
'ถุงพระราชทาน' 'ถุงยังชีพพระราชทาน' มีส่วนที่มาจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
2022-06-28
ที่มา ประชาไท
ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่าน ACTAi ในส่วนที่เกี่ยวกับ 'ถุงพระราชทาน' พบอย่างน้อย 50 โครงการ ใน 17 หน่วยงาน งบรวม 4.5 ล้านบาท ส่วน 'ถุงยังชีพพระราชทาน' พบอย่างน้อย 133 โครงการ ใน 41 หน่วยงาน งบรวม 29.4 ล้าน
TOP NEWS นำบทความจากเพจ 'ฤๅ - Lue History' ไปรายงานต่อ
28 มิ.ย.2565 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ฤๅ - Lue History' เขียนบทความถึง “ถุงพระราชทาน” โดยระบุว่า ไม่ได้มาจากงบประมาณภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้กับในหลวง ไม่ใช่เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนเอามาแจกประชาชนตามที่มีผู้พยายามบิดเบือน แต่มาจากการทำงานและทุนดำเนินการซึ่งเป็นดอกผลของ “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์วาตภัยครั้งใหญ่ในอดีต (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/Lue.History.Thai/photos/a.731994124178916/968708517174141/) จน TOP NEWS นำไปรายงานต่อ
อย่างไรก็ตามเมื่อสืบค้นที่ ACTAi ซึ่งเป็นแหล่งร่วมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยคำ "ถุงพระราชทาน" ตามคำที่เพจฤๅ กล่าวถึง พบอย่างน้อย 50 โครงการที่ค้นพบ ใน 17 หน่วยงาน งบประมาณรวม 4,539,895 บาท ซึ่งพบโครงการตั้งแต่ พ.ย.2557 หน่วยงานที่ประกาศ คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เลขที่โครงการ 57115214803 ชื่อ "สอบราคาซื้อจัดซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภค สำหรับบรรจุในถุงพระราชทาน ประจำปีงบประมาณ 2558" งบประมาณ 500,000 บาท
และล่าสุดเมื่อ ต.ค.64 หน่วยงานที่ประกาศคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขที่โครงการ 64107022217 ซื้อถุงพระราชทาน (เครื่องอุปโภค บริโภค) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 151,500 บาท

จิตอาสาไม่ฟรี ส่องงบ 65 และร่างงบฯ 66 ที่มีรายจ่ายส่วนนี้
และหากค้นด้วยคำว่า "ถุงยังชีพพระราชทาน" จะพบอย่างน้อย 133 โครงการที่ค้นพบ ใน 41 หน่วยงาน งบประมาณรวม 29,439,142.00 บาทเก่าสุดปรากฎเมื่อ มี.ค.61 เลขที่โครงการ61037481199 จ้างตามโครงการ หนึ่งใจ..เดียวกัน มอบถุงยังชีพพระราชการทานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ได้กำหนดให้จัดกิจกรรมมอบถุงยังชีพพระราชทานประจำปีงบประมาณ 2561 ในพื้นที่เทศบาลตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการงบประมาณ 13,000 บาท
ซึ่งล่าสุดเป็น เลขที่โครงการ65017490947 ซื้อวัสดุเพื่อใช้ในงานมอบถุงยังชีพพระราชทาน แก่ผู้ประสบอัคคีภัยฯ ขององค์การบริหารส่วนตำบลทับกุง อุดรธานี งบประมาณ 11,720 บาท

ทั้งนี้หลังจากประชาไทนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับถึงพระราชทานข้างต้นไปนั้น ต่อมา พูติกาล ศายษีมา บล็อกเกอร์ที่มักนำเสนอข้อมูลในประเด็นทางการเมือง สืบค้นต่อเกี่ยวกับงบประมาณส่วนนี้ โดยระบุว่า การจะบอกว่า "ถุงพระราชทาน" จัดซื้อโดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หรือ จัดซื้อด้วยเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ แล้วไปสรุปว่าดังนั้นจึง "ไม่ได้มาจากงบประมาณภาษี" อันนี้ไม่ถูก เพราะเงินรายได้ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์แต่ละปีมาจากไหนละ ลองไปเปิดงบการเงินดู จะพบว่าส่วนใหญ่มาจาก "งบประมาณภาษี"
ส่วนการจะบอกว่า "ถุงพระราชทาน" มาจากเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ อันนี้ไม่ผิด เพราะถุงพระราชทาน มันมีทั้งแบบ 1. จัดซื้อโดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ, 2.จัดซื้อโดยหน่วยงานรัฐด้วยงบประมาณภาษี หรือ 3. จัดซื้อโดยหน่วยงานรัฐด้วยเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ


รายงานประจำปี 2563 ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ที่เผยแพร่ทางเว็บมูลนิธิฯ หน้า 78 และ 96 ซึ่งแสดงให้เห็นที่มาของงบประมาณของมูลนิธิฯ 150 ล้านบาท มาจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
โดย พูติกาล เปิด รายงานประจำปี 2563 ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์มูลนิธิฯเอง ครึ่งหนึ่งเลยมาจาก เงินสนับสนุนจากงบประมาณกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ส่วนที่เป็นเงินบริจาคเข้ามูลนิธิโดยตรงนั้นป็นส่วนน้อยมาก ยกเว้นจะเป็นปีพิเศษต่างๆ ถึงจะมีเงินส่วนนี้มากขึ้นแต่ก็ยังน้อยมากอยู่ดี และหลายครั้งที่พบว่าผู้บริจาครายใหญ่คือ หน่วยงานรัฐ หรือ แม้แต่ตัวรัฐบาลเอง โดยรายได้ส่วนใหญ่อีกส่วนคือ ผลตอบแทนจากการลงทุนของทรัพย์สินมูลนิธิ เกือบทั้งหมดคือ ดอกเบี้ย


ภาพบันทึกจากรายงานประจำปีที่ระบุว่ารัฐบาลบริจาคดินที่ได้จากการก่อสร้างรัฐสภา
พูติกาล ระบุอีกว่าทรัพย์สินรวมของมูลนิธิปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 7 พันล้านมาจากไหน? โดยประมาณ 3 พันล้านมาจากรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสมหรือ "กำไรสะสม" ถ้าเป็นกิจการที่มุ่งหวังกำไร อีกเกือบ 4 พันล้านจากส่วนทุนของมูลนิธิ ซึ่งมาจากทุนตอนตั้งมูลนิธิ 3 ล้าน ส่วนที่เหลือมาจาก เงินบริจาคที่ผู้บริจาคระบุว่าให้เป็นเงินทุนมูลนิธิ จะสามารถนำไปใช้ได้เฉพาะส่วนที่เป็นผลตอบแทน
หมายเหตุ : ประชาไทเพิ่มข้อมูลส่วนท้ายเมื่อเวลา 20.10 น. วันที่ 28 มิ.ย.65