกถึงการสนับสนุนหรือเชียร์ฝ่ายชุมนุม
“จะมีเพียงผ้าพันข้อมือที่เป็นสีธงชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนไทยทั้งชาติที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าท่านให้การสนับสนุนฝ่ายที่ชุมนุม”
ขณะที่ผู้เข้าร่วมอีกรายระบุตอนหนึ่งว่า “การที่ท่านไปคงไม่ได้ฝักไฝ่ทางการเมือง แต่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในวิกฤต ต้องอาศัยผู้คนที่เข้าไปแสดงพลังให้เห็นว่าบ้านเมืองวิกฤต เราต้องการเปลี่ยนแปลง”
โดย ‘สมชาย’ ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการตีความของ ก.ต.ว่า แนวทางการวินิจฉัยของ กต. ก็คือ การให้ความหมายเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้พิพากษาย่อมสามารถเข้าการชุมนุมได้ตามที่ตนต้องการใช่หรือไม่ ตราบเท่าที่ไม่ได้ขึ้นเวทีอภิปรายหรือเป็นแกนนำในการชุมนุมนั้น
อ้างอิง
https://www.the101.world/judicial-neutrality/
https://ojc.coj.go.th/.../2018092592b0293f7498fba4f28ffec...
#VoiceOnline