วันศุกร์, มิถุนายน 03, 2565

วรรณคดีเรื่องสังข์ทอง พระเอกเหี้ย ทำไมถึงเอามาให้เด็กอ่าน ?


ผมเป็นคนจริงจังเกินไปสินะครับ
June 2, 2020

ไปเจอคำถามหนึ่งในกรุ๊ปปรัชญามา คือเจ้าตัวเขาไปเอาทวีตหนึ่งจากคุณ M_thunderbolt (ขออภัย ผมหาทวีตต้นฉบับไม่เจอ สงสัยเพราะใช้ทวิตเตอร์ไม่ถนัด) ซึ่งเขาตั้งคำถามว่าทำไมถึงเอางานที่พระเอก"เหี้ยแบบนี้"มาให้เด็กอ่าน
ต่อไปนี้คือคำตอบของผมครับ
ก่อนพูดเรื่องการศึกษา ขอทำความเข้าใจเรื่องวรรณคดีก่อน
ตัวเอกในวรรณคดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี และหลายๆครั้งไม่ควรเป็นคนดี โดยเฉพาะในแนวตลก (สังข์ทองเป็นบทละครนอกแนวตลก)
ทำไมหลายๆครั้งไม่ควรเป็นคนดี?
ในวรรณศิลป์แนวตลกจำนวนมาก ผู้เขียนเจตนาจะ"เล่น"กับตัวเอกให้ถึงพริกถึงขิง ให้ตัวเอกต้องเจอเรื่องไม่ดี โดยเจตนาให้ผู้อ่านรู้สึกตลกขบขันและสบายใจที่จะตลกขบขันไปกับชะตากรรมที่ไม่ดีของตัวเอก ก่อนจะจบด้วยการให้ตัวเอกพบกับเรื่องดีๆให้ผู้อ่านสบายใจ
ถ้าตัวเอกเป็นคนดีมีจริยธรรม เราอาจจะรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกว่าคนเขียนไม่ยุติธรรม ถ้าสุดท้ายตัวเอกได้อะไรดีๆเพราะเป็นวีรชน เราก็อาจจะรู้สึกว่าแต่ฉันไม่เจ๋งขนาดนั้น ฉันไม่มีหวัง
เพื่อให้ผู้อ่านสบายใจ และสามารถขำได้ตลอดเรื่อง ตัวเอกต้องมีข้อบกพร่องที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป เพื่อให้คนอ่าน
1. รู้สึกสบายใจกับการหัวเราะของตนเอง ("ก็แม่งเรื่องมากไง เลยต้องเจออะไรแบบนี้")
และ
2. รู้สึกสบายใจว่าขนาดคนแบบนี้ ที่เจอเรื่องแย่ๆอย่างนี้ ยังได้เรื่องดีๆในที่สุดเลย ฉันเองก็ยังมีหวัง
แน่นอนว่าจุดอ่อนของตัวเอกไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริยธรรม บางทีก็อาจจะเป็นเรื่องไร้อำนาจ ยากจน ฯลฯ แต่สังข์ทองเป็นเรื่องของจอมเวทผู้ทรงพลัง จุดอ่อนที่น่าสนุกที่สุดก็คงจะเป็นจริยธรรม ซึ่งผู้เขียนก็ผูกไว้ดีนะครับ
ลองพิจารณาดีๆ จริยธรรมของสังข์ทองที่มีปัญหาน่าจะเห็นได้ชัดอยู่ 3 เรื่อง
1. ตัดสินแม่บุญธรรม (ยักษ์) จากการผิดไปจากความคาดหวังของตนเอง
2. ทำให้เมียลำบากใจในเรื่องที่ไม่จำเป็น (ไม่ยอมเปิดเผยว่าตัวเองหล่อ ให้เมียโดนล้อ)
3. มองการทำให้ผู้อื่นเสียโฉมเป็นการกลั่นแกล้งที่เหมาะสม
สรุปง่ายๆ สังข์ทองติดอยู่กับการหมกมุ่นในเรื่องรูปโฉมและความคาดหวัง ไม่ต่างจากพ่อของเขาที่ทอดทิ้งเขาเพราะเขาเกิดมาประหลาด
หากสังข์ทองเป็นคนดีมีจริยธรรม การถูกพ่อทอดทิ้งจะไม่ใช่พล็อตตลก เราจะสงสารสังข์ทองไปเรื่อยๆจนกว่าเขาจะได้ความเป็นธรรม แต่เพราะเขาก็เป็นคนแบบเดียวกับพ่อของเขา (เห็นได้ชัดจากการตัดสินนางยักษ์ด้วยอคติ) เราจึงไม่รู้สึกสงสารเขามาก แต่ก็ยังเห็นใจเขาอยู่ เราจะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องน่าตกใจ สังข์ทองทำไม่ถูก แต่ไม่ใช่คนเสียสติ ยิ่งตอนปกปิดตัวตนปล่อยให้เมียโดนล้อ เราก็ยิ่งเข้าใจได้ว่าเขามีปมเรื่องรูปลักษณ์ของตนเอง (อีกครั้ง เขาทำไม่ถูก แต่เข้าใจได้)
บางคนอาจจะแย้งว่า เอ้ย! แต่มันก็มีตัวเอกแนวตลกที่ไม่เป็นแบบนี้นะ?
ใช่ครับ เราเรียกตัวเอกแบบนั้นว่า comedic foil หรือ straight man ซึ่งเป็นตัวละครที่ตบมุกให้กับตัวละครอื่นๆ คนพวกนี้จะดูใกล้เคียงกับผู้อ่าน ไม่มีอะไรต่ำกว่าเราอย่างเห็นได้ชัด
แต่ปัญหาคือสังข์ทองเป็นจอมเวทผู้ทรงพลัง และเป็นตัวเอกคนเดียว เขาไม่เหมาะกับการเป็น comedic foil (อย่าว่าแต่ในเชิงประวัติศาสตร์ความคิด ผมคิดว่าตัวละคร comedic foil น่าจะยังไม่เกิดนะครับ)
ดังนั้น มันสมเหตุสมผลแล้วที่สังข์ทองจะเป็นคนไม่ดี เราลองไปดูวรรณศิลป์แนวตลกเรื่องอื่นๆ เราก็จะพบว่าตัวเอกส่วนใหญ่ไม่ใช่คนดี หรือถ้าเป็นคนดีก็ต้องเป็นคนดีที่มีจุดบกพร่องใหญ่มาก
---
มาสู่เรื่องการศึกษา
ใช่ครับ วิชาวรรณคดีไทยเป็นวิชาที่มีปัญหา แต่ปัญหาไม่ใช่เรื่องการสอนตัวละครที่บกพร่องทางจริยธรรม ปัญหาคือวิชาวรรณคดีไทยไม่ได้สอนวรรณคดี แค่สอนเกี่ยวกับวรรณคดีเท่านั้นเอง
ปัญหาของวรรณคดีไทยคือการสอนว่ามีหิ้งอยู่ และอะไรอยู่บนหิ้งบ้าง แต่ไม่สอนว่าทำไมมันถึงขึ้นไปอยู่บนหิ้ง ไม่สอนให้คิดว่ามันควรอยู่บนหิ้งไหม หรือควรมีหิ้งอยู่จริงๆไหม
ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่รับรู้ว่าเรื่องๆหนึ่งอยู่บนหิ้งเพราะมันมีคุณค่าวรรณศิลป์ แต่ไม่รู้กระจ่างชัดว่าแต่ละเรื่องมีคุณค่าแตกต่างกันอย่างไร ไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นแนวตลก ต่างจากมหากาพย์ หรือโศกนาฏกรรมนะ
วิชาวรรณคดีไทยควรเป็นวิชาที่สอนให้เรา"ใช้"วัฒนธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม และมั่นใจในการเป็นเจ้าของวัฒนธรรม
1. ใช้วัฒนธรรม
วิชาวรรณคดีควรเป็นตัวแทนที่สำคัญของวัฒนธรรม การเรียนวรรณคดีควรส่งเสริมให้นักเรียนใช้วัฒนธรรมที่เรียนได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ผมไม่ได้หมายถึงเรื่องแคบๆอย่างเขียนโคลงกลอนได้ แต่ยังหมายถึงใช้ถ้อยคำได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง แยกระดับภาษาได้ดี ฯลฯ ด้วย
ผมหมายความว่าอย่างไร?
ลองนึกภาพครูภาษาไทยใช้เรื่องสังข์ทองเป็นกรณีศึกษาแล้วถามผู้เรียนว่า "อะไรคือการตัดสินคนที่ภายนอก"? อะไรคือ "อคติ"? ให้นักเรียนลองยกท่อนที่เกิดการตัดสินคนที่ภายนอกขึ้นมา แล้วถามว่าพฤติกรรมของสังข์ทองกับพ่อเป็นการตัดสินคนที่ภายนอกเหมือนกันหรือไม่? หรือครูยกงานอีกชิ้นคือพ่อแม่รังแกฉันขึ้นมา แล้วถามว่านางยักษ์"รังแก"สังข์ทองหรือไม่? การ"ตามใจ"ของพ่อแม่ควรมีลิมิตตรงไหนก่อนจะกลายเป็น"ทำให้เสียคน" ความรักกับความโกรธมาคู่กันได้หรือไม่ ลองให้นักเรียนจินตนาการว่าตนเองจะรู้สึกอย่างไรถ้าเป็นสังข์ทองหรือเป็นนางยักษ์
คนที่มีการศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมไทยควรจะใช้คอนเซปต์เหล่านี้ได้อย่างกระจ่าง เขาควรจะรู้ว่าการตามใจกับการทำให้เสียคนแตกต่างกัน (เขาอาจจะไม่รู้เส้นแบ่งชัดๆ เขาอาจจะโต้เถียงกับคนอื่น แต่เขาควรแยกสองคำนี้ออกจากกันได้)
2. เป็นเจ้าของวัฒนธรรม
วิชาวรรณคดีควรสร้างความมั่นใจให้ผู้เรียนว่าเขาเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ
ผมหมายความว่ายังไง?
เขาควรจะรู้ว่าอะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก เขาควรจะสามารถบอกได้ว่าวรรณคดีชิ้นนี้มีคุณค่าอย่างไร เขาควรจะบอกได้ว่าการที่โรงเรียนเลือกหยิบวรรณคดีชิ้นนี้มาสอนมันมีเหตุผลอย่างไร สามารถเลือกหยิบวรรณคดีชิ้นอื่นมาแทนได้ หรือปัดมันลงจากหิ้งได้ ในลักษณะเดียวกับที่คนไทยทุกคนรู้ว่าประเด็นของสงกรานต์คือการสาดน้ำใส่กันเพื่อความเย็นสบายและความสนุกสนาน ดังนั้นจะใช้ขันหรือใช้ปืนฉีดน้ำก็เหมือนกัน แต่ใช้น้ำแข็งปาใส่กันไม่ได้ มันเย็นก็จริง แต่มันไม่สนุก มันเจ็บ จะใช้ปืนของเล่นยิงใส่กันไม่ได้ มันสนุก แต่ไม่เย็นสบาย
บางคนอาจจะแย้งว่า นั่นมันวิชาปรัชญาแล้ว ไม่ใช่วิชาวรรณคดีไทย
ผมยอมรับครับว่ามันเป็นวิชาปรัชญา แต่ผมไม่เห็นว่ามันจะไม่ใช่วิชาวรรณคดีไทยตรงไหน? ทำไมวรรณคดีไทยถึงต้องไม่ปรัชญาด้วย?
---
บางคนอาจจะมองว่าครูภาษาไทยหัวโบราณ ไม่มีทางทำอะไรแบบนี้หรอก
ผมคิดว่าครูภาษาไทยไม่ได้หัวโบราณนะครับ แต่ครูภาษาไทยขาดความกระจ่างชัดทางคอนเซปต์ คือครูภาษาไทยไม่เห็นขอบเขตชายแดนของคอนเซปต์ "วิชาวรรณคดีไทย" ดังนั้นจึงอยู่ในคอมฟอร์ทโซนสอนคล้ายๆที่ครูบาอาจารย์สอนตนเองมา กลัวว่าถ้าออกจากอาณาบริเวณนี้จะทำให้สิ่งที่ตนสอนไม่ใช่วรรณคดีไทย
ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของนักปรัชญาที่จะสำรวจ ท้าทาย ประดิษฐ์ คอนเซปต์นี้ให้กระจ่างชัดและงอกงามครับ