วันจันทร์, มิถุนายน 27, 2565

ในวันครบรอบ 90 ปี 24 มิ.ย. 2475 ชัชชาติได้กล่าวปาฐกถาที่ มธ. เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยไว้หลายประการ ย้อนอ่านสิ่งที่ชัชชาติพูดถึงในวันนั้น


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ออกตัวว่าเขาไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ก็ถือว่าเป็น "น้องใหม่ที่เพิ่งคลอดออกมาจากกระบวนการประชาธิปไตย"

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองปัจจุบันและอนาคตของประชาธิปไตยไทยผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดที่เขาได้คะแนนมากถึง 1.38 ล้านเสียง โดยเชื่อว่าการเลือกตั้ง 22 พ.ค. ได้เปลี่ยนมุมมองของคนไทยเกี่ยวกับประชาธิปไตย จากเรื่องที่เต็มไปด้วยความหดหู่ เกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ให้กลายเป็นเรื่องของความหวังและทางออก

"ผมมาอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะระบอบประชาธิปไตย...ประชาธิปไตยในยุคใหม่ นักการเมืองต้องเข้ามาด้วยเนื้อหา ทางออก ไม่ใช่เข้ามาด้วยการสร้างความกลัว ความเกลียด แบ่งฝักแบ่งฝ่าย" นายชัชชาติกล่าวในงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ "90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปีธรรมศาสตร์" จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนี้ (24 มิ.ย.)

การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 90 ปี 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มบุคคลในนามคณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีจึงถือเป็นวันเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทยและมักมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งวิเคราะห์ถึงความก้าวหน้าหรือถอยหลังของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยในปีนี้ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ได้เชิญนายชัชชาติมาให้มุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่าได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นหลายอย่าง

ผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 เดือนออกตัวว่าแม้เขาจะไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ก็ถือว่าเป็น "น้องใหม่ที่เพิ่งคลอดออกมาจากกระบวนการประชาธิปไตย จากการเลือกตั้งเมื่อ 22 พ.ค."

มองประชาธิปไตยไทยผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

นายชัชชาติเชื่อว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ผู้คนมองการเมืองและประชาธิปไตยอย่างมีความหวังมากขึ้น จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นเรื่องเครียด น่าหดหู่และน่ากลัว

"การเมืองและประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของความหดหู่ แต่เป็นเรื่องของความหวัง นักการเมืองไม่ได้มีหน้าที่สร้างความหวาดกลัว แต่มีหน้าที่สร้างความหวัง"



"ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองระดับประเทศ ทั้งในแง่วิธีคิด วิธีการทำนโยบาย วิธีการระดมอาสาสมัคร และถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นนักการเมืองอาชีพไปสู่การเป็นนักคิดและผู้สร้างความหวัง" นายชัชชาติให้ความเห็นทั้งในฐานะนักการเมืองที่นอกจากจะชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562

"ผมลาออกจากพรรคเพื่อไทยมา 3 ปีแล้ว แต่ยังเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยอยู่ เพราะไม่รู้จะไปยื่นใบลาออกกับใคร" เขากล่าวติดตลก

นายชัชชาติสรุปบทเรียนและวิเคราะห์แนวโน้มการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหลังกรำศึกและคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้

คนรุ่นใหม่คือหัวใจ :

นายชัชชาติยกย่องทีมงานของเขาซึ่งล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ว่าเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เขาได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทั้งเรื่องการออกแบบแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง การคิดนโยบาย การสื่อสารกับประชาชน และการใช้โซเชียลมีเดีย

"ข้อดีของการเอาคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำการเมืองมาเป็นทีมงานก็คือความคิดของพวกเขาหลุดกรอบการเมืองเก่า มีความสร้างสรรค์ ทำให้การเมืองเป็นเรื่องสนุก...คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเลยเพราะคนรุ่นเก่าคิดไม่ได้หรอก หวังว่าการเข้ามาของผมในฐานะผู้ว่าฯ กทม. จะจุดประกายความหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานการเมือง"

หมดยุคของนักการเมืองแบบเก่า :

นักการเมืองที่มีความคิดแบบเก่ามักคิดแค่ว่าอยากเข้ามาเล่นการเมือง โดยใช้วิธีการซื้อเสียง ไม่สนใจประเด็นปัญหาของประชาชน และไม่สนใจศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่จะเข้ามาทำ

"การเมืองคือเรื่องของความรู้ด้านเทคนิคที่นักการเมืองต้องเข้าใจระดับหนึ่ง อย่างน้อยคุณต้องเข้าใจมากกว่าหรือเท่ากับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่กับเรื่องเหล่านั้นมาตลอดชีวิต แต่ที่ผ่านมานักการเมืองก็คิดแค่ว่าอยากเล่นการเมือง ถ้าชนะเลือกตั้งก็เข้ามาทำงานได้ แต่ไม่เคยมองว่าตัวเองมีความสามารถจริงหรือเปล่า...การเมืองในอนาคตจะเปลี่ยนไป คุณต้องมีความรู้และนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน ต้องทำงานหนักมากขึ้น หมดยุคแล้วที่จะมาพูดง่าย ๆ ว่าสัญญาไปเถอะเดี๋ยวประชาชนก็ลืม ทำได้หรือไม่ได้ช่างมัน ไปตายเอาดาบหน้า"

นโยบายต้องละเอียด: นายชัชชาติพูดถึงนโยบายของเขาที่มีมากถึง 216 ข้อ ซึ่งต่างจากการเมืองแบบเดิมที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองจะหาเสียงด้วยนโยบายหลัก ๆ แค่ไม่กี่ข้อ ซึ่งเขายืนยันว่าการออกแบบนโยบายให้ละเอียดและตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม สอดคล้องกับประชาธิปไตยในยุคใหม่ที่โหวตเตอร์มีความต้องการแตกต่างหลากหลาย นักการเมืองจึงต้องมีนโยบายแบบนิชมาร์เก็ตหรือตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการออกแบบนโยบายเพื่อตอบสนองคนแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะนี้ เป็นแนวโน้มของนักการเมืองและพรรคการเมืองหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

อย่าใช้วิธีสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชัง :

นายชัชชาติวิเคราะห์ว่าการเมืองไทยนับจากนี้ไปจะเปลี่ยนจากการใช้อารมณ์สร้างความเกลียดชัง เป็นการใช้เหตุผลมากขึ้น และการที่เขาหาเสียงและทำงานด้วยการ "ไม่ด่าใคร" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง

"เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำงานการเมืองแล้วมีแต่ความเครียด ความเกลียดชัง ต้องทบทวนใหม่ ผมไม่เคยด่าใคร...ประชาธิปไตยยุคใหม่ นักการเมืองต้องมาด้วยเนื้อหา ทางออก ไม่ใช่มาด้วยการสร้างความกลัว ความเกลียดชัง"

ที่มา บีบีซีไทย
โดย กุลธิดา สามะพุทธิ
ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย
24 มิถุนายน 2022