วันอังคาร, มิถุนายน 28, 2565

ทหารเกณฑ์ฆ่าตัวตาย ด้วยความกดดันของชีวิตในค่าย ไม่ต่างอะไรกับผู้ชุมนุมทะลุแก๊สถูกยัดคุกคุมขัง

ปัญหาผู้ต้องขังพยายามปลิดชีวิตตัวเอง หรือทำสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้นได้เป็นปกติ เช่นเดียวกับกรณีพลทหารฆ่าตัวตาย ในเมื่อสภาพความกดดันทางจิตใจไม่ต่างกัน เป็นสาเหตุ กดดันเพราะถูกข่มเหงทำร้ายซ้ำซาก

รวมทั้งกดดันเพราะถูกจองจำ ทั้งที่ไม่ผิด หรือต้องทนกับสภาวะจำยอมที่ไม่ปรารถนา รับไม่ได้ ดังกรณีทหารเกณฑ์ค่ายอากาศโยธิน แขวนคอตนเองภายในหน่วย เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนา หากดูตามรายงานข่าวของกองทัพอากาศไม่เห็นผิดปกติ

แต่เมื่อครอบครัวของพลทหารผู้เสียชีวิต “ติดใจในสาเหตุการเสียชีวิต...ไม่เชื่อว่าจะเป็นการคิดสั้นฆ่าตัวตายเอง ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำที่คอซึ่งดูผิดปกติ รวมถึงเหตุจูงใจที่ทางต้นสังกัดแจ้งว่า น่าจะเกิดจากอาการป่วยซึมเศร้า”

ญาติจึงยังไม่ทำการเผาศพ จนกว่าจะต้นสังกัดจะสามารถแจ้งเหตุการตายให้กระจ่างกว่านี้ ผู้เป็นป้าของพลทหารที่เสียชีวิตกล่าวกับนักข่าวว่า “ไม่เชื่อเป็นการฆ่าตัวตายเอง” เพราะ “ตอนที่ไปติดต่อรับศพหลานและขอเข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุในค่ายฯ

มีทหารบอกว่าหลานตนเองไม่ใช่ศพแรกที่ผูกคอตายในค่าย แต่เป็นศพที่ ๔ แล้ว ที่ผูกคอตายปริศนาแบบนี้” จึงเป็นพันธะของคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูง หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ที่ว่าเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมสวดศพ “เพื่อให้กำลังใจครอบครัว” วานนี้

คงพกคำอธิบายสาเหตุกดดันใจจนทำให้พลทหารผูกคอตาย มากกว่าความเห็นลอยๆ ของจิตแพทย์โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้สองวันก่อนเหตุเหตุ เมื่อมีการนำตัวพลทหารดังกล่าวไปรับการตรวจอาการคิดมาก นอนไม่หลับ

ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าผู้ต้องขังหนึ่งในสมาชิก#ทะลุแก๊ส ซึ่งพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพาราเซตามอล จนเกินขนาด น่าจะมากกว่า ๖๐ เม็ด พลพลกินยาพาราเป็นจำนวนมากเมื่อคืนวันที่ ๒๔ แล้วเกิดอาการอาเจียน มึนงง สับสน เช้าวันรุ่งขึ้น

หลังจากนำตัวส่งโรงพยาบาลล้างท้องแล้วเขายอมรับว่าพยายามฆ่าตัวตาย แต่อีกสองวันต่อมาทนายสอบถามทางราชทัณฑ์ ก็ไม่ได้คำตอบเกี่ยวกับความคืบหน้าในอาการของพลพล อันเป็นทางปฏิบัติซึ่ง ส.ส.เจี๊ยบพรรคก้าวไกลเรียกว่า “สั่งรูดซิปปากแพทย์”

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล@AmaratJeab ทวี้ตโวยว่า “#กรมราชทัณฑ์...ควรแสดงความจริงใจมากกว่านี้ ด้วยการแถลงความคืบหน้าอาการผู้ต้องขังคดีการเมือง” โดยเฉพาะกลุ่มทะลุแก๊สทั้ง ๑๑ คนที่ถูกคุมขังจากการถูกจับกุมระหว่างชุมนุมที่ดินแดง

ส่วน ภาณุพงศ์ จาดนอก แสดงความเห็นเรื่องนี้โดยอิงประสบการณ์ในเรือนจำของตนเองว่า “ปกติแล้วเวลา จนท. แจกยาเขาจะให้กินต่อหน้าโดยการบดใส่แก้วให้” การที่พลพลมียาพาราสะสมไว้ใต้ที่นอนกว่า ๖๐ เม็ด คงแจ้งป่วยบ่อยๆ เอายามาเก็บไว้ หรือใช้วิธีแลกกับของกินใช้

จะอย่างไรก็ตาม จากเหตุครั้งนี้ทำให้ทนายทราบว่า มีกลุ่มทะลุแก๊สที่ต้องขังอีกสองคนพยายามฆ่าตัวตายเหมือนกัน “#พุฒิพงศ์ และ #ใบบุญ ได้ #กรีดแขนตนเอง เพื่อประท้วงที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพวกเขา และมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว”

สองคนนี้ “ใช้ฝาปลากระป่องกรีดหน้าแขนตัวเองมากกว่า ๑๐ แผล ยาวตั้งแต่บริเวณข้อมือมาจนถึงข้อศอก” แม้จะเป็นวิธีการประท้วงอย่างหนึ่ง แต่ก็เข้าข่ายพยายามทำอัตวินิจบาตกรรมเหมือนกัน เพราะเยาวชนเหล่านี้ (ส่วนใหญ่อายุในเกณฑ์ ๒๐)

ล้วนเครียดในเรือนจำ นี่แหละเป็นความแตกต่างของการกักขังผู้กระทำความผิดจริงกับผู้บริสุทธิ์ เฉกเช่นกรณีทหารเกณฑ์ฆ่าตัวตาย เขาต้องการปลิดชีวิตตัวเองเพราะคับแค้น ที่ต้องตกอยู่ในสภาพซึ่งทำร้ายจิตใจ และไม่ต้องตามครรลองของสังคมเสรี

(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/QnjGl, https://www.facebook.com/panupong.jadnok/posts/Lowq5l และ https://prachatai.com/journal/2022/06/99274)